Skip to main content
sharethis

7 พ.ค. 2010 - องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ (ฮิวแมนไรท์ยูเอสเอ) แสดงความรู้สึกไม่พอใจจากการที่ แอนโธนี่ ชัย ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย และต่อมามีการเดินทางมาสอบสวนถึงในสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2549 แม้แต่เดิมชัยอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงราวปลายคริสตศตวรรษที่ 1970 เขาเสี่ยงที่จะถูกจับกุม หากเขากลับมายังประเทศไทย

ในปี 2549 เจ้าหน้าที่ของไทยยังได้ติดต่อกับบริษัทเว็บโฮสติ้งผู้ให้บริการเว็บไซต์ http://www.manusaya.com เว็บไซต์ที่พบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีที่มาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของชัย ซึ่งเข้าใจว่ารหัสที่อยู่ไอพี (IP address) ของชัยนั้นถูกเผยแพร่จากบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าวโดยที่เขาเองไม่ได้รับรู้ และบริษัทนี้ก็ได้ทำการปิดเว็บไซต์ไป

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า พวกเขารู้สึกเป็นห่วงเรื่องผลกระทบของกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่แพร่ไปทั่ว รวมถึงความเกี่ยวพันโดยตรงกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ ส่วนในกรณีของชัยนั้นทางสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้แสดงการคัดค้านใดๆ กับการที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศดำเนินการไต่สวนคดีกับพลเมืองชาวสหรัฐฯ ในถิ่นของสหรัฐฯ เอง และที่น่าอื้อฉาวกว่านั้นคือเจ้าหน้าที่ของไทยสามารถทำให้ชาวอเมริกันต้องปฏิบัติตามกฏหมายของไทย แม้ว่าจะกระทำการต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับกฏหมายของสหรัฐฯ และการปกป้องกิจการของชาติ ทั้ง 2 องค์กรประกาศอีกว่า พวกเขาเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับคดีนี้

แอนโธนี่ ชัย บอกกับองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและฮิวแมนไรท์ยูเอ็สเอว่า "เจ้าหน้าที่ที่ทำการสิบสวนผมบอกว่าเขาต้องการทำรายงานของเขาให้เสร็จและเก็บเอกสาร แผ่นพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยไว้ เพราะเขากลัวว่าผมจะไม่สามารถกลับไปยังประเทศไทยได้ ซึ่งผมก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ยุติธรรมรวมถึงตัวแทนสำนักพระราชวังอย่างเต็มที่ พวกเขามีอยู่ 3 คน ผมตอบคำถามอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการเขียนบันทึกรายงานของตำรวจ ให้สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ไทยไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมและผู้ช่วยของผมได้รับจากจดหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ตกใจเมื่อเจ้าหน้าที่ของไทยตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผม"

บทแก้ไขฯ ข้อที่ 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุว่า "ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองในตัวบุคคล, ที่อยู่อาศัย, สิ่งพิมพ์และทรัพย์สินส่วนบุคคล จากการถูกตรวจค้นและยึดทรัพย์อย่างไม่มีเหตุอันควร อันมิอาจละเมิดได้ แม้จะมีหมายค้น เว้นแต่บางกรณีที่มีเหตุอันควรซึ่งต้องมีการรับรองจากคำปฏิญาณหรือการยืนยัน และต้องมีการระบุถึงสถานที่ บุคคล และสิ่งที่ต้องการตรวจค้นอย่างจำเพาะเจาะจง"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเป็นองค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อนานาชาติ ที่ปกป้องสิทธิ์ในการสื่อสารทั้งการเผยแพร่และรับข้อมูล ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ (ฮิวแมนไรท์ยูเอสเอ) เป็นองค์กรภาคประชาชนของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิบัติงานเรื่องผลกระทบจากการฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อทำให้กฏหมายของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net