Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากเป็นช่วงเวลาปกติหรือยังคุยกันได้ ผมจะไม่เขียนบทความแบบนี้ แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่แหลมคมยิ่ง

ภายใต้ร่มเงาแห่งสังคมประชาธิปไตย คงไม่อาจปฏิเสธสิทธิในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม หรือการแสวงหาความยุติธรรมมาตรฐานอันเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่จริง และดำรงอยู่อย่างฝังรากลึกมานานดังที่คนเสื้อแดงกำลังชุมนุมเรียกร้อง แต่พลันที่การชุมนุมได้ยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน คือการไปกระทบกระทั่งสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งบางคนอาจยินยอมพร้อมใจ แต่สำหรับบางคนมันคือความไม่ยินยอมพร้อมใจ... นี่คือความจริง

ทว่า ในสถานการณ์นี้กลับมีเพียงสองเสียงเท่านั้นที่ส่งเสียงดังอื้ออึงเหลือเกิน เสียงหนึ่งดังมาจากฝั่งรัฐบาลและผู้สนับสนุน อีกเสียงหนึ่งเป็นของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ทั้งที่ในความเป็นจริงมันยังมีเสียงอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้แสดงออก ไม่ขอแสดงออก ไม่มีที่แสดงออก หรือไม่กล้าแสดงออก เพราะการแสดงออกไม่ว่าทางไหน อาจจะทำให้ใครบางคนจับเขาโยนไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ด่าทอ ด่าทอ และ ด่าทอ บางคนรับได้ บางคนบอบบางเกินรับได้...นี่ก็คือความจริง

สองฝ่ายที่ส่งเสียงดัง ต่างตะโกนก้องในความเชื่อ ในอุดมการณ์ ในผลประโยชน์ของตน ถึงระดับหนึ่งบางคนอาจยินยอมพลีชีพ เพราะความตายเท่านั้นที่สามารถยืนยันความแกร่งกล้าทางวิญญาณของตนได้ชัดเจนที่สุด ชัดเจนยิ่งกว่าเหตุผลและชัดเจนยิ่งกว่าคำพูดใด แต่เชื่อหรือไม่ เหล่านั้นกลับมีบ้างบางคนที่ไม่ได้ตาย และมีบ้างบางคนที่ยังไม่ยินยอมพร้อมใจตาย กลับตาย...นี่ก็น่าจะเป็นความจริง

‘ความจริง’ เหล่านี้น่ากลัว เพราะเมื่อมีความเชื่อของตน คุณค่าอื่นๆ ของคนอื่นล้วนไม่เห็นอยู่ในสายตา แต่ใครกันจะตัดสินได้ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วอุดมการณ์ชาตินิยม ศาสนานิยม เชื้อชาตินิยม กษัตริย์นิยม ฯลฯ หรือแม้แต่ประชาธิปไตย เมื่อเรียกร้องต่อผู้อื่นให้แลกด้วยความตายแล้ว ความตายชนิดใดจะสูงส่งมากกว่ากัน

ในวงการฟุตบอล บรรดา Hooligan ก็จัดตั้งกลุ่มของตนขึ้นเชียร์ทีมสุดโปรด จัดการฝ่ายตรงข้าม เมื่อถึงที่สุดแห่งความคลั่ง พวกเขาก็ยังยินยอมเอาชีวิตเข้าแลกกับ Hooligan อีกกลุ่มในเกมนอกสนาม มันเป็นความภาคภูมิชนิดหนึ่ง หากอุดมการณ์ทางการเมืองวัดกันด้วยคุณค่าของความตาย Hooligan เหล่านี้ก็มีความเป็นวีรบุรุษในแบบของเขา ที่น่าสนใจก็คือ ในสถานการณ์ตอนนี้ของเรา กองเชียร์กำลังเปลี่ยนเป็น Hooligan การเมืองแล้วหรือไม่...ไม่รู้ 

มาถึงสิ่งที่ผมอยากจะส่งเสียงบ้าง มันคือความอยากให้ทั้งสองฝ่ายที่มีเสียงดัง ลองฟังเสียงอื่นๆ ดูบ้าง เพราะหากยังคงเชื่อและภาคภูมิแต่ใน ‘ความจริง’ ของตัวเอง ความจริงวันนี้และวันต่อๆไปมันคงกลายเป็นเรื่องราวของการปะทะ การสูญเสียและความตายอีกมากมาย

ผมไม่ได้ขอให้ใครละทิ้งความเชื่อ แต่เมื่อมันดำเนินมาถึงจุดหนึ่งของความรุนแรง เราสามารถจะหาทางเลี่ยงมันได้บ้างหรือไม่ เท่านั้นเอง

ผมย้อนกลับไปดูเงื่อนไขเบื้องต้นของการชุมนุมครั้งนี้คือ การเรียกร้องให้ ‘ยุบสภา’ แต่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยืนยัน ‘ไม่ยุบสภา’ จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างแสดงพลังผ่านสีและตัวเลขเชิงปริมาณอย่างเข้มข้น แต่สิ่งที่ไม่อาจบอกได้เลยในเวลานี้ก็คือ แท้จริงแล้ว ‘เสียงส่วนใหญ่’ ที่ต่างกล่าวอ้างถึงคิดเห็นอย่างไร

ตัวผมเองก็ไม่เคยแสดงความเห็นเรื่องนี้ผ่านการชุมนุมของฝ่ายใด คนรอบข้างที่เชียร์บอลกินเหล้ากับผมทุกวี่วันก็ยังไม่แสดงความเห็น เพื่อนที่ทำงานในเซ็นทรัลเวิร์ลซึ่งต้องปิดยาวเพราะการชุมนุมก็ยังไม่ได้แสดงความเห็น คนภาคใต้ที่ไม่ใช่ ‘เสื้อเหลือง’ ก็ยังไม่ได้แสดงความเห็น ส่วนคนอีสานกับคนเหนือที่ไม่ใช่ ‘เสื้อแดง’ ก็ยังไม่ได้แสดงความเห็น

แม้สถานการณ์จะล่วงมาถึงขนาดนี้ ก็ยังมีคนอีกมากมายที่ยังไม่มีความเห็น

ดังนั้น ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับไปทำ ‘ประชามติ’ เพื่อหาความเห็นที่สามารถบอกทุกฝ่ายได้ว่าเป็น ‘เสียงส่วนใหญ่’ จริงๆ เพื่อรั้งไม่ให้เหตุการณ์เคลื่อนย้ายไปสู่ความรุนแรงที่ต้องจดจำกันมากไปกว่านี้

ยอมรับว่าเรื่องการทำ ‘ประชามติ’ เป็นเรื่องที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยเสนอท้าทีมเจรจาของ นปช. เอาไว้ แต่ถูกปัดตกไป เพราะเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้รัฐบาลซื้อเวลาได้ ซึ่งคนเสื้อแดงมองว่าการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ชอบธรรมและควรต้องยุบสภาภายใน 15 วัน อีกทั้งการทำประชามติจะต้องแลกมาด้วยงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท

ในตอนนั้น ผมเองไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ โดยมองว่าควรจบลงด้วยการเจรจาที่น่าจะ ‘ยอมกันได้’ ในเงื่อนเวลาที่ไม่ยันข้อเสนอกันสุดโต่งขนาด 15 วัน หรือทอดยาวไปถึง 9 เดือน 

แต่ ณ ขณะนี้ สถานการณ์แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึง 6 ตุลา Model ที่อาจปะทุขึ้นได้ภายใน 6-7 วัน หากเกิดขึ้นจริง คงไม่ต้องรีบบอกว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด เนื่องจากทุกฝ่ายจะกำ ‘ความจริง’ ชุดของตนไว้แน่นหนา หากยังจำได้ นายสมัคร สุนทรเวช เองยังเคยพูดถึง‘ความจริง’ ชุดของท่าน เกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 2519 ไว้อย่างน่าทึ่งว่า ท่านเห็นคนตายแค่คนเดียว จนกระทั่งท่านสิ้นลมในฐานะวีรบุรุษประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงไปแล้ว ‘ความจริง’ ชุดนี้ยังคงชอบธรรมเสมอสำหรับตัวท่านเอง

แต่ที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่คนทั่วไปรับรู้เล่า....คนตายมีมากน้อยเท่าใด และสงครามดำเนินต่อไปนานเท่าใด หากประวัติศาสตร์หน้านี้จะหวนกลับมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคงมีเพียงชื่อเรียกจาก ‘คอมมิวนิสต์’ ในวันนั้นไปสู่ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในวันนี้ ที่อาจเลวร้ายกว่า คือ เราคงได้เห็นภาพแบบเดียวกับใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นทั่วประเทศ คงไม่เกินไปนัก ถ้าวันหนึ่งรถไฟใต้ดินที่แสนหรูหราจะถูกลอบวางระเบิด เพื่อสร้างอาณาจักรแห่งความกลัว และนำไปสู่ความเป็นรัฐที่ล้มเหลว

ดังนั้น ในเมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิความชอบธรรมของตน มีผู้สนับสนุนของตน มีความร้อนแรงของตน ทำไมไม่ลองเย็นลงสักนิด แล้วหันกลับไปฟังเสียงคนทั้งประเทศบ้าง

ผมคิดว่า ‘ประชามติ’ ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของสถานการณ์นี้ ทุกฝ่ายยังสามารถเคลื่อนไปได้ต่อ แต่มันจะเป็นเครื่องมือเล็กๆ ที่ใช้ฟังเสียงคนอื่นๆ นอกจากคู่ขัดแย้งได้บ้าง คนเสื้อแดงอยากลองฟังไหมว่า คนอื่นๆ คิดอย่างไรต่อข้อเสนอของท่าน หนึ่งเสียงของตามี ยายมา คิดอย่างไร รัฐบาลก็เช่นกันอยากฟังไหมว่าหนึ่งเสียงของผมคิดอย่างไร

พวกท่านจะได้ฟังคำตอบเหล่านั้นจากผลประชามติ เสียงจริงๆ ของคนทั้งประเทศ รวมทั้งเสียงของพวกท่านทั้งหลายด้วยเช่นกัน แน่นอน มันอาจยื้อเวลาให้เข้าทางรัฐบาลบ้าง แต่ผมเชื่อว่า คนเสื้อแดงเองก็น่าจะสามารถถอยตรงนี้ได้ การถอยไม่ใช่การพ่ายแพ้อันใด เพราะมาถึงวันนี้ การชุมนุมของพวกท่านได้แสดงพลังให้ปรากฏแล้ว มีคนมองเห็นปัญหาทางชนชั้นที่พวกท่านกำลังกู่ก้องร้องบอกแล้ว พวกท่านได้เริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวไม่ปกติบางประการในสังคมไทยแล้ว มันจึงน่าจะเพียงพอต่อการภาคภูมิใจได้แล้วว่า “พวกคุณทำสำเร็จแล้ว” แม้แต่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.อาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังยอมรับในเรื่องนี้ และเริ่มพูดถึงการยุบสภาเช่นกัน

เราน่าจะยอมเสียเวลากันสักนิดมาลงประชามติเพื่อฟังเสียงกันใหม่ จะเป็นไรไป เพราะมันคงไม่เสียเวลานานเท่ากับเวลาในการเยียวยาความสูญเสียหากมีการเผชิญหน้า ที่สำคัญ ในบางความสูญเสีย แม้แต่เวลาก็เยียวยาให้ไม่ได้ ส่วนใครจะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ผมคิดว่าถึงเสียเงินไปก็ยังดีกว่าการเสียชีวิตของใครสักคนเป็นแน่.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net