Skip to main content
sharethis

หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์กไทม์ มีบทความของโธมัส ฟูลเลอร์ ชื่อ "เมื่อผู้ชุมนุมไทยลอกคราบวัฒนธรรมการอดกลั้น" (Thai Protesters Shed Culture of Restraint) ในตัวบทความกล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นการต่อสุ้ทางการเมืองของกลุ่มคนในชนบท ที่ในสมัยทักษิณเคยได้รับสภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงยานพาหนะและโทรคมนาคม ทำให้การชุมนุมของเสื้อแดงมีพัฒนาการจากการใช้ต้นทุนเหล่านี้

ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงวัฒนธรรมการอดกลั้น การเป็นสุภาพชนแบบผู้ดี ซึ่งแฝงมากับการใช้อำนาจของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมเหล่านี้กำลังถูกแทนที่ด้วยการแสดงออกถึงความไม่พอใจ อาจจะมีการแสดงออกแบบหยาบคายของ 'ไพร่' ที่อาจทำให้ 'ผู้ดี' ทั้งหลายตื่นตระหนก แต่ตัวบทความก็ชี้ว่า สังคมกำลังวิวัฒนาการไปในอีกรูปแบบหนึ่งแล้ว

"บันทึกจากกรุงเทพฯ เมื่อผู้ชุมนุมไทยลอกคราบวัฒนธรรมการอดกลั้น"

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรถเบนซ์ราว 145,000 คัน ขณะที่มีหมู่บ้านอยู่ราว 75,000 หมู่บ้าน หลายหมู่บ้านก็เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความยากจน

ใกล้ครบ 3 สัปดาห์แล้วที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รถหรู ๆ ต้องร่วมท้องถนนเดียวกับกลุ่มขบวนผู้ชุมนุมที่ตะโกนผ่านลำโพงขยายเสียง ป่าวร้องถึงความไม่พอใจจากคนรอบนอกเมืองหลวง

พวกเขายืนอยู่หลังรถกระบะและสวมใส่หมวกปีกกว้าง มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อธนิดา ปวีณ อายุ 43 ปี อธิบายถึงสาเหตุที่เธอมาร่วมชุมนุม

"ฉันเคยคิดว่าพวกเราเกิดมาก็จนแล้วก็ต้องยอมรับมัน" ธนิดากล่าว เธอโตขึ้นมาในต่างจังหวัด ก่อนเข้ามาทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ โดยเช่าห้องอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนอกตัวเมือง "แล้วฉันก็เปิดใจรับความคิดใหม่ พวกเราควรต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบอำมาตย์ให้กลายเป็นประชาธิไตยที่แท้จริง"

ประเทศไทยในเวลานี้ไม่เชิงเหมือนกับฝรั่งเศสในปี 1789 (ปีที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส-ผู้แปล) เสียทีเดียว เพราะยังไม่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งใหญ่ ๆ ระหว่างคนรวยกับคนจนในเมืองไทย และยังคงมีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ แม้จะเสียงดังไปหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เสียเปรียบในไทยก็มีจำนวนมากขึ้นที่ไม่ยอมรับสภาพเดิม ๆ ที่สืบทอดจากรุ่นก่อนมา และพวกเขาก็แสดงความโกรธแค้นกับความต่างฐานะเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน โกรธกับการเคยถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ และกับการถูกมองอย่างต้อยต่ำจากคนกรุงเทพฯ ในกรณีของผู้ที่พูดภาษาสำเนียงอื่น โดยเฉพาะจากภาคอิสาน

ความแตกต่าง ความเป็นสุภาพชน และทัศนะแบบสูงสง่า เป็นสิ่งที่ช่วยถ่วงน้ำหนักความมีลำดับขั้นทางสังคมเอาไว้ในประเทศไทยมาหลายร้อยปี แต่ในตอนนี้นักวิเคราะห์บอกว่าสิ่งเหล่านี้มันกำลังพร่าเลือนลงเรื่อยๆ จากการที่คนจนในไทยเริ่มมีความกล้ามากขึ้น พวกเขาละทิ้งข้อห้ามเก่า ๆ ที่กดพวกเขาไม่ยอมให้เผชิญหน้า

ผู้ที่มั่งมีในไทย ก็มั่งมีเหลือบรรยาย ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดในเอเชีย จากรายงานของธนาคารโลกพบวาระยะห่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากกว่าจีน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือเวียตนาม เสียอีก

ความวุ่นวายทางการเมือง 4 ปี ทำให้เห็นการแบ่งแยกกันมาขึ้นระหว่าง ครอบครัวที่ร่ำรวยกับคนรับใช้ในบ้าน ระหว่างลูกค้าร้านอาหารราคาแพงและบริกรผู้ที่ทำงานบริการพวกเขา ระหว่างนักธุรกิจเล่นตีกอล์ฟกับแคดดี้จำนวนมากที่แบกกระเป๋าตามพวกเขา

"นี่เป็นจิตสำนึกใหม่ของผู้ที่ถูกเมินเฉยในสังคมไทย" ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์ชั้นนำของไทยและนักวิชาการรับเชิญของศูนย์มนุษย์ศาสตร์ FSI ประจำมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดกล่าว "ในอดีตที่ผ่านมาพวกเขาไม่พอใจมาก แต่พวกเขาก็ไม่ได้เกาะกลุ่มรวมพลังในการต่อสู้ประเด็นเดียวกันมาก่อน เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถทำให้พวกเขารวบรวมเสียงความไม่พอใจที่แตกแยกกัน เข้าเป็นหนึ่งเดียวได้"

บทบาทของเทคโนโลยีมีความสำคัญมากกับการทำให้ผู้ชุมนุมรวมตัวกันได้ แกนนำต่างใช้วิทยุชุมชน การส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คนไทยรายได้น้อยได้แสดงตัวตนและติดต่อสื่อสารกับผู้คน

การประท้วงในกรุงเทพฯ อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แฟล็ชม็อบ (Flash mobs-การนัดรวมตัวและสลายตัวอย่างรวดเร็วที่อาศัยอินเตอร์เน็ตในการนัดแนะ) ของผู้ที่ไม่พอใจ ผู้ชุมนุมที่สวมใส่เสื้อยืดสีแดงมารวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ธนาคาร และฐานทัพทหาร โดยการส่งข้อความทางมือถือ

"มันจะเป็นไปไม่ได้เลยใน 10 ที่แล้ว" ธนิดากล่าว เธอก็เช่นเดียวกับผู้ประท้วงคนอื่น ๆ คือเป็นผู้รับข่าวสารจากช่องโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง "ดี สเตชั่น" ที่มีข้อมูลล่าสุดของการชุมนุม

แกนนำเสื้อแดงระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นสงครามชนชั้น และบอกว่าพวกเขาคือผู้ปกป้อง "ไพร่" โดยคำว่า "ไพร่" เป็นคำของระบอบศักดินาที่ใช้เรียกสามัญชน หรือพลเมืองระดับล่าง
มีคำว่า "ฤา เลือดไพร่นั้นไร้ค่า" เป็นโปสเตอร์ติดอยู่ตามจุดต่าง ๆ และอยู่บนเสื้อยืด

นี่อาจจะเป็นวาทศิลป์ที่ฟังดูเกินจริง มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย แต่แม้ว่าผู้ชุมนุมจะมีจำนวนเรือนหมื่น แต่ความโกรธก็ไม่ใช่เรื่องของการโจมตีที่ความร่ำรวยในเชิงตัวบุคคล

เป้าหมายหลักของผู้ชุมนุมดูจะอยู่ที่ตัวระบบมากกว่า ระบบที่สะท้อนภาพของกลุ่มอำมาตย์และกองทัพที่รับใช้ชนชั้นนำและกดขี่คนยากจน ผู้ชุมนุมจะรำพึงรำพันถึงการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2006 ที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีอดีตนายกฯ ผู้เน้นนโยบายไปที่พื้นที่ชนบท และพวกเขาก็ตั้งคำถามถึงความความเป็นธรรมในระบบศาลซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่อยู่ฝ่ายเดียวกับทักษิณสองราย

สำหรับคนนอกจำนวนมาก บทบาทของทักษิณยังชวนให้ตั้งคำถาม ความคิดที่เศรษฐีคนหนึ่งนำพาคนในประเทศ
ที่ไม่ชอบเขาลุกขึ้นมาต่อต้าน ดูแล้วเป้นเรื่องตลก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่มองว่าบทบาทของทักษิณนั้นทำไปเพื่อตัวเขาเอง นักวิเคราะห์หลายคนก็เห็นด้วยว่าเขาดูไม่น่าจะเป็นผู้นำในเชิงคุณค่าของประชาธิปไตยเมื่อดูจากตอนที่เขามีอำนาจอยู่ 5 ปี เขาแทรกแซงสื่อ ทำลายความอิสระขององค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น และมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางเศรษฐกิจ

ผู้ชุมนุมจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มที่เชื่อมโยงกับทักษิณ บอกว่าการชุมนุมประท้วงมีมิติมากกว่าการต่อสู้ระหว่างทักษิณกับปฏิปักษ์ทางการเมืองของเขา

"มันไปไกลกว่าเรื่องทักษิณแล้ว" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ หนึ่งในอดีตผู้ร่างนโยบายในสมัยรัฐบาลทักษิณกล่าว "คำถามคือ รัฐไทยจะสามารถเปลี่ยนพลังด้านลบนี้ให้กลายเป็นด้านบวกได้หรือไม่"

เป็นเรื่องสำคัญที่ทักษิณร่ำรวยจากกิจการโทรคมนาคม แม้แต่ผู้ที่วิพากษฺ์วิจารณ์เขาก็ยอมรับว่าเขาสามารถสื่อสารกับคนจนในชนบทและทำให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งผู้นำก่อนหน้านี้ไม่มีใครเลยที่ทำได้ ในตอนที่เขาเป็นนายกฯ เขาทำให้คนรายได้น้อยได้มีโอกาสสัมผัสกับชีวิตที่ดีกว่าเก่า อนุญาตให้เขาได้กู้ยืมเงินเอาไปใช้ในการซื้อรถกระบะและโทรศัพท์มือถือ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการชุมนุม

ในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในดินแดนเกษตรกรรมทางภาคอิสานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจนถึงระดับ 5.3 ล้านราย

รายได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในช่วงที่นายกฯ ทักษิณ เป็นรัฐบาล และคนในจังหวัดภาคเหนือและภาคใต้ก็เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น

อัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาในเมืองไทยกล่าวว่า ผู้ประท้วงในทุกวันนี้ไม่ใช่คนจนที่ 'จนดักดาน' พวกเขาเป็นเหมือนคนที่มีความคาดหวังอะไรสักอย่าง แล้วความคาดหวังของพวกเขาก็ถูกทำลายไป ในช่วงที่ทักษิณดำรงตำแหน่ง ทำให้เม็ดเงินไหลเวียนไปยังเขตนอกเมืองมากขึ้น พวกเขาเริ่มตั้งธุรกิจเล็ก ๆ อย่างร้านทำผม "มันเป็นการเริ่มต้นอย่างก้าวกระโดดของหลายสิ่งหลายอย่าง"

หลังการรัฐประหารในปี 2006 กลุ่มผู้ประกอบการเล็ก ๆ เหล่านี้ก็เริ่มติดขัด "พวกเขาเริ่มเงินขาดมือจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้" อัมมาร์กล่าว ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ

ทุกวันนี้มีครอบครัวในชนบทที่ต้องแบกภาระหนี้สิน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ราว ๆ 100,000 บาท แต่รายได้ของพวกเขาก็ฝืดเคือง ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว มีส่วนหนึ่งของวิกฤติการเมืองไทยที่เป็นด้านที่คลุมเครือ และเป็นด้านที่มีความสำคัญต่อประเทศในระยะยาว

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ฝังรากลึกในเมืองไทย คือความเป็นผู้ดี การไม่แสดงความโกรธ ความเป็นสุภาพชนที่ได้รับการยกย่องในระดับของชนชั้นนำศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้กำลังถูกกัดกร่อนโดยเทคโนโลยีและการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทบจะไม่ไปเยือนภาคอิสานเลย เพราะคนคุ้มกันเขากลัวว่าจะได้รับการตอบรับอย่างไม่เป็นมิตร (อภิสิทธิ์ก็ซุกตัวอยู่ในค่ายทหารมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว) ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งคือ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ที่ชุมนุมประท้วงขับไล่ทักษิณ ก็เคย 'จับประเทศเป็นตัวประกัน' ด้วยการยึดสนามบินเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงปี 2008 ซึ่งเป็นการประท้วงที่ทำให้นักท่องเที่ยวตกค้างอยู่นับแสนคน

วิลเลี่ยม เจ. คลอสเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทยและพุทธศาสนากล่าว่วา วัฒนธรรมการอดทนอดกลั้นไม่ใช้ความก้าวร้าวหรือความรุนแรง สิ่งที่พระสงฆ์เคยยึดถือปฏิบัติและเกรงว่าจะกลายเป็นการก่อกรรมไม่ดี ในตอนนี้ลดระดับความเข้มข้นลงแล้ว

วิลเลี่ยม เคยศึกษาวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านตั้งแต่เขามาที่ประเทศไทยในปี 1950 เขาเคยเขียนไว้ในบทความว่า "ชาวบ้านในทุกวันนี้รู้สึกไม่ยอมรับความต่างฐานะ และไม่เคารพผู้มีอำนาจ เป็นเพราะว่าพวกเขารับรู้ถึงความมีอภิสิทธิ์และการได้รับสถานะพิเศษของผู้มีอำนาจ"

คนไทยหลายคนบอกว่าพวกเขาตกใจกับการใช้คำหยาบคายจากนักกิจกรรมทางการเมืองจากทุกสี การด่าทอซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่เคยได้ยินในที่สาธารณะ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ประเทศเหมือนจะสูญเสียส่วนหนึ่งที่ดึดดูดนักท่องเที่ยวนับล้าน วัฒนธรรมของารอดกลั้น ความเป็นสุภาพที่ถอยหลังเข้าคลอง

ภัควรรณ มาลายาเวช ชาวอิสานอายุ 55 ปี กล่าวถึงเรื่องนี้ขณะที่เดินผ่านผู้ประท้วงเสื้อแดงหลายหมื่นราย เธอเคยไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อตอนยังเด็ก เป็นคนขับรถขายไอศกรีม กูด ฮิวเมอร์ ในแฟร์แฟ็ก รัฐเวอร์จิเนีย และทำงานเสริมอื่น ๆ จนกระทั่งในปี 1999 เธอเลิกทำงานและกลับมาประเทศไทย เธอเห็นประเทศไทยราวกับภาพถ่ายที่แสดงการเปลี่ยนแปลงชั่วเวลา (Time-lapse Photography)

"ประชาชนเคยให้อภัยและปล่อยให้ลืมมันไปอย่างง่ายดาย" เธอกล่าว "แต่ตอนนี้มาถึงยุคใหม่ที่เหมือนกับชาวอเมริกันแล้ว คือพวกเขาโต้ตอบกลับ"

ที่มา :

Thai Protesters Shed Culture of Restraint, Thomas Fuller, 31-01-201
http://www.nytimes.com/2010/04/01/world/asia/01thai.html?src=me&pagewanted=all

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net