Skip to main content
sharethis

 

4 เม.ย. 53 - งบกองทุนสุขภาพคนไร้สถานะส่อวุ่น กลไกสธ.ไม่พร้อมและไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง เผยมี กก.เสนอจัดให้เฉพาะรพ.ที่เป็นหนี้ หากทำเช่นนี้จริงถือเป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิตามมติ ครม. และเป็นแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งไม่มีการจัดระบบฐานข้อมูล การลงทะเบียน การคุ้มครองสิทธิและตั้งงบบริหารจัดการสูงถึง  3%  ชี้หากไม่จัดสรรงบรายหัวอย่างเข้าใจ จะเกิดวิกฤติงบไม่พอ เพราะประชากรเฉลี่ยความเสี่ยงมีน้อย ผู้ป่วยจะเข้าไม่ถึงบริการโรคที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง เช่น เอดส์ ไตวาย หัวใจ มะเร็ง เสนอสธ.ซื้อประกันสุขภาพจากสปสช.แทน

นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.  กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่เริ่มดำเนินการให้สิทธิหลักประกันสุขภาพกับกลุ่มคนไร้สถานะประมาณ 4.7 แสนคน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ซึ่งจนถึงขณะนี้การดำเนินการยังไม่ชัดเจน แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดำเนินการบริหารกองทุนแต่มีกรรมการบางส่วนยังขาดข้อมูลรวมถึงความเข้าใจในรายละเอียด เรื่องระบบการบริหารจัดการที่บอกว่า เท่าเทียมและไม่แตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแท้จริง   อีกทั้งยังมีการเสนอให้จัดงบให้เฉพาะรพ.ที่มีปัญหาด้านหนี้สิน ถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับเต็มสิทธิประโยชน์ อาจจะลดทอนลงไปโดยไม่ต้องหาคำตอบ   เนื่องจากสิ่งที่ครม.อนุมัติคือจัดงบรายหัวจำนวน 2,067 บาทต่อประชากร สำหรับนำไปใช้ในการดำเนินการเรื่องสิทธิสุขภาพ ไม่ใช่เอาไปจ่ายหนี้ให้เฉพาะรพ.ที่มีปัญหา หากทำเช่นนี้จริง ปัญหาจะวนกลับมาที่เดิม คือไม่ดูแลเรื่องสิทธิสุขภาพ แต่เป็นการตามจ่ายหนี้ ดูเสมือนว่าเป็นการให้สิทธิแบบไม่จริงใจ เจ็บป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาลเมื่อไรค่อยมารักษา ปล่อยให้คนกลุ่มนี้เมื่อมีอาการหนักค่อยมารักษา ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด เป็นไปตามเจตนารมณ์การช่วยเหลือด้านสุขภาพในประชากรกลุ่มนี้

นางอรพิน กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดระบบฐานข้อมูลและการคุ้มครองสิทธิ  ความชัดเจนในเรื่องการลงทะเบียน รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ถ้าประชากรกลุ่มนี้มีปัญหาในการใช้บริการจะทำอย่างไร และยังไม่มีข้อมูลว่า คนที่ได้รับสิทธินี้อยู่ที่ไหนบ้าง แม้ว่าจะมีข้อมูลคนกลุ่มน้อยในเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร ถึง 45,000 คน ทำอย่างไรที่จะสามารถเข้าถึง  และทำให้เขารู้ว่าได้รับสิทธิสุขภาพแล้ว  ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการตั้งงบบริหารจัดการดังกล่าวเบื้องต้น ของกองทุนซึ่งสูงมาก ประมาณปีละ 24 ล้านบาท  เท่ากับว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิจะหายไปจากจำนวนที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน   เมื่อเปรียบเทียบกับสปสช.ซึ่งใช้งบบริหารจัดการไม่ถึง 1 %  และคิดว่า  สธ.สามารถหางบจากส่วนอื่นมาใช้ในการบริหารจัดการได้  ถ้าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงพยาบาลและเกื้อกูลให้ผู้ไร้สถานะบุคคลได้เข้าถึงบริการอย่างแท้จริงหลังจากที่รอคอยมานานเกือบ 5 ปีแล้ว  ขณะเดียวกันคณะกรรมการที่สธ.แต่งตั้งก็มีส่วนร่วมจากกลุ่มคนไร้สถานะน้อยมาก เพียง 1 คนเท่านั้น  จึงเสนอว่าคณะกรรมการฯ  ควรจะเพิ่มสัดส่วนของตัวแทนกลุ่มบุคคลผู้ไร้สถานทางบุคคล ให้ใกล้เคียงกับผู้แทนฝ่ายผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน

“ฉะนั้น จึงฝากเรียนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ลงมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มบุคคลผู้ไร้สถานะ ได้รับความเป็นธรรมและเสมอภาค  ซึ่งผลงานครั้งนี้ของนายจุรินทร์เป็นเรื่องที่ดีมากสะท้อนว่าเรื่องสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยทุกคน ที่มีความทุกข์เรื่องการเจ็บป่วยได้รับการดูแลจากกระทรวง ที่มีทั้งนโยบาย บุคคลากร และระบบการบริการจัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และถือว่าเป็นผลงานเด่นที่สามารถทำให้คนที่รอคอยด้วยความหวัง มายาวนานสามารถได้บรรลุความฝันของตนเองได้อย่างแท้จริง  โดยไร้ปัญหาหรือข้อครหาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้งงบประมาณ และระเบียบหลักเกณฑ์ที่เอื้อกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มบุคคลผู้ไร้สถานบุคคลอย่างแท้จริง”    นางอรพิน กล่าว 

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ตัวเลขงบรายหัวจำนวน 2,067 บาทต่อประชากร ที่สปสช.เสนอให้ครม.พิจารณานั้น เป็นการคำนวณจากหลักการเฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกับกลุ่มประชากร 47.7 ล้านคน ที่สปสช.ให้การดูแลอยู่ ซึ่งเป็นการยึดตามหลักการประกันสุขภาพที่ว่า รวมความเสี่ยงและเฉลี่ยความเสี่ยง (pooling risk sharing risk) ดังนั้นตัวเลข 2,067 บาทต่อประชากร แม้จะน้อยกว่างบรายหัวของประชากร 47.7 ล้านคน แต่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะไปเฉลี่ยความเสี่ยงกับประชากร 47.7 ล้านคน แต่เมื่อมติครม.ให้สธ.เป็นจัดการงบกองทุนนี้ ในระยะยาวจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ เพราะมีประชากรจะเฉลี่ยความเสี่ยงในอัตราที่ต่ำ คือ 4.7 แสนคน ทั้งยังเป็นกลุ่มประชากรที่ยากจน สุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสิทธิสุขภาพก่อนหน้านี้ ดังนั้นงบประมาณต่อหัวจะต้องใช้มากกว่านี้อย่างแน่นอน ในปีแรกอาจจะไม่มีปัญหา เพราะการเข้าถึงบริการสุขภาพยังน้อย แต่ปีต่อไปงบประมาณจะไม่เพียงพอแน่นอน เพราะประชากรกลุ่มนี้รับรู้สิทธิย่อมจะเข้าถึงบริการมากขึ้น 

นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลเหมือนกับคนไทยที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วย เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ เพราะสปสช.ได้รับงบประมาณต่างหากในการบริหารจัดการ แต่เท่าที่ทราบ งบกองทุนสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ  แบ่งงบรายหัวเป็น 4 ส่วน คือ ผู้ป่วยนอก ส่งเสริมสุขภาพ ผู้ป่วยในรวมทั้งโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และงบบริหารจัดการ สิ่งที่จะมีปัญหาคือ งบผู้ป่วยในและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงจะไม่เพียงพอ ที่จะเฉลี่ยความเสี่ยงเฉพาะประชากร 4.7 แสนคน ท้ายที่สุดรพ.จะแบกรับภาระเหมือนเดิม นอกจากนั้นการบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ในกรุงเทพฯ จะมีปัญหามากเช่นเดียวกัน คนเหล่านี้จะสามารถไปใช้บริการในโรงพยาบาลนอกกระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่ และหากเกิดกรณีฉุกเฉินจะมีวิธีจ่ายอย่างไร

“ดังนั้นจึงขอเสนอให้หาวิธีบริหารจัดการร่วมกับสปสช.หรืออาจจะซื้อประกันสุขภาพกับสปสช. เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งจะแก้ปัญหาตรงนี้ และจะทำให้ประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงบริการอย่างแท้จริง ส่วนการตั้งงบบริหารจัดการ 3 % ของกองทุนนั้น โดยหลักการนั้นถูกต้อง แต่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะตรงนี้คืองบรายหัวสำหรับบริการสุขภาพ ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ไม่ควรดึงจากงบรายหัวไปใช้ งบประมาณ 24 ล้านบาทต่อปีสำหรับการจัดการ สธ.สามารถหาได้จากงบประมาณส่วนอื่นอยู่แล้ว” นพ.พงศธร กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net