Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 53 ที่ผ่านมา "เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม" ซึ่งประกอบไปด้วยนักกฏหมาย นักปรัชญา นักสังคมวิทยา ผู้บริหาร อดีต สสร เป็นต้น ได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรกเพื่อแสดงจุดยืนและ เรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยให้ร่วมกันคลี่คลาย สถานการณ์ทางการเมือง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
Scholars’ Network for a Just Society

แถลงการณ์ฉบับที่ 1

เรื่อง ข้อเรียกร้องเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง

ตามที่มวลชนจำนวนมากได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา และรัฐบาลได้ใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรควบคุมสถานการณ์นั้น แม้ว่าฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาลได้ยืนยันในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และได้มีการเจรจากันเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาโดยวิธียุบสภานั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ประกอบด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนนักวิชาการอิสระ และประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เล็งเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ยังมีความล่อแหลมต่อการเกิดความขัดแย้งที่รุนแรง และอาจขยายเป็นวงกว้างได้หากแต่ละฝ่ายไม่สามารถใช้ความอดทนอดกลั้นซึ่งปุถุชนมีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น จึงขอแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์มิให้เข้าสู่จุดวิกฤติดังนี้.-

รัฐบาล
1.รัฐบาลควรทบทวนการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นมาตรการที่เกินกว่าความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม และไม่สามารถป้องกันการก่อเหตุร้ายจากการฉกฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่หวังดี  ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ และทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความรู้สึกว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในสถานการณ์เดียวกันนี้ในอดีต

2.รัฐบาลควรแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความอดทนอดกลั้นและวุฒิภาวะที่ยิ่งกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามแก้ปัญหาโดยยึดหลักความยุติธรรมและสันติ  ไม่ยอมให้กลไกของรัฐเข้าขัดขวางหรือ แทรกแซง การแสดงออกของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งควรระมัดระวังมิให้บุคคลในสังกัดวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมที่ยังชอบด้วยสันติวิธี หรือให้ข่าวในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ ท้าทาย ยั่วยุ ดุถูก ดูหมิ่นกลุ่มผู้ชุมนุม ใส่ร้ายหรือตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเพราะจะยิ่งเป็นการทวีความแตกแยกขัดแย้งและทำให้สังคมตื่นตระหนก

3.นายกรัฐมนตรีควรกลับเข้าไปปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นปกติในทำเนียบรัฐบาลเพื่อมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจสถานการณ์เลวร้ายเกินจริง และเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับสังคมและนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุม
4.แกนนำผู้ชุมนุมควรแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมให้ชัดเจนเป็นระยะ ๆ 

5.แกนนำผู้ชุมนุมไม่ควรละทิ้งกระบวนการเจรจาแม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการสนองตอบตามข้อเรียกร้องเพื่อลดทอนความวิตกกังวลของสาธารณชน ทั้งควรลดเงื่อนไขในการเจรจาที่เป็นไปได้ยาก และควรรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มพลังต่าง ๆ อย่างพินิจพิเคราะห์

6.แกนนำผู้ชุมนุมจะต้องยืนหยัดต่อหลักการสันติอหิงสาตามที่ได้ประกาศไว้โดยเคร่งครัด และจะไม่แสดงท่าทีขัดขวางใดๆ หากนายกรัฐมนตรีจะกลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล

สื่อกระแสหลัก
7.สื่อกระแสหลักควรตระหนักถึงสิทธิของสาธารณชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม  ประชาชนควรมีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อย่างครบถ้วนรอบด้าน เช่นการรายงานจำนวนที่แท้จริงของกลุ่มผู้มาชุมนุม เป็นต้น และควรเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันโดยเท่าเทียมกัน

สถาบันการศึกษา
8.สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรเดินหน้าในการศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอันมีความสลับซับซ้อนในหลายมิติอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อเสนอองค์ความรู้ต่อสาธารณะอันนำมาซึ่งการเสนอแนวทางและการถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลอันนำไปสู่ข้อยุติร่วมกัน

ประชาชนทั่วไป
9.ประชาชนทั่วไปควรติดตามและพินิจพิเคราะห์สถานการณ์ด้วยความไตร่ตรองระมัดระวังไม่ตกหลุมพรางการบิดเบือน ปิดบังข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการเสนอหรือเปิดเผยข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน โดยเปรียบเทียบตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่งและควรรู้ว่าแหล่งข้อมูลหรือสื่อนั้นๆมีที่มาและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่อย่างไร มีความโน้มเอียงหรือมีความเป็นกลางมากน้อยเพียงใด ทั้งยังต้องทราบว่าข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเพียงข้อเท็จจริง หรือ มีการต่อเติม ตีความ แสดงความคิดเห็นประกอบมาด้วยหรือไม่ และต้องรู้เท่าทันวาทกรรมวิชาการที่เกิดขึ้นมากมายท่ามกลางความขัดแย้ง

10.ประชาชนทั่วไปควรต่อต้านและประณามการสร้างสถานการณ์การก่อเหตุความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะกระทำต่อฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำต่อสื่อมวลชนโทรทัศน์ทั้งสองแห่งและหน่วยงานแห่งอื่นที่ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในระยะยาวทุกฝ่ายรวมถึงประชาคมวิชาการต้องร่วมกันสร้างสรรค์สังคมบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย หลักคุณธรรมจริยธรรม หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค ให้เป็นสังคมที่ปราศจากความ
อยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ละเว้นการกระทำการใดๆที่มุ่งสู่ผลโดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมของวิธีการ ทั้งนี้ เพื่อมิให้สังคมไทยเกิดความยุ่งยากถึงทางตัน

วันที่  1 เมษายน 2553
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

1. ชวลิต  หมื่นนุช มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
2. วรยุทธ  ศรีวรกุล คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
3. วีระชาติ  นิ่มอนงค์ คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
4. พรสันต์  เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
5. เสถียรภาพ  นาหลวง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
6. นันทพันธ์  ชินล้ำประเสริฐ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
7. สุรพล  จรรยากูล ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
8. สิริเพ็ญ  พิริยจิตรกรกิจ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. เดือนฉาย  อรุณกิจ มหาวิทยาลัยพายัพ
10. พกุล พัฒน์ดิลก  แองเกอร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
11. ประไพพรรณ ชัยพันธเศรษฐ์ วิทยาลัยดุสิตธานี
12. บัญชา  สกุลดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
13. วิทยา  เจริญศรี สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
14. ชาญ  มายอด ศูนย์จริยธรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
15. วีระพันธ์  พันธ์วิไล ศูนย์จริยธรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
16. สุภัทร์ สกลไชย นักวิชาการอิสระ และทนายความ
17. อัมพล ชูสนุก ผู้บริหาร บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
18. สิทธิชัย โอฬารกุล ผู้บริหาร บจก.นีโอฟาร์ม
19. สันติ  เจริญฤทธิศักดิ์ ผู้ประกอบการและนักวิชาการอิสระ
20. สุทธิพงษ์  ทูลพุทธา พนักงานบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์
21. ศักดิ์ศิริ  ยิ้มเมือง ผู้ประกอบการ
22. พรรณทิพย์ โอฬารกุล เจ้าของกิจการ บจก.เดือน
23. ณัฏฐนิชโอฬารกุล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
24. ประสิทธิ์คุณ สกุลดี นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
25. สุปรีย์ กาญจนพิศาล นักศึกษาปริญญาเอก คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net