Skip to main content
sharethis

“มีเดียมอนิเตอร์” เปิดเผยผลสำรวจข่าวชุมนุมเสื้อแดงในทีวี พบช่อง 11 ยังคงถูกแทรกแซงทุกรัฐบาล กลางวันเสนอข่าวเชิงสันติภาพ ตกกลางคืนเน้นทำสงครามทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม ปล่อยเอสเอ็มเอสวนซ้ำหลายรอบ ส่วนทีวีทุกช่องยังทำหน้าที่สื่อสันติภาพน้อยมาก

วานนี้ (25 มี.ค.) ที่อาคารเอ็สเอ็มทาวเวอร์ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการมีเดียมอนิเตอร์ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาพวะของสังคม (Media Monitor) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการสำรวจ “การรายงานข่าวชุมนุมทางการเมืองในสื่อทีวี” ว่า จากการเฝ้าระวังการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม (ช่วงเวลา 0.00 น.) และวันที่ 21-23 มีนาคม (00.00 - 20.00 น.) ที่ผ่านมาใน 10 ช่องสถานีโทรทัศน์ โดยแยกเป็นฟรีทีวี 6 สถานี ได้แก่ 3, 5,7, 9, 11 และทีวีไทย เคเบิ้ลทีวี 4 สถานี ได้แก่ เนชั่นแชนเนล, เอเอสทีวี, ทีเอ็นเอ็น และดีสเตชั่น

ซึ่งผลการศึกษาและวิเคราะห์ พบว่า ในประเด็นการให้ความสำคัญกับข่าวนั้น ทุกช่องให้ความสำคัญกับข่าวการชุมนุมเป็นข่าวหลักของรายการข่าว แต่พื้นที่ข่าวที่ให้มีความแตกต่างกัน โดยช่อง 3, 5, 7, 9 จะให้พื้นที่ข่าวปานกลาง เน้นการรายงานเฉพาะช่วงข่าวปกติเท่านั้น อาจมีรายงานพิเศษเกาะติดสถานการณ์บ้างแต่ไม่มาก ต่างจากช่อง 11, ทีวีไทย เนชั่นแชนเนล, ทีเอ็นเอ็น, เอเอสทีวี ที่ให้พื้นที่ข่าวอย่างมาก โดยเฉพาะช่อง 11 และทีวีไทย ที่ให้พื้นที่ข่าวถึง 35% มีรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และสอดแทรกเนื้อหาข่าวการชุมนุมในรายการอื่นด้วย

นายธาม กล่าวว่า ส่วนประเด็นข่าวที่นำเสนอนั้น ช่อง 3, 5, 7 และ 9 เป็นการนำเสนอที่เน้นที่ประเด็นข่าว มีการรายงานสรุปสาระสำคัญบนเวทีปราศรัย ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ การก่อความไม่สงบ การเตรียมรับมือการชุมนุมของรัฐบาล และการโจมตีกันของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ช่อง 11, ทีวีไทย, เนชั่นแชนเนล, เอเอสทีวี, และทีเอ็นเอ็น จะเน้นที่ประเด็นการวิเคราะห์ ทั้งในด้านผลกระทบจากการชุมนุม การนำเสนอทางออกความขัดแย้ง การวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมือง และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ส่วนประเด็นแหล่งข่าว เห็นว่าในทุกช่องจะเน้นการสัมภาษณ์ที่คู่ความขัดแย้ง ยกเว้นเพียงแค่ทีวีไทยที่เน้นเสียงสัมภาษณ์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ

และเมื่อติดตามดูภาพข่าวที่นำเสนอในทุกช่องพบว่า ทุกช่องใช้ภาพข่าวเหตุการณ์บรรยากาศการชุมนุมเป็นหลัก โดยจะเน้นไปที่ภาพที่ส่อให้เห็นถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเน้นถ่ายภาพการเทเลือด การเตรียมกองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ และอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนภาษาข่าวที่ใช้นั้น ปกติ ขาดอคติ ไม่มีการแสดงความเห็น ยกเว้นรายการคุยข่าวที่มักใช้ภาษาเร้าอารมณ์ ชี้นำ และสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัว โดยในประเด็นนี้เนชั่นแชนเนลจะเด่นเรื่องการตั้งคำถามเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง และเมื่อวิเคราะห์ในส่วนของการทำหน้าที่บทบาทในการสื่อข่าวเพื่อสร้างสันติภาพ พบว่า ค่อนข้างมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเน้นการรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังการเป็นการนำเสนอข่าวในเชิงรับ เน้นที่การโต้ตอบทางการเมืองของคู่ที่ขัดแย้ง ยกเว้นทีวีไทยที่เน้นการรายงานข่าวเชิงลึกผ่านสกู๊ปข่าว มีพื้นที่สาธารณะพูดคุย

จากการติดตามทั้ง 10 ช่องสถานี มีเพียงดีสเตชั่นที่แทบไม่ปรากฏเนื้อหาข่าว แต่เน้นที่การถ่ายทอดสดต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเอเอสทีวีที่เน้นในรูปแบบเดียวกันในชุมนุมพันธมิตร แต่ยังมีรายการข่าวปกติและสกู๊ปข่าวสอดแทรกบ้าง ส่วนสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของภาครัฐนั้น โดยช่อง 5 จะเน้นที่แหล่งข่าวจากฝ่ายทหารเป็นหลัก เช่นเดียวกับเนื้อหาข่าวที่เน้นการรับมือสถานการณ์ และการวางกองกำลังของทหารและตำรวจ

ช่อง 11 จากการติดตามการนำเสนอข่าวในทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นช่องที่ถูกแทรกแซงมากที่สุดโดยกลางวันจะเน้นการสื่อสารเชิงสันติภาพ แต่ในช่วงกลางคืนกลับมีการสื่อสารในเชิงสงครามที่มีเป้าหมายทางการเมือง เรียกว่า เป็นนำเสนอรูปแบบกลางวันสีขาว กลางคืนสีแดงก็ว่าได้ และแม้ว่าจะมีการนำทวิตเตอร์ข้อความของประชาชนขึ้นเป็นตัววิ่งข้างล่างจอภาพ แต่จากติดตามพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการวนซ้ำไม่ถึง 10 ข้อความ แถมมาจากคนที่ซ้ำๆ กัน

ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการมีเดียมอนิเตอร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า สถานีโทรทัศน์ที่เน้นธุรกิจ อย่างช่อง 3 และ 7 แถบจะไม่มีการให้พื้นที่สาธารณะ และยังคงนำเสนอรายการตามผังปกติ

นายธาม กล่าวต่อว่า จากการสังเกตการณ์นำเสนอภาพข่าว พบว่า ทุกสถานีจะนำเสนอภาพข่าวจากกล้องวงจรปิดของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) เป็นหลัก ที่เป็นการนำเสนอข่าวที่ง่าย และเชื่อว่าในอนาคตการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยจะเน้นที่กล้องวงจรปิดเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเห็นว่า การนำเสนอข่าวครั้งนี้ สื่อมวลชนมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การนำเสนอภาพจากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องวิเคราะห์หรือทำความเข้าใจให้กับประชาชน เช่นเดียวกับการเลือกแหล่งข่าว ที่พบว่า ส่วนใหญ่จะเลือกแหล่งข่าวจากคู่ขัดแย้งในสัดส่วน 50-50 โดยไม่มีการเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆ

นายธาม กล่าวต่อว่า ขณะนี้การนำเสนอข่าวสารต่างๆ ไม่ได้มีแต่เฉพาะทีวี เพราะปัจจุบันมีหลายช่องทางที่ประชาชนสามารถเลือกรับข่าวสารได้ ดังนั้นสื่อทวีคงทำข่าวแบบเดิมไม่ได้แล้ว และต้องเน้นที่ความเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะเลือกรับสื่อเฉพาะที่ตนเองต้องการ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สื่อมักต่อว่าในเรื่องความไม่เป็นกลาง และเอียงข้าง ซึ่งต้องเห็นใจผู้ปฏิบัติงานข่าวที่ได้พยายามทำข่าวอย่างสมดุลแล้ว แต่อาจเกิดจากอคติของผู้ที่รับสารเอง ดังนั้นประชาชนจึงต้องตัดความเคยชินของตนเองออก และใช้วิจารณญาณเลือกรับสื่อ อย่าคิดว่าทุกอย่างที่เป็นข่าวจะเป็นความจริงทั้งหมด เพราะการนำเสนอข่าวเป็นแค่การนำเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net