Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 53 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “อำมาตยาธิปไตยกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาและร่วมแลกเปลี่ยนอภิปราย ทั้ง นักศึกษา ประชาชน อาจารย์ ประมาณ  30 คน ซึ่งมีวิทยากรนำเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง

อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อ. มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , รศ.น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ,นาย อิทธิพล โคตะมี ตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี นาย อณิวัตน์ บัวผาย ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

ดร. บัวพันธ์ พรหมพักพิง เสนอว่า คำว่าอำมาตย์ ในทางวิชาการแล้วหมายถึงชนชั้น คือสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนที่แตกต่างกันในสังคม อำมาตย์หมายชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำ ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต แต่สังคมไทยมีลักษณะพิเศษ คือชนชั้นผู้นำเดิม ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดยอำนาจของจักรวรรดินิยม หรือประเทศล่าอาณานิคมตะวันตก ชนชั้นผู้ปกครองของไทยจึงมีความต่อเนื่อง สืบทอดประเพณีและอุดมการณ์หลายอย่างจากอดีต มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ดร. บัวพันธ์กล่าวว่า ชนชั้นนำหรือชนชั้นผู้ปกครอง มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรืออาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ล้วนแต่มีสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นผู้นำ ข้อสรุปเช่นนี้ อาจมีข้อยกเว้นในเพียงบางเหตุการณ์ อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างปี ๒๕๑๖ – ๒๕๑๙ ความต่อเนื่องของอำมาตย์หรือชนชั้นผู้นำ ได้ทำให้กลุ่มดังกล่าวนี้ สามารถขยายอิทธิพล เข้าไปครอบงำ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ แม้ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรากหญ้า หรือกลุ่มคนจนในบางครั้ง ก็ได้รับการชี้นำหรือการกำกับ โดยกลุ่มอำมาตย์ การเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเครื่องชี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนจำนวนมาก ได้ตระหนักและรับรู้ต่ออำนาจการครอบงำแบบต่าง ๆ ของกลุ่มอำมาตย์ ข้อเรียกร้องแสดงให้เห็นถึงเจตจำนง และความต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
    
มานะ นาคำ กล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนที่มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าคนกลุ่มใดในสังคม    คนชั้นกลางในเมือง หรือคนชนบท สังคมควรให้ความสำคัญและสนใจศึกษา ความเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องมีพื้นที่ให้ผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้นได้มีที่ยืนในสังคม มีสิทธิ์ มีเสียง ต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์และความเป็นตัวตนของตนเอง ไม่ควรยกข้ออ้างที่ว่าตนเองมีข้อมูลรอบด้านกว่า เป็นคนดีกว่า ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่ามากดทับสิทธิ์ และเสียงของคนอีกฝ่ายหนึ่ง ในเรื่องการระดมทรัพยากรที่หมายถึงผู้คน ภาคีเครือข่าย ข้อมูลความรู้ เงินทอง ฯลฯ  เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนสามารถพัฒนาเติบโตไปได้ หรือจะถดถอย    ดังนั้นผู้ถือครองทรัพยากรกับองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงสัมพันธ์กัน  ส่วนยุทธวิธีการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนโดยสันตินั้นจะได้รับการยอมรับจากสังคม สร้างให้เป็นขบวนการทางสังคมของผู้ที่อ่อนแอให้มีพลังการต่อรองสูงขึ้น  มีเครือข่ายความร่วมมือกันที่หลากหลายของภาคประชาชน  มากกว่าที่จะเป็นขบวนการทางการเมืองที่มุ่งจะครอบครองอำนาจรัฐ คนที่อยู่ในอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะตกหลุมอำนาจและผลประโยชน์ ขบวนการทางสังคมของประชาชนต้องเข้มแข็ง เพื่อคอยตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐให้เกิดความเป็นธรรม
 
 ด้านรศ.น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เราต้องพูดให้ชัดว่า อำมาตย์มีหน้าตาอย่างไร  และปล้นโอกาสด้านการจัดสรรทรัพยากรของประชาชน ประชาชนต้องมีโอกาสในการใช้ทรัพยากรของประเทศนี้อย่างทั่วถึง เมืองไทยตอนนี้กลายเป็นว่ากลุ่มที่มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรมาก กลับเป็นกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกอำมาตย์  มวลชนคนเสื้อแดง เคลื่อนไหวในสิ่งที่นักวิชาการทั้งหลายต้องการมาตลอดไม่ว่าจะเป็นการระดมทรัพยากร หรือ จิตสำนึกประชาธิปไตย เช่น การทอดผ้าป่าเพื่อมาชุมนุมหรือการคัดค้านการรัฐประหาร เพียงแต่สื่อกระแสหลักไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังนั้นเสื้อแดงจึงต้องการรับสื่อของเสื้อแดงเอง ชาวรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบและมีจิตสำนึกประชาธิปไตยจึงออกมาเคลื่อนไหว และนั่นก็ต้องถือว่าเป็นภาคประชาชนเช่นเดียวกัน แต่ว่าในปัจจุบัน จะพบว่าคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาไม่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย ดังนั้นนักศึกษาไม่ว่าจะสีไหนก็ควรที่จะเข้าไปศึกษาขบวนการภาคประชาชนของคนเสื้อแดง
          
นาย อิทธิพล โคตะมี กล่าวว่า ควรจะเลิกพูดถึงมวลชนคนเสื้อแดงในมิติการต่อสู้ทางชนชั้น ในรูปแบบฐานะทางเศรษฐกิจ หรือฐานะทางภูมิศาสตร์ เช่นคนชนบทเข้ามาชุมนุม คนจนเข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นต้น เนื่องจากมวลชนคนเสื้อแดงมีความหลากหลายในตัวของขบวนการ และเป็นการสร้างความขัดแย้ง และแม้มวลชนคนเสื้อแดงจะพูดถึงการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของไพร่กับอำมาตย์ แต่ก็เป็นเพียงโวหารทางการเมืองเท่านั้น และกระดูกสันหลังของขบวนการนั่นคือชาวนาที่ตื่นตัวทางการเมือง ร่วมกับกลุ่มอื่นๆในสังคมที่เห็นร่วมกับมวลชนคนเสื้อแดง และมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือประชาธิปไตยที่มีตัวแทนของประชาชน หรืออาจจะยอมรับได้ว่ามวลชนส่วนใหญ่นั้นเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ แต่ที่เป็นจุดร่วมใหญ่นั่นก็คือมวลชนคนเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องดุลอำนาจของประชาชนกับฝ่ายที่ไม่ต้องการความรับผิดชอบทางการเมือง นักศึกษาและภาคประชาสังคมไม่ควรที่จะตกขบวนรถของการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่นี้จากประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งแม้ว่าในสายตาของฝ่ายรัฐและชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาสูงจะมองเงื่อนไขของผู้ชุมนุมว่าเพียงมาเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อคนๆเดียว แต่ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่เดินๆกันอยู่ราชดำเนินเป็นแสนๆนั้นคือประชาชนจริงๆ

ในตอนสุดท้าย ดร. บัวพันธ์ ได้เชิญชวนให้ที่ประชุมนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมประชุม ส่งไปถึงรัฐบาลสี่ประการคือ ประการแรก ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคง เพราะกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไปที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ง่าย ประการที่สอง รัฐจะต้องไม่กีดขวาง ข่มขู่ คุกคาม หรือใช้กำลังสลายการรวมตัวของประชาชน ที่ใช้สิทธิในการชุมนุมตามกฎหมาย ประการที่สาม สื่อของรัฐจะต้องหยุดนำเสนอข้อมูล อันเป็นการใส่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการนำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียว และการกล่าวหาให้ร้ายต่อผู้ชุม เป็นการยั่วยุ และเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรี จะต้องไม่บิดพลิ้ว หรือบิดเบือนข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุม โดยการกล่าวอ้างว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มีเจตนาอย่างอื่น  นายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมชุมนุม บนมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล โดยไม่ยึดเอาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net