Skip to main content
sharethis

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2553 ตรงกับวันหยุดเขื่อนโลก มีการจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน ณ บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีชาวบ้านจากฝั่งพม่าและไทย กลุ่มเครือข่ายแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน

พิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวินจัดขึ้นบริเวณลานทรายที่ตั้งอยู่กึ่งกลางจุดบรรจบของแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ตัวแทนผู้จัดงาน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงการแสดงพลังของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาขนาดใหญ่โดยเฉพาะการสร้างเขื่อน โดยคาดหวังให้ประเด็นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินได้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง และนำไปสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ พิธีสืบชะตาเริ่มขึ้นในช่วงเช้าบริเวณลานทรายที่ตั้งอยู่กึ่งกลางจุดบรรจบของแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน โดยมีพิธีทางศาสนาพุทธ คริสต์ และพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้านมาแต่โบราณ พร้อมกันนี้ยังมีการแจ้งให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ทราบถึงความเป็นไป ในกรณีที่รัฐบาลไทยได้ระงับโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีไว้ชั่วคราว โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายเมียว วิน หนึ่งในชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางมาร่วมงานเป็นครั้งแรกกล่าวว่า “ดีใจที่เห็นชาวบ้านทั้งสองฝั่ง ต่างร่วมใจกันปกป้องแม่น้ำสาละวิน ผมไม่รู้ว่าเขื่อนหน้าตาเป็นอย่างไรแต่รู้ว่าการสร้างเขื่อนฮัตจีจะทำให้หมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ ทุกคนจะไร้ที่อยู่และไม่มีที่ดินทำกิน”

นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล แกนนำชาวบ้านท่าตาฝั่งริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและมีกำลังใจมากขึ้นที่มีชาวบ้านจากทั้งสองฝั่ง มาร่วมงานกันมาก สะท้อนพลังให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ต้องการให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน เพราะที่ผ่านมาทุกคนต่างรู้สึกกังวลใจ เพราะไม่รับรู้ข้อมูลใดๆ เลย ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีชั่วคราว แต่ต้องจับตาต่อไป เพราะยังไม่มีการยกเลิกโครงการแน่นอน

นอกจากนี้ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการติดตามตรวจสอบโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวิน สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังมีการลงนามโครงการสร้างเขื่อนสาละวินระหว่างไทย–พม่า มีการต่อสู้ต่อต้านของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน และถือว่าการต่อสู้ได้ชนะไปแล้วก้าวหนึ่ง หลังจากนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ชะลอการสร้างเขื่อนฮัตจี ที่อยู่ลึกเข้าไปเขตพม่า เมื่อเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องติดตาม เพราะนั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นการยุติโครงการสิ้นเชิง
 
นางสุนี กล่าวด้วยว่า ใน 60 วัน กลุ่มเครือข่ายลุ่มแม่น้ำจะร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องถึงรัฐบาล ให้มีการดำเนินการ คือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแก่ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็น และให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากนั้นจะมาหารือกันอีกทีว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป
 
กระทรวงพลังงานของไทยและกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่า มีการลงนามความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน 5 แห่ง ได้แก่ ในรัฐฉาน 2 แห่ง คือ เขื่อนท่าซาง กำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 7,110 เมกกะวัตต์ และเขื่อนยวาติ๊ด กำลังผลิต 4,000 เมกกะวัตต์ เขื่อนเว่ยจี บริเวณชายแดนไทย-พม่า (กะเหรี่ยง) ตอนบน กำลังผลิต 4,540 เมกกะวัตต์ เขื่อนดากวิน ชายแดนไทย-พม่า (กะเหรี่ยง) ตอนล่าง 792 เมกกะวัตต์ และเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง 1,200 เมกกะวัตต์
 
ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ได้ถูกกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนคัดค้านเรื่อยมา เนื่องจากเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และจะคุกคามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาติพันธุ์ ที่สำคัญจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมา
 
น.ส.จ๋ามตอง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาชิกกลุ่มสาละวินวอช (Salween Watch) ซึ่งได้เข้าร่วมงานพิธีสืบชะตาแม่น้ำและวันหยุดเขื่อนโลก กล่าวว่า หากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเขื่อนไหน ทั้งในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชุนอย่างมหาศาล ที่สำคัญจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธมนุษยชนต่างๆ ตามมา ทั้งการทารุณข่มขืน การบังคับโยกย้ายหมู่บ้าน การบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิด สิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ในแม่น้ำสาละวิน (รัฐกะเหรี่ยง) สหภาพพม่า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใน  2 ประเด็น คือ 1.ให้ กฟผ.รับไปดำเนินการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ตามรายงานความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกับให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับภาค ประชาชน 2.ให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในทุกๆ ด้าน อย่างเป็นกลางและตรงกับข้อเท็จจริง
 
สำหรับแม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายใหญ่ที่ยังคงไหล อิสระจากที่ราบสูงจากธิเบต ประเทศจีน ถึงอ่าวเมาะตะมะ มีความยาวกว่า  2,820 กิโลเมตร เป็นอันดับที่ 26 ของโลก ไหลผ่านภูมิประเทศที่อุดม สมบูรณ์ของ 3 ประเทศ คือ จีน พม่า (ผ่านรัฐฉาน รัฐคะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ) และไทย แม่น้ำสายนี้ เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ให้ชีวิตแก่ชุมชนและระบบนิเวศโดยรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net