Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม :
ข้อสังเกตว่าด้วย "ความเนียน" ของสื่อและรัฐบาลในกระแสการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

 

บรรยากาศของการเผชิญหน้าทางการเมืองในปัจจุบัน ช่างเป็นช่วงเวลาทองของสื่อมวลชนยิ่งนัก

เพราะการนำเสนอข่าวนั้นเป็นการนำเสนอข่าวในสูตรของข่าวความรุนแรง และข่าวการเผชิญหน้า

ผมได้พยายามเรียนย้ำอยู่เสมอ และก็จะขอย้ำต่อไปว่าการทำข่าวเรื่องการชุมนุมนั้นเป็นคนละเรื่องกับการทำข่าวเผชิญหน้า

โดยเฉพาะถ้าเราต้องการทำข่าวเรื่องการชุมนุมในสังคมประชาธิปไตย

ทั้งนี้เพราะการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายไหนจะชุมนุม เขาก็มีสิทธิจะชุมนุม ส่วนเหตุผลที่จะมาชุมนุมนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าได้เอามาปนกัน

เพราะว่าถ้าเอามาปนกัน สื่อก็จะกลายเป็นสำนักข่าวที่เสนอข่าวว่าไม่ควรมีการชุมนุม และจะมาชุมนุมทำไม?

ข่าวการชุมนุมนั้นควรจะเป็นข่าวที่ให้ความสำคัญกับทั้งตัวการชุมนุมเอง และมาตรการจัดการการชุมนุม

แต่ดูเหมือนว่าข่าวที่ออกมาไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าการจัดการการชุมนุมนั้นสามารถใช้ความรุนแรงได้หรือไม่? เพราะเหมือนกับจะยอมรับไปแล้วว่ารัฐสามารถผูกขาดการใช้ความรุนแรงได้ ขณะที่การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมนั้นผิดแน่นอน

เมื่อสื่อมีฐานคติเช่นนี้ ก็ย่อมหมายถึงว่าสื่อนั้นยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลตั้งแต่แรก ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงได้ถ้าเกิดความรุนแรงจากผู้ชุมนุม

ยิ่งมีการนำเสนอข่าวโดยการไม่ได้ตั้งประเด็นสาระสำคัญเรื่องความรุนแรงและสิทธิในการชุมนุม ก็จะยิ่งตอกย้ำถึงสิ่งที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเขาตั้งคำถามมาตั้งแต่แรกว่า ตกลงจะมีการดำเนินคดีที่ผ่านมาของการชุมนุมครั้งก่อนๆ อย่างไร และจะมีการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามอย่างไร

ข่าวที่ออกจึงเป็นข่าวการจับตาความรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุม แล้วก็รายงานข่าวในฐานะเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลที่ประกาศ พรบ.ความมั่นคงภายในราวกับทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเป่านกหวีดดูแลการจราจร

เราไม่เห็นข่าวมากนักว่าเขามาชุมนุมทำไม เขามาประท้วงใคร แล้วใครที่ถูกเขาประท้วงมีคำตอบอย่างไร

ข่าวนี้คงจะยากเกินไป เพราะต้องใช้ความพยายามในการสืบเสาะและถามคำถามกับคนที่มีอำนาจบารมี

แต่เผอิญสื่อไทยทำงานแนวนี้ไม่ถนัด ก็เลยใช้วิธีสะดวกคือเอาไมค์จ่อปากเฉพาะคนที่อยากพูด ดังนั้นข่าวที่ได้มาก็คือการแถลงข่าวของรัฐบาลและคนของรัฐบาล และพรรคของรัฐบาลที่พยายามอธิบายว่าการประกาศพื้นที่บางพื้นที่ให้อยู่ในกรอบกฏหมาย พรบ.ความมั่นคงภายใน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม และเพื่ออำนวยความสะดวกกับคนกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจร

ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นการแถลงจากหัวหน้ากองบังคับการตำรวจจราจร และ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพราะปัญหาการจราจรไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง

ที่สำคัญการประกาศพื้นที่ภายใต้ พรบ.ความมั่นคงนั้นเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่สังคมเขาถกเถียงกันมายาวนาน นั่นก็คือการแสวงหากรอบกฏหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ที่มีหลักการว่ากฏหมายดังกล่าวนั้นเป็นกฏหมายที่ทุกฝ่ายจะต้องเคารพ รวมทั้งรัฐบาลด้วย

ขณะที่ พรบ.ความมั่นคงภายในนั้นเป็นกฏหมายที่ให้อำนาจรัฐบาล และสื่อเองก็บ้าจี้ตามไปด้วยในการเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

อย่ามาเนียนครับ !!!

เพราะสิ่งที่เรากำลังเผชิญคือการชมนุมสาธารณะตามสิทธิที่ระบุไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ เราต้องพูดถึงเรื่องการชุมนุมสาธารณะ และเราต้องพูดถึงกรอบการชุมนุมสาธารณะ

และถ้ายังไม่มีกรอบกฏหมายดังกล่าว เราจะต้องพูดถึงการประสานกรอบกฏหมายต่างๆ ที่มีอยู่เดิมเพื่อทำให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปได้

ไม่ใช่เอากฏหมายความมั่นคงมาจัดการการชุมนุมสาธารณะ

เพราะฐานคติของกฏหมายความมั่นคงคือการสร้าง "ศัตรู" ร่วมของประเทศ หรือการสร้าง "ภัย" หรือ "ความไม่มั่นคง" ก่อน แล้วอ้างว่ารัฐบาลนั้นมีสิทธิอำนาจในการจัดการภัยเหล่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชุมนุมของประชาชนที่คิดต่างกับรัฐบาล เขาไม่ใช่ภัย เขาไม่ใช่ศัตรู

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าประชาชนเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย ที่ไม่ได้ปล่อยให้รัฐบาลทำอะไรได้ตามอำเภอใจของตน

ตั้งหลักกันสักนิดครับ ถามคำถามกันใหม่ ว่าเขามาประท้วงใคร แล้วก็ไปถามคนที่เขาประท้วง แล้วก็ตั้งหลักดูว่าต่างฝ่ายต่างเคารพกฏกติกาของการชุมนุมไหม และในระหว่างที่ยังไม่มีกรอบกฏหมายการชุมนุม สิ่งสำคัญก็คือเอารัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนมาตั้งหลัก เอาประชาสังคมต่างๆ มาจับตาดูทั้งสองฝ่าย ไม่ให้ฝ่ายใดใช้ความรุนแรง

ตั้งหลักง่ายๆ เหมือนที่เราดูข่าวกีฬาเถอะครับ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็คือการแข่งขัน

มีที่ไหนที่เขามาบอกให้เลิกแข่งไหม?

เขามีแต่ให้เคารพกติกา

แต่ว่าสังคมเราไม่ค่อยรู้และไม่เคารพกติกา เราก็เลยทำแต่ข่าวว่าฝ่ายหนึ่งวางกติกาอยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ

รบกวนสื่อเนียนลองปรึกษาฝ่ายข่าวกีฬาของพวกท่านดูสักหน่อยจะดีไหมครับ ว่าเขาทำข่าวกีฬายังไงคนเขาถึงยังเล่นกีฬามากกว่าตีกัน?

 

 

(ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ประชาธิปไตยฯที่รัก ตอน "ช่วยกันเนียน ... ครับช่วยกันเนียน" ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓ หน้า ๔)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net