Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดูการ์ตูนแล้วเข้าใจมากขึ้นเรื่องเพศสรีระ(Sex) กับเรื่องเพศสภาพ(Gender) ความเป็นหญิงไม่ได้มาพร้อมกับอวัยวะเพศ แต่ถูกมอบให้ผ่านกระบวนการสั่งสอน คาดหวัง มอบบทบาทให้ การครอบงำโดยสังคม ที่ชี้นำว่าหญิงต้องเป็นแบบนี้ ชายเป็นแบบนั้น ต้องแต่งตัวตามแบบแผนต้องแสดงออกทางอารมณ์ แสดงออกทางเพศตามแบบแผน มีหน้าที่ในครอบครัวแบ่งแยกกันไป แต่ละเพศแทบจะไม่มีโอกาส ไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกแสดงสถานะทางเพศด้วยตนเองได้เลย มนุษย์แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อคนเกิดมามีชีวิตก็ได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพสมศักดิ์ศรี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ว่าเรื่องใด หรือเพราะ เป็นเพศอะไร ดังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๔ และมาตรา ๓๐  ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง

และ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางร่างกายหรือสุขภาพ สถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง...

การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญควรครอบคลุมทั้งสิทธิทางเพศสรีระ คือระบบอวัยวะเพศ การเข้าใจเรื่องสุขภาพทางเพศของตนเอง การปกป้องคุ้มครองระบบสืบพันธุ์ของทุกเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีระบบอวัยวะที่ซับซ้อน ระบบฮอร์โมน ระบบการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในแต่ละเดือน การต้องรับหน้าที่ในการตั้งครรภ์ การดูแลรักษา การส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะศักยภาพของผู้หญิงในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีบริการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยแรกรุ่น วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยสูงอายุ นั่นคือเด็กผู้หญิง ผู้หญิงทุกคน ต้องได้รับการศึกษาเรื่องเพศ การเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศอย่างเท่าเทียม การไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันวัยรุ่นออกไปจากบริการคุมกำเนิด บริการเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองสิทธิของสภาพทางเพศ ความเป็นเพศหญิงด้วย นั่นคือการที่สังคมกฎหมาย นโยบาย มาตรการต่างๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิความเป็นเพศหญิง การปลดล๊อคความคาดหวังในเรื่องเพศสภาพหรือบทบาททางเพศที่สังคมชี้นำ และสร้างกรอบความเป็นหญิงเมื่อเกิดมาพร้อมเพศสรีระหญิง สิ่งสำคัญสำหรับการคุ้มครองสิทธิเพศสภาพ คือการให้เสรีภาพเพศหญิงในการกำหนดความเป็นหญิงของตัวเอง ที่ไม่จำเป็นต้องตามแบบแผนเดิมๆ นั่นคือ การต้องรับบทความเป็นแม่จนยอมสละความก้าวหน้าในอาชีพการงาน การแบกรับภาระเศรษฐกิจทั้งในบ้าน นอกบ้าน การไม่มีศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองระบบอวัยวะทางเพศของตนเอง การมีเพศสัมพันธ์ที่รู้ว่าไม่ปลอดภัยแต่ไม่กล้าจะป้องกันตนเองเพราะความเป็นหญิงต้องไม่แสดงออกทางเพศซึ่งเป็นแบบแผนที่สังคมกำหนดให้กับเพศสภาพหญิง(ไทย)มาตั้งแต่เกิด แม้เพศสภาพหญิงในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าในการแสดงออกทางเพศของตนได้มากขึ้น อันเนื่องมาจากการได้เรียนหนังสือมากขึ้น มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ เลือกชีวิตคู่แบบไม่ผูกพันหรือเลือกจะไม่มีลูก แต่การกระทำเหล่านี้ยังถูกสังคมตีตราว่าดำเนินชีวิตที่ผิดจากความเป็นหญิง(ไทย) คือเอาความเป็น “ไทย” มากำกับความเป็นเพศสภาพหญิงอีกชั้นหนึ่งด้วย

ดังนั้น เพศสภาพความเป็นชาย เพศสภาพอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมสมควรต้องได้รับการเรียนรู้และเข้าใจความเป็นเพศสภาพชายของตนเองด้วยว่า มีการกำหนดกรอบให้ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหารายได้ การทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ไม่จำเป็นต้องทำงานในบ้าน การเป็นผู้นำในทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องทางเพศ ทำให้มีความเชื่อผิดๆเรื่องผู้นำทางเพศ ความเสี่ยงทางเพศ และการมีอำนาจทางเพศ 
 

ดังนั้น หากทุกเพศสภาพได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะสิทธิมนุษยชน มีเสรีภาพในการกำหนดเพศสภาพของตนเองที่เป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องกังวลกับการกำกับทางสังคม และก่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่เพศใดเพศหนึ่ง และความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้หมายความว่าต้องเท่าเทียมกันในเรื่องเพศสรีระ เพราะสิ่งนี้มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ดังภาพที่คุณผู้หญิงพยายามกระทำในห้องน้ำชาย นี่ไม่ใช่ความเท่าเทียมทางเพศสรีระ และไม่ต้องทำแบบนี้จึงจะได้รับการคุ้มครองสิทธิทางเพศ เพศสภาพเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยสังคม จึงเปลี่ยนแปลงได้และควรได้รับการคุ้มครองและเคารพสิทธิทางเพศสภาพที่แต่ละเพศเลือกและสร้างขึ้นใหม่ด้วย วันที่ 8 มีนาคมคงผ่านไปเหมือนเช่นทุกปี แต่หวังว่าทุกเพศสภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อสุขภาวะของทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net