คนงานไทรอัมพ์จัดกิจกรรมก่อนออกจาก ก.แรงงาน ชี้การต่อสู้ยังไม่จบ

คนงานไทรอัมพ์จัดกิจกรรมก่อนออกจากกระทรวงแรงงาน ด้านแกนนำไทรอัมพ์ลั่นการต่อสู้ยังไม่จบ หากยังไม่ได้คุณภาพชีวิตที่ดี นักสหภาพฯ -ภาคประชาชน-นักวิชาการ –นักศึกษา พร้อมกันให้กำลังใจคนงานผลิตแบรนด์ “Try Arm”

 

 

 

 

นับเป็นระยะเวลาการต่อสู้ที่ยาวนานทีเดียวสำหรับอดีตแรงงานผลิตชุดชั้นในหญิง “ไทรอัมพ์” ที่ถูกจ้างออกโดยไม่เป็นธรรม หรือบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำการเคลื่อนไหว ชุมนุม เรียกร้องและผลักดันข้อเสนอต่างๆต่อรัฐบาลกว่า 8 เดือน ตั้งแต่การชุมนุมหน้าโรงงาน ณ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จนมาจบที่การไปปักหลักชุมนุมที่ใต้ถุนของกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน

ทว่าหลังจากตกลงเงื่อนไขรับจักร 250 ตัวจากกระทรวงแรงงานฯ ทางอดีตคนงานไทรอัมพ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องยุติการชุมนุม เนื่องจากประสบปัญหาปากท้องและไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ปัญหา ทั้งๆไม่พอใจกับข้อเสนอนี้เท่าใดนัก

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 53) ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ทำการจัดกิจกรรม “8 เดือนการต่อสู้สู่ก้าวต่อไปของคนงานหญิงไทรอัมพ์ฯและขบวนการแรงงาน” ขึ้นที่บริเวณกระทรวงแรงงาน เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมา และเพื่อหาแนวทางการต่อสู้ก้าวต่อไปของแรงงาน ไม่เพียงเฉพาะคนงานหญิงไทรอัมพ์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงขบวนการผู้ใช้แรงงานอื่นๆด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งเพื่อกระชับและสมานฉันท์ขบวนการผู้ใช้แรงงาน ขบวนการนักศึกษาและประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน ทั้งกลุ่มแรงงานจากภาคต่างๆ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเกษตรกรเจ็ดจังหวัดจากอีสาน กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ บุคคลทั่วไปและสื่อมวลชน

โดยวงเสวนาได้เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. – 17.00 น. นำเสวนาโดย วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , เกตุแก้ว มีศรี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทย , สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน , จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย , จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และอนุธีร์ เดชเทวพร สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ดำเนินรายการโดย เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การต่อสู้ของ “Try Arm” ประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึก
จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยกล่าวว่า การต่อสู้แบบไทรอัมพ์เป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานที่ต้องจารึก เป็นการต่อสู้ของแรงงานหญิง หลายคนที่อยู่ที่นี่ไม่อยากได้แค่จักรตัวเดียวหรือเงินชดเชย เราอยากบอกว่าเราต้องทำให้ไทรอาร์มเป็นสินค้าต้องเป็นแบรนด์ของการก่อกำเนิด สร้างวิถีกล้าให้คนเดินตาม การแก้ปัญหาแรงงานต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบผ่านๆ แรงงานต้องการบอกกับกระทรวงว่า คิดให้ไกล มองให้ไกล มองการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การได้จำนวนจักรสองร้อยห้าสิบตัวนี้ ไม่เคยมีการต่อรองได้มากขนาดนี้มาก่อน ขบวนการแรงงานต้องร่วมกันสนับสนุนไทรอาร์มและคำถามอยู่ที่ว่าสังคมไทยจะอยู่เคียงข้างไทรอาร์มได้อย่างไร” จรรยากล่าว

กังขาการใช้กฎหมายกับแรงงาน – ชื่นชมไทรอัมพ์ไร้ท่อน้ำเลี้ยง
วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่าความต่างของพี่น้องไทรอัมพ์จากขบวนการแรงงานอื่นๆ คือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นการรวมตัวจะเข้มแข็งมาก เมื่อมีการเคลื่อนไหวไปยื่นข้อเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ก็จะควักกระเป๋าตัวเอง ไปไหนมาไหนด้วยตัวเองมาโดยตลอด การต่อสู้แบบพึ่งตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เห็นได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีจิตใจหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง แม้ว่าจำถูกดำเนินคดีหรือเจออุปสรรคอื่นก็ยังยืนหยัดได้อยู่

“หากพูดถึงเรื่องการใช้กฎหมายว่าเป็นสองมาตรฐานหรือเปล่า อย่างกฎหมายจราจร รัฐบาลบอกว่าเนื่องจากเสื้อเหลืองเสื้อแดงมีคนเยอะไม่สามารถใช้ข้อกฎหมายไปจัดการกับเขาได้ นี่ก็เป็นส่วนที่เรายังไม่ได้คำตอบที่กระจ่างการที่จะออกกฎหมายชุมนุมมันต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของพวกเราเหมือนกัน”  วิไลวรรณกล่าว

นักศึกษาให้กำลังใจแรงงาน – ย้ำแรงงานอย่าหวังพึ่งรัฐ
อนุธีร์ เดชเทวพร นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ไม่มีแพ้ไม่มีชนะแต่เราเชื่อว่าในภายภาคหน้าเราจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนงาน บทเรียนสำคัญคือ การที่รัฐไม่ได้เป็นของประชาชน รัฐไม่ได้เป็นตัวแทนของเรา รัฐไม่ได้เข้ามาจัดการอะไรให้เราเลยตอนถูกเลิกจ้าง ไปขอความช่วยเหลือเขาไม่ให้ยังมารังแกเราอีก ใช้ LRAD ปราบเราแถมเข้าข้างนายทุน ชัดแล้วว่าเป็นกระทรวงทำเพื่อนายจ้าง

ทั้งนี้ยังได้ฝากบอกคนที่มาติดต่อกับกระทรวงแรงงาน อย่าไปหวังพึ่งเลย เขาไม่ได้ช่วยเหลือไม่ได้ใส่ใจ แรงงานถ้ารวมตัวกัน แล้วทำการผลิต ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายจ้าง นี่เป็นการยืนยันพลังอิสระของคนงาน เป็นวิถีทางที่ถูกต้องหนักแน่นอนและมีพลัง

“ผมในฐานะนักศึกษาจะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ สองมือสองเท้าของแรงงานเท่านั้นที่จะสร้างสรรค์โลก” อนุธีร์กล่าว

นักวิชาการชี้หัวใจ 3 ประการของการต่อสู้
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวว่า ตอนนี้ได้ยินข่าวที่ประธานสภาอุตสาหกรรมได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเศรษฐกิจตอนนี้ฟื้นตัวแล้ว และมีการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากเมื่อไม่มีแรงงานเพียงพอภาคธุรกิจก็จะต้องเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว และมีการใช้ระบบการจ้างงานระยะสั้น เพื่อให้บริษัทสามารถรับมือกับเศรษฐกิจได้ ซึ่งการจ้างงานระยะสั้นทำให้แรงงานต้องตกอยู่ในความไม่แน่นอน นี่คือปัญหาที่คนตัวเล็กๆ ต้องเผชิญภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแบบนี้ และสิ่งที่จะทำให้แรงงานแข็งแรงคือการลุกขึ้น สิ่งที่เราคาดหวังคือเราต้องประสบชัยชนะในแง่ยุทธศาสตร์จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

สมชายกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้มีสามบทเรียนสำหรับผู้ใช้แรงงาน 1. เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือการรวมตัวกันต่อสู้ ถ้าไม่มีการรวมตัวการต่อสู้จะดำเนินไปไม่ได้ 2. ความรู้ การที่เราจะเรียกร้องอะไรก็ตาม เราต้องมองเห็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 3. กลไกของรัฐ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน รู้จัก เข้าใจ ผู้ใช้แรงงานไหม ช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใช้แรงงานมากแค่ไหน

“ผมว่าเราต้องมาคุยกันปรึกษากัน การออกจากกระทรวงแรงงานไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวยุติลง เราสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความร่วมมือได้” สมชายกล่าว

เน้นสร้างสหภาพแรงงาน – เชื่อช่วยแก้ปัญหาได้
เกตุแก้ว มีศรี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า เชื่อว่าการต่อสู้ของแรงงานจะไม่หยุดอยู่แค่นี้  มันอยู่ที่ความสามัคคีและความเข้มแข็ง อย่าคิดว่าเราจะฝากไว้ที่ภาครัฐ ทำอย่างไรถึงจะมีสหภาพแรงงาน สิ่งที่เราจะต้องทำคือ เรากรรมกรจะต้องรวมตัวกัน เพราะข้อตกลงที่มีไม่สามารถบังคับใช้ได้ แรงงานเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศ ทำการผลิตสินค้า ภาษีเราก็เสียมาก เราตั้งความหวังว่าในอนาคตแรงงานจะต้องเข้มแข็งและรวมตัวกันได้มากกว่านี้

ทั้งนี้ปัญหาคือ เราแบกรับครอบครัวสูง มีเวลาน้อยที่จะมาสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร สหภาพฯเท่านั้นที่จะสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ เราอยากให้มีสหภาพแรงงานในทุกบริษัท เพื่อที่แรงงานจะได้สามารถต่อรองกับนายจ้างได้ ต่อไปถ้าเราไม่คิดที่จะรวมกัน เราจะถูกละเมิดมากกว่า ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม กรรมกรทั่วประเทศต้องนำบทเรียนของไทรอัมพ์ไปปรับใช้เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานต่อไป

แกนนำไทรอัมพ์ถามหาสิทธิการชุมนุม – ลั่นรัฐบาลดีแต่ลวงโลก
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯกล่าวว่า เมื่อเราเข้าใจในขบวนการต่อรอง นายจ้างก็ไม่ชอบเรา ทำให้เกิดกระบวนการต่อต้านสหภาพแรงงาน เมื่อถูกจ้างออก เราเชื่อทันทีว่านี่คือการทำลายสหภาพแรงงาน เราปกป้องสิทธิการรวมตัว ปกป้องสิทธิต่างๆ ที่เราจะได้

“ตรงนี้เราต้องย้ำไม่ให้ลืมว่า การเลิกจ้างนี้ไม่ยุติธรรม ไม่มีการปรึกษาสหภาพแรงงาน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล บอกแค่ว่าต้องการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่มีการไปเปิดโรงงานใหม่ที่นครสวรรค์ ส่งเสริมโดย BOI เป้าหมายของเขาคือการทำลายสหภาพ แปดเดือนเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การยุติการต่อสู้”  จิตรากล่าว

อันดับต่อมาสิ่งที่เราเรียกร้อง OECD มันต้องปฏิบัติตามหลักสากล รัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้ามาแถลงการณ์ใหญ่โตเลยว่า จะชะลอการเลิกจ้าง มีโครงการต้นกล้าอาชีพเพื่อเอาคนกลับไปสู่สังคมเกษตรเราพบว่ามันเป็นแค่นโยบายลวงโลก เราเลยต้องออกไปเรียกร้อง แต่สิ่งที่เราได้คือการทดลองใช้ LRAD กับพวกเรา เราถูกออกหมายจับ บอกว่าเรามั่วสุมกันเกินสิบคน สิทธิการชุมนุมของเราอยู่ไหน

“เราไปพบคณะกรรมการสิทธิฯ สิ่งที่เราได้คือ การใช้ LRAD ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ มาบอกว่าเราไม่มีความรู้ในทางสหภาพแรงงาน ได้เงินแล้วก็จบ แต่สิทธิความเป็นมนุษย์คุณรู้บ้างไหม ความเป็นอยู่ ต้องกินต้องใช้ เขาก็สงสัยเราเป็นเสื้อแดง มีท่อน้ำเลี้ยง ถ้าเราเป็นเสื้อแดงคุณจะไม่แก้ปัญหาให้เราหรือไง เราเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เขาก็ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาให้เรา” จิตรากล่าว

ทั้งนี้จิตรากล่าวต่อไปว่าการต่อสู้ของเรายังไม่จบลง เราต้องสู้ต่อ เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความมั่นคง การที่เราสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อบอกว่า ต้นทุนการผลิตมันต่ำมาก อีกอย่างหนึ่งคือเราต้องการบอกเล่าความอยุติธรรมที่เราได้รับต่อคนภายนอก

“ตลอดเวลาแปดเดือนเราได้เรียนรู้ว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นใจคนจน พูดโกหกไปอย่างนั้น เมื่อคุณเข้าไปในโรงงานคุณต้องชี้นำสหภาพให้ได้ เพราะมันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น การรวมตัวรวมกลุ่มเป็นสิทธิของพวกเรา มีความไม่ยุติธรรมที่ไหนพวกเราจะต้องไป ต้องหยุดการขูดรีดคนงาน สิ่งที่สำคัญคือประเทศเราต้องมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ออกไปเดินขบวนแล้วถูกจับ”

อนึ่งเมื่อเช้าของวันนี้ (28 ก.พ. 53) คนงานไทรอัมพ์ได้ยุติการชุมนุมและขนข้าวของออกจากกระทรวงแรงงานแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท