Skip to main content
sharethis

สภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.กรรมการปฏิรูปกฏหมายวาระ 3 หลังถกคุณสมบัติผู้เคยมีส่วนร่วมคณะรัฐประหารห้ามร่วมเป็นคณะกรรมการ ส.ส.เพื่อไทยระบุชี้ให้ชัดระวัง “เนติบริกร” ส่วน ส.ส. ปชป. บอกจำกัดสิทธิ์บุคลากรทรงคุณค่า สรุปห้ามแค่คนยึดอำนาจกับอ่านประกาศคณะปฏิวัติ

17 ก.พ.53 - เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็น ประธานการประชุม ซึ่งการประชุมล่าช้ากว่าที่นัดหมายไว้ถึง 1ชั่วโมง เนื่องจากรอให้สมาชิกลงชื่อครบครบองค์จากนั้นที่ประชุมและนำเข้าสู่วาระ พิจารณาร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 36 มาตรา มีสาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จำนวน 7คน ดำเนินการปรับ ปรุงพัฒนากฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งค้างอยู่ที่มาตรา 8 ว่าด้วยคุณสมบัติต้องมีและต้องห้ามของกรรมการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณา ที่ประชุมอภิปรายกว้างขวางในมาตรา 8 (10) การไม่เป็นบุคคลซึ่งกระทำการหรือร่วมกระทำการในการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยไม่ใช่วิถีทาง ของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น โดยส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน อาทิ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ  นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า จะพิสูจน์อย่างไรว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร เพราะครั้งที่ผ่านมา มีบุคคลมีส่วนร่วมในการนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ บุคคลที่เป็น “เนติบริกร”ที่เป็นที่รู้จักซึ่งได้ร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญช่วงหลังรัฐ ประหาร จะถือว่าอยู่ในข่ายต้องห้ามหรือไม่ อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เข้ามาจัดทำกฎหมายเกือบทุกครั้งหลังรัฐประหาร ถ้ามีใจประชาธิปไตยก็ไม่ควรมายุ่งกับกลุ่มคนที่มายึดอำนาจไม่ว่าทางใดก็ตาม

ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน อาทิ นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการจำกัดสิทธิ์บุคคลากรที่เข้าไปช่วยทำกฎหมายต่างๆ ยุคหลังรัฐประหาร ซึ่งคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายระดับประเทศมีน้อยอยู่แล้ว และแม้ไม่ได้รัฐประหาร แต่ถ้าได้อำนาจมาโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เช่น การควบรวมพรรค การจ่ายเงินซื้อ ส.ส. ส.ว. การซื้อเสียงเลือกตั้งจนโดนยุบพรรค บุคคลเหล่านี้ จะถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามด้วยหรือไม่

ด้านนายขจิตร ชัยนิคม กรรมาธิการ ชี้แจงว่า มาตราดังกล่าวหมายถึงคณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจรวมถึงคนที่มาอ่านประกาศ คณะปฏิวัติฉบับต่างๆ ซึ่งทำลายประชาธิปไตยโดยตรง จึงไม่ควรมาเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งหลังจากชี้แจง ที่ประชุมไม่ติดใจและผ่านมาตราดังกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมพิจารณารายมาตราในวาระ 2 เสร็จสิ้นทุกมาตรา จากนั้นจึงลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 332 ต่อ 1งดดอกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 14 ซึ่งร่างจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:  เว็บไซต์เดลินิวส์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net