Skip to main content
sharethis
ชื่อเดิม: สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ประจำปี 2552 - มกราคม 2553
 
 
 
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand-SWIT) ได้จัดทำสรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี 2552 ที่ผ่านมา ดังนี้
 
ด้านสถานะบุคคล
 
1)  4 ปียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล
 
นับจากปี 2548 ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (มติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548) ได้วางตัวลงในสังคมไทยอย่างมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ทั้งนี้ SWIT มีข้อสังเกตต่อยุทธศาสตร์ฯ ดังนี้
 
1.1)  4 ปี บนเส้นทาง ...การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ จากข้อมูลภาคสนาม เราพบว่า การดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติฯ ยังคงมีความล่าช้า และในพื้นที่ทำงานที่เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับ SWIT ยังคงมีคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ตกหล่นจากการสำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ
 
1.2) ยุทธศาสตร์ฯ ว่าด้วยสิทธิ กับ 4 ปีที่ไปไม่ถึงภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ได้มีกำหนดยุทธศาสตร์การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ทั้งนี้ มีเพียงสิทธิบางประการที่ได้รับการรับรองโดยมีผลในทางปฏิบัติแล้ว อาทิ สิทธิทางการศึกษา การกำหนดสถานะการอยู่อาศัย รวมทั้งการอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิในหลักประกันสุขภาพ สิทธิในการทำงาน ยุทธศาสตร์ฯ ยังคงครอบคลุมไปไม่ถึง
 
 
2) 1 ปี 11 เดือน ของกฎหมายใหม่ >> ข้อเด่นและข้อด้อย
 
เดือนกุมภาพันธ์ 2551 สังคมไทยได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 (บังคับใช้นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551) และพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 (บังคับใช้นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551) กล่าวได้ว่ามีหลายเรื่อง หลายมาตราในกฎหมายใหม่ 2 ฉบับนี้ที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของหลายแสนชีวิตใน ประเทศไทย อย่างไรก็ดี 1 ปี 10 เดือนของการเดินทางของกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ กลับพบว่า หลักการของหลายเรื่องในกฎหมายใหม่ 2 ฉบับนี้ยังคงเดินไปไม่ถึงปลายทาง
 
กรณีกฎหมายสัญชาติ
 
2.1) ลูกพ่อไทย ยังคงไม่ได้รับการรับรองจากรัฐไทยว่าเป็นคนไทย เพราะกฎกระทรวงตามมาตรา 7 วรรคสอง ยังไม่เสร็จ
 
2.2) เด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่พ่อแม่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว ยังคงเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่เกิด” เพราะกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ยังไม่เสร็จ
 
2.3) คนไทยตามมาตรา 23 มีทั้งด้านดีและด้านที่มีอุปสรรค
 
ด้านเด่น: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นว่าคนไทยตามมาตรา 23 นั้น เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น จึงมีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน
 
ด้านด้อย: พบว่ามีข้อจำกัดที่ ด้านหนึ่ง-มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจของคนไทยตามมาตรา 23 เอง แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่าหน่วยงานทะเบียนราษฎรทั้งในระดับเทศบาล อำเภอหรือเขต ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจต่อการลงรายการสัญชาติในทะเบียนบ้านในกรณีของคน ไทยตามมาตรา 23, การไม่ลงวันที่รับคำขอ, การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ล่าช้าเกินสมควร ในหลายจังหวัด
 
2.4) การมีสัญชาติไทยโดยการเกิด : การเลือกปฏิบัติที่แตกต่างต่อคนที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน (คนไทยตามมาตรา 23 และคนไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง)  
 
กรณีกฎหมายการทะเบียนราษฎร
 
2.5) “ชาวบ้านแม่อาย 1,243 คน” >> 4 ปีผ่านไปปัญหาวนกลับมาที่เดิม
 
5 กุมภาพันธ์ 2547 คือวันที่ชาวบ้านแม่อายจำนวน 1,243 คน ถูกอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่เพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรประเภทคนไทย ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดสูญเสียสถานะผู้มีสัญชาติไทยไปในพริบตา และด้วยกรณีนี้เอง ทำให้เกิดการแก้ไขพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 โดยเพิ่มเติมเป็นมาตรา 10 วรรค 4 ให้นายทะเบียนมีอำนาจระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรได้ อันเป็นมาตรการก่อนการมีคำสั่งเพิกถอนชื่อบุคคลออกจากทะเบียนราษฎร ในกรณีที่มีความสงสัยว่าการมีชื่อในทะเบียนบ้านนั้นอาจได้มาโดยไม่สุจริต
 
เดือนตุลาคม 2552 อำเภอแม่อายเป็นอำเภอแห่งแรกในประเทศไทย ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 10 วรรค 4 นี้ กับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านในจำนวน 1,243 รายเดิม ในครั้งนี้คำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรของอำเภอแม่อาย ถูกตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งอีกครั้ง ด้วยเพราะการออกคำสั่งดังกล่าว เป็นไปโดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าอำเภอแม่อายมีคำสั่งยกเลิก คำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรแต่อย่างใด
 
 2.6) การจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า >> ปี 2553 ปีแห่งการขับเคลื่อนร่วมกันของภาคีวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า
 
ในปี 2553 นี้ SWIT ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) (ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคลและ สิทธิเพื่อผลักดันการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ), องค์การแอคชันเอด ประเทศไทย หรือการร่วมกันของภาควิชาการและภาคองค์กรพัฒนาเอกชนในการบังคับใช้กฎหมาย คือพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 และพัฒนาคู่มือการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างทางของการจดทะเบียนการเกิด โดยเป้าหมายก็คือการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า
 
 
3. ความไม่โปร่งใสในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ
คำถามระหว่างทางการจัดการประชากร (ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) ข้ามพรมแดน
 
การพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (พม่า ลาวและกัมพูชา) กลายเป็นประเด็นที่ตั้งคำถามต่อระบบและแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ รวมถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ประเด็นความไม่โปร่งใส การคอรัปชันต่อการผุดขึ้นของ “บริษัทนายหน้า” ด้วยข้อกล่าวอ้างที่ว่า-เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานในกระบวนการพิสูจน์ สัญชาติ กลายเป็นคำถามที่ยังคงปราศจากคำตอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นคำถามระหว่างทางของการจัดการประชากร (ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) ข้ามพรมแดน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อหลักการหรือภาพรวมของการแก้ไขความไร้รัฐไร้ สัญชาติของกลุ่มประชากรข้ามพรมแดน
 
 
ด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน
 
4. สิทธิในเสรีภาพการเดินทางของคนไร้สัญชาติ >> แรงเหวี่ยงของเครื่องบินกระดาษพับ
 
ที่ผ่านมา แม้จะไม่มีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศไทยของคนไร้สัญชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนไร้สัญชาติ เช่นกรณีของอาจารย์อายุ นามเทพ อาจารย์สอนดนตรีคลาสสิคแห่งมหาวิทยาลัยพายัพ สามารถเดินทางไปแสดงดนตรีและเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศหลาย ครั้ง การปฏิเสธไม่ให้เด็กชายหม่อง ทองดีเดินทางไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ
 
 วันที่ 1 ตุลาคม 2552 กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม เพื่อกำหนดขั้นตอนกระบวนการการเดินทางออกนอกพื้นที่ (นอกเขตอำเภอ จังหวัดรวมถึงออกนอกประเทศ) ของคนไร้สัญชาติ ประกาศฉบับนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายลำดับรองที่ช่วยสร้างความชัดเจนในสิทธิเสรีภาพใน การเดินทางของคนไร้สัญชาติให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นไปได้ว่ากระทรวงมหาดไทยอาจมีแนวทางที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แต่กรณีของเด็กชายหม่อง ทองดี ก็ทำช่วยทำให้แนวปฏิบัตินี้ถูกประกาศใช้รวดเร็วขึ้น
 
5. แรงงานข้ามชาติในกระบวนการยุติธรรม >> กรณีนางหนุ่ม ไหมแสงกับหนังสือเวียน รส.751 ...ภาพสะท้อนช่องว่างของกระบวนการยุติธรรม
 
ในแง่ของการมีสุขภาวะที่ดี คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติบนเส้นทางการพัฒนาได้เกิดบางคำถามต่อมาตรฐาน การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแรงงานไทใหญ่ที่ชื่อ “นางหนุ่ม ไหมแสง” ได้กลายเป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ในการสร้างความชัดเจนให้กับคำถามดังกล่าวไปแล้ว
 
4 คดีใน 2 ศาลของนางหนุ่ม ไหมแสง คือการ ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม ผ่านจำนวนเงินทดแทนที่แรงงานคนหนึ่งๆ ได้รับ ซึ่งเป็นคำถามร่วมของแรงงานทุกที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ ประสบปัญหาเช่นเดียวกับนางหนุ่ม นั่นคือ ทำไมนางหนุ่มจึงไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน
 
6. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ >> ก้าวที่ใกล้ ?
 
ปี 2544 คือปีที่ประเทศไทยประกาศใช้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นรูปธรรมของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นที่น่าดีใจว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มโดยไม่ เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านใดๆ แต่เกือบ 4 ปีต่อมา บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาท ก็ถูกดึงกลับจากกระเป๋าคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า “บุคคล” ที่ปรากฏในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้แก่ “ผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น”
 
ทั้งนี้ ทาง SWIT เห็นว่าภาพรวมของการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงควรต้องถูกพัฒนาขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงของแต่ละคน ที่มีอยู่จริงกับสังคมไทย และแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่วมจ่ายในอัตราสามสิบ (30 บาท) หรือศูนย์ (0) บาท ณ จุดรับบริการ (Co-Payment) เสมอไป
 
สถานการณ์คนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
 
7. ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ตำบลเสาหิน และตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงร่วม 800 คน
 
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ทาง SWIT ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย คือคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกชาติพันธุ์ สังฆมณฑลเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในพื้นที่ตำบลแม่คงและตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราพบว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาทั้งในด้านสถานะบุคคลและสิทธิพื้นฐานด้าน ต่างๆ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในด้านภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล
 
 
 
 
 
---------------------------------
หมายเหตุ :
- ถ้าหากต้องการ เพิ่ม Email เพื่อรับข่าวสาร ให้กรอก Email เพื่อรับข่าวสารได้ที่ URL นี้ http://statelesswatch.thaiict.org/maillinglist/formmailsubmit.php
 
-รายงานนี้เป็นงานสื่อสารสาธารณะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center) ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT) ด้วยความเชื่อมั่นว่า การผลักดันการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มีประสิทธิภาพ-ยุติธรรรมนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม
 
-สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
437/37 ซอยจรัลสนิทวงศ์ 35 ถนนจรัลสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 statelesswatch@gmail.com โทรศัพท์ /โทรสาร : 02-864-9009
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net