Skip to main content
sharethis

กลุ่มชาวประมงสงขลาขู่ล้อมแท่นเจาะน้ำมัน อ้างผิดสัญญาจ่ายเงินชดเชย จี้เคลียร์คราบน้ำมันเกลื่อนหาด ตัวแทนบริษัทฯ ซัดชาวประมงมีปัญหากันเอง ยันไม่ได้ละเมิดอีไอเอ ชี้คราบน้ำมันที่พบเป็นสเปิร์มปลาวาฬ

นายเจริญ ทองมา แกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอในจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลาและกลุ่มประมงอวนลากขนาดเล็กจังหวัดสงขลาแถลงว่า จะนำเรือประมงออกไปปิดล้อมแทนขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด นอกชายฝั่งอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ได้ทำตามสัญญาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวประมง รวมทั้งกรณีมีคราบน้ำมันเกลื่อนชายหาดในเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2552 นั้น เนื่องจากวันที่ 28 มกราคม 2553 ในทะเลมีคลื่นลมรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อการนำเรือออกไป ทางกลุ่มชาวประมงจึงไม่ได้ปิดล้อมแท่นขุดเจาะแต่อย่างใด โดยจะหารือในกลุ่มแกนนำต่อไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 มกราคม 2553 ที่บริเวณสวนสองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลาและกลุ่มประมงอวนลากขนาดเล็กจังหวัดสงขลา อ่านแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิจากการที่บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับประมงพื้นบ้าน โดยนายเจริญ ทองมา แกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ

โดยระบุว่า บริษัทไม่จ่ายเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ตกลงไว้ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีนายปัญญวัฒน์ เรืองวงศ์โรจน์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดสงขลาเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนแทน

ในแถลงการณ์ระบุว่า บัดนี้บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการขุดเจาะและผลิต เป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติมาหลายอย่าง เช่น เกิดโคลนตมริมตลิ่งชายฝั่ง เกิดปรากฏการณ์หอยหลายชนิดขึ้นชายฝั่ง และมีก้อนดินคล้ายดินน้ำมันลอยขึ้นชายฝั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่พบเห็นมาก่อน

ร่วมทั้งกระแสข่าวการทิ้งของเสียลงทะเลของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ที่สำคัญที่สุดบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้สร้างปัญหาความเสียหายให้กับชาวประมงมากมายในเรื่องสัญญาการจ่ายเงินค่าชดเชยชาวประมง ได้แก่

1. ปัญหาสร้างความแตกแยกให้ชุมชน โดยบริษัทหรือตัวแทนบริษัทได้กระทำการไปในทางส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนแตกแยกโดยใช้เงินค่าชดเชยเป็นตัวดึงให้ชาวประมงมีการแยกกลุ่ม แยกพวก สร้างปัญหาความแตกแยกให้ชุมชนมากมาย

2. บริษัทผิดสัญญาการจ่ายเงินค่าชดเชย โดยหลังจากที่บริษัทได้ทำสัญญาจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวประมง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 จนบัดนี้เป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้กระทำการที่ผิดสัญญามาตลอด คือ จ่ายเงินไม่ตรงตามวัน เวลา ที่ระบุในสัญญา สนับสนุนให้ชาวประมงมีการแยกกลุ่ม โดยใช้เงินค่าชดเชยเป็นตัวดึง ค้างจ่ายเงินค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามจำนวน เป็นเวลา 3 เดือน และบริษัทยกเลิกสัญญาการจ่ายค่าชดเชย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

“บัดนี้พวกเราหมดความอดทนแล้ว ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัดรับผิดชอบและแก้ปัญหาโดยด่วน พวกเราให้เวลา 3 วัน ภายในวันที่ 28 มกราคม 2553 หากบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่แก้ปัญหาให้เป็นที่พอใจ พวกเราชาวประมงพื้นบ้านและประมงอวนลากขนาดเล็ก มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำการที่ทุกคน แม้กระทั่งพวกเราเองไม่อยากจะทำ คือ ปิดปากร่องน้ำสงขลา หรือ ปิดล้อมฐานขุดเจาะน้ำมัน ชาวประมงพื้นบ้านและประมงอวนลากขนาดเล็กจังหวัดสงขลา” แถลงการณ์ระบุ

นายเจริญ เปิดเผยว่า การชุมนุมวันนี้เพื่อเรียกร้องให้ บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ทำตามสัญญาในเรื่องการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งในสัญญานี้มีลายมือชื่อของนายคุรุนิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลงธรรมชาติอยู่ด้วย

ส่วนเรื่องดินน้ำมันที่ลอยขึ้นมาติดอยู่ตามชายฝั่งตั้งแต่เขตอำเภอสทิงพระจนถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อยากรู้ว่ารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EIA) โครงการวางแท่นขุดเจาะน้ำมันฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผ่านได้อย่างไร จึงอยากให้ทางแท่นขุดเจาะน้ำมันหยุดดำเนินการก่อน เพื่อทำการตรวจสอบ

นายเจริญ เปิดเผยต่อว่า สำหรับสารที่มีลักษณะเหมือนดินน้ำมันดังกล่าว ถูกพบเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 เมื่อสอบถามไปยังกลุ่มเรือที่ลอยลำอยู่ที่กลางทะเล ทราบว่า พบสารลักษณะดังกล่าวลอยอยู่ในทะเลจำนวนมากเช่นกัน สิ่งที่ทางชาวบ้านกลัวคือ จะเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อคนด้วยหรือไม่

นายเจริญ กล่าวว่า อยากให้บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ทบทวน เพราะได้สร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มชาวบ้าน โดยจ่ายเงินให้บางกลุ่มเท่านั้น โดยบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ได้โอนเงินให้แล้วแต่ทางกรรมการไม่ยอมโอนให้กับชาวบ้าน

นายเจริญ กล่าวอีกว่า กรณีการโอนเงินของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้โอนเงินตามปกติอยู่เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่มีการโอนตามเวลา ตอนนี้ทางบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ค้างเงินกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ประมาณเกือบ 200,000 บาท

นายกำธร วังอุดม ตัวแทนบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการขุดเจาะและผลิตน้ำมันมาปีกว่าๆ บริษัทไม่เคยผิดสัญญาเรื่องการจ่ายเงินให้กับ “กองทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพประมง” จังหวัดสงขลา โดยจ่ายมาตลอดในระยะเวลา 5-6 เดือนที่ผ่านมา

นายกำธร กล่าวต่อว่า เรื่องที่ชาวประมงกล่าวหาว่าบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด กำลังทำให้ชาวบ้านแตกแยกนั้นไม่เป็นความจริง เพราะปัญหามาจากการจ่ายเงินของกลุ่มที่มีการหักค่าหัวคิว และเรื่องที่นายเจริญ ทองมา ได้เอาบุคคลที่ไม่ได้เดือดร้อนหรือไม่มีเรือเข้าในรายชื่อผู้รับเงินด้วย จึงทำให้กลุ่มชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงแยกตัวออกจากกลุ่มของนายเจริญ ทองมาหลายร้อยลำ

นายกำธร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ชาวประมงพื้นบ้านกล่าวหาว่าบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่ามีคราบคล้ายกับดินน้ำมันมาขึ้นตามชายฝั่งนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจากการ ตรวจสอบ จากกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 จังหวัดสงขลา พิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่คราบน้ำมันแต่เป็นสเปอร์มของปลาวาฬ

“บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำทุกอย่างตามข้อกำหนดในอีไอเอ เรื่องของการขุดเจาะ การผลิต หรือแม้กระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อม” นายกำธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลอำเภอเมืองสงขลา สิงหนคร สทิงพระ ระโนด โครงการสำรวจปิโตรเลียมแหล่งสงขลาและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนว่าผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งสงขลา ปล่อยน้ำเสียและกากของเสียลงสู่ทะเล ส่วนอีกชุดคือคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อดูแลรับผิดชอบเรื่องเงินชดเชยที่บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มอบให้ชาวประมงที่เสียโอกาสในการทำประมงในบริเวณที่ตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net