Skip to main content
sharethis

 

26 มกราคม 2553 สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งชมพู ร่วมกับ ขบวนงานพัฒนาตำบลทุ่งชมพู และประชาชนในตำบลทุ่งชมพูในนาม “กลุ่มเพื่อนชาวนาอำเภอภูเวียง” รวมถึงเกษตรกรที่ได้ทราบข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว รวมกว่า 400คน ได้นำกำลังบุก ธกส. และเคลื่อนกำลังไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอภูเวียง เพื่อฟังคำชี้แจงและกดดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกรณีการจ่ายค่าส่วนต่างการประกันราคาข้าว ตาม “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ซึ่งกำลังเป็นปัญหา ออกมาอธิบายและแสดงความรับผิดชอบ อันเนื่องมาจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่อแววทุจริตหรือไม่ก็เกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 2 ลักษณะ คือ เกษตรกรในหมู่บ้านเดียวกันได้รับเงินส่วนต่างต่อตันไม่เท่ากันทั้ง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวชนิดเดียวกัน (ข้าวหอมมะลิ) และเจ้าหน้าที่ที่ออกไปรับขึ้นทะเบียนและทำสัญญาในวันเดียวกันทั้งหมู่บ้านและในบางหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ให้เกษตรกรเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากข้าวหอมมะลิเป็นข้าวชนิดอื่น ทั้ง ๆ ที่ ไม่ได้ออกไปดูพื้นที่ปลูกจริง ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับค่าส่วนต่างตามที่ควรจะได้

นอกจากนั้นยังมีปัญหาอีกหลายลักษณะที่เกษตรกรจากตำบลอื่นมาแจ้งให้แกนนำได้รับทราบในที่ชุมนุมขณะกำลังจัดการชุมนุมอาทิการที่เจ้าหน้าที่ผู้สำรวจทำข้อมูลจำกัดสิทธิไม่ให้ผู้พิการเข้าร่วมโครงการ ฯลฯ

ในระหว่างการชุมนุมได้มีเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 หน่วยงานได้ทยอยเข้ามาชี้แจงให้กับผู้ชุมนุม  โดยทางผู้จัดการ ธกส. ออกมาชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของโครงการดังกล่าวโดยละเอียด แต่ไม่ได้ตอบปัญหารูปธรรมทั้ง 2 ข้อของเกษตรกรที่ได้ร้องเรียนแต่ปัดไปว่าเป็นของหน่วยงานเกษตรอำเภอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอก็ได้ขึ้นมาชี้แจงว่าเป็นความผิดพลาดระหว่างคู่สัญญาก็คือระหว่างเกษตรกรกับ ธกส.เอง สำนักงานเกษตรอำเภอไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

หลังจากการที่หัวหน้าหน่วยงานทั้งสองแห่งคือผู้จัดการ ธกส.และเกษตรอำเภอขึ้นมาชี้แจง  ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เกษตรกรผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก ทางแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม จึงได้นัดหมายวันชุมนุมอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งเตรียมการที่จะไปชักชวนเกษตรกรในตำบลอื่น ๆในอำเภอภูเวียง ซึ่งประสบกับปัญหาในลักษณะเดียวกันมาร่วมชุมนุม ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553 นี้ การชุมนุมดังกล่าวได้ยุติลงเวลา 1500น.

"ชัน ภักดีศรี" แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวกับ "ประชาไท"ว่า หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบจากทั้งสองหน่วยงานต่างก็ปัดความรับผิดชอบ ไม่ยอมชี้แจงว่าจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไรให้มีความชัดเจนได้อย่างไร ต่างฝ่ายต่างก็ก็ปัดปัญหาออกไป

ให้พ้นจากความรับผิดชอบจากหน่วยงานของตน โดยโยนให้ให้อีกหน่วยงานอื่นพรืออ้าง “หน่วยเหนือ” ให้เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับการชุมนุมในวันที่ 29 นี้ แกนนำผู้ชุมนุมระบุว่าน่าจะมีเกษตรกรผู้เดือดร้อนจาก “โครงการประกันรายได้เกษตรกร”ในอำเภอภูเวียงมาร่วมชุมนุมประมาณ 3,000 คน โดยทางแกนนำจะได้ทำหนังสือเชิญนายอำเภอมาร่วมรับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนของผู้ชุมนุมด้วย

 

 

 

 

กลุ่มเพื่อนชาวนาอำเภอภูเวียง (เฉพาะกิจ)

แถลงการณ์ฉบับที่ 1 / 2553

“เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชน กรณีจ่ายค่าทดแทนการประกันราคาข้าว”

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการจ่ายค่าทดแทนการประกันราคาข้าวหอมมะลิ ตาม “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ในพื้นที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เกิดมีข้อผิดพลาดหรือปัญหาบางประการ ซึ่งทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์ โดยมีประเด็น

ความผิดพลาดอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างต่อตันไม่เท่ากันทั้ง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวชนิดเดียวกัน (ข้าวหอมมะลิ) และเจ้าหน้าที่ออกไปรับขึ้นทะเบียนและทำสัญญาในวันเดียวกันทั้งหมู่บ้าน
2. บางหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ให้เกษตรกรเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากข้าวหอมมะลิเป็นข้าว หอมจังหวัด ทั้ง ๆ ที่ ไม่ได้ออกไปดูพื้นที่ปลูกจริง ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับค่าส่วนต่างตามที่ควรจะเป็น (ไม่ได้รับเลย)

“ขบวนงานพัฒนาตำบลทุ่งชมพู” อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำ

กิจกรรม การพัฒนาภายในตำบล เห็นว่า ความผิดพลาดดังกล่าว จะต้องมีผู้รับผิดชอบและมีการแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียมในการจ่ายเงินทดแทน ครั้งนี้โดยพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนเป็นสำคัญ อันถือเป็นหน้าที่และจรรยาบรรณ

ของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศประชาธิปไตย ตามหลักการสำคัญที่ว่า “มาจากประชาชน เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน” ฉะนั้นทางขบวนงานพัฒนาตำบลทุ่งชมพู มีความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไปนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทบทวนและแก้ไขข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่มีความ สำคัญต่ออัตราการจ่ายเงินส่วนต่างของเกษตรกรให้ตรงตามความเป็นจริงที่ควรจะ เป็น โดยด่วน (ชนิดข้าว ,วันทำสัญญา และอื่น ๆ )
2. เร่งจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มเพื่อชดเชยให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างมีมาตรฐาน (เดียว)
3. รัฐต้องตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดพลาดนี้ว่าเกิดจากการคอร์รัปชั่น หรือเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ และลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

 

ขบวนงานพัฒนาตำบลทุ่งชมพู

 

แถลงการณ์

เรื่อง  เสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความผิดพลาดซ้ำซากจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ

มีหลายครั้งที่นโยบายแก้ปัญหาของรัฐเริ่มต้นด้วยหลักการอันดีงามและสร้างสรรค์ แต่

หลาย โครงการกลับเหลวไม่เป็นท่าเมื่อมาถึงขั้นตอนการแปลงนโยบายเป็นการปฏิบัติ กรณีการจ่ายเงินค่าทดแทนการประกันราคาข้าวตาม“โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้มีเหตุผลง่าย ๆ ซึ่งเป็น

ส่วนสำคัญหนึ่งในการประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการนั้น ๆ คือ

1. เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายบางส่วนเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน จากหน้าที่ปกติของเขา แต่ค่าตอบแทนกลับไม่เพิ่มตาม จึงทำงานแบบขอไปที
2. รัฐไม่พยายามใช้ทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เช่น ไม่ร่วมมือกับคนในพื้นที่ซึ่งเข้าใจปัญหาและรู้จริงในรายละเอียดปีกย่อย มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เพียงเพราะคนผู้นั้นไม่สังกัดภาครัฐ (เป็นภาคประชาสังคมและภาคอื่น ๆ )

สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งชมพู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นองค์กรนิติบุคคล

ตามพระ ราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ได้ศึกษาข้อมูลและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบ หมายให้ปฏิบัติงานตามโครงการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ต่อกรณีการจ่ายเงินค่าทดแทนการประกันราคาข้าว นี้ รัฐควรจ่ายค่าทดแทนตามที่เกษตรกรร้องขอ พร้อมทั้งจ่ายค่าจัดการชุมนุมและค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับผู้ร่วมชุมนุมตามอัตรา ค่าแรงขั้นต่ำ
2. ต่อแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว

1. 2.1 กรณีโครงการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ควรให้ภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

# 2.2 สนับสนุนให้องค์กร / ภาคส่วนอื่น ๆ ที่สมัครใจและมีความพร้อมเข้ามารับผิดชอบในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาในข้อ 2.1 แทนการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานรัฐ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลแปลงผลิตของเกษตรกรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่

แม่นยำ เป็นปัจจุบัน อาจให้ขบวนที่ดิน ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ ร่วมกับ พอช.เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น

3. ต่อสภาพัฒนาการเมือง ควรบรรจุกรอบงบประมาณเพื่อการชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและมีระเบียบ ให้สามารถขออนุมัติย้อนหลังได้

สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งชมพู

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net