Skip to main content
sharethis

“เชื่อมั่นประเทศไทยกับกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ชี้แจงกรณีฮิวแมนไรท์วอทซ์ประเมินสถานการณ์สิทธิฯ ในไทย ยันรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน กรณีคนตายเดือนเมษาฯ เพราะผู้ชุมนุมปะทะกับชาวบ้าน ยันไม่ได้เลือกใช้ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" กับบางม็อบ แต่พิจารณาตามสถานการณ์ ลั่นจะอดทน อดกลั้น รักษากฎหมาย คำนึงสิทธิของทุกๆ ฝ่าย ให้บ้านเมืองคงความสงบเรียบร้อย

 

ตามที่องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch: HRW) ออกรายงานเมื่อ 21 ม.ค. ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และระบุว่าในปี 2552 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ไม่ได้ทำตามคำสัญญาเคยกล่าวไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 53) เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกอากาศรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 54 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

โดยตอนหนึ่งของรายการ นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีรายงานของฮิวแมนไรท์วอทซ์ดังกล่าว โดยยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และว่ารัฐบาลจะใช้แนวทางของการอดทน อดกลั้น รักษากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิของทุกๆ ฝ่าย โดยรายละเอียดคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีผ่านช่วงหนึ่งของรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” มีดังนี้

000

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด สำหรับในเรื่องที่อยากจะเรียนเป็นประเด็นสุดท้ายก็คงจะเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน กับเรื่องของการเมืองครับ บังเอิญว่าในช่วงสัปดาห์นี้มีองค์กรเอกชนซึ่งได้จัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ความจริงถ้าอ่านตัวรายงานก็ปรากฏว่า จะไม่ออกมาดูรุนแรงเหมือนกับคำแถลงข่าว แน่นอนครับมีการติดตามในเรื่องของสิทธิมนุษยชน อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันบ้าง แต่ว่าข้อมูลบางประการอาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่ แต่ว่า 4 เรื่องสำคัญที่เขาจับตามองนั้น ผมก็ขอยืนยันว่ารัฐบาลของผม รัฐบาลไทย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

เช่น 4 เรื่องที่มีการจับตาก็คือปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ความจริงในรายงานจะเขียนชัดเจนว่า ในช่วงเดือนเมษายนนั้นปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะว่าเริ่มมีการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุม แต่การจัดการในเรื่องนี้ ถ้าเกิดอ่านรวมๆ ก็อาจจะเข้าใจผิด ว่ามีคนเสียชีวิต 2 คน จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ที่จริงก็ไม่ใช่นะครับ เป็นเรื่องที่การเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นจากปัญหาการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับพี่น้องประชาชนในชุมชน อย่างนี้เป็นต้น

เรื่องของภาคใต้ แม้ว่าจะยังมีสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ แต่ก็ลดลง และขณะเดียวกันระบบการจัดการรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎหมาย การใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาล นั้น ก็เป็นไปในทางที่จะช่วยดูแลคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างดียิ่งขึ้น รวมไปถึงเหตุการณ์ที่กระทบกับจิตใจของพี่น้องประชาชนก็คือเหตุการณ์ที่มัสยิดไอปาแย ขณะนี้ก็มีการมอบตัวแล้วของผู้ที่รัฐบาลได้ออกหมายจับ ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังกับการละเมิดสิทธิทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ภาคใต้ด้วย

นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะมีการพูดถึงเรื่องของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความจริงเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันนะครับ รัฐบาลนี้เข้ามาบรรดาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็มีการพิจารณาโดยจะมีความรอบคอบ และก็ดูเรื่องของเจตนา และที่สำคัญก็คือว่าจะไม่ให้มีการเอาเรื่องนี้ไปใช้ในลักษณะของเครื่องมือในทางการเมือง

ผมเข้าใจว่ารายงานของเขาอาจจะเขียนขึ้นก่อนที่เราได้มีการตั้งกลไกพิเศษเข้ามาดูแลทางด้านนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการที่จะแก้ไขและทำความเข้าใจกับเขาไปอีกทางด้านหนึ่งต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกันครับการใช้กฎหมายความมั่นคงก็ยังมีความเข้าใจผิด บางครั้งก็ไปเข้าใจว่ามีกฎหมายความมั่นคงแล้วตรวจสอบไม่ได้ หรือว่าเป็นการไปห้ามสิทธิในการชุมนุม ซึ่งความจริงก็ไม่จริง การใช้กฎหมายความมั่นคง ประกาศพื้นที่ความมั่นคงแต่ละครั้งนั้นไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่ทำให้เราสามารถที่จะบูรณาการบริหารจัดการได้ และทุกครั้งที่มีการประกาศก็ต้องมีการรายงานต่อสภาฯ ซึ่งจะมีการทยอยรายงานต่อสภาฯ ไปในสมัยประชุมนี้

ขณะเดียวกันการประกาศใช้เขตพื้นที่ความมั่นคง บางคนก็ไปพูดทำนองว่าจะใช้กับบางกลุ่มเท่านั้น ถ้ากลุ่มนี้จะชุมนุมจะประกาศทุกครั้ง ถ้ากลุ่มนี้จะชุมนุมจะประกาศทุกครั้ง ถ้ากลุ่มนี้จะชุมนุมไม่ประกาศไม่จริงนะครับ จะเห็นได้ว่าบางครั้งก็ใช้บางครั้งก็ไม่ใช้ ขึ้นอยู่กับการข่าวที่เราได้รับ ผมมั่นใจในเรื่องของการดำเนินการในแนวทางของประเทศในเรื่องของสิทธิมนุษยชน มิฉะนั้น แล้วเราคงไม่กล้าที่จะไปสมัครแข่งขันในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการที่ดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชนในสหประชาชาติ เพราะฉะนั้น อันนี้ ครม.ก็ได้เห็นชอบแล้ว

และก็เรื่องต่างๆ ที่เราสามารถจะมาดูแล เราก็จะมีการผ่อนผันโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีแรงงานต่างด้าว ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดระบบ ก็ยังมีการขยายเวลาไปอีก 2 ปี แต่ทั้งนี้จะต้องให้ขึ้นทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หรือกรณีของม้ง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีรายงานนะครับ ที่หลายคนกลัวว่าส่งกลับไปแล้วเขาจะไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับการดูแล ก็ไม่มีรายงานในลักษณะนั้นเลย ตรงกันข้ามนะครับก็มี ส.ส.จากทางสหรัฐฯ ก็เดินทางเข้าไปดู ก็ยืนยันครับว่าสิ่งที่เราได้ตกลงกับลาวในเรื่องของความปลอดภัยการดูแลคนเหล่านี้ ก็เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว

ความจริงมีอีกหลายเรื่องนะครับทั้งเรื่องการเมือง และเรื่องอื่น ๆ ที่อยากจะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน แต่ว่าเวลาที่เหลือนั้นจะชวนไปดูในเรื่องของปัญหาเพลี้ย ซึ่งผมได้ไปลงพื้นที่และจะเป็นความรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร สัปดาห์หน้าคงจะได้มีโอกาสเล่าถึงเรื่องอื่น ๆ นะครับ เพราะว่าผมจะเดินทางไปที่สวิตเซอร์แลนด์ส่วนหนึ่ง แต่ว่าอีกด้านหนึ่งก็คือว่าสมัยประชุมของสภาฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว ก็อาจจะมาคุยในเรื่องของแผนของการที่จะผลักดันกฎหมายตามนโยบายสำคัญ ๆ ขณะเดียวกันคนที่เป็นห่วงในเรื่องของความร้อนแรงทางการเมือง

ก็ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้แนวทางของการอดทน อดกลั้น รักษากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิของทุกๆ ฝ่าย แล้วก็จะดูแลให้บ้านเมืองนั้นสามารถที่จะคงความสงบเรียบร้อย รัฐบาลก็จะเดินหน้าบริหารงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนได้ต่อไปครับ...”

 

ที่มา: รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ประจำวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2553 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์, 24 ม.ค. 53, สำนักข่าวแห่งชาติ http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255301240097&tb=N255301 (เสียง, คลิป)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net