Skip to main content
sharethis

เช้าวันนี้ (6 ม.ค. 53) กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด  จำนวนกว่า ๓๐คน  ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการขยายโรงงานของบริษัท อัคราฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ศาลากลางจังหวัด  แต่ผลที่ได้รับคือ นายสุวิทย์  วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรไม่เซ็นต์รับหนังสือของชาวบ้าน  อ้างว่าหน้าที่นี้มีคนรับเรื่องอยู่แล้วมิใช่ตน
 
*หนังสือคัดค้าน มีเนื้อหาการคัดค้านเนื่องจากการที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด  ได้ยื่นขออนุญาตขยายโรงงานต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตรจะทำให้มีปริมาณการใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีอันตราย  ตามประกาศแจ้งข้อมูลโรงงานที่จะขออนุญาต  ระบุว่าจะมีการใช้โซเดี่ยมไบซัลไฟท์ 30 ตัน/วันและโซเดี่ยมไซยาไนด์ 6.6 ตัน/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก  อีกทั้งชาวบ้านยังไม่เคยได้รับการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายจากผู้ขออนุญาต  นอกจากนี้จากข้อมูลโรงงานที่ขออนุญาตเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการปัองกันระบบกำจัดไซยาไนด์ โดยเติมอากาศกับแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในถังกำจัดไซยาไนด์ พร้อมโซเดียมไบซัลไฟต์และคอบเปอร์ซัลเฟต เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์เป็นรูปอิสระจนมีความเป็นพิษไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วน สำหรับกากโลหกรรมเก็บในบ่อเก็บกัก ขนาด 400 ไร่ ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานของรัฐเนวากา ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นผู้ขอยังไม่เคยจัดให้มีการประชาคมและชึ้แจงโครงการ ดังนั้นจึงขอคัดค้านการขยายโรงงานของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
*หนังสือคัดค้านการขยายโรงงานของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๒ จากกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด
 
เมื่อผู้ว่าราชการฯไม่ตอบรับหนังสือคัดค้านของชาวบ้าน กลุ่มชาวบ้านจึงเคลื่อนตัวไปที่อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร โดยทางอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือออกมาฉบับหนึ่งให้ชาวบ้านมีใจความว่า “จะไม่มีการขยายโรงงานแต่อย่างใด ตราบเท่าที่ยังมีการร้องเรียนอยู่”
 
แต่ด้านชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจว่า แค่หนังสือฉบับเดียวจะยังต้านการขยายโรงงานได้หรือไม่ 
 
ด้านนางสายฝน เผยกลิ่น ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบฯยังกล่าวว่า “กลัวว่าจะมีการมุบมิบเซ็นต์โดยที่พวกเราไม่รู้ เพราะขนาดประทานบัตรซึ่งมีการคัดค้านมาโดยตลอดยังอนุญาตออกมาได้ และนับประสาอะไรกับการขยายโรงงานซึ่งถือเป็นเรื่องเล็กน้อยกว่ามาก”
 
ทั้งนี้ช่วงบ่ายชาวบ้านยังได้เดินทางไปยังที่ดินจังหวัดพิจิตร เพื่อสอบถามถึงเรื่องทางสาธารณะซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรและบริษัทได้ปิดกั้นทางเหล่านั้นไว้มิให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ทางที่ดินฯให้ไปตามถามเอาที่อำเภอทับคล้อ ซึ่งเมื่อไปถามที่อำเภอทับคล้อก็ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่า “ยังไม่มีคำสั่งให้ใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะเหล่านั้น” แต่เมื่อชาวบ้านขอดูเอกสารหลักฐานกลับไม่ให้เสียอย่างนั้น  ชาวบ้านจึงไม่มั่นใจว่าจริงแล้วนั้น ได้อนุญาตหรือไม่อย่างไร
 
กลุ่มชาวบ้านจึงได้ไปที่สถานีตำรวจทับคล้อ เพื่อขอลงบันทึกประจำวัน “ขอให้ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปิดเส้นทางสาธารณะทั้งหมด” แต่ทางตำรวจเห็นว่าไม่สามารถทำให้ได้เนื่องจากว่า เหตุมีลักษณะเป็นเหตุทางคดีแพ่ง จึงอยากจะให้ไปไกล่เกลี่ยกันเองกับทางบริษัทฯ อีกทั้งยังเห็นว่าผู้มีส่วนได้เสียนั้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูกไม่ใช่ชาวบ้าน  
 
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น ไม่เรียกว่าผู้มีส่วนได้เสีย แล้วจะเรียกว่าอะไร?
 
แต่แล้วสุดท้ายตำรวจยอมลงบันทึกประจำวันให้ชาวบ้าน ว่า “บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ปิดกั้นมิให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตร อีกทั้งทางเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากที่ดินจังหวัดพิจิตรและอำเภอทับคล้อแต่อย่างใด" 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net