Skip to main content
sharethis
 
ย่านกินซ่าในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น จัดอยู่ในระดับเดียวกับ ฟิฟท์ อเวนิว ย่านชอปปิ้งในกรุงนิวยอร์ก ถือเป็นเขตเมืองชั้นนำ เพราะเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าและร้านดีไซเนอร์หรู แต่ปัจจุบัน น้ำผึ้งที่เก็บจากรังผึ้งในย่านนี้เริ่มดึงดูดความสนใจของผู้คน ผึ้งกินซ่ามีชื่อเล่นว่า “กินพาจิ” (เรียกสั้นๆ แบบญี่ปุ่น แปลว่าผึ้งกินซ่า) และเริ่มจะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของย่านนี้
 
หากเดินจากสี่แยก กินซ่าบล๊อกที่ 4 มาประมาณ 5 นาทีจะมาถึงตึกแห่งหนึ่ง บนดาดฟ้าสูงขึ้นไป 45 เมตร มีรังผึ้งตั้งอยู่ คนเลี้ยงผึ้งเก็บน้ำผึ้งไปทำผลิตภัณฑ์จากกินซ่า เช่น ขนมหวานและลูกกวาดโดยฝีมือพ่อครัวขนมอบย่านนี้ และนำไปวางขายในร้านรอบ ๆ ขี้ผึ้งบางส่วนก็นำไปทำเทียนให้โบสถ์ย่านกินซ่าใช้ฉลองเทศกาลคริสมาสต์
 
ที่มาของโครงการ
โครงการนี้บริหารโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ โครงการผึ้งกินซ่า (Ginza Bee Project) ดำเนินงานโดยอาสาสมัครจากกลุ่มศึกษาการบริโภคกินซ่า (Ginza Shokugakujuku) ที่จัดสัมมนาเกี่ยวกับแหล่งอาหารและการบริโภคเป็นประจำ รวมทั้งกลุ่มศึกษาเมืองกินซ่า (Ginza Town Study Group) ที่เน้นศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของย่านนี้
 
เป้าหมายของโครงการคือศึกษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในกินซ่าผ่านการเลี้ยงผึ้ง แม้กินซ่าจะตั้งอยู่กลางกรุงโตเกียว มีพื้นที่สีเขียวเล็กน้อย กลุ่มนี้พยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นว่าสังคมที่ยั่งยืนและสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นจะดำเนินไปได้อย่างไรโดยทำงานกับผึ้งและใช้นำผึ้งที่ผลิตได้
 
เมื่อเริ่มโครงการในปลายปี 2005 หลายคนเป็นห่วงว่าการเลี้ยงผึ้งในเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นอาจเป็นอันตราย ผึ้งอาจจะต่อยคน แต่โดยปกติผึ้งเป็นสัตว์ที่อ่อนโยน และไม่เคยต่อยก่อนนอกจากตื่นตกใจ หลังจากอธิบายธรรมชาติของผึ้งให้ผู้อาศัยในตึกเข้าใจอย่างละเอียดแล้ว สมาชิกโครงการจึงเริ่มนำรังผึ้งสามรังไปติดตั้งบนดาดฟ้าตึกเมื่อเดือนมีนาคม 2006 แล้วผึ้งก็เริ่มบินเหนือท้องฟ้าย่านกินซ่า
 
หลายคนสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่จะเลี้ยงผึ้งและเก็บน้ำผึ้งในเขตเมืองอย่างกินซ่า กล่าวกันว่าผึ้งจะบินไปหาน้ำหวานในรัศมี 3-4 กิโลเมตรรอบๆ รัง โชคดีที่ในระยะสองกิโลเมตรมีสวนสาธารณะที่มีพื้นที่สีเขียวมาก เช่น สวนชิบูยะของพระราชวังอิมพีเรียลและสวนฮามาริคิว นอกจากนี้ต้นไม้ริมถนนก็เป็นแหล่งน้ำหวานที่ดี น้ำผึ้งที่เก็บได้มีปริมาณมากขึ้นทุกปี จาก 160 กิโลกรัมในปี 2006 เป็น 290 กิโลกรัมในปี 2007, 440 กิโลกรัม ในปี 2008 และมากกว่า 700 กิโลกรัมในปี 2009.
 
กล่าวกันว่าผึ้ง เป็นตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อยาฆ่าแมลงที่ใช้กันมากมายในฟาร์มของญีปุ่น จนทำให้อัตราการอยู่รอดของผึ้งลดลง ขณะที่ย่านกินซ่าในใจกลางมหานคร พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงเพราะมีคนแพ้ยาฯ มากขึ้นเรื่อยๆ กินซ่าจึงกลับกลายเป็นย่านที่เป็นมิตรต่อผึ้ง และน้ำผึ้งคุณภาพสูงที่ผึ้งกินซ่าผลิตได้ทำให้ผู้คนตระหนักว่าย่านนี้มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
 
ตั้งแต่นำผึ้งเข้ามาในย่านนี้ ดอกเชอรี่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยผสมเกสรก็เริ่มให้ผลเชอรี่ ผู้คนเริ่มเห็นนกบินมากินลูกเชอรี่ แมลงเล็กๆ เริ่มกลับมาทำให้สภาพแวดล้อมโดยรอบมีชีวิตชีวาขึ้น
 
องค์ประกอบพิเศษระหว่างย่านกินซ่ากับผึ้ง ดึงดูดความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนตั้งแต่เริ่มโครงการ และมีคนจำนวนมากขึ้นๆ ที่ได้ลิ้มรสน้ำผึ้งกินซ่า ผู้คนไม่ได้คิดถึงแต่ผึ้งและน้ำผึ้งที่ผลิตในย่านกินซ่าเท่านั้น แต่เริ่มคิดถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบๆ เขตนั้นทั้งหมด....
 
 
จาก: จดหมายข่าว Japan For Sustainability (JFS) ฉบับที่ 86 ตุลาคม 2009
รายงานโดย ยูริโกะ โยเนะดะ
เชิญอ่านบทความภาษาอังกฤษฉบับเต็มได้ที่...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net