Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
  
การเยือนของอดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นแค่อาการสะดุดอีกหนในความสัมพันธ์สองฝ่าย
 
ในยุโรปนั้นเห็นกันว่า ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดขึ้นมาในช่วงนี้ระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นภาพสะท้อนระยะเปลี่ยนผ่านในประเทศไทย จากยุคสมัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่เคารพรักอย่างสูงในสังคมไทย ทั้งได้รับการเคารพอย่างมากในสากลไปสู่อนาคตที่ยังไม่แน่นอนยากที่จะพยากรณ์ได้  
 
เราไม่ควรลืมว่า ในช่วงที่ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเองก็ยังทรงรู้สึกว่า พระองค์ทรงได้รับอิทธิพล และทรงต้องพึ่งพิงผู้นำไทยในขณะนั้น คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งแม้แต่ญี่ปุ่นที่เข้าครอบครองไทยอยู่ก็ยังระแวงว่าเขามีความมุ่งหมายบางอย่างเกี่ยวกับราชบัลลังก์ชนิดที่พวกเขาชาวญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นผู้เทิดทูนกษัตริย์ก็รับไม่ได้ 
 
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป.เมื่อปี 2500 คือหลังจากที่ผมเดินทางเข้าประเทศไทยได้ไม่กี่สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งแม้จะยังทรงพระเยาว์ในเวลานั้น ก็ทรงเติบกล้าเป็นอิสระจากร่มเงาของจอมพล ป. และพร้อมด้วยแรงสนับสนุนอันเข้มแข็งจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ทรงกลายเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหนือการเมืองใดๆ
 
กระแสรณรงค์เอาดินแดนคืนของไทยขึ้นสูงเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1930 และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนักชาตินิยมตัวยงอย่างหลวงวิจิตรวาทการบ่มเพาะความทะเยอทะยานเรื่องการสร้างมหาอาณาจักรไทยที่จะให้รวมเอาคนเชื้อสายไททุกกลุ่มทั้งในอินโดจีนของฝรั่งเศส พม่า และภาคใต้ของจีน หรือกระทั่งไกลออกไปมาเข้าไว้ด้วยกัน ท่ามกลางความทะเยอทะยานเพื่อ “มหาอาณาจักรไทย” นั่นเองที่จอมพล ป.ได้สร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อฉลองชัยชนะสั้นๆ ที่ทหารไทยมีต่อกองกำลังฝรั่งเศสในกัมพูชา และเข้าครอบครองดินแดนด้านตะวันตกของกัมพูชาในระหว่างสงคราม

แต่ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ระหว่างไทยและเขมรแถวชายแดนก็ยังมีมิตรภาพและน้ำใจต่อกันเรื่อยมา ผู้คนทั้งสองฟากชายแดนพูดทั้งภาษาไทยและเขมร แถวๆจังหวัดสุรินทร์ เราอาจจะได้ยินคนพูดภาษาเขมรกันมากกว่าภาษาไทย แม้ว่าคนเขมรในฝั่งไทยจำนวนมากจะไม่รู้จักตัวอักษรเขมรก็ตาม และเขาคงได้เรียนภาษาไทยในโรงเรียนด้วย ความสัมพันธ์กันทางการค้า การจ้างงานและแต่งงานข้ามพรมแดนกันไปมาเป็นสิ่งปกติซึ่งช่วยลดความตึงเครียด แม้กระทั่งในเวลาที่ความขัดแย้งกันทางการทูตปะทุขึ้นมาในกรุงเทพฯและในกรุงพนมเปญ
 
เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินในปี 2505 ด้วยเสียง 9 ต่อ 3 ว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชาและไม่ใช่ไทยนั้น ในฝั่งไทย ผู้คนเต็มไปด้วยความไม่พอใจ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนไทยก็ยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว เมื่อเจ้าสีหนุเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารในเดือนมกราคม 2506 ทรงขึ้นสู่หน้าผาสูง 525 เมตรในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ทรงแสดงท่าทีเพี่อความสมานฉันท์ด้วยการประกาศว่า ยินดีต้อนรับคนไทยไปเยือนปราสาทโดยที่พวกเขาไม่ต้องใช้วีซ่า และกัมพูชาจะไม่ทวงคืนโบราณวัตถุใดๆ ซึ่งถูกย้ายออกไปจากปราสาท

นับจากเขมรแดงได้ชัยเหนือกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 2518 จนถึงธันวาคม 2541 เมื่อคนของเขมรแดงกลุ่มเล็กๆ ที่ควบคุมปราสาทพระวิหารยอมมอบตัวในที่สุดนั้น ห้วงเวลาดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยพอที่จะให้คนไปเยือนปราสาทได้ แต่หลายปีถัดมาเมื่อสันติภาพฟื้นคืนมา ผู้คนสามารถเยือนประสาทแห่งนี้ได้อย่างสะดวกสบาย ครั้นปี2550 เมื่อทั้งไทยและกัมพูชาตกลงร่วมกันว่า ปราสาทพระวิหารควรได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลกนั้น ประชาคมนานาชาติก็เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่สุดที่สะท้อนเจตนารมณ์ของทั้งสองประเทศ
 
ดังนั้นเมื่อนายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฏหมายของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้นและเป็นผู้รับผิดชอบทำข้อตกลงกับกัมพูชาถูกบีบให้ลาออก ในยุโรปจึงมีทั้งความงงงันและแปลกใจ ในความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญของไทย ข้อตกลงดังกล่าวถูกหาว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยเพราะเชื่อว่ามันได้ “ผนวก” พื้นที่ที่อยู่ติดกันที่ไทยยังโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์อยู่ แม้ว่าพื้นที่นั้นจะอยู่นอกความตกลงฉบับดังกล่าวก็ตาม

กัมพูชาก็เลยพบว่า ตัวเองมีข้อพิพาทกับฝ่ายไทยไปด้วย สำหรับไทยแล้วเป็นข้อพิพาทที่สะท้อนความไม่แน่นอนฝังลึกเกี่ยวกับอนาคต สะท้อนความตึงเครียดอย่างหนักระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายผู้สนับสนุนทักษิณ และเป็นข้อพิพาทที่ก่อความมึนงงอย่างยิ่งยวดให้ประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับการใช้กฏหมายไทย ซึ่งในสายตาของคนยุโรปไม่น้อยเห็นว่า ทั้งคร่ำครึและไม่เป็นประชาธิปไตย ข้อหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกข้อหา ไม่ว่าจะไร้เหตุผลสักแค่ไหนหรือดูออกว่าแฝงเจตนาร้ายก็ต้องให้ตำรวจตรวจสอบทั้งสิ้น “มันเป็นกฏหมายกระจอก” เดอะ ไทมส์ให้ความเห็นเอาไว้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา “มันมีแต่จะทำให้ประเทศไทยดูน่าสมเพชเท่านั้น” 

 
ในส่วนของทักษิณเอง ความเห็นของคนในยุโรปยังผสมปนเปกันอยู่ ในด้านหนึ่งทักษิณได้รับมอบอำนาจจากผู้เลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่กลับถูกโค่นด้วยรัฐประหารโดยทหาร ซึ่งแม้กระทั่งสหรัฐก็ยังแสดงความไม่พอใจ อำนาจที่ได้มาจากระบบประชาธิปไตยย่อมทำให้เขาได้รับการสนับสนุนและเห็นใจจากคนในยุโรป 
 
แต่อีกด้านหนึ่ง นโยบายของทักษิณที่โหดเหี้ยมต่อกลุ่มมุสลิมสุดขั้วในภาคใต้ หรือการที่เขาสนับสนุนให้ตำรวจกระทำรุนแรงต่อคนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดในภาคเหนือ และการใช้อำนาจเงินไปแผ่อิทธิพลต่อสื่อและปิดปากนักวิจารณ์ ก็ก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อระดับของการย่ำยีสิทธิมนุษยชน แต่กลับมีไม่กี่คนที่ใส่ใจกับคำพิพากษาลงโทษทักษิณในกรณีทุจริตเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ใช่ว่าเพราะข้อหานั้นอาจไม่มีมูล แต่เป็นเพราะหลายคนเห็นว่าในเรื่องทำนองนั้น คนในวงการเงินการค้าส่วนมากในประเทศไทยคงมีคดีที่ต้องแก้ต่างเช่นกันทั้งนั้น
 
การเดินทางไปพนมเปญของทักษิณย่อมทำให้รัฐบาลในกรุงเทพฯโกรธ แต่การเยือนหนนี้อาจจะเป็นแค่การเปิดหูเปิดตาสามวัน และแน่นอนว่าตัองการยั่วยุทางการเมืองทว่าคงไม่หวังให้เกิดการเผชิญหน้ากันจริงในบริเวณปราสาทพระวิหาร เมื่อประธานาธิบดีโอบามาเดินทางถึงสิงคโปร์สุดสัปดาห์นี้เพื่อประชุมสุดยอดครั้งแรกกับผู้นำอาเซียน ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีย่อมคาดหวังว่าการประชุมสุดยอดจะไม่ถูกบดบังโดยความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออเมริกาประกาศแล้วว่าความเห็นที่แตกต่างกันในกรณีพม่าจะไม่เป็นประเด็นที่บงการหัวข้อการหารือ  
 
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เองก็เรียกคะแนนได้จากการที่เรียกทูตไทยกลับจากกัมพูชา แม้ว่าในเวลาของความตึงเครียดน่าจะต้องมีคนกลางอย่างมากก็ตาม
 
แค่นี้ก็น่าจะช่วยให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้บารมีอันจำเป็นสำหรับกำราบพวกที่ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบนักในกลุ่มอำนาจเก่าของไทย ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับมอบอำนาจจากผู้เลือกตั้งแต่อย่างใด
 
 
 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดีเรค ทอนคิน เป็นอดีตทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจากปี 2529-2532 และเป็นเลขานุการตรีในสถานทูตอังกฤษประจำพนมเปญช่วงปี 2504-2505
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net