Skip to main content
sharethis

ในเว็บไซต์โกลบอล วอยซ์ ออนไลน์ (Global Voice Online) เว็บไซต์เครือข่ายของผู้เขียนบล็อกและนักข่าวพลเมือง ที่คอยรายงานเรื่องราวและสรุปข่าวเกี่ยวกับวงการคนเขียนบล็อกจากทั่วโลก มีบทความชื่อว่า "มาเลเซีย:ผู้บริหารรัฐนำเสนอนโยบาย 'ห้องน้ำหนึ่งเดียว' " (Malaysia: State government introduces '1Toilet' policy) นำเสนอในวันที่ 21 ต.ค. โดยบล็อกเกอร์ชื่อ ซยาฟิค ชูอิบ

ซึ่งในบทความพูดถึงนโยบายที่รัฐบาลท้องถิ่นรัฐตรังกานูในมาเลเซียเสนอให้นักเรียนนักศึกษาและครูอาจารย์ (เพศเดียวกัน) เข้าห้องน้ำแบบเดียวกันโดยไม่แบ่งแยก ในชื่อนโยบายว่า "1Toilet" หรือ "ห้องน้ำหนึ่งเดียว" มีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้สึกว่าตนอยู่ในระดับเดียวกันกับคณาจารย์ โดยนโยบายนี้ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นภายในหมู่คนเขียนบล็อก ทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

บางความเห็นบอกว่ารัฐบาลและบุคคลชั้นนำอย่างผู้บริหารก็ควรมีห้องน้ำร่วมกันกับพนักงานหรือนักเรียนนักศึกษาทั่วไปด้วย ขณะที่ ตัวผู้นำเสนอเองก็ให้ความเห็นว่าควรหันมาเริ่มสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างนักเรียนนักศึกษากับครูอาจารย์ในห้องเรียน มากกว่าในห้องน้ำ


บทความ "มาเลเซีย:ผู้บริหารรัฐนำเสนอนโยบาย 'ห้องน้ำหนึ่งเดียว' "

นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเคยนำเสนอแนวคิด "มาเลเซียหนึ่งเดียว" (One Malaysia) หรือที่นิยมเขียนกันว่า 1Malaysia ที่เป็นการสนับสนุนความกลมเกลียวในชาติและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ให้เหนียวแน่นขึ้น

ซึ่งทางรัฐบาลของรัฐตรังกานูก็ยืมเอายี่ห้อ 1Malaysia มาใช้กับอีกนโยบายหนึ่งที่เรียกว่า 1Toilet หรือ "ห้องน้ำหนึ่งเดียว" ซึ่งเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้ครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา (เพศเดียวกัน) ใช้ห้องน้ำแบบเดียวกันเพื่อส่งเสริมด้านความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"เมื่อนักเรียนนักศึกษาได้ใช้ห้องน้ำร่วมกับครูอาจารย์แล้ว พวกเขา (นักเรียนนักศึกษา) ก็จะเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในระดับเดียวกันกับเหล่าคณาจารย์ และจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์กร ซึ่งในที่นี้หมายถึงโรงเรียน โดยอัตโนมัติ" อาหมัด ราซีฟ อับด์ ราห์มาน กล่าวในสื่อท้องถิ่นที่ชื่อ The Star ราห์มานเป็นคณะกรรมการด้านการศึกษา, การศึกษาขั้นสูง, ทรัพยากรมนุษย์, วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี

นอกจากนี้ยังคิดจะมีการขยายนโยบายออกไปอีกนอกจากเรื่องห้องน้ำ โดยมีการสนับสนุนให้ครูอาจารย์กินอาหารภายในโรงอาหารเดียวกับของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสสังสรรค์กันในช่วงพัก

มีความเห็นหลากหลายในวงการผู้เขียนบล็อกเกี่ยวกับนโยบายนี้ บางคนเห็นว่ามันเป็นเรื่องตลก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่ามันเป็นการริเริ่มในทางบวก

เจฟฟ์ โอย บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงและเป็น ส.ส. อยู่ในปัจจุบัน ให้ความเห็นไว้ว่า

"ในคราวนี้ การขยายผลของนโยบาย 1Malaysia ก็คือเรื่องสถานที่ปลดทุกข์ของพวกคุณ"

บล็อกที่ชื่อ Life and Ti(m)es of Liang Seng แสดงความเห็นในเชิงไม่เชื่อว่ารัฐบาลประจำรัฐตรังกานู จะนำเสนอแนวคิดเรื่อง 1Toilet

"ผมเข้าใจได้ในเรื่องการใช้โรงอาหารร่วมกัน แต่การใช้ห้องน้ำร่วมกันนั้นจะช่วยให้ซึมซับความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันและสร้างความเป็นเลิศจริงหรือ ให้ตายสิ เราทำอะไรได้ดีกว่านี้น่า"

นิกิ ชอง นักข่าว, บล็อกเกอร์, และนักเขียนของ Global Voices เขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขาว่า

"เจ้าบ้าคนไหนกันนะที่คิดไอเดียแสนบรรเจิดนี้ออกมาได้ ... ผมคิดว่าการใช้ห้องน้ำร่วมกันกับครูอาจารย์ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาเรียนดีขึ้นเลย การเรียนการสอนในระบบต่างหากที่จะช่วยได้

มันเกิดบ้าอะไรขึ้นนะ นี้เราจะต้องเริ่มกินหมี่ 1ton (หนึ่งตัน) ฟังแต่เพลงของ 1Buck Short (หมายถึงวง "วันบัคชอร์ท" ซึ่งเป็นวงร็อคของมาเลเซีย) หรือคราวนี้เราจะต้องให้ประชาชนจดทะเบียนแจ้งเกิดด้วยชื่ออย่าง 1Sharina ด้วย"

บล็อก Thots Here And There ให้ความเห็นว่า พวกผู้นำควรนำนโยบายนี้มาใช้กับพวกเขาเองก่อน

"ทำไมเราไม่เริ่มใช้กับกลุ่มชนชั้นนำก่อนนำมาใช้กับคนหมู่มากล่ะ ในโรงเรียนของฉันพวกระดับสูงมีกุญแจที่ใช้ไขเข้าห้องน้ำพิเศษโดยเฉพาะของตัวเอง ... ฉันรู้ว่าในบริษัทและองค์กรเอกชนอื่น ๆ ก็มีเรื่องของอภิสิทธิ์แบบนี้ด้วย ฉันจำได้ว่ามีเพื่อนฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่เขาได้ไต่ขึ้นไปถึงระดับคนมีอภิสิทธิ์ได้ครอบครองกุญแจไปยังสถานที่เฉพาะตัว! ในปัจจุบัน ถ้าเราจะใช้นโยบาย 1toilet ในสถานศึกษาแล้ว ก็อยากให้ลองนึกถึงภาพคนที่จะมาร่วมยืนต่อคิวกับนักเรียนนักศึกษาดูสิ เราน่าจะเริ่มจากระดับผู้บริหารก่อน หากพวกผู้นำพูดถึง 1Malaysia ก็เอาเลย ทำตามที่พูดเอาไว้ แสดงให้พวกเราเห็นหน่อยสิคุณผู้นำมาเลเซีย ว่าพวกเราทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันรวมถึงเรื่องการใช้ห้องน้ำด้วย"

ขณะที่บล็อก Voices Inside My Head กล่าวถึงนโยบาย 1Toilet ในแง่ดี

"ในตอนที่ยังเรียนอยู่เคยก็สงสัยเรื่องเดียวกันนี้เหมือนกัน ว่าทำไมครูอาจารย์ถึงต้องไปปลดทุกข์ในห้องน้ำแยกกับนักเรียนด้วย พวกเราปลดทุกข์ในวิธีที่ไม่เหมือนกันหรือ พวกเขามีอะไรที่พวกเราไม่มีหรือ คิดว่านโยบายนี้ควรนำมาใช้ในวงกว้าง อย่างแม้แต่ในสถานที่ทำงานผู้บริหารระดับสูงก็ควรมาใช้ห้องน้ำร่วมกัน อาจจะถึงขั้นว่าเหล่ารัฐมนตรีเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นก็ควรมาใช้ห้องน้ำเดียวกันด้วย และถึงตอนนั้นเราก็จะบอกได้ว่านักการเมืองของเราพูดจริงทำจริง"

ขณะที่ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ใน Global Voice Online ก็เขียนแสดงความเห็นไว้ในบล็อกของเขาเองว่า

"ครูอาจารย์ควรจะเริ่มแสดงตัวอย่างโดยการได้รับการยอมรับจากนักเรียนนักศึกษาของพวกเขาเสียก่อน หากนักเรียนนักศึกษามีความรู้สึกด้อยอยู่ก่อนแล้วในชั้นเรียน เขาจะรู้สึกว่าตนมีความสำคัญจากนโยบาย 1Toilet นี้ได้อย่างไร"

พวกเราจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างนักเรียนนักศึกษากับครูอาจารย์จริงหรือ หรือความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ควรเริ่มต้นในห้องเรียนไปเลยจะดีกว่า

แปลจาก:

Malaysia: State government introduces ‘1Toilet' policy, Syafique Shuib, Global Voices Online, 21-10-2009

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net