Skip to main content
sharethis

18 ต.ค.52 ช่วงบ่ายวันแรกของเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 5 ภายใต้ชื่อ “พัฒนาวาระของอาเซียนภาคประชาชน: สานต่อการหารือร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน” ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.52 ณ ห้องประชุมเพชรบุรีแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมฮอลลิเดย์อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการเสวนาเรื่อง บทบาทประเทศไทยในอาเซียน: โอกาสและความท้าทายในการสร้างชุมชนแบ่งปันและเอื้ออาทร

ชี้ปัญหาการเมืองภายในกระทบภาพไทยในฐานะผู้นำอาเซียน
อัจฉรา อัจฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวถึงผลกระทบของการเมืองไทยต่ออาเซียนว่า ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติค่อนข้างแย่จากปัญหาการเมืองภายในนับตั้งแต่เหตุการณ์ปิดสนามบินเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และการบุกสถานที่ประชุมอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนทำให้ต้องเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นอกจากนี้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดกรณีที่ผู้นำประเทศพม่าและกัมพูชา ไม่ยอมลงมาพบปะกับตัวแทนภาคประชาสังคมของประเทศตนเองที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมกับภาคประชาสังคมอาเซียน
 สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นถึงความขัดแย้งภายในประเทศของประเทศในภูมิภาคนี้ อีกทั้งในภาวะวิกฤติโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งอาเซียนเองก็ไม่ได้มีบทบาทมากนัก นั่นแสดงให้เห็นว่าในระบบโลกอาเซียนยังดำเนินไปแบบไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องอำนาจการต่อรองไม่ว่าจะโดยการนำของใครก็ตาม และความขัดแย้งภายในอาเซียนและในไทยที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ไทยไม่สามารถก้าวมาเป็นผู้นำของอาเซียนได้
 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวต่อมาถึงความหวังที่จะสร้างสังคมที่เอื้ออาทรกันว่า เป็นความหวังอันสูงส่งของอาเซียน ขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆ อาทิ ผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิ พายุกิสนา คนโรฮิงญา หรือผู้อพยพในภูมิภาค หัวข้อเหล่านี้ได้หายไปจากเวทีการพูดคุยของอาเซียน โดยที่ความเกลียดชังกลับคลืบคลานเข้ามาในส่วนต่างๆ มากขึ้นแทน นอกจากนี้ การจำกัดกำแพงภาษีได้เกิดขึ้น ทั้งที่กำแพงระหว่างเชื้อชาติทำลายยากกว่า เพราะผู้นำประเทศอาเซียนมักหลีกเลี่ยงการพูดถึงจุดเปราะบางของประเทศต่างๆ
 เธอกล่าวด้วยว่า การที่ผู้คนเรียนรู้เปิดใจในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันโดยไม่โอนเอียง และพร้อมจะก้าวไปด้วยกัน โดยไม่หวังผลประโยชน์เพื่อตนเอง ตรงนี้จึงจะถือว่าเป็นความก้าวหน้าและทำให้คนมีคุณค่า ทั้งนี้ ในส่วนของผู้นำนโยบายหรือสื่อเอง ไม่ควรนำเรื่องความรักชาติรักประเทศเข้ามาเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการให้ความช่วยเหลือ เพราะภัยพิบัติคือความเจ็บปวดร่วมกันของประชาชนในอาเซียน
 
จวกรัฐอย่าอ้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทำโครงการใหญ่ ทำร้ายประชาชน
ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น นักกิจกรรมจากพลังไท กล่าวว่า แผนการป้อนไฟฟ้าสู่โครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid) มีโปรแกรมหลักในการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ และการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศ โดยเธอกล่าวถึงโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ว่าเป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย และการบอกว่าไฟฟ้าพลังงานน้ำมีราคาถูก นั้นไม่จริงเพราะสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสียกับทรัพยากรและวีถีชีวิตประชาชน นอกจากนี้ในการส่งไฟฟ้าเชิงภูมิภาคจะไม่มีผลมากนักเพราะแต่ละประเทศก็มีการดำเนินการภายในอยู่แล้ว การที่ไทยพยายามเพิ่มโครงข่ายพลังงานเข้าไปในประเทศลาวก็เพื่อนำเอาไฟฟ้าจากลาวเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ชื่นชมกล่าวว่า โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเองก็เป็นการดำเนินการระหว่างประเทศที่มีอุปสงค์-อุปทาน ซึ่งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่น กรณีการก่อวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลย์ เพราะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอาเซียนส่วนใหญ่มีรัฐเป็นผู้ดำเนินการ
ในส่วนของบทบาทประเทศไทย นักกิจกรรมจากพลังไทกล่าวว่า การดำเนินแผนโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid) เป็นเพียงการเพิ่มโครงข่ายพลังงานของประเทศไทยไปในประเทศอื่นเพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยซึ่งส่งกระทบคนในท้องถิ่นและระบบนิเวศวิทยา นอกจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสหกิจขนาดใหญ่ของไทย ทั้ง 2 บริษัทได้ขยายข้ามขอบเขตการลงทุนออกไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยใช้เงินจากคนไทยไปในการดำเนินการ องค์กรเหล่านี้มีขาหนึ่งอยู่ในฝั่งผู้กำหนดนโยบาย ในส่วนในรัฐบาลไทย และอยู่ในอาเซียน แต่ทำงานแสวงหาผลกำไรให้เอกชนที่ถือหุ้น
ชื่นชม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีความรับผิดชอบที่คาบเกี่ยวกันอยู่ในส่วนของภาคราชการของไทยด้วย เนื่องจากมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานได้เข้าไปเป็นกรรมการบริหารในบริษัทพลังงานหลายบริษัทที่ดำเนินการทั้งในประไทยและต่างประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนสูงซึ่งอาจสูงกว่าเงินได้จากงานประจำ ตรงนี้อาจทำให้ยากที่จะหวังให้ภาคราชการเหล่านี้มาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งนอกจากภาคธุรกิจจะก้าวเข้ามาในส่วนนโยบายแล้ว ในส่วนนโยบายยังก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจด้วย
นักกิจกรรมจากพลังไท กล่าวด้วยว่าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ทำให้ราคาหุ้นในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นจนสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจการลงทุนพลังงานมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการผูกขาดการลงทุนของบริษัทที่ดำเนินการด้านพลังงานเพียงไม่กี่บริษัท นอกจากนี้การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินความเป็นจริง ยังทำให้เกิดผลกระทบเพราะรัฐบาลนำมาสร้างจริง นั้นส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินสูงขึ้นไปกับไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้น ทั้งที่การก่อสร้างไม่ได้จำเป็น อีกทั้ง พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลที่ถูกผลิตออกมาไม่ใช่เพื่อผู้บริโภคขนาดเล็ก พลังงานส่วนใหญ่ที่ผลิตไม่ได้มีเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่เป็นเพื่อเอกชนและภาคอุตสาหกรรม
“เราต้องมีความมั่นคงทางพลังงานจริงหรือเปล่า อยากให้มีการตั้งคำถามกับคนที่พูด ความมั่นคงทางพลังงานไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างทำลายวิถีชีวิตประชาชน” ชื่นชมแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังยกคำพูดของมหาตมะ คานที ที่ว่า ธรรมชาตินั้นเพียงพอกับความต้องการ แต่ไม่เพียงพอกับความตะกละตะกราม
เธอกล่าวด้วยว่า อาเซียนเปรียบเสมือนเป็นประเทศที่เปิดกว้างของไทยที่จะส่งต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมให้ขยายออกไปตามวงจรการลงทุนของไทย หากโครงสร้างของอาเซียนไม่เปลี่ยนปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะก็จะเกิดขึ้น เพราะอาเซียนถูกตัดสินโดยผู้มีอำนาจที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่แค่ให้อาเซียนฟังมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้ประชาชนซึ่งเป็นคนรากหญ้ามีพลัง มีการแบ่งสรรอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น และควรมีประชาธิปไตยมากขึ้นในอาเซียน ทั้งนี้เราต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับรัฐบาล แต่ต้องต่อสู้กับภายในของตนเองด้วย 

ชี้ประชาชนเข้มแข็ง ต้องเรียนรู้จากกันและกันโดยไร้พรมแดน
ศิริชัย สาครรัตนกุล เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งของประชาชนทำได้โดยเรียกร้องให้ไม่มีพรมแดนระหว่างประชาชนอาเซียนอีกต่อไป โดยยกตัวอย่างการก่อตั้งสหกรณ์ของประเทศในยุโรปหลังปฎิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งประสบความสำเร็จผ่านการเรียนรู้จากกันและกันโดยไม่มีพรมแดน
เขากล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาความเข้มแข็งจากระดับบุคคลไปสู่ระดับชาติ ทำได้โดยอาศัยทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา นั่นคือ อาศัยขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน ผ่านการสร้างเครือข่าย ประกอบกับองค์ความรู้ และเจตนารมณ์ ซึ่งของไทยเององค์กรที่ประสบความสำเร็จ คือ สสส. ซึ่งวุฒิสภาออกกฎหมายให้รัฐบาลแบ่งภาษีบาป 2% เพื่อสนับสนุนด้านสุขภาวะ รวมถึงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
 
หนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เพื่อชีวิตที่ดีของคนงาน
ศิริพร สโครบาเนค ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า การที่ไม่มีผู้นำอาเซียนเข้าร่วมในช่วงเช้า ก่อให้เกิดคำถาม 2 ข้อ คือ หนึ่ง ประชาสังคมอาเซียนแข็งแรงพอจะทำให้ผู้นำหันมาสนใจได้ไหม สอง ผู้นำอาเซียนสนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างประชาคมอาเซียนจริงหรือไม่
เธอกล่าวว่า แต่ละประเทศในอาเซียนมีเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เห็นได้จากรายงานของ UNDP ที่ระบุว่า สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงอยู่ใน 50 ประเทศแรกของการจัดอันดับ ขณะที่ไทยอยู่ลำดับที่ 87 และประเทศอื่นๆ อยู่ในลำดับที่ 100 ขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่า ประเทศที่ร่ำรวยมีความฝันเดียวกันกับประเทศยากจนหรือไม่ และแม้แต่ประชาชนในภาคประชาสังคม ยังมีวิถีชีวิตและวิธีคิดที่ต่างกัน
ถ้าถามว่า เราควรมีความใฝ่ฝันเดียวกับผู้นำอาเซียนไหม ศิริพรกล่าวว่า ควรมองในแง่บวก เพราะเรายังต้องอยู่ในอาเซียน ที่มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาพรมแดน ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็นับว่ามีสิ่งดีในพิมพ์เขียวเรื่องความมั่นคง ที่ระบุถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน ซึ่งเมื่อมีการกล่าวถึงไว้แล้ว เราก็ควรใช้ประโยชน์และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ
ศิริพร กล่าวถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายของแรงงานว่า อาเซียนบอกว่าจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่การเคลื่อนย้ายของประชาชนกลับจำกัด ยังมีการข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย และไม่มีกลไกช่วยบรรเทาทุกข์ รายงานปีล่าสุดของ UNDP ระบุว่า รายได้ของแรงงานข้ามชาติทำให้ครอบครัวที่ประเทศต้นทางมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่าความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้น อาเซียนจึงควรสนับสนุนการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี เพื่อทำให้อาเซียนไม่มีพรมแดน ให้คนข้ามพรมแดนได้อย่างมีศักดิ์สิทธิ์ และปกป้องสิทธิของประชาชนอาเซียน
 
เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ อย่ามองเพื่อนบ้านเป็นตัวร้าย
สุเนตร ชุติธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะไทยขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเรามีความรู้ที่จำกัดทั้งเรื่องภาษา วรรณคดี ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ การเมือง สภาพเศรษฐกิจ ของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าถามนักเรียน นักศึกษาไทยว่ารู้เกี่ยวกับภาษาของเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหน เขาคิดว่าจะรู้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา พม่า เขมร ในขณะที่หลายคนรู้ภาษาอังกฤษ จีน แม้กระทั่งญี่ปุ่น ดังนั้น เราจะสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างไร ในเมื่อยังไม่มีความเข้าใจลึกซึ้งเรื่องเพื่อนบ้านเราเลย นอกจากนี้ ไทยยังมีความคิดแบบนายทุน มองประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก เป็นแหล่งทรัพยากรที่สามารถเข้าไปแสวงประโยชน์ได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ
เขาแสดงความเห็นว่า น่าสนใจว่า มีปัญหาอะไรบ้างเมื่อเราพูดถึงประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนมา 40 ปีแล้ว แต่ไทยก็ยังไม่ได้ทำงานผนวกรวม เพื่อก่อให้เกิดการผลักดันการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในอาเซียน สำหรับประเทศไทยแล้ว อาเซียนอาจดูเหมือนต่างประเทศ อยู่ไกลตัว เหมือนแตะต้องไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องทำให้อาเซียนเป็นเหมือนมนุษย์ธรรมดา ต้องตั้งคำถามพื้นฐานว่า ประเทศไทยรู้จักอาเซียนแค่ไหน เรารู้จักอาเซียนตามแนวความคิด หรือรู้จักอาเซียนในแบบที่เป็นองค์กรที่จะผนึกเราเข้าด้วยกัน ดังนั้น ก็ต้องกลับมาที่คำถามที่ว่า เมื่อเราไม่เรียนรู้เกี่ยวกับแต่ละประเทศในอาเซียน ไม่เรียนประวัติศาสตร์ ของเพื่อนบ้านก็ไม่มีประวัติศาสตร์ของอาเซียน
สุเนตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านจากมุมมองของเราเอง ผ่านตัวเราเองที่มองว่าเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างไร เมื่อเราพูดถึงพม่า เราคิดว่าเป็นศัตรูสำคัญที่ทำให้อาณาจักรอยุธยาล่มลง ประวัติศาสตร์กัมพูชาก็เช่นกัน เราไปคิดว่าจะมาแทงข้างหลังเรา ส่วนลาวเราก็บอกว่าด้อยกว่าเราทั้งทางอารยธรรมและวัฒนธรรม ส่วนมาเลเซีย เรามองด้วยความระวัง ร้ายยิ่งกว่างูพิษ เห็นไหมว่าเราไม่เคยมีมุมมองที่เป็นบวกกับประเทศเพื่อนบ้านเลย
เขากล่าวเสริมว่า ในฐานะอาเซียน รัฐก็พยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในการลดภาพเชิงลบ แต่ก็ยังทำได้ไม่มาก เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้น กลายเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของสถาบันต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดวันกองทัพไทยเป็นวันที่ 24 มกราคม เนื่องจากเมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เป็นวันที่นเรศวรฆ่าพระมหาอุปราชาในสงครามยุทธหัตถี แต่หลังจากนั้นสองปีที่แล้วมีการเปลี่ยนวันกองทัพไทยใหม่ เป็นวันที่ 18 มกราคม เพราะไปพบว่าข้อมูลนั้นผิด
เขาตั้งคำถามว่า เมื่อประวัติศาสตร์ไทยไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของอาเซียน เราจะทำอย่างไร เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพราะเพื่อนบ้านเราก็มีปัญหาเหมือนกัน เช่น พม่า กัมพูชา จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ประเทศเขาให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของอาเซียนที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคได้อย่างไร
สุเนตร แสดงความเห็นว่า คนในประเทศไทย ไม่มีใครถือได้ว่าเป็นไทย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ว่าในชาติไหนก็ไม่มีของความเป็นชาตินั้นๆ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เรามีการแบ่งปันกับเพื่อนบ้าน มีการอยู่ร่วมกัน เรามีความหลากหลายของภาษาที่ผนวกรวมกันหมด ในทางวรรณคดี ก็มีองค์ประกอบต่างๆ ที่นำมาประยุกต์ นำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นสำคัญมากที่จะเรียกร้องให้คนไทยให้มีสัมพันธภาพกับเพื่อนบ้านเรา ในมุมมองเช่นนี้ เราจะทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
เขากล่าวถึงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทำได้โดยเริ่มจากเขียนประวัติของประเทศเราใหม่ ซึ่งในนั้นเราต้องมีภาพที่เป็นบวกของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ด้วย หากประชาชนในระดับต่างๆ การทำเช่นนั้น ในมุมมองประวัติ วรรณกรรม ดนตรี เราจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่เป็นจริงที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่รัฐสร้างขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้ หากประเทศต่างๆ ทำแบบนี้ เราจะมีฝันดีที่จะสร้างหรือจัดตั้งชุมชนอาเซียนขึ้นได้ โดยมีประชากรอาเซียนเป็นหัวใจหลักของชุมชนอาเซียน
 
 
 
ติดตามได้ที่ : http://twitter.com/aseanpeople_th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net