Skip to main content
sharethis

หมายเหตุผู้แปล – บทความนี้นำมาจากเรื่อง Taiwan's view on China anniversary ของ BBC ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา โดยการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันชาติจีนด้วย

ทางการจีนได้เตรียมการเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น การวางกระถางดอกไม้ 40 ดอกตามถนนในกรุงปักกิ่ง การผลิตธงชาติ 2 ล้านผืน การผลิตเหรียญที่ระลึก การเดินขบวนของทหารที่จตุรัสเทียนอันเหมิน รวมถึงมีการเผยแพร่ภาพยนตร์ “การก่อตั้งสาธารณรัฐ” เมื่อวันที่ 17 กันยายน ซึ่งเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการขึ้นมามีอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีทั้งนักแสดงชื่อดังอย่างจางจื่ออี้, เจ็ท ลี, เฉินหลง ร่วมแสดงด้วย
 
บทความจาก BBC ชิ้นนี้ เป็นอีกมุมมองหนึ่งจากชาวไต้หวัน ทั้งนายพลที่เคยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในจีน และหลบหนีมายังไต้หวัน นักข่าวที่เคยสูญเสียญาติไปในเหตุการณ์ รวมถึงชาวไต้หวันรุ่นใหม่ผู้หวังเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่
 
.........................................
 
 
ขณะที่ประเทศจีนกำลังจะครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้คนส่วนมากในไต้หวันจะไม่ร่วมเฉลิมฉลอง กับสิ่งที่พวกเขาได้เคยสูญเสียไปในสงครามกลางเมือง
 
แต่พวกเขาจะมองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตพวกเขา
 
"นี่ถือเป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนจีนต้องมาต่อสู้กันเอง มีชีวิตต้องสูญเสียไปมากมาย ครอบครัวจำนวนมากต้องแหลกสลาย มันเป็นความอัปยศอย่างที่สุดสำหรับชาวจีน" หวง ชี-ชุง (Huang Shih-chung) นายพลปลดเกษียณที่เคยนำฝ่ายชาตินิยมต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์มาก่อนกล่าว
 
"ผมหวังจริงๆ ว่า... ชาวจีนที่อยู่ทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวันจะไม่ลืมหลายชีวิตที่สูญเสียไป"
 
นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ไต้หวันเป็นสถานที่ที่ได้รับผลโดยตรงจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนในวันที่ 1 ตุลาคม 1949
 
กองทัพชาตินิยมหรือ ก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยเจียงไคเชค ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หนีไปยังเกาะไต้หวันหลังจากพ่ายแพ้ต่อกองทัพของคอมมิวนิสต์
 
มีผู้ที่อพยพหนีจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะไต้หวัน 2 ล้านคน ซึ่งรวมถึงทหารหลายแสนคน หลังจากนั้นจึงได้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคม ซึ่งยังคงสืบทอดสิ่งเหล่านี้มาอย่างเข้มข้นจนถึงทุกวันนี้
 
 
โศกนาฏกรรมของครอบครัว
หวง ในตอนนั้นอายุ 24 เป็นทหารพันตรีเขาเป็นหนึ่งในประชาชนที่อพยพมาไต้หวันในปี 1949
 
เขาเคยเข้าร่วมกองทัพเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น และหลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เขาจะต้องหันมาต่อสู้กับประชาชนในประเทศตัวเอง
 
ขระที่เขาหนีไปไต้หวันในปี 1949 เขาไม่ทันได้บอกกับครอบครัวของเขาที่บ้านเกิดในมลฑลอานฮุ่ย (Anhui Province) จนถึงทุกวันนี้เขาไม่รู้เลยว่าพ่อแม่เขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเขาเชื่อว่าพ่อแม่เขาเสียชีวิตไปแล้วจากสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้เขาก็ยังไม่ทราบว่าน้องสาวซึ่งเป็นพี่น้องคนเดียวของเขาไปอยู่ที่ไหน
 
เช่นเดียวกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีญาติอยู่ที่ไต้หวัน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพรรคก๊กมินตั๋ง เธอถูกลงโทษไปในช่วงที่จีนมีการปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องจากว่าครอบครัวของหวงเป็นชนชั้นเจ้าที่ดิน
 
"ผมมารู้ที่หลังว่าเธอถูกส่งให้ไปในเขตซินเจียงเพื่อใช้ทำงานหนัก มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่ผมจะเจอเธอ แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้เช่นกันที่เธอจะเจอผม" หวงกล่าว
 
เรื่องของเขาก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป หลายคนที่หนีมาไต้หวันจะไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวของพวกเขาที่บ้านเกิดได้
 
เดบอราห์ โคว (Deborah Kuo) นักข่าวชาวไต้หวันที่พ่อแม่ของเธอหนีจากจีนมาไต้หวันบอกว่า ความอยากติดต่อกับครอบครัวของแม่กลายเป็นการฆ่าญาติของเธอทางอ้อม
 
โควเล่าว่า ในตอนนั้น แม่ของเธออยากส่งจดหมายให้กับลูกพี่ลูกน้องในมลฑลเสฉวน จึงได้ให้พี่ชายส่งจดหมายข้ามฝั่งไปยังแผ่นดินใหญ่ แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จับได้และพบว่ามันมาจากไต้หวัน
 
พวกเขาจึงนำลูกพี่ลูกน้องของแม่และสามีของเธอไปสอบสวนเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งทำให้สามีของเธอกระโดดจากหน้าต่างจนเสียชีวิต
 
"เขาทนกับความกดดันไม่ได้" โควกล่าว
 
 
ความรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์
แม้ว่าจะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในอดีต แต่โควและคนอื่นๆ ซึ่งมีญาติที่ต้องทนทุกข์ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ก็บอกว่าพวกเขารู้สึกดีใจที่ได้เห็นประเทศจีนพัฒนา
 
"ในฐานะที่เป็นลูกหลายของชาวแผ่นดินใหญ่ ฉันรู้สึกดีมากที่จีนสามารถประสบความสำเร็จได้" โควกล่าว
 
โคววางแผนจะเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับแม่ของเธอ เพื่อที่ลูกๆ ของเธอซึ่งสนใจเรื่องของประเทศจีนน้อยมาก จะได้เข้าใจประวัติศาสตร์และทราบว่ามันส่งผลกับครอบครัวพวกเขาอย่างไร
 
"มันเป็นความรับผิดชอบของฉันที่จะต้องเขียนถึงมัน หากไม่เช่นนั้นแล้ว คนรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเขา" เธอกล่าว
 
หนุ่มสาวชาวไต้หวันหลายคนยังไม่เคยมีโอกาสได้เหยียบย่างลงไปบนผืนดินของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน แต่พวกเขากลับสนใจในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและวัฒนธรรมธรรมตะวันตกมากกว่า
 
 
"ผมอยากจะเห็นทหารหญิงของจีนเดินขบวนกันในชุดมินิสเกิร์ท"
- ไค ชี ทหารหนุ่มชาวไต้หวัน
 
 
มุมมองได้เปลี่ยนไปหลังจากหกทศวรรษที่ผ่านมา ชาวไต้หวันหลายคนไม่ได้มองสรรพาวุธที่จีนจะนำมาใช้ในการเดินขบวนของกองทัพจีนในฐานะครบรอบ 60 ปีว่าเป็นการจงใจมุ่งเป้ามายังไต้หวัน แต่มองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการที่จีนผงาดขึ้นมาเรืองอำนาจมากกกว่า
 
ทหารหนุ่มชาวไต้หวันคนหนึ่งชื่อ ไค ชี (Kyle Shih) พูดเล่นๆ ว่าเหตุผลหลักที่เขามาดูขบวนพาเหรดก็เพื่อ "จะได้เห็นทหารหญิงของจีนเดินขบวนกันในชุดมินิสเกิร์ท"
 
มากกว่านั้น เขายังบอกอีกว่าเขาได้เพื่อนเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่จากการที่เขาเป็นทหารทำให้เขาถูกจำกัดไม่ให้เดินทางไปประเทศจีน
 
"ผมอยากจะไปที่ประเทศจีนดู ผมอยากจะรู้ให้มากกว่านี้ว่าพวกเขาคิดยังไง" ไค ชี กล่าว
 
เขาบอกด้วยว่า การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนหนุ่มสาวอาจจะช่วยให้เกิดการพลิกบทใหม่ในเรื่องสันติภาพระหว่างประเทศ
 
นายพลปลดเกษียณอายุ 84 อย่างหวง ชี-ชุง บอกว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องจดจำความสูญเสียจากสงครามกลางเมืองเอาไว้
 
"พวกเราหวังจริงๆ ว่า ประชาชนจีนจะไม่เข่นฆ่ากัน หรือทำสงครามกันอีกเพราะความแตกต่าง" หวงกล่าว
 
หวงวางแผนจะไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี
 
 
 
หมายเหตุ:
ภาพหน้าแรกจาก  http://www.flickr.com/photos/66959900@N00/ / CC BY-NC-SA 2.0
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net