Skip to main content
sharethis

วานนี้ (21 ก.ย.52) เมื่อเวลา 9.00 น. มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงแห่งเอเชีย (Committee for Asian Women: CAW) ร่วมกับ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign: TLC) และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมสาธารณะเนื่องในวันสันติภาพโลก (International Peace Day) ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้มองเห็นปัญหาของแรงงานหญิงที่ทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้งและการกดขี่ อีกทั้งร่วมส่งสริมสันติภาพที่ยั่งยืน โดยมีแรงงานหญิงและนักกิจกรรมที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องนี้จากประเทศต่างๆ อาทิ พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และปากีสถาน รวมกว่า 150 คน

เจอร์เจ็ต ฮอนคูลาดา กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงแห่งเอเชีย อ่านแถลงการณ์ “หยุดทำสงครามต่อแรงงานสตรี: หยุดนโยบายการค้าเสรี” เนื่องในวันสันติภาพโลก โดยกล่าวถึงงานสัมมนาเรื่อง “สงครามอันซ่อนเร้นต่อสตรี: สิทธิแรงงานหญิงท่ามกลางภาวะสงครามและการปราบปรามทางการเมือง” จัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.52 ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของแรงงานหญิงท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและการปราบปรามทางการเมืองในบริบทของสงครามก่อการร้ายระดับโลกและวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ ที่พบว่า ภาระซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกต่อกลุ่มแรงงานสตรีนั้นมีสัดส่วนน้อยหากเปรียบเทียบกับปัจจัยที่ก่อโดยภาคส่วนอื่นๆ

เนื่องในวันสันติภาพโลก วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552 ขอเรียกร้องให้ ยุติความรุนแรงและการปราบปรามทางการเมือง เพียงเพื่อตอบสนองกระแสโลกาภิวัติและการค้าเสรี และเรียกร้องให้เกิดการส่งเสริมงานที่มีคุณค่า ความมั่นคงด้านอาชีพ ค่าแรงที่เป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งเพื่อศักดิ์ศรีของแรงงานสตรี รวมทั้งคุ้มครองสิทธิการเคลื่อนย้ายและการทำงานของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา

เจอร์เจ็ต ยังได้กล่าวประณามการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของแรงงานหญิงทุกรูปแบบที่เป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม และเตือนลัทธิคลั่งศาสนาว่ากำลังทำร้ายเหยื่อซึ่งเป็นสตรีผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก อีกทั้งประณามการใช้สงครามก่อการร้ายเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาผลประโยชน์อันยั่งยืนหรือขยายฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ประณามการปราบปรามการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสตรีซึ่งดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งประณามนโยบายการใช้ความรุนแรงทางเพศและละเมิดสิทธิแรงงานโดยรัฐ เพราะนั่นถือว่าเป็นการปราบปรามการเรียกร้องเพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยและอัตลักษณ์ของคนกลุ่มต่างๆ

เธอกล่าวยืนยังที่จะปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปลายทางการอพยพ และย้ำว่าปัจจัยที่ผลักดันการอพยพของแรงงาน ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจและการปราบปรามทางการเมือง

“เราจะมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีเพื่อสตรี ให้ปราศจากความหวาดกลัวและความหิวโหย เราจะต่อสู้กับความท้าทายทุกรูปแบบเพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรของเราเอง เพื่อต่อต้านสงครามและการทำร้ายซึ่งกันและกันของมนุษยชาติ เราจะต่อสู้เพื่อสร้างความสามัคคีและสันติภาพ” กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงแห่งเอเชียกล่าว

ด้าน ธัญยธรณ์ คีรีถาวรณ์พัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ขึ้นอ่านแถลงการณ์วันสันติภาพสากลของกลุ่มแรงงานหญิงจากไทรอัมพ์ฯ ว่า ความรุ่นแรงที่แรงงานประสบไม่ได้มีเพียงความรุนแรงที่มองเห็นในเชิงปรากฏการณ์ อย่างการถูกทำลายร่างกาย ข่มขู่คุกคาม แต่ยังได้รับความรุนแรงที่มองไม่เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยต่างๆ ในสังคม สะท้อนให้เห็นผ่านความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นับวันยิ่งมากขึ้น ในกรณีแรงงานไทรอัมพ์ฯ ถูกเลิกจ้าง ถึง 1,959 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสตรี โดยบริษัทฯ ใช้วิกฤติเศรษฐกิจเป็นโอกาสในการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งนั้นเป็นการผลักดันแรงงานเข้าไปสู่วิกฤติเศษรฐกิจ และทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ เกือบ 3 เดือนแล้วที่แรงงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงานเพื่อต่อสู้ให้ได้กลับเข้าทำงาน และเคลื่อนไหวในสังคมตลอดระยะเวลา แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ

การชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แรงงานไทรอัมพ์ฯ พร้อมด้วยเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมอย่างคนงานบริษัทเอนิออนและเวิลด์เวล การ์เม้นท์ ได้รวมตัวกัน กว่า 1,000 คน ไปทวงถามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ทำเนียบและรัฐสภา ก็ยังถูกเมินซ้ำและยังถูกละเมิดสิทธิพลเมืองและทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ด้วยการพยายามสลายการชุมนุม โดยเปิดเครื่องทำลายประสาทอย่าง LRAD ส่งผลให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บ หูชั้นกลางอักเสบ ตาพล่ามัว หัวใจเต้นผิดปกติ อีกทั้งยังออกหมายจับผู้ร่วมชุมนุม ซ้ำความรุนแรงเหล่านี้ถูกตอกย้ำด้วยความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคม ที่ยอมรับว่าการเลิกจ้างเป็นเรื่องปกติ การสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ รวมถึงการมองชีวิตเหล่านั้นเป็นเรื่องไม่โรแมนติกไม่น่าสนใจ ปัญหาแรงงานจึงไม่ค่อยมีพื้นที่หรือได้รับความสนใจ

เนื่องในวันนี้เป็นวันสันติภาพโลกที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นมา จึงขอให้ทางองค์การสหประชาชาติยุติความรุนแรงที่แรงงานประสบ โดยในเบื้องต้น 1.ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือให้ยกเลิกหมายจับ เพราะถือเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ 2.ขอให้ ดำเนินการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงนำโดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่พยายามสลายการชุมนุมโดยการเปิดเครื่องทำลายประสาทอย่าง LRAD โดยไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า รวมถึงการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้ชุมนุมในกรณีอื่นๆ 3.ขอให้เข้ามาตรวจสอบและหามาตรการกดดันผู้ที่มีอำนาจในการแก้ปัญหากรณีเลิกจ้างเพื่อเป้าหมายการทำลายสหภาพแรงงาน

4.ขอให้ UN เรียกร้องและบังคับให้บริษัท ปฏิบัติตาม CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน และพร้อมใจปฎิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ (ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฎิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact) และ 5.ขอให้ UN เรียกร้องและบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs และเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน

ในระยะต่อมา 1.ขอให้พิจารณาความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาล อย่าง การแปรรูปกิจการที่เป็นการให้สวัสดิการแก่ประชาชนของรัฐต่างๆ ให้เป็นกิจการของเอกชน เช่น การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึง การเปิดให้มีการจ้างงานเหมาค่าแรงที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิการต่อลูกจ้าง การเปิดเขตเสรีทางการค้า ที่มีการห้ามการตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น 2.ขอให้สนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานและผู้เสียเปรียบในสังคมอื่นๆ มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการส่งเสริมให้การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดช่องทางสังคม เช่น การส่งเสริมให้มีหลักประกันสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา รายได้และการมีงานทำโดยรัฐที่ทั่วหน้าและมีประสิทธิภาพ การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลักภาระมาให้แรงงานหรือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ธัญยธรณ์ กล่าวถึงการต่อสู้ขณะนี้ของแรงงานหญิงไทรอัมพ์ว่า แรงงานยังรวมตัวกันอยู่ที่หน้าโรงงาน โดยในวันนี้นับเป็นเวลากว่า 85 วันของการชุมนุมแล้ว เพราะพวกเขาไม่มีที่ไป แรงงานที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานมาตั้งแต่อายุยังน้อย ถึงวันนี้ก็อายุงานกว่า 30-40 ปี ถือว่าทำกำไรให้แก่บริษัทมากมายแต่ถึงวันนี้ทางบริษัทกลับไม่เคยสนใจ การเลิกจ้างทำให้แรงงานเกิดความกดดัน เกิดความเครียด เธอเล่าว่ามีแรงงานที่มีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งต้องอาการทรุดหนังลงเพราะความเครียดจนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่ามีคนพยายามฆ่าตัวตายด้วยปัญหาถูกเลิกจ้าง แต่เพื่อนคนงานสามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน ทั้งนี้ล่าสุดมีแรงงานหลายคนที่ต้องยกเลิกเช่าห้องพักแล้วมากินนอนอยู่ในที่ชุมนุมเพราะไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเช่า

กับคำถามที่หลายคนบอกว่าถูกเลิกจ้างทำไมไม่กลับบ้านที่ต่างจังหวัด ธัญยธรณ์แสดงความเห็นว่า แรงงานที่เข้ามาส่วนใหญ่จากบ้านเกิดมาหลายสิบปี และหวังมาลงหลักปักฐานทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ วิถีชีวิตของพวกเขาไปเปลี่ยนไปแล้ว หลายคนมีภาระรับผิดชอบต้องส่งลูกเรียน ต้องผ่อนบ้านเอื้ออาธรอยู่ อีกทั้งคนรู้จักที่บ้านเกิดในต่างจังหวัดก็น้อยลง หลายคนกลับไปก็แทบไม่รู้จักใคร ทั้งนี้แม้จะมีแรงงานบางคนสามารถกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นส่วนน้อยมาก

“แรงงานต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เพราะเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีทางไป” รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์กล่าว

นอกจากนี้ ในการปราศัยมีนักกิจกรรมจากองค์กรณ์ที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องแรงงานหญิงจากประเทศต่างๆ ได้ขึ้นพูดบนผ่านเครื่องขยายเสียง อาทิ นักกิจกรรมจาก GABREILA ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิแรงงานหญิงในประเทศฟิลิปปินส์, องค์กรสิทธิแรงงานพม่า (Migrants Assistance Programme: MAP), Focus of the Global south และ Women worker Organization from Indonesia 
 
นิค จากองค์กร MAP กล่าวว่าเมื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่ากับสิทธิตามธรรมชาติ สิทธิของแรงงานก็เป็นสิทธิตามธรรมชาติเช่นกัน และเราทุกคนต้องควรร่วมกันปกป้อง

คาร่า องค์กรเพื่อสิทธิแรงงานหญิงในอินโดนีเซียกล่าวว่า ตราบใดแรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรมแน่นอนว่าไม่มีมีสันติภาพในประเทศไทย รวมทั้งในการทำงานของแรงงานหญิงทั่วโลกด้วย สันติภาพมีสิ่งที่สำคัญอยู่ 3 ข้อ คือการมีอาหารกินครบทั้งสามมื้อ ลูกหลานได้ไปโรงเรียน และพ่อแม่มีงานทำและไม่ถูกคุกคาม หากไม่มี 3 ข้อข้างต้น ก็ไม่มีสันติภาพ เพราะนี่คือความต้องการขั้นพื้นฐาน

อนึ่ง จากเอกสารแถลงการณ์ มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงแห่งเอเชีย (Committee for Asian Women: CAW) เนื่องในวันสันติภาพสากล ในฉบับภาษาอังกฤษระบุว่า ประชาธิปไตยและสันติภาพจะแบ่งแยกไม่ได้จากสิทธิสตรี และ สันติภาพ ไม่ได้หมายความเพียงแต่การไม่มีสงคราม ทั้งนี้ตั้งแต่มีการประกาศ วันสันติภาพสากลเมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงในเอเซียยังคงต้องต่อสู้กับความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด ยกตัวอย่าง ในบังกลาเทศภายใน 2 ปีภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เพิ่งมีการยกเลิกไปเมื่อปีที่ 2551 กิจกรรมของสหภาพแรงงานถูกระงับส่งผลให้แรงงานกว่า 100 คนถูกฆ่าและทำร้าย ส่วนในพม่า รัฐบาลทหารได้ห้ามกิจกรรมของสหภาพแรงงานในทุกรูปแบบ และตัดสินให้สหพันธ์แรงงานแห่งพม่า (The Federation of Trade Unions of Burma: FTUB) เป็นองค์กรก่อการร้ายและผิดกฎหมาย นักกิจกรรมสหภาพแรงงานและครอบครัวถูกขังคุก คนงานและสหภาพแรงงานประสบปัญหาจากความขัดแย้งที่มีในประเทศ ทำให้ไม่มีการจ้างงาน ค่าจ้างลดลง ไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม มีการย้ายถิ่นฐานและคนยากจนมากขึ้น

นอกจากนี้วิกฤติเศรษฐกิจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาระของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องพยายามหาเงินทำให้การทำงานถูกกดขี่ให้อยู่ในสภาวะจำยอม และการปกป้องสิทธิในการทำงานที่สำคัญที่สุดคือเสรีภาพในการรวมตัวตรงนี้ก็ถูกกดลงไปด้วยข้ออ้างในเรื่องความสูญเสียทางเศรษฐกิจของนายจ้าง ในขณะที่ความรุนแรงทางเพศแผ่ขยายไปในวงกว้าง เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงต้องสุญเสียเสรีภาพและไม่มีพื้นที่ทางการเมือง

แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้ยุติการกดขี่ทางการเมือง สังคม และศาสนาในทุกรูปแบบ หาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วน โดยต้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู้สันติภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการชุมนุมในวันนี้เป็นไปอย่างสงบโดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตุการณ์ กลุ่มผู้เข้าร่วมมีการชูป้ายและป้ายผ้าทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระบุข้อเรียกร้อง อาทิ “ขอสันติภาพคืนมา” “สู้เพื่องาน” “สู้เพื่อลูก” “สู้เพื่อสิทธิ” “สู้เพื่ออนาคต” “สู้ไม่ถอย” “หยุดความรุนแรงและการปราบปรามทางการเมือง” และ“ปกป้องสิทธิแรงงานหญิง” เป็นต้น รวมทั้งการการแสดงละคร (Street drama) หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีเนื้อหากระตุ้นให้แรงงานหญิงและคนทั่วไปลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องสิทธิของแรงงานหญิง จากนั้นเป็นการร่วมกันร้องเพลง และรับประทานอาหารร่วมกันก่อนที่จะแยกย้ายเดินทางกลับ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีกำลังตำรวจเข้ามาเสริมกำลังและตั้งแถวอยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อสังเกตุการณ์ และออกจากบริเวณที่มีการชุมนุนก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจะสลายตัว

ทั้งนี้ สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็นวันสันติภาพโลก และกำหนดให้ปี ค.ศ.2001-2010 เป็น “ทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก” (The International Decade 2001-2010 for a Culture of Peace and Non-violence for the Children of the World) โดยมุ่งเน้นที่ 1.การให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้นหรือลำเอียง 2.การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน 3.การแบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ 4.การรับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม 5.การสงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก และ 6.การสร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสตรี
 

 
หยุดทำสงครามต่อแรงงานสตรี : หยุดนโยบายการค้าเสรี
 
งานสัมมนาเรื่อง “สงครามอันซ่อนเร้นต่อสตรี: สิทธิแรงงานหญิงท่ามกลางภาวะสงครามและการปราบปรามทางการเมือง” จัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของแรงงานหญิงท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและการปราบปรามทางการเมืองในบริบทของสงครามก่อการร้ายระดับโลกและวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ จากเวทีสัมมานี้ เราพบว่า
 
- ภาระที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดจากกลุ่มแรงงานสตรีที่เปราะบางนั้นมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับปัจจัยที่ก่อโดยภาคส่วนอื่นๆ
- เราขอประณามการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของแรงงานหญิงทุกรูปแบบที่เป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม
- เราขอเตือนลัทธิคลั่งศาสนาว่าคุณกำลังทำร้ายเหยื่อซึ่งเป็นสตรีผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก
- เราขอประณามการใช้สงครามก่อการร้ายเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านความยั่งยืนหรือขยายฐานทางเศรษฐกิจ การเมืองและกองกำลังทหาร และประณามการปราบปรามการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสตรีซึ่งดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
- เราประณามนโยบายการใช้ความรุนแรงทางเพศและละเมิดสิทธิแรงงานโดยรัฐ เพราะนั่นถือว่าเป็นการปราบปรามการเรียกร้องเพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยและอัตลักษณ์ของคนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ
- เราขอปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปลายทางการอพยพ และ
- เราขอเน้นย้ำว่าปัจจัยที่ผลักดันการอพยพของแรงงาน ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจและการปราบปรามทางการเมือง
 
เนื่องในวันสันติภาพโลก วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552 เราจึงขอเรียกร้องให้:
 
- ยุติความรุนแรงและการปราบปรามทางการเมือง เพียงเพื่อตอบสนองกระแสโลกาภิวัติและการค้าเสรี
- เรียกร้องให้เกิดการส่งเสริมงานที่มีคุณค่า ความมั่นคงด้านอาชีพ ค่าแรงที่เป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งเพื่อศักดิ์ศรีของแรงงานสตรี
- คุ้มครองสิทธิการเคลื่อนย้ายและการทำงานของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา
 
เราจะมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีเพื่อสตรี ให้ปราศจากความหวาดกลัวและความหิวโหยเราจะต่อสู้กับความท้าทายทุกรูปแบบเพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรของเราเองเพื่อต่อต้านสงครามและการทำร้ายซึ่งกันและกันของมนุษยชาติ เราจะต่อสู้เพื่อสร้างความสามัคคีและสันติภาพ
 
 
มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง (CAW) เป็นเครือข่ายขององค์กรแรงงานหญิงกว่า 46 องค์กร จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานในการปกป้อง และผลักดันสิทธิของตนเอง CAW เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิของแรงงานมานานกว่า 30 ปี
 

 

 
แถลงการณ์วันสันติภาพสากล : หากพวกเรามีชีวิตเช่นนี้ สันติภาพสากลย่อมไม่เกิด
 
จากการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็น “วันสันติภาพโลก” (International Day of Peace ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า ณ เวลานี้พวกเราชนชั้นแรงงานยังเผชิญกับความรุนแรงอยู่ทั่วทุกลมหมายใจ
 
ความรุ่นแรงที่พวกเราประสบนั้น ไม่ได้มีเพียงความรุนแรงที่มองเห็นในเชิงปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราประสบอยู่เป็นประจำ อย่างการถูกทำลายร่างกาย การถูกข่มขู่คุกคาม เพียงเท่านั้น แต่เรายังได้รับความรุนแรงที่มองไม่เห็นอย่างชัดเจน เป็นความรุนแรงที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งและถูกแช่ด้วยน้ำทะเลอันเยือกเย็นหนาว ที่โดยตัวมันเองเป็นความรุนแรงแล้วยังผลักดันให้เกิดความรุนแรงในเชิงประกฏการณ์อย่างที่เรามองเห็นอีกที นั่นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยต่างๆ ในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นับวันยิ่งหากไกลกันเหลือเกิน เช่น กลุ่มคนร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ในสังคมสูงถึง ร้อยละ 50 ในขณะที่กลุ่มคนร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด กลับมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 5.7 และปรากฏคนเพียงไม่กี่ตระกูลในประเทศนี้ครอบครองทรัพยากรเกือบหมดประเทศ
 
การก่อตัวของพวกเราชนชั้นแรงงานในไทยมาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 50 ปี ที่เน้นการดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติและในชาติ ด้วยแรงงานราคาถูก สวัสดิการต่ำ พร้อมกับกฏระเบียบที่เอื้อต่อเขา ทำให้พวกเราได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำเพียงเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ เท่านั้น นั่นยอมส่งผลการทบต่อกำลังบริโภคภายในประเทศที่ต่ำด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ก็ได้สร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคนั้น โดยการนำเงินอนาคตมาใช้อย่างบัตรเครดิส พร้อมกับการลดสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบผ่านการแปรรูปกิจการสาธารณะต่างๆ ให้เป็นของเอกชน อย่างการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น นั่นยิ่งทำให้ชีวิตเราถูกพันธนาการไว้กับความเสียงมากมาย
 
การกดขี่ขูดรีดที่ดูเหมือนว่าเราจะมีเสรีภาพในตลาดแรงงาน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้ ทำให้เราไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และด้วยการที่รัฐดึงดูดนักลงทุนด้วยแรงงานราคาถูก ยิ่งทำให้รัฐไม่มีมาตราการที่จะรักษาผลประโยชน์ของแรงงานอย่างจริงๆ จังๆ อย่างกรณีเราคือ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกนายจ้างเลิกจ้างเพียงเพื่อการปรับโครงสร้างของบริษัท และทางบริษัทยังย้ำว่าบริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง แต่กลับใช้วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นโอกาสในการเลิกจ้างพวกเราถึง 1,959 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสตรี และเป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่สูงอายุ พิการและป่วย นั่นย่อมเป็นการผลักเรานี้เข้าสู้ทะเลเพลิงที่เรียกว่าวิกฤติเศษรฐกิจ แต่เป็นโอกาสของนายทุน เพียงเพื่อหวังแสวงหาแรงงานราคาถูกและทำลายสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรที่พิทักษ์สิทธิของแรงงาน
 
เกือบ 3 เดือนแล้วที่เรายืนหยัดต่อสู้เพื่อกลับเข้าทำงาน เราถูกข่มขู่คุกคาม ถูกอาญัติทรัพย์จากการที่หมดเครดิส เราชุมนุมหน้าโรงงานและเคลื่อนไหวในสังคมตลอดระยะเวลา แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ครั้นเมื่อเราไปเรียกร้องในครั้งแรก ต่อรัฐบาล 6 ส.ค.2552 กลับถูกเมิน พอมาถึง 27 ส.ค. เราพร้อมด้วยเพื่อนผู้ร่วมชตากรรมอย่างคนงานบริษัทเอนิออนและเวิลเวล การ์เม้นท์ ซึ่งเกือบทั้งหมดคือคนงานหญิงเช่นเรา ได้รวมตัวกัน กว่า 1,000 คน ไปทวงถามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ทำเนียบและรัฐสภา ก็ยังถูกเมินซ้ำ พร้อมด้วยการละเมิดสิทธิพลเมืองและทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ด้วยการพยายามสลายการชุมนุมและปิดกันสิทธิในการพูด ด้วยการเปิดเครื่องทำลายประสาทอย่าง LRAD ส่งผลให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บคือ หูชั้นกลางอักเสบ ตาพล่ามัว หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น พร้อมกับการออกหมายจับผู้ร่วมชุมนุมในวันนั้น คือ นายสุนทร บุญยอด นางสาวบุญรอด สายวงศ์ และนางสาวจิตรา คชเดช ด้วยข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 และมาตรา 216 ที่มีโทษหนักถึงจำคุกเป็นระยะเวลา 5 ปี
 
ซ้ำความรุนแรงเหล่านี้กับถูกตอกย้ำด้วยความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมนี้ ที่ยอมรับว่าการเลิกจ้างเป็นเรื่องปกติ การสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ รวมถึงการมองชีวิตเหล่านั้นเป็นเรื่องไม่โรแมนติกไม่น่าสนใจ ปัญหาแรงงานจึงไม่ค่อยมีพื้นที่หรือได้รับความสนใจในสังคมนี้
 
เนื่องในวันนี้เป็นวันสันติภาพโลกที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นมา เราจึงขอให้ทางองค์การสหประชาชาติยุติความรุนแรงที่เราประสบโดยในเบื้องต้นเฉพาะหน้านี้ เรา
 
1.ขอให้ ดำเนินการช่วยเหลือให้มีการยกเลิกหมายจับ เพราะถือเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยและและกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคี และการออกหมายจับในกรณีชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธในกรณีอื่นๆ
 
2.ขอให้ ดำเนินการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงนำโดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่พยายามสลายการชุมนุมโดยการเปิดเครื่องทำลายประสาทอย่าง LRAD ที่มีเสียงดังมาก ได้รับผลกระทบต่อคนงานผู้หญิง คนงานพิการ และอายุมากที่ได้นั่งฟังปราศรัยหน้ารัฐสภา โดยไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าถึงการดำเนินการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุม รวมถึงการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้ชุมนุมในกรณีอื่นๆ
 
3.ขอให้เข้ามาตรวจสอบและหามาตรการกดดันผู้ที่มีอำนาจในการแก้ปัญหากรณีเลิกจ้างเพื่อเป้าหมายการทำลายสหภาพแรงงาน อย่างกรณีนี้ ถือเป็นการเลิกจ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูกและขยายโรงงานใหม่โดยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายพรบ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 18(ข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั้นแนลแห่งประเทศไทย รวมถึงตรวจสอบการเลิกจ้างและการทำลายสหภาพแรงงานในกรณีอื่นๆ
 
4.ขอให้ UN เรียกร้องและบังคับให้บริษัท ปฏิบัติตาม CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the “General Declaration Of Human Rights”) และพร้อมใจปฎิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ (ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฎิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact)
 
5. ขอให้ UN เรียกร้องและบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs และเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน จะเป็นการลดความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหาร เพราะการปรึกษาหารือเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนงาน เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันในสังคมประชาธิปไตย และหลัก OECD Guidelines for MNEs ในเรื่องของการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ อีกเช่นกัน เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่สร้างสรรค์และลดผลกระทบของการเลิกจ้างในกรณีของการเลิกจ้างพร้อมกันหลายคน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี ของรัฐบาลไทยในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ที่เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้าง แน่นอนทางสหภาพแรงงานฯมั่นใจว่ามีอีกหลายทางเลือกที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดสันติภาพ
 
ในระยะต่อมาเรา
 
1.ขอให้พิจารณาความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาล อย่าง การแปรรูปกิจการที่เป็นการให้สวัสดิการแก่ประชาชนของรัฐต่างๆ ให้เป็นกิจการของเอกชน เช่น การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึง การเปิดให้มีการจ้างงานเหมาค่าแรงที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิการต่อลูกจ้าง การเปิดเขตเสรีทางการค้า ที่มีการห้ามการตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น
 
2.ขอให้สนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานและผู้เสียเปรียบในสังคมอื่นๆ มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการส่งเสริมให้การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดช่องทางสังคม เช่น การส่งเสริมให้มีหลักประกันสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา รายได้และการมีงานทำโดยรัฐที่ทั่วหน้าและมีประสิทธิภาพ การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลักภาระมาให้แรงงานหรือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
 
เพื่อให้เกิดการให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้นหรือลำเอียง การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ การแบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ การรับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม การสงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก การสร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน อย่างแท้จริง ตามที่สหประชาชาติได้กำหนดให้ปี ค.ศ.2001-2010 เป็น “ทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก”
 
เราจึงขอประกาศไว้ ณ หน้าสำนักงานสหประชาชาติประจำกรุงเทพมหานคร ในวันสันติภาพโลก ประจำปี 2552
 
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net