Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากนับเอาวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือเหตุการณ์ 8-8-88 เป็นวันเริ่มต้นนับหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าครั้งสำคัญ ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 กว่าปีแล้ว ในระหว่างนี้ชาวโลกก็จับตามองกันอยู่ว่า โอกาสในทางสร้างความปรองดองแห่งชาตินั้นจะเกิดได้เมื่อไรกันหนอ

ในขณะที่บรรดากลุ่มต่อสู้บางกลุ่มอาจเริ่มถอดใจ บางกลุ่มก็ยังมุ่งมั่นและยังมีความหวังที่จะเดินหน้าต่อไป แต่ว่า อุดมการณ์ในการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ นั้น มาถึงวันนี้อาจต่างกันออกไป แล้วแนวทางไหนถึงจะทำให้พม่าก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้
 
เคยมีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า แนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าจะสำเร็จนั้นอาจเกิดขึ้นได้ 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ มีผู้คนจากข้างในประเทศลุกฮือขึ้นมามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แนวทางที่สอง คือกดกันจากนานาชาติ และประการสุดท้าย คือการจับอาวุธเข้าต่อสู่ให้แตกหักกันไป ทว่า ดูเหมือนว่า ถึงวันนี้ทั้ง 3 แนวทางนั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบเสียแล้ว
 
โม ส่วย อดีตสมาชิกแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (All Burmese Student’s Democratic Front-ABSDF) ให้ความเห็นว่า บรรดาเหล่านักวิชาการหรือเหล่าผู้ติดตามสถานการณ์ในพม่าทั้งหลายพยายามนำแบบอย่าง (Model) ต่างๆ ที่ เคยประสบความสำเร็จแล้วในประเทศอื่นมาเสนอให้ใช้กับประเทศพม่าบ้าง แต่จริงๆ แล้วมันใช้ไม่ได้ผลกับพม่า เพราะว่า รัฐบาลพม่านั้นไม่เหมือนใครในโลก ดังนั้นไม่อาจนำโมเดลไหนๆ มาใช้กับรัฐบาลพม่าได้ จนกว่ารัฐบาลจะคิดได้และยินยอมเอง หรือการต่อสู้ต้องเป็นรูปแบบที่ใช้ได้เฉพาะกับรัฐบาลพม่าเท่านั้น
 
หากมาพิจารณาถึง 3 แนวทางที่นักวิเคราะห์เคยว่าไว้ข้างต้น ซึ่งเคยเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ในประเทศพม่าเดินสู่แนวทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยแนวทางที่หนึ่งคือ การลุกฮือกันขึ้นมาของประชาชน อาจต้องย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 1988 ที่รัฐบาลพม่าเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงจนทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งต้องออกมาจับอาวุธต่อสู้ในป่า และต่อมาเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาในปี 1990 ซึ่งพรรคแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติหรือ NLD ที่นำโดยนางอองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทว่ารัฐบาลทหารพม่ากลับไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และเริ่มทำการกวาดล้าง จับกุมบรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน จนหลายกลุ่มการเมืองต้องหลบหนีออกมาต่อสู้อยู่นอกประเทศจนทุกวันนี้ การประท้วงก็ดูเหมือนไม่เป็นผล ซ้ำยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
จนกระทั่ง ล่าสุด เมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อพระสงฆ์ในสังคมพุทธอย่างพม่าที่ควรจะเป็นที่เคารพ  นำโดยพระสงฆ์นับหมื่นรูปออกมาประท้วงในย่างกุ้ง ต่อต้าน และเรียกร้องต่อรัฐบาลให้หันมาดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และต่อมาการประท้วงก็กระจายตัวไปทั่วประเทศ ซึ่งการประท้วงในครั้งนั้นดูเหมือนจะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนทำให้หลายฝ่ายมมองว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในประเทศพม่าได้บ้าง แต่ทางเลือกที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ก็ยังคงเป็นการปราบปรามอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ จนกระทั่งพระสงฆ์ถึงกับต้องคว่ำบาตรของจริง แล้วรัฐบาลก็ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป
 
สำหรับแนวทางที่สอง คือแรงกดดันจากนานาชาตินั้น หากดูจากระยะเวลาที่ผ่านมา เดิมนั้นสหประชาชาติและสหรัฐฯอเมริกาดำเนินการกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหประชาชาตินั้นได้ใช้ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในการโน้มน้าวให้พม่ายอมลดราวาศอกลงบ้างเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเหล่า บรรดาฝ่ายต่อต้านที่อยู่ในประเทศไทยมองการเยือนพม่าของบัน คี มูล เลขาธิการสหประชาติล่าสุดนี้ว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และมองว่า บัน คี มูน “ไปขอทาน” ไม่ได้ไป “ต่อรอง” ทั้งยังสำทับอีกว่า โชคดีนะที่ยังออกจากประเทศได้โดยแนวทางปกติตามกำหนดการ
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการจับกุมนางอองซาน ซูจี อีกครั้งก่อนที่นางจะหมดวาระการถูกกักบริเวณเพียงไม่กี่วัน ทำให้แรงกดดันจากนานาชาติมีเพิ่มมากขึ้น แม้พม่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และหลายฝ่ายก็เชื่อมั่นว่า อองซาน ซูจี คงจะต้องถูกตัดสินจำคุกอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้พม่ายังลังเลใจและเลื่อนการตัดสินมาถึง 2 ครั้งแล้ว โดยกำหนดเดิมคือ 29 พฤษภาคม ต่อมาเลื่อนเป็น 31 กรกฏาคม ทว่าในวันนั้นกลับมีโทรศัพท์ลึกลับไปที่ศาล การตัดสินไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม ศกนี้
 
ต่อกรณีที่รัฐบาลพม่าทำเงื้อง่าราคาแพงอยู่อย่างนี้ (ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งที่รัฐบาลทหารพม่าเคยตัดสินอย่างไม่แยแสต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ) อาจมองได้ว่า พม่ากำลังปรับแผนอยู่ เพราะครั้งนี้การกดดันไม่ได้มีเพียงแค่จากสหประชาชาติและสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังรวมถึง จีน อินเดีย อาเซียน และชาติอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นอย่างน้อยอาจมองได้ว่า พม่าอาจให้ความสำคัญในการกดดันของต่างประเทศบ้างแล้ว
 
กระนั้นหลายๆ ฝ่ายก็เชื่อว่า พม่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ แน่ เพราะสิ่งที่พม่าคิดไม่ตกในตอนนี้ก็คือ รู้อยู่ว่าจะตัดสินจำคุกนางอองซาน ซูจีแน่ๆ ถ้าตัดสินเช่นนี้ คนก็จะออกมาประท้วงกันอีก และวิธีที่พม่าจะเลือกใช้ก็คือการปราบปรามอย่างรุนแรงอีกแน่นอน แม้ไม่ได้ต้องการรักษาภาพลักษณ์มากนัก แต่เชื่อว่ารัฐบาลเองก็คงเห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐบาลเองในหลายด้านอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การกดดันจากนานาชาติก็จะยังไม่ทำให้พม่าหันมาสร้างความปรองดองในชาติได้มากขึ้นแต่อย่างใด
 
มาถึงวิธีสุดท้าย คือการจับอาวุธเข้าต่อสู้ ซึ่งหมายถึงกลุ่มต่อต้านทั้งหลายอาจต้องรวมตัวกันต่อสู้กับรัฐบาล หรือให้ประชาชนออกมาจับอาวุธ ต่อสู้โค่นล้มรัฐบาล บางคนอาจถึงขั้นเรียกร้องให้กองกำลังของสหประชาชาติและกองทัพสหรัฐฯเข้ามาช่วยจัดการโค่นล้มรัฐบาลพม่า เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วกับอิรัก ทว่า การสู้ด้วยอาวุธอาจเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะปัจจุบันกลุ่มต่อต้านนั้นมีกำลังน้อยกว่ารัฐบาลมาก และเราก็ได้เห็นภาพการปรามปรามกลุ่มต่อต้านมากขึ้น มีกลุ่มที่ขอเจรจาหยุดยิงมากขึ้น และที่ยังสู้อยู่ก็มีกำลังน้อยกว่ารัฐบาลทั้งนั้น
 
ส่วนประเด็นขอกองกำลังช่วยเหลือจากสหประชาชาตินั้น น่าจะเป็นการพูดด้วยความคับข้องใจมากกว่าต้องการอย่างนั้นจริงๆ กระมัง และที่สำคัญการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นนั้น ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ
 
เมื่อแนวทางทั้ง 3 นี้ไม่ใช่คำตอบ จึงน่าสนใจว่า สำหรับอุดมการณ์ในการต่อสู้ของกลุ่มต่อต้าน มาวันนี้ยังคงเดิมหรือไม่ ซึ่งก็พบว่า นานนับ 20 ปีของการออกมาต่อสู้อยู่ข้างนอก ในขณะนั้นหลายคนเป็นแค่นักเรียน บางคนเป็นนักศึกษา ด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์นั้น อาจสามารถคิดการต่อสู้ในทางหนึ่ง แต่ 20 ปีผ่านมา หลายคนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้พบว่า กลุ่มต่อต้านที่อยู่นอกประเทศในขณะนี้ สามารถจัดออกเป็น 3 กลุ่มความคิด คือ
 
กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เห็นว่า ควรกลับเข้าไปทำงานในประเทศ กล่าวคือ หลังจากที่ต่อสู้อยู่ในป่าในตอนต้น ต่อมามีโอกาสไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตในต่างประเทศ อาจเป็น ยุโรป อเมริกา หรือ ออสเตรเลียบ้าง กลุ่มนี้ มองเห็นว่า 20 ปีมาแล้วที่ทำการต่อสู้อยู่นอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการจับอาวุธต่อสู้ หรือการต่อสู้ด้วยรูปแบบการกดดันไม่ยอมสังฆกรรมกับรัฐบาล หรือสนับสนุนนานาชาติให้ร่วมกันคว่ำบาตรประเทศพม่านั้น ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นเลย ตรงกันข้ามการศึกษา การสาธารณสุข หรือเศรษฐกิจกลับแย่ลงเรื่อยๆ ประชาชนทุกข์ยากลงไปเรื่อยๆ กลุ่มนี้จึงเห็นว่า “ดูเหมือนการสู้ด้วยอาวุธอยู่ในป่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นจะเสียเวลาเปล่า” ควรจะปรับกลยุทธ์ในการทำงานเสียใหม่เป็น “การกลับเข้าไปทำงานในประเทศ” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะประณีประนอมโดยอาศัยจังหวะของการเลือกตั้งที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยที่กลุ่มนี้คิดว่า จะเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า และอาจค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิดของรัฐบาลได้ หากสามารถทำงานไปด้วยกันเรื่อยๆ
 
ในขณะที่กลุ่มที่สองปฎิเสธแนวคิดนี้อย่างสิ้นเชิง “เราไม่สามารถจะประณีประนอมกับ SPDC ได้” รอนนี อดีตสมาชิกกพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (Democratic Party for a New Society) กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และยืนยันว่า ยังคงเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้โดยการใช้อาวุธ เช่นเดียวกับ แกนนำ ABSDF คนปัจจุบันที่เห็นว่า แม้จะไม่มีกองกำลังเป็นของตัวเอง แต่ค่อนข้างเชื่อมั่นในแนวร่วมที่มีอยู่ และยังใช้วิธีการต่อสู้แบบกองโจร ซึ่งแนวร่วมเหล่านี้ก็มีอยู่ในประเทศด้วย
 
นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มที่เห็นว่าไม่สามารถประณีประนอมกับ SPDC นั้น ยังไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มที่จะกลับเข้าไปทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยพวกเขาบอกว่า “เราไว้ใจพวกเขาไม่ได้” เพราะเคยมีประสบการณ์แล้วว่า ที่สุดแล้วคนที่กลับเข้าไปนั้น ไม่สามารถทำอะไรได้จริง นอกจากต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเท่านั้น
 
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ดูเหมือนจะหาแนวทางที่เป็นได้มากที่สุดที่จะทำให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านเดินหน้ากันไปได้ โดยมองว่า ความคิดของทั้งสองกลุ่มนั้นต่างไม่สามารถจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือไม่เห็นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ กลุ่มนี้จึงเห็นว่า “จะกลับเข้าไปร่วมงานกับรัฐบาลก็ได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข” คือรัฐบาลจะต้องแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน โดยที่มี 3-4 ประเด็นที่ไม่อาจรับได้ นั่นคือ การกำหนดให้มีโควต้าของทหารโดยมาจากการแต่งตั้งอยู่ 25% ในรัฐสภา การกำหนดว่าผู้นำประเทศต้องมีประสบการณ์ทางทหาร และสุดท้ายที่รับไม่ได้มากที่สุดคือ ทหารสามารถทำการปฎิวัติได้หากมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะเลือกตั้งกี่ครั้ง ทหารก็ยังคงครองอำนาจสูงสุดอยู่นั่นเอง แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ กลุ่มนี้เห็นว่า รัฐบาล ควรจะแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยการยอมให้มีการเจรจากันก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยมาพูดถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
ทั้ง 3 แนวทางการต่อสู้ที่แตกตัวกันออกมาหลังจากได้ต่อสู้กันมายาวนานนั้น ถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง
 
แม้กระทั่งวิธีคิดของกลุ่มที่สามที่ดูเหมือนจะไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ แต่ปรับแนวทางมาให้เป็นไปได้มากขึ้น ทว่า เรื่องที่ยากคือ จะทำอย่างไรให้รัฐบาลยอมเดินออกมาก่อน 1 ก้าว เพื่อจะนำมาสู่การพูดคุย
 
และท่ามกลางการต่อสู้ที่ยาวนาน มาถึงวันนี้ที่อาจจะยากกว่าก็คือ กลุ่มที่เห็นแนวทางในการต่อสู้ที่แตกต่างกันอยู่ใน 3 แนวทางนี้ จะกลับมายอมรับแนวทางเดียวกันได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น แม้เปิดการเจรจา ก็อาจไม่สามารถเป็นที่ยอมรับจากทุกกลุ่มได้เช่นกัน
 
 
…………………………………………………
Source : Mekong Review
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net