Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากการที่ ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2552 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปิดเผยว่า หลังจากนี้มีเวลาอีก 30 วันตามกฎหมาย คือถึงวันที่ 24 ส.ค.2552 เพื่อให้วิทยุชุมชนแจ้งขึ้นทะเบียนสำหรับยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการชั่วคราว 1 ปี ในกลุ่มที่มีความพร้อมและมีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็นวิทยุชุมชน คือ ต้องไม่มีโฆษณา ส่วนวิทยุธุรกิจที่มีรายได้จากโฆษณา จะต้องมาขึ้นทะเบียนตามระยะเวลาที่กำหนดเช่นกัน โดยจะได้รับฐานะทดลองออกอากาศ 300 วัน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก กทช.ได้จัดโครงการเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เพื่อให้วิทยุชุมชนทั่วประเทศมาแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียน ก่อนที่ร่างประกาศฯ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบวิทยุชุมชนกว่า 4,000 สถานีแจ้งความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนกับ กทช. หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของวิทยุชุมชนทั่วประเทศ แบ่งเป็นจากภาคกลาง 1,200 สถานี ภาคเหนือ 800 สถานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,600 สถานี และภาคใต้ 400 สถานี

ส่วนวิทยุชุมชนอีก 10% หรือประมาณ 400 สถานีที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับ กทช. ยังมีเวลาถึงวันที่ 24 ส.ค.นี้ คาดว่าในจำนวนนี้จะมาขึ้นทะเบียนเกือบทั้งหมด น่าจะมีเพียง 1% หรือ 40-50 สถานีเท่านั้น ที่ตั้งใจจะไม่มาขึ้นทะเบียน  ด้วยมีวัตถุประสงค์ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง

หลังจากพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชนแล้ว ผู้ที่ไม่มาขึ้นทะเบียนจะเข้าข่ายประกอบกิจการวิทยุชุมชนโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องดำเนินการตามระเบียบ คือ ไม่ออกอากาศเนื้อหารายการที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย  ไม่มีเนื้อหาปลุกระดมมวลชนและขัดต่อศีลธรรม  รวมทั้งต้องบันทึกเทปเนื้อหาที่ออกอากาศย้อนหลัง 30 วัน โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท

“กทช.และคณะทำงานวิทยุชุมชนไม่มีเจตนาจะดำเนินคดีกับผู้ที่ตั้งใจไม่มาขึ้นทะเบียน การออกประกาศฯ เพื่อให้มาขึ้นทะเบียนเป็นมาตรการเยียวยา และจัดระเบียบวิทยุชุมชนในช่วงนี้ ระหว่างรอองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แต่หากพบผู้ร้องเรียน กทช.ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน” พ.อ.นที กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการวิทยุชุมชนหรือกำลังจะดำเนินการ สามารถนำเอกสารต่างๆ อาทิ หลักฐานส่วนบุคคลรูปถ่ายและแผนที่สถานี เข้ายื่นความประสงค์ขอดำเนินงานวิทยุได้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. - 23 ส.ค.52 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โดยวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2552 ลงทะเบียนได้ที่ อาคารอำนวยการ ชั้น 7  จากนั้นตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม - 23 สิงหาคม 2552 ลงทะเบียนได้ที่ อาคารหอประชุม ชั้น 1  สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 87 ถนนพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400

ในต่างจังหวัด กทช. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนตามศูนย์และสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุของสำนักงาน กทช. จำนวน 14 แห่ง ทั่วประเทศ ดังนี้ นนทบุรี, จันทบุรี, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี, ลำปาง, เชียงใหม่, พิษณุโลก, สงขลา, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, ระนอง, ชุมพร ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช.www.ntc.or.th

ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์ของสำนักงาน กทช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net