Skip to main content
sharethis

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รสก.) มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (1 ก.ค.) มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนต่อ หลังดำเนินการโครงการนำร่องไปแล้ว วงเงิน 1 พันล้านบาท แต่โครงการหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2533 เพราะไม่สามารถเปิดพื้นที่และรับประทานบัตรจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ขณะที่บริษัทที่ดำเนินโครงการนี้ก็มีปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้น

ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ไปเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะการสร้างความชัดเจนในการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) และได้รับความเห็นชอบจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนดำเนินการ โดยเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอนุมัติอีกครั้ง

“รัฐบาลสนับสนุนโครงการเหมืองโปแตชที่ จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียง เพราะผลประโยชน์โครงการนี้ คือ ช่วยสร้างงาน 1 พันคน สร้างรายได้จากการส่งออกปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์ ปัจจุบันราคาโปแตชอยู่ที่ 700 ดอลลาร์ต่อตัน"

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ตั้งคำถาม 2 ประเด็นคือ โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทที่ดำเนินการและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากต้องการให้โครงการเดินหน้าต้องดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องก่อนแก้ปัญหาโครงสร้างถือหุ้นของบริษัท”

สำหรับเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนนั้น ครม.มีมติเมื่อปี 2533 อนุมัติโครงการ ดำเนินการโดยบริษัทเหมืองแร่โปแตช มีผู้ถือหุ้นคือ บริษัทร่วมทุนโปแตช (ฝ่ายไทย) 71% และสมาชิกอาเซียน (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) 29% และกระทรวงการคลังถือ 257.4 ล้านบาท หรือ 22.08% ปัจจุบันฝ่ายไทยลดเหลือ 68% ได้แก่ กระทรวงการคลัง 22.08% ธนาคารทหารไทย 10% บริษัทเทพารักษ์ จำกัด  16.83% บางจาก 5.56% อื่นๆ 15.53% ขณะที่บรูไน 1.1% อินโดนีเซีย 14.35% มาเลเซีย 14.35% ฟิลิปปินส์ 1.1% และสิงคโปร์ 1.1%

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า  กระทรวงการคลังเสนอแนวทางดำเนินโครงการให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณา แต่ที่ประชุมไม่ได้พิจารณา เพราะนายกฯ ต้องการให้ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ส่วนข้อมูลที่กระทรวงการคลังเสนอให้เดินหน้าโครงการและเลือกพันธมิตรร่วมทุน แต่กระทรวงการคลังต้องถือไม่ต่ำกว่า 20% และระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุนกระทรวงการคลังสามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท

 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net