Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 52 สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์คุ้มครองสิทธิผู้ลี้ภัยเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน โดยเห็นว่าคำสั่งเพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR นั้น มีความผิดพลาดอย่างชัดเจน UNHCR ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

  

 
อุทธรณ์คำตัดสินทางการเมืองยกเลิกสถานะผู้ลี้ภัยที่ไร้มนุษยธรรม และ ขัดต่อหลักกฎหมายของ UNHCR
 
คำตัดสินยกเลิกสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR เลขที่ NI 14923 ที่ไร้มนุษยธรรม และ ขัดต่อหลักกฎหมายนั้นส่งผลให้นาย ลี ยูจง -อดีตสายลับ และผู้เรียกร้องประชาธิปไตย- ภริยา และลูก (อายุ 5-6 ขวบ) นั้นต้องถูกส่งกลับไปประเทศจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่พวกเขาอาจจะถูกข่มเหงรังแกโดยรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม
 
นายลี หนีออกจากประเทศจีนเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง และจากการที่ตนเคยเป็นอดีตสายลับ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย การที่เขาเคยเป็นสายลับให้รัฐบาลจีนนั้นทำให้เขาทราบถึงการดำเนินการของรัฐบาลจีนที่เกี่ยวพันกับการกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และ การเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่ทำให้เขาเริ่มที่จะเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องต่อรัฐบาล ส่งผลให้เขา และครอบครัวได้รับสถานภาพของผู้ลี้ภัยในที่สุด ซึ่ง UNHCR ได้ให้สถานภาพดังกล่าวเมื่อปี 2548
 
ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 2551 ตำรวจจับนายลีวางแผนระเบิดรถยนต์ที่สถานทูตจีน แต่ไม่มีข้อเท็จจริงจนกลายเป็นข่าว “คาร์บ๊องส์” เขาก็กลับโดนคุมขังต่อด้วยข้อหาว่าอยู่เกินกำหนด ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งขณะนี้คุณ ลี ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 8 เดือน นอกจากนั้นแล้วในวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่ทาง UNHCR ถูกกดดันอย่างหนักโดยจากทั้งทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ทาง UNHCR ก็ได้ออกคำสั่งเพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยของนายลีและครอบครัวโดยให้โอกาสนายลีอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วันมิฉะนั้นถือว่าคำสั่งจะเป็นที่สุด
 
เมื่อทางสภาทนายความ เข้ามาทำการช่วยเหลือจึงพบว่า คำสั่งของ UNHCR ดังกล่าวนั้นมีความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการตีความ และการปรับใช้ มาตราที่เป็น“ ข้อยกเว้น” ภายใต้ ข้อ 14 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และตาม ข้อ 1F (b) แห่งอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะผู้ลี้ภัย คศ. 1951 ซึ่งการปรับใช้ และตีความ “ข้อยกเว้นที่ให้อำนาจ UNHCR ไม่จำต้องให้สถานะแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ลี้ภัย หากผู้นั้นเคยกระทำความผิดอาญามาก่อนเข้ามาในประเทศที่พักพิง” ดังกล่าวนั้น ทาง UNHCR มิได้ปฏิบัติแนวปฏิบัติของตัว UNHCR ใดเลย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาว่าการกระทำของนายลี ถือเป็น “ความผิดอาญาที่ร้ายแรง” “หลักความรับผิดชอบส่วนบุคคล” “หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล” นอกจากนี้แม้ว่าการกระทำของนายลีตามที่ทาง UNHCR กล่าวอ้างนั้นจะเป็นความผิดก็ตาม นายลีก็ยังมีสิทธิที่จะต่อสู้เรื่องการกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลซึ่งถือว่าชอบด้วยกฎหมายในประเทศจีน เป็นข้อต่อสู้ได้อีกด้วย นอกจากนี้จากการที่นายลี พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยจนตนเองต้องลี้ภัยมาประเทศไทย ก็ต้องนำมาประกอบการพิจารณาการทำคำสั่งยกเลิกอีกด้วย เป็นที่น่าประหลาดอย่างมากหากนายลีจะต้องถูกส่งกลับไปประเทศที่ถือการกระทำทารุณกรรมไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้นายลีอาจต้องโดนทรมานเสียเอง ด้วยเหตุผลที่ว่านายลี ไม่เห็นด้วยกับการทรมาน และละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ความเห็นจากคุณสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ
 
 “ ทาง UNHCR นั้นมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องปกป้องและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ทางสภาทนายความมีความเห็นว่าคำสั่งเพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR นั้น มีความผิดพลาดอย่างชัดเจน นายลีเป็นผู้ที่หนีภัยการกดขี่ข่มเหง แต่UNHCR กลับใช้ข้ออ้างทางการเมืองเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทางมนุษยธรรมของตน หาก UNHCR ไม่รีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนในเรื่องนี้ ก็จะส่งผลให้ นายลี ภรรยา และลูกที่เป็นเด็กอายุเพียง 5 และ 6 ขวบทั้งสองคนต้องถูกส่งกลับไปยังเงื้อมมือของรัฐบาลจีน ที่จะทำการทรมานหรือแม้แต่ฆ่าพวกเขา
 
สำหรับวันผู้ลี้ภัยโลกที่จะมาถึงในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ พวกเราอยากเห็น UNHCR ให้การปกป้องผู้ลี้ภัยเหล่านี้มากกว่าจะเห็นว่าพวกเขาถูกส่งไปสู่ความตาย”
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net