Skip to main content
sharethis


 
 

ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าชุมชนแม่แพมสุขและสงบ แต่ทว่าในความนิ่งสงบนั้น หากยังมีแรงกระเพื่อมของปัญหาที่มิอาจมองข้าม เมื่อชุมชนกำลังหวาดหวั่นและตั้งคำถามว่าจะรับมือและจะจัดการอย่างไร หากมีสิ่งแปลกปลอม เช่น การท่องเที่ยวและโครงการขุดเหมืองแร่ลิกไนต์ของ กฟผ.เข้ามาสู่เวียงแหงในอนาคต

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายพยอม คารมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ในวันที่เดินทางเข้าร่วมพิธีขอบคุณป่าและการบวชป่าของชาวบ้านแม่แพม

ซึ่งเขาได้สะท้อนแนวคิด มุมมอง ในฐานะที่เป็นตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการหนุนเสริมในเรื่องการจัดการทรัพยากรชุมชนของหมู่บ้านแม่แพมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า นี่เป็นวิถีชีวิตของชนเผ่าปวาเก่อญอ คือที่ไหนมีป่าที่นั่นก็ต้องมีปวาเก่อญอ และไม่มีการทำลายป่าแบบทำลายล้าง แต่พวกเขาได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเข้าใจ ซึ่งตรงนี้ได้ทำให้ชาวบ้านแม่แพมได้เกิดการตระหนัก และทำให้มีการสืบทอด สืบต่อไปยังลูกหลานในวิถีชีวิตของปวาเก่อญอ

“จากที่ตนเองได้เข้ามาร่วมและสัมผัสก็เห็นว่าที่หมู่บ้านแม่แพมแห่งนี้ได้มีพิธีกรรมอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ แม่แพมในวันข้างหน้านั้นจะเหมือนแบบที่เราเห็นอย่างนี้หรือไม่ นี่เป็นความวิตกในใจอยู่ เพราะที่ผ่านมา มีพี่น้องปวาเก่อญอบางหมู่บ้าน อย่างเช่น บ้านแม่หาด บ้านนามน ในปัจจุบันนี้ ก็เริ่มที่จะถูกกลืนจากปัจจัยภายนอกบ้าง วิถีชีวิตเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาสังคมก็มากขึ้น แต่บ้านแม่แพมยังมีวิถีชีวิตที่ดั้งเดิมอยู่ ดังนั้น ตนจึงอยากที่จะมีการส่งเสริมบ้านแม่แพม ในเรื่องเหล่านี้ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมและวิถีชีวิตให้คงอยู่ตลอดไป”

นายพยอม ยังบอกอีกว่า แม่แพมนั้นถือว่ามีจุดแข็ง และคงจะเป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอเวียงแหงที่มีการปกปักรักษาป่า โดยใช้มีพิธีกรรม ความเชื่อแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นการปลูกจิตสำนึกและการสืบทอดให้กับลูกหลานของปวาเก่อญอบ้านแม่แพมเอง เพราะจากการสังเกตจะเห็นว่า คนที่เข้ามาร่วมงานนั้นจะมีทุกวัย ทั้งคนเฒ่าคนแก่ เด็กๆ เยาวชน คนหนุ่มสาวทุกคน

นายก อบต.เมืองแหง ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหงได้เข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนชาวบ้านแม่แพม ทุกครั้งปีละ 20,000 บาท ในเรื่องของการจัดการป่า พิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งหนุนเสริมสนับสนุนในเรื่องของการปลูกป่าและอีกหลายๆ กิจกรรม และปีนี้รู้สึกว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องของการทำเส้นทางเข้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน

“ในเรื่องของการท่องเที่ยวก็มีความวิตกในส่วนตัวเรื่องของการที่จะทำให้วิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งก็คงจะได้พูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวว่า ชาวบ้านแม่แพมจะทำกันอย่างไร กับการเตรียมตัว โดยที่ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิถีชีวิต และไม่ให้คนภายนอกนั้นเข้ามากอบโกยเรื่องของการท่องเที่ยวจากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยที่ชาวบ้านนั้นไม่ได้อะไรซักอย่างเหมือนกับที่อื่นหรือไม่อย่างไร” นายก อบต.เมืองแหง มองการท่องเที่ยวด้วยความเป็นห่วง

ชาวบ้านหันมาตั้งคำถาม ค้นหาความจริง
การท่องเที่ยวชุมชนคือทางออกจริงหรือ?

 
เมื่อพูดถึงเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้าน เชื่อว่าหลายคนคงสนใจอยากจะมาเยือนแม่แพมอย่างแน่นอน เพราะเมื่อมีการสำรวจแล้ว จะพบว่า มีจุดเด่นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ การดูนก เช่น ปัจจุบัน ชาวบ้านมีการพบนกยูงประมาณ 10 กว่าตัว ชอบอาศัยอยู่บริเวณป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน
 
“ซึ่งคนเฒ่าคนแก่มีความเชื่อที่ว่าที่ไหนมีนกยูงที่นั่นจะมีป่า มีต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นนกที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และทุกคนจะไม่ทำร้ายนกยูง…” สังวร พะเกะ บอกเล่าให้ฟัง

นอกจากนั้น ยังมีน้ำตกแม่แพมที่สวยงาม และยังมีพระธาตุดอยกองมู ซึ่งเป็นพระธาตุโบราณที่ตั้งอยู่กลางป่าอายุหลายร้อยปี เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มถกเถียงกันมากขึ้น เพราะยังหวาดวิตกกันอยู่ว่า เมื่อชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในอนาคตจะเป็นอย่างไร วิถีชีวิตชุมชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน!?

“หากจะให้หมู่บ้านแม่แพมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้ามีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาตินั้น เราไม่ทำ ถ้าจะทำก็น่าจะทำแบบเชิงอนุรักษ์” สมชาย ชิงะ เยาวชนบ้านแม่แพม บอกย้ำ

“การท่องเที่ยวมันก็ดี ส่วนหนึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ว่ามันจะกระทบวิถีชีวิตชาวบ้านหรือไม่ ยกตัวอย่าง เช่น การท่องเที่ยวน้ำตก ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำ และลำน้ำของน้ำตก ชาวบ้านได้ใช้ ได้ดื่มกิน ซึ่งคนบ้านเรานั้นจะไม่ขึ้นไปเล่นน้ำ อาบน้ำบริเวณน้ำตก แต่เป็นไปไม่ได้ที่นักเที่ยวเขาจะไม่ลงอาบน้ำ เพราะฉะนั้นเราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง” สมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพม พูดให้ชวนคิด

“เราคิดว่า ก่อนจะให้มีการท่องเที่ยว ควรจะต้องมีการออกกฎระเบียบว่าเรานั้นจะมีการดำเนินงานกันอย่างไร…” ภัททิยา จะแคะโพ เสนอแนวทาง

“ใช่ ชาวบ้านทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะให้ภาครัฐเข้ามาจัดการฝ่ายเดียว ในความคิดผม น่าจะให้หมู่บ้านจัดการกันเอง และจะต้องเน้นในเรื่องจิตสำนึกในการที่จะอนุรักษ์ผืนป่าทั้งหมดนี้ร่วมกันด้วย” สังวร พะเกะ บอกย้ำกับเรื่องนี้

นอกจากนั้น พวกเขายังกังวลในเรื่อง ขยะ สิ่งปฏิกูล ที่มันจะเดินทางมาพร้อมกับนักท่องเที่ยวหรือผู้คนภายนอกที่เดินทางเข้ามากันมากขึ้น
 
ทั้งนี้ นายสังวร พะเกะ แกนนำเยาวชนปวาเก่อญอ ได้สรุปทิ้งท้ายว่า ถ้าเกิดว่ามีแหล่งท่องเที่ยวเข้ามาจริงๆ ชาวบ้านคงจะต้องมาพูดคุยกันว่า จะตั้งรับกันอย่างไร จะต้องมีระบบการจัดการในหมู่บ้านที่ดี และต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย ต้องมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง

“...ไม่ใช่ว่าจะมาพัฒนาเป็นน้ำตกที่ใหญ่หรือหรูหราเหมือนกับที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน แต่ของเราเป็นเพียงน้ำตก ลำน้ำสายเล็กๆ ที่เราอยากจะให้มาดูจิตใจหรือจิตสำนึกของคนที่นี่มากกว่า ให้มาดูว่า แม่แพมหมู่บ้านใหญ่ขนาดนี้ แต่มีลำน้ำสายเล็กๆ แต่ทำไมเขาก็อยู่ได้ ทำการเกษตรกันได้ ทำไมน้ำไม่แห้ง ทำไมชาวบ้านต้องมีการอนุรักษ์ สิ่งนี้มากกว่าที่เราต้องการ นี่เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยกันคิดและนำมาพูดคุยกันดีกว่า”

 


นางภัททิยา จะแคะโพ นั่งสนทนากับพ่อเฒ่าถึงความเปลี่ยนที่จะเข้ามาในชุมชน
 

สังวร พะเกะ เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชุมชนบ้านแม่แพม

 

ในความนิ่งสงบ ยังมีปัญหาที่มิอาจมองข้าม
ชาวบ้านหวั่นการรุกคืบของเหมืองแร่ลิกไนต์

อย่างไรก็ตาม แม่แพมในขณะนี้ อาจดูเหมือนว่าวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย และมีความสุข แต่ในความนิ่งสงบนั้น ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนมิอาจมองข้ามผ่านไป นั่นคือ ชาวบ้านที่นี่ยังรู้สึกหวาดหวั่น หลังยินข่าวว่า จะมีโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานจัดการด้านการจัดหารแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กำลังดำเนินการอยู่อย่างเงียบๆ ในเขตพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของอำเภอเวียงแหง ซึ่งหมู่บ้านแม่แพม ก็อยู่โซนพื้นที่นั้นด้วย

แน่นอนว่า ที่ชาวบ้านรู้สึกหวั่นวิตกและพากันออกมาคัดค้านกับโครงการนี้ ก็เนื่องมาจากว่ากลัวจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สังคมแตกแยก ครอบครัวล่มสลาย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนที่นี่โดยตรง

“...เพราะว่าถ้าเขามาสร้างเหมืองแร่ตรงนี้ เชื่อว่าเรานั้นจะอยู่ไม่ได้ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ก็จะหายไป ถึงแม้ว่าแม่แพมเป็นจุดที่จะได้รับผลกระทบทางตรง แต่ว่าจะอยู่ในเขตปากเหมือง แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบ คือ กองดินขี้แร่หลายกองสูงเท่าตึกหลายชั้น ทำให้ให้เรานั้นไม่สามารถวางเฉยไม่สนใจในเรื่องนี้ได้เลย และก่อนหน้านั้น พวกเราก็ได้ไปศึกษาดูงานปัญหาที่เกิดจากเหมืองแร่ที่ อ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก็เห็นว่าผลกระทบทางลบได้เห็นมากมาย มีทั้งคนป่วยและได้สัมผัสกับคนที่ป่วยด้วย...” สังวร พะเกะ เยาวชนบ้านแม่แพม บอกกับเราถึงมหันตภัยที่กำลังย่างกรายมาเงียบๆ

ชาวบ้านบอกกับเราว่า หลังจาก เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. เข้ามาในพื้นที่ ได้ทำให้ชาวบ้านเกิดการแตกแยก เพราะเข้ามาใช้วิธีหว่านล้อม ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นการแจกเงิน บ้างก็ได้เข้ามาแจกจ่ายผ้าห่ม เครื่องนุ่งห่ม และของใช้อีกหลายสิ่งหลายอย่าง แม้กระทั่งการเข้ามาในรูปแบบเสนอชาวบ้านด้วยการสร้างบ่อปลา แจกพันธุ์ปลา ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านบางคนเกิดความเห็นแก่ตัว ก็จะเอาอย่างเดียว แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เอา

“เพราะฉะนั้น หลังจากเจ้าหน้าที่ กฟผ.เข้ามาในชุมชน ได้ทำให้ชาวบ้านแตกแยกกัน มีทั้งคนที่เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วย รวมทั้งคนที่อยู่เฉยๆไม่ไปร่วมในการประชุม ไม่ไปเพราะกลัว ทำให้เกิดการทะเลาะกัน ก็ทำให้เกิดความแตกแยกกันอีกด้านหนึ่ง”

แต่นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ พวกเขาบอกว่า ชาวบ้านเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากที่ชาวบ้านได้ไปดูงานผลกระทบที่เกิดจากเหมืองแร่ถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้มีการนำมาบอกเล่าให้รับรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของพิษร้ายที่เกิดจากถ่านหินลิกไนต์

“หมู่บ้านแม่แพม ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ไปดูงานกันมาก ประมาณ 3 คันรถ ซึ่งส่งผลทำให้ ณ ปัจจุบัน ความขัดแย้งของเราหายไป และหันมาจับมือคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ประมาณ 99% …” นางภัททิยา จะแคะโพ สมาชิก อบต.เมืองแหง บอกกับเรา

“ตอนนี้ชาวบ้านคัดค้านไม่เอาเหมืองถ่านหิน เพราะขนาดที่แม่เมาะ ชาวบ้านได้รับผลกระทบหลายอย่าง จนชาวบ้านต้องย้ายออกจากหมู่บ้าน” นายสมศักดิ์ ตะวุ ผู้ใหญ่บ้านแม่แพมคนปัจจุบัน ก็ออกมาย้ำอีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของอำเภอเวียงแหง คือ ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ซึ่งมีการคาดว่าจะมีถ่านหินที่สามารถมาใช้ได้ประมาณ 15-20 ล้านตัน

ในรายงานบอกว่า การทำเหมืองจะใช้ระยะเวลาประมาณ 17-20 ปี ในพื้นที่ในการทำเหมืองรวมทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ โดยจะทำเหมืองในลักษณะเหมืองเปิด หลังจากนั้นถ่านหินที่ผลิตได้จะถูกนำขนส่งทางรถยนต์ไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

และเมื่อปี พ.ศ.2546 ได้มีคณะนักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาพายัพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 1 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำงานวิจัยในหัวข้อ ‘วิถีชุมชนของประชาชนเวียงแหง’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีชุมชนประชาชนเวียงแหง ศึกษาความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง และความคาดหวังต่อการพัฒนาเมืองเวียงแหงในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง

ซึ่งผลการวิจัย โดยการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ การสัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่ม พบว่า ประชาชนเวียงแหงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองถ่านหิน เนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น กลัวว่าจะมีมลพิษทางอากาศ กลัวอากาศจะร้อน มีฝุ่นมาก กลัวเสียงดัง กลัวควัน กลัวน้ำจะปนเปื้อนและเหือดแห้ง กลัวจะสูญเสียป่าไม้ กลัวว่าจะเป็นโรคฝุ่นในปอดหรือโรคที่เกิดจากฝุ่นแร่ กลัวว่าวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป กลัวครอบครัวจะล่มสลาย และกลัวการอพยพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ แม้จะดุเหมือนว่าหลายชุมชนของอำเภอเวียงแหงจะดูสงบ หากทุกคนในชุมชนแม่แพมและอีกหลายชุมชน ยังคงเฝ้าระวังดูด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ว่าในอนาคต จะมีสิ่งแปลกปลอมที่มีพิษนั้นเข้ามาสู่ชุมชน สู่ชีวิตของพวกเขาอีกหรือไม่ อย่างไร!?
 
 
...............................................................................

ที่มาข้อมูล : หนังสือ’ไปเรียนรู้วิถีพึ่งพาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมดิน น้ำ ป่า ของคนแม่แพม’, ตีพิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2552, สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) 225/112 หมู่บ้านสินธนา ต.สันพระเนตร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210 โทร.053-380-566

ข้อมูลประกอบ
-ข้อมูลสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านแม่แพม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่,มกราคม 2552
-โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง วิถีชุมชนของประชาชนเวียงแหง โดย ยุวยงค์ จันทรวิจิตร,นงเยาว์ อุดมวงศ์, ศิวพร อึ้งวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จิตนธี เขนย, นุชยงค์ เยาวพานนท์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, มลวิภา ศิริโหราชัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, ชัชวาล จันทรวิจิตร สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 1โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กันยายน 2546
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net