Skip to main content
sharethis

 
 
แสดงสด นักศึกษา กลุ่มข้าวยำละครเร่ ของคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี และลิเกฮูลูคณะแหลมทราย ร่วมกันแสดงสดหน้าร้านน้ำชาบังหนูด หน้าประตู ม.อ.ปัตตานี เมื่อ 9 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา
 
 
เมื่อ เอ่ยถึงลิเกฮูลู ถึงเวลานี้แล้วก็คงมีน้อยคงนักที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์มาหลายครั้ง โดยคณะลิเกฮูลูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่หลายสิบคณะ ชื่อดังๆ เช่น คณะแหลมทราย ของนายเจะปอ สาแม แห่งบ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
 
ส่วน ละครเร่ ก็เหมือนกับการแสดงละครเวทีทั่วไป เพียงแต่กลุ่มผู้แสดงอาจตระเวนไปแสดงตามชุมชนต่างๆ ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอยู่พอสมควรในภาคใต้ นั่นคือ กลุ่มข้าวยำละครเร่ ของคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี
 
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มนี้ เคยได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ.ในการจัดค่ายเยาวชนละครเร่ “สื่อรู้ สื่อรักษ์ลุ่มทะเลสาบสงขลา” เพื่อสื่อสารหรือบอกผ่านเรื่องราวการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่เคยจัดแสดงมาแล้วที่ชุมชนหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
 
แต่ ลิเกฮูลูผสมละครเร่ คงไม่มีใครจะได้ยินมากนัก เพราะเป็นการประยุกต์ขึ้นของนักศึกษากลุ่มนี้เอง โดยการเกิดขึ้นของลิเกฮูลูผสมละครเร่ เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการสื่อพื้นบ้านสานสุข ของกลุ่มข้าวยำละครเร่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มดินสอสี
 
ก่อเกิดกิจกรรม “ลิเกฮูลูเพื่อสันติภาพ สัญจรสู่ชุมชน” ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยทั้งกลุ่มข้าวยำละครเร่ และลิเกฮูลูคณะแหลมทราย ได้สัญจรไปจัดแสดงร่วมกันที่ชุมชนสะบารัง ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี และชุมชนรูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ต่อไป
 
โดย ในการแสดงเริ่มด้วยการแสดงของลิเกฮูลูคณะแหลมทรายที่นำโดยนายเจะปอเอง ต่อด้วยการแสดงของนักศึกษากลุ่มข้าวยำละครเร่ ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้มีทั้งหมด 17 คน
 
นางสาวซูไรดะห์ ดอเล๊าะ นักศึกษาชั้นปี 2 เอกนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร สมาชิกกลุ่มข้าวยำละครเร่คนหนึ่ง บอกว่า เริ่มต้นฝึกซ้อมกับครูเจะปอ มาประมาณ 3 สัปดาห์ รู้สึกว่ายากมาก โดยเฉพาะเพื่อนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามและที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้พูดภาษายาวี จึงออกเสียงบางคำได้ยาก เพราะฉะนั้น เพลงที่ทางกลุ่มแต่งขึ้นมา 2 เพลง จึงมีเนื้อหาเป็นภาษไทย ผสมกับภาษายาวี เพราะคิดว่าคนในท้องถิ่นเอง ขณะนี้ก็มีความเข้าใจภาษาไทยพอสมควร
 
“ที่ สำคัญอยู่ที่เนื้อหาของเพลง เพราะทางกลุ่มแต่งเอง ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม มุ่งเน้นไปในเรื่องการสร้างสันติภาพ คือ เพลงสันติภาพบ้านเรา ส่วนอีกเพลง เป็นเพลง ฝากใจไปบ้าน ที่เอาเราเอามาร้องเป็นลิเกฮูลู เพราะมีเนื้อหาที่ดี”
 
ขณะที่นางสาว ซูไบดะห์ มะมิง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกนวัตกรรมการออกแบบสื่อและการผลิตสื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร บอกว่า “เรา เป็นนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ จึงเลือกใช้ลิเกฮูลู เป็นสื่อเพราะเป็นวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นที่นี่ คนที่นี้สามารถเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงชาวบ้านได้ไปดีกว่า”
 
“ขณะ เดียวกัน การที่เราตั้งชื่อว่ากลุ่มข้าวยำละครเร่ ก็เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความหลากกลายของนักศึกษากลุ่มนี้ เพราะมีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ เป็นคนในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้าวยำจะมีความหลากหลายอยู่ในตัว มารวมกันอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าไม่มีความหลากหลายก็คงไม่เรียกว่าข้าวยำ”
 
อาจารย์ จารียา อรรถอนุชิต อาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่มข้าวยำละครเร่ บอกว่า จากการร่วมอบรมนักศึกษาร่วมกับนายเจะปอ พบว่า ลิเกฮูลู ไม่ได้เป็นแค่การแสดงเท่านั้น แต่เป็นจิตวิญญาณของคนทำงานเพื่อชุมชน เพราะเจะปอบอกว่าครั้งหนึ่ง ลิเกฮูลู เคยหายไป แล้วก็มีการรื้อฟื้นคืนมาอีกครั้ง
 
อาจารย์จารียา บอกว่า การใช้ลิเกฮูลูเป็นสื่อ มีเสน่ห์อยู่ 2 อย่าง คือหนึ่งคือความเป็นศิลปะพื้นบ้าน สองสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนและคนในชุมชนได้ง่าย แต่สำหรับนักศึกษาแล้วก็มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่นักศึกษาทั้งหมดไม่ได้เป็น มุสลิมและไม่พูดภาษายาวี ซึ่งตรงนี้ได้ใช้เนื้อหาที่เป็นภาษาไทยและแทรกภายาวี
 
ประเด็น ที่สองคือ ศิลปินลิเกฮูลูที่เคยเห็นกันมักเป็นผู้ชาย แต่นักศึกษามีผู้หญิงอยู่ด้วย ซึ่งเจะปอบอกว่า ต้องให้แต่งกายมิดชิด ขณะเดียวกันเนื้อหาก็เป็นเรื่องการพัฒนา การเชิญชวนให้ทำความดี ไม่ใช่เรื่องการจีบสาว
 
ด้าน นายเจะปอ บอกว่า เมื่อปี 2535 ลิเกฮูลูได้หายได้จากชุมชนไปแล้ว จนกระทั่งถึงปี 2540ทรัพยากร ทางทะเลลดลงอย่างมาก ประกอบกับมีเครื่องมือประมงประเภททำลายล้างเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ตนในฐานะที่เป็นลูกหลายของศิลปินพื้นบ้านลิเกฮูลู จึงได้รื้อฟื้นลิเกฮูลู เพื่อใช้เป็นสื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการปกป้อง ทรัพยากรธรรมชาติ และได้ตระเวนไปแสดงตามชุมชนริมชายฝั่งทะเล และมีส่วนช่วยปกป้องทรัพยากรทางทะเลได้ ลิเกฮูลู จึงได้รับการรื้อฟื้นคืนมา
 
“ผม เชื่อว่าลิเกฮูลูก็ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ถ้าทุกคนเข้าใจและช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู เพราะเนื้อหามุ่งเน้นแต่เรื่องสันติภาพ” คือคำทิ้งท้ายของเจะปอ
 
.....................
 
เพลงสันติภาพบ้านเรา
 
โอะ โอ โอ๊ะ โอ่ โอะ โอ โอ๊ะ โอ๊
            เราอยู่ประเทศประเทศเดียวกัน         ต้องรักผูกพันสามัคคี
เราอยู่กันอย่างห่วงใย                                เรามอบความรักให้กัน
ประเทศเราเราก็รัก                                    แผ่นดินเราเราก็ห่วง
มาช่วยเป็นหูเป็นตา                                   ดูแลประเทศของเรา
            พ่อแม่เราเราก็รัก                          เพื่อผองเราเราก็ห่วง
สงสารพี่น้องชาวบ้าน                                 งานการไม่ได้ทำ
ต้นยางไม่ได้กรีด                                      ครูก็ไม่ได้สอน
เฟาะกีตอ มาฆี                                       ปะกะ มาฆี ตูลง
            นราธิวาส ปัตตานี ยะลา                  สามจังหวัดชายแดนเราต้องการความสงบ
ไฟใต้ถ้าไม่จุด                                          แล้วมันจะลุกได้มั้ย
ตะปอ ไม่เป็นไร                                       เรามาช่วยกันดับ
ทะเลาะกันทำไม                                       เราคนไทยทั้งนั้น
            พวกเราเป็นพี่น้องกัน                      มาร่วมรักสามัคคี
ร่วมมือร่วมใจ                                           ทำเพื่อลูกเพื่อหลาน
สงสารอาเด๊ะที่บ้าน                                   ไม่ได้ไปโรงเรียน
ทะเลาะกันทำไม                                       เราเลือดไทยทั้งนั้น
            ถ้าไฟใต้มอดดับ                           สามจังหวัดก็สงบ
หันหน้าหากัน                                          สานสัมพันธ์สุขขี
มาฆี ปือแก ตาแง                                   ปากะ มาฆี เดาะออ
มาช่วยกันสร้างความรัก                              เพื่อสันติภาพบ้านเรา
 
 
คำแปลภาษามลายู
 
1. เฟาะกีตอ, มาฆี            = พวกเรา,มา
2. ปะกะ มาฆี ตูลง            = มาร่วมช่วยกัน
3. ตะปอ                         = ไม่ป็นไร
4. อาเด๊ะ                        = น้องๆ
5. มาฆี ปือแก ตาแง          = มาจับมือกัน
6. ปากะ มาฆี เดาะออ        = มาร่วมกันดุอา (ขอพร)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net