Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักปรัชญาชายขอบ


 


 


"ดูดุ๊ดูมันแสดงละคร...มันจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยอะไร ดูหน้าตามาจากบ้านนอกกันทั้งนั้น มันรู้หรือเปล่าว่าประชาธิปไตยคืออะไร..." เสียงบริภาษของคนกลุ่มหนึ่งขณะที่หยุดยืนหน้าจอทีวีในศูนย์อาหารห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วจ้องดูภาพผู้หญิงเสื้อแดงวัยกลางคนคุกเข่าก้มลงกราบและยื่นดอกกุหลาบให้ทหารที่ยืนตรึงกำลังเตรียมพร้อมสำหรับสลายการชุมนุมของมวลชนเสื้อแดงในช่วงเทศกาล "สงกรานต์เดือด" ที่เพิ่งผ่านมา


 


"คนรากหญ้า ยากจน ไร้การศึกษา ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ขายสิทธิขายเสียง เป็นม็อบรับจ้าง..." คือ "สมมติฐาน" (assumption) เกี่ยวกับคนรากหญ้า หรือ "ภาพความจริง" เกี่ยวกับคนรากหญ้าตาม "คำพิพากษา" ของคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นสมมติฐานหรือภาพความจริงที่คนชั้นกลางรวมทั้งคนชั้นนำในสังคมไทยยึดถือเสมือนว่ามันเป็น "สัจธรรมที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน"


 


ดูเหมือนแกนนำมวลชนเสื้อแดงก็อ่อนไหวกับคำปรามาสที่ว่า "ม็อบเสื้อแดงเป็นม็อบรับจ้าง ส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้าในเมืองและมาจากต่างจังหวัด" ทำให้ในการชุมนุมที่เพิ่งผ่านไป แกนนำบางคนพยายามประกาศแก้ "ข้อกล่าวหา" บนเวทีว่า "ใครบอกว่าเสื้อแดงมีแต่คนรากหญ้า ไร้การศึกษา พวกเรามีคนชั้นกลาง มีคนรวย คนจน มีคนทุกชนชั้น ดูสิ! ดูรถยนต์ของผู้มาร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จอดเรียงรายอยู่แถวโน้นสิ รถราคาแพงๆ ทั้งนั้น มันรถของคนรากหญ้าเร๊อะ..."


 


ที่น่าสังเกตคือ ไม่ต้องเอ่ยถึงสื่อกระแสหลัก แม้แต่สื่อของฝ่ายเสื้อแดงเองก็มีน้อยมากที่นำเสนอ "ตัวตน" ของคนเสื้อแดงรากหญ้าให้สังคมรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน ทำไมจึงมาร่วมชุมนุม เขามีความคิดความเห็นหรือเจตจำนงของตัวเขาเองอย่างไร ในท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่สู้กันด้วยสงครามข่าวสารเป็นด้านหลัก คนเสื้อแดงรากหญ้า (ซึ่งเป็นมวลชนส่วนใหญ่ของฝ่ายเสื้อแดง) แทบจะไม่มี "พื้นที่" แสดงตัวตน ความคิดเห็น เจตจำนงผ่านสื่อกระแสหลัก หรือแม้กระทั่งผ่านเวทีปราศรัยของมวลชนเสื้อแดงเองก็ตาม


 


แต่ทว่าวันนี้ พวกเขาได้กลายเป็น "โจรเสื้อแดง" ตามคำพิพากษาของสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" กลายเป็น "ตัวป่วนเมือง" ในสายตาของชาวกรุงเทพฯ กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล และในอีกด้านหนึ่งพวกเขาอาจถูกทำให้เป็น "มวลชนเครื่องมือ" ในการต่อสู้เอาแพ้-ชนะในทางการเมืองของคนบางพวกบางกลุ่ม


 


พูดกันอย่างตรงไปตรงมา หากคนเสื้อแดงรากหญ้าบอกอย่างซื่อๆ ว่า "พวกเขาต่อสู้เพื่อให้ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะเชื่อว่าทักษิณจะมาปลดหนี้ให้พวกเขาได้จริงๆ…" คนชั้นกลางคงประณามว่า พวกเขาโง่ ถูกทักษิณและลิ่วล้อหลอกใช้ ยอมตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทักษิณ เพราะหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะหมดหนี้ ไม่สนใจว่าประเทศจะเสียหายอย่างไร หรือที่ดีหน่อยคนชั้นกลางบางพวกอาจคิดว่า จะต้องให้ข้อมูลอีกด้านให้คนรากหญ้า "รู้ทันทักษิณ" จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของทักษิณอีกต่อไป ฯลฯ


 


จะสังเกตได้ว่าตามมุมมองของคนชั้นกลางในเมือง (ซึ่งสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ ผ่านทรรศนะของภาครัฐ, เอกชน ฯลฯ) เจตจำนงของคนรากหญ้าไม่ใช่ "เจตจำนงอิสระ" (free will) แต่เป็นเจตจำนงที่ถูกหลอก ถูกครอบงำ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยหรือสร้างความเสียหายแก่ประเทศ อันเนื่องมาจากพวกเขาโง่ เพราะยากจน ด้อยการศึกษา เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร (ดูแต่ละครน้ำเน่า ฯลฯ) ดังนั้น จึงมีสื่อตัวแทนของคนชั้นกลางเคยประกาศอย่างอหังการ์ว่าเขาจะเอา "ปัญญา" ไปให้คนรากหญ้าได้หูตาสว่าง (โดยให้พ่อแม่พี่น้องซื้อจานดาวเทียม ASTV ติดตั้งไปทั่วทุกหมู่บ้าน เป็นต้น)


 


เมื่อปฏิเสธ "เจตจำนงอิสระ" ของคนรากหญ้าก็เท่ากับปฏิเสธ "ความเป็นมนุษย์" และลบ "ศีลธรรม" ออกไปจากการกระทำของพวกเขา ดังที่ ฌอง-ฌากส์ รูสโซ กล่าวว่า "มนุษย์เกิดมามีเสรี...การละทิ้งเสรีภาพนั้นคือการละทิ้งความเป็นคน...และการลบล้างเสรีภาพทั้งหมดออกจากเจตจำนงของเขา ก็คือการลบล้างศีลธรรมทั้งหมดออกไปจากการกระทำของเขา..."


 


สิ่งที่ทำให้คนชั้นกลางในเมือง "ตาบอด" ต่อความจริงที่แท้จริงของคนเสื้อแดงรากหญ้า คือ สมมติฐานที่ว่าทักษิณเป็นคนเลว โกงชาติ มุ่งล้มล้างสถาบันฯลฯ เจตจำนงของคนรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อทักษิณจึงเป็นเพียง "เครื่องมือ" ของคนเลว เป็นเจตจำนงที่ถูกชักจูงด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น การปลุกระดมหลอกลวง การใช้เงินจ้างฯลฯ จึงไม่ใช่ "เจตจำนงอิสระ" ที่มีคุณค่าเป็นความดีงามทางศีลธรรมอันน่านับถือ


 


เป็นเรื่องน่าแปลกที่สื่อต่างชาติกลับฉายภาพ "ความจริง" ของคนเสื้อแดงรากหญ้าได้น่าเคารพมากกว่าว่า "ทักษิณเป็นนักการเมืองที่ทำให้คนรากหญ้ารู้สึกว่าพวกเขามีตัวตน มีอำนาจต่อรองทางการเมืองจากการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วได้นโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน..." ถ้าความจริงอีกด้านเป็นเช่นนี้ เจตจำของคนเสื้อแดงรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อนักการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือใครก็ตาม) ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ย่อมเป็น "เจตจำนงอิสระ" ที่ควรได้รับการเคารพ เราต้องถือว่าเจตจำนงดังกล่าวเป็น "เจตจำนงอิสระที่มีศีลธรรมในทางการเมือง" แม้ว่าทักษิณจะมีข้อกล่าวหาหรือคดีความต่างๆ อยู่จำนวนมากก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ด้วย "กระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงธรรม" ข้อกล่าวหาหรือคดีความต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาลบล้าง "ศีลธรรม" ออกไปจากเจตจำนงอิสระของคนเสื้อแดงรากหญ้าได้เลย


 


หากคนชั้นกลางในเมือง (โดยเฉพาะสื่อ นักวิชาการ) เห็นว่า เจตจำนงของคนเสื้อแดงรากหญ้าเกิดจากความเข้าใจข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้ง ก็เป็นเรื่องที่ควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเขาอย่างเคารพในความคิดความเห็นและความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ไม่ใช่พิพากษาตัดสินบนสมมติฐานที่เต็มไปด้วยอคติ และด้วยมิจฉาทิฐิอหังการ์ว่าพวกตนคือผู้รู้สมควรจะไปหยิบยื่น "ปัญญา" ให้พวกเขา แต่ควรไปเรียนรู้จากพวกเขาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน


 


คนชั้นกลางในเมืองควรมองตัวเองอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจารณ์ว่า "คนชั้นกลางไม่ชอบเรียนรู้ นอกจากไม่อ่านแล้วยังเที่ยวตัดสินชาวบ้านไปทั่ว..." ในเมื่อสังคมไทยนั้นคนชั้นกลางในเมืองคือผู้กุมอำนาจในการ "สร้างความจริง" (ความถูกต้องและอื่นๆ) หากความจริงที่คนชั้นกลางในเมืองสร้างขึ้นเกี่ยวกับคนเสื้อแดงรากหญ้าเป็นความจริงด้านลบเพียงด้านเดียว และเป็นความจริงที่ปฏิเสธ "เจตจำนงอิสระ" อีกทั้งลบล้าง "ศีลธรรม" ออกไปจากเจตจำนงของพวกเขาเสียแล้ว ความจริงที่คนชั้นกลางในเมืองสร้างขึ้นนั่นเองจะเป็นอุปสรรคขวากหนามของการพัฒนาประชาธิปไตยที่จะสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net