Skip to main content
sharethis

 


นับตั้งแต่วันที่ 21 เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าต้องประสบกับปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตในพม่าช้าลงอย่างมาก ส่งผลให้นักธุรกิจและอุตสาหกรรมการสื่อสารเดือดร้อนกันถ้วนหน้า


ก่อนหน้านั้น บริษัท เมียนม่าร์เทเลพอร์ท จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพม่าได้แจ้งล่วงหน้าว่า ช่วงวันที่ 21 - 25 มีนาคม จะมีการซ่อมบำรุงสายเคเบิลใยแก้วซึ่งจะทำให้อินเทอร์เน็ตล่าช้าในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมาบริษัทดังกล่าวประกาศว่า อินเทอร์เน็ตจะช้าลงไปจนถึงวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้


นักข่าวในกรุงย่างกุ้งคนหนึ่งกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตที่ล่าช้าส่งผลกระทบรุนแรงต่อบริษัทนำเข้าและส่งออกของพม่า ธุรกิจการท่องเที่ยว และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กีฬาที่ต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต


ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนไม่เชื่อว่าที่อินเทอร์เน็ตล่าช้า อาจไม่เป็นเพราะการปรับปรุงระบบตามที่กล่าวอ้าง แต่อาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของทางการพม่ามากกว่า ซึ่งตอนนี้บางเว็บไซต์อย่าง www.gmail.com ไม่สามารถเข้าได้โดยทางการพม่าอาจจะบล็อกบางเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อรัฐและตรวจสอบอีเมล์ที่ทางการสงสัยอยู่ก็เป็นได้


อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบอินเทอร์เน็ตในพม่ามีความเร็วต่ำมาก


และมีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามข้อมูลของThe World Factbook ของ CIA ระบุว่า มีประชาชนในพม่าใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 70,000 คนในปี 2550 และอินเทอร์เน็ตโฮสต์เพียง 108 แห่งในปี 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ไทยมีอินเทอร์เน็ตโฮสต์กว่า 1.1 ล้านแห่ง และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยจำนวนกว่า 13.4 ล้านคนในปี 2550


ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งในพม่าเปิดเผยว่า ทางการพม่าพยายามที่จะบล็อกเว็บไซต์ข่าวพม่านอกประเทศ เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์เกี่ยวกับทุนการศึกษาและเว็บบล็อกต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ ตามร้านอินเทอร์เน็ตทั่วไปในพม่าจะมีป้ายเตือนว่า หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์ที่ทางการพม่าแบนไว้นั้นถือว่าเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย


หลังจากเหตุการณ์ประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนปี 2550 เป็นต้นมา ทางการพม่าได้ปิดระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากในช่วงที่มีการประท้วง มีประชาชนบางส่วนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและภาพที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมทางอินเทอร์เน็ต


องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontiers (RSF)) ระบุว่า รัฐบาลพม่าต้องการจำกัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประชาชนในประเทศและนอกประเทศ และต้องการป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านทางเว็บไซต์ www.youtube.com www.dailymotion.com และ www.flickr.com


เช่นเดียวกับเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางการพม่าจำคุกนายเนย์ โพน บล็อกเกอร์ หนุ่มเป็นเวลา 20 ปี รวมถึงนายซากานาร์ ซึ่งเป็นทั้งนักแสดงตลกชื่อดังของพม่าและบล็อกเกอร์ก็ถูกทางการพม่าจำคุกเป็นเวลา 59 ปีในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่นอกประเทศและเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่า


ขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ) ในนิวยอร์กได้ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความมั่นคงของพม่าได้รับการฝึกอบรมการเซ็นเซอร์และตรวจสอบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความมั่นคงของพม่ายังได้รับการอบรมในด้านการเฝ้าสังเกตการณ์นักข่าวและบล็อกเกอร์ทางออนไลน์ รวมถึงการโจมตีเว็บไซต์ข่าวพม่านอกประเทศและกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่านอกประเทศด้วยเช่นกัน


ก่อนหน้านี้ Information Warfare Monitor ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยชาวแคนาดาเองได้ออกมาร้องเรียนว่า เครือข่ายสายลับไซเบอร์ที่มีเซิฟเวอร์อยู่ในประเทศจีนกำลังละเมิดกฎหมาย โดยการลักลอบเข้าไปดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์กว่า 1,295 เครื่องใน 103 ประเทศ ในจำนวนนั้นเป็นคอมพิวเตอร์ของรัฐมนตรีต่างประเทศและนักการทูตจากประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานในนามขององค์ดาไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตด้วย (Irrawaddy 30 มีนาคม 52)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net