Skip to main content
sharethis


ทัศนียภาพเมืองเกียวโต มองจากวิหาร Ginkaku-ji
(ที่มา
: คุณ ames sf (CC) http://www.flickr.com/photos/halversonmtn/3146475738/)



นางจุนโกะ โยะโคะตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน "ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต" ซึ่งจัดที่วิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 27 ก.พ. 2552



บรรยากาศการสัมมนา และผู้ร่วมการสัมมนา


 


เจแปนฟาวด์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับบางกอกฟอรั่ม ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนากรุงเทพฯ ได้จัดสัมมนาเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าในหัวข้อ "ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต" โดยเชิญวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น 3 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนที่ประสบปัญหาในการอนุรักษ์เมืองเก่าของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 22-27 ก.พ. ที่ผ่านมา


โดยการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ แพร่ น่าน และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาในการอนุรักษ์ย่านเก่าหรือเมืองเก่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหาแนวโน้มการอนุรักษ์ในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานฟื้นฟูชุมชนหรือเมืองเก่าระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย


 


แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนย่านเก่าในไทย
สำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนในจังหวัดเชียงใหม่นั้นจัดในวันที่
26 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานด้านการฟื้นฟูเมืองเก่า และตัวแทนย่านเก่าจากกรุงเทพฯและแพร่ รับฟังสถานการณ์เมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่จากกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาจากการจัดทำผังเมืองเชียงใหม่ฉบับใหม่ เนื่องจากในร่างผังเมืองฉบับใหม่นั้นได้กำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ในทิศทางของการพัฒนาและขยายเมืองรวมไปถึงการกำหนดให้มีการขยายถนนในเขตเมืองเก่า ซึ่งจะส่งผลต่ออาคารในเขตเมืองเก่าแทบทั้งหมด


การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมืองและประชาชนในพื้นที่นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในผังเมืองฉบับใหม่บางส่วนให้มีทิศทางในการอนุรักษ์เมืองได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านวัดเกตุซึ่งถือเป็นพื้นที่เมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่ที่เดิมผังเมืองฉบับใหม่นี้ได้กำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นพื้นที่พาณิชกรรมซึ่งจะเอื้อต่อการเกิดขึ้นของอาคารพาณิชกรรมขนาดใหญ่ในอนาคต ภายหลังจากที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลากว่า 2 ปี ล่าสุดพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัยแล้ว นอกจากนี้ร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้ยังได้มีการออกข้อกำหนดควบคุมความสูงอาคารในพื้นที่ย่านนิมมานเหมินท์ และซอยวัดอุโมงค์ ต.สุเทพ เพื่อป้องกันอาคารขนาดใหญ่เนื่องจากในช่วงหลังนี้พื้นที่ดังกล่าวมีอาคารสร้างใหม่เป็นจำนวนมาก


หลังจากที่ได้รับฟังสถานการณ์เมืองเก่าของเชียงใหม่แล้ว ในวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งเป็นวันถัดมาก็ได้เริ่มงานสัมมนาวิชาการไทย-ญี่ปุ่น "ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต" ซึ่งถูกจัดขึ้นที่ห้องประชุมวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมี จุนโกะ โยะโคะตะ (Mrs. Junko Yokota) กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา


 


บทเรียนอนุรักษ์เกียวโต การท่องเที่ยวที่พัฒนาชุมชน
โดยวิทยากรจากญี่ปุ่น ศ.ดร.โยชิฟูมิ มูเนตะ (
Prof. Yoshifumi Muneta) อาจารย์ประจำสาขาวิชาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย ภาควิชาการออกแบบสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ซึ่งทำงานด้านการฟื้นฟูเมืองในเมืองเกียวโตมาเป็นเวลานาน ได้บรรยายเรื่อง "กระบวนการจัดการเพื่อฟื้นฟูเมืองเก่าเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น" โดยชี้ให้เห็นว่าเมื่อก่อนลักษณะการท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นจะเป็นเพียงแค่การมาถึงสถานที่แล้วถ่ายรูป ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย แต่ปัจจุบันจะเที่ยวกันแบบลึกซึ้ง โดยอยู่นานมากขึ้นและซึมซับบรรยากาศมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า คนญี่ปุ่นมีแนวคิดการอนุรักษ์มากขึ้น เนื่องจากต้องการจะสัมผัสบรรยากาศหรือวิถีในชุมชนซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน


รศ.ดร.โยชิฟูมิ กล่าวถึงพลังของประชาชนและชุมชนว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะฟื้นฟูเมืองเก่า โดยในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการสำรวจบ้านในเขตเมืองเกียวโตจำนวน 28,000 หลัง ด้วยอาสาสมัครจากนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความคิดต้องการจะอนุรักษ์บ้านเก่าซึ่งทำมาจากไม้มาช่วยกันสำรวจ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อบ้านเก่าโดยพบว่าประชาชนกว่า 80% อยากให้ลดความสูงของอาคารเพราะไปบดบังบ้านเก่า จึงได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูบ้านเก่าโดยจัดเป็นห้องพักแบบญี่ปุ่นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็มีคนจำนวนมากสนใจบ้านไม้เหล่านี้ นอกจากนี้การเปิดเป็นแหล่งวัฒนธรรมและให้นักท่องเที่ยวมาลองฝึกทำงานฝีมือก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งเท่ากับว่าบ้านเก่าเหล่านี้ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กับชุมชม


รศ.ดร. โยชิฟูมิ มองว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวควรจะเป็นไปในลักษณะดังกล่าว โดยนำเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวมาใช้ในการอนุรักษ์บ้านเก่าแทนที่จะเอาไปใช้ในการขยายถนน ทั้งนี้การท่องเที่ยวจะต้องให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการวางศิลปวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางและนำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาล้อมรอบ ซึ่งเงินจากการท่องเที่ยวมันก็จะช่วยเลี้ยงดูชุมชนเอง เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้วยังเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาเมืองด้วย ทั้งแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์นั้นทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำแบบนี้ก็เพื่อเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมไปยังคนรุ่นต่อไป


"ในเอเชียมีสถานที่ทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก เราจะต้องส่งต่อ สถานที่-ความทรงจำ-ความหมาย ไปยังรุ่นต่อไป ในประเทศไทยก็มีสถานที่ทางวัฒนธรรมอยู่มากมาย วัฒนธรรมไม่ได้อยู่ที่โบราณสถาน แต่อยู่ในใจทุกคน พอเราพูดถึงการอนุรักษ์ เราไม่ได้จะอนุรักษ์โบราณสถาน หรือสินค้าโบราณ แต่เราอยากจะอนุรักษ์จิตใจมากกว่า เรื่องยากคือ คนส่วนใหญ่จะอยู่แยกกัน ไม่มีความสัมพันธ์กัน ยิ่งสังคมสะดวกมากขึ้น ผู้คนจะอยู่แยกกันมากขึ้น"


 


ประสบการณ์ควบคุมอาคารสูงของญี่ปุ่น
รศ.ดร.โยชิฟูมิ กล่าวว่าการอนุรักษ์อาคารเก่าในเมืองใหญ่นั้นทำได้ยาก เพราะมีตึกสูงจำนวนมาก ส่งผลให้ย่านบ้านเก่าถูกเงาตึกสูงบัง ฉะนั้นการสร้างตึกสูงจึงเป็นการทำลายเมืองและเป็นมลภาวะของเมืองด้วย ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสร้างอาคารให้มีการควบคุมความสูงอาคารที่เข้มงวดขึ้น จากเดิมที่เคยกำหนดความสูงอาคารไม่ให้เกิน
31 เมตร ก็ได้กำหนดใหม่ให้อาคารมีความสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร เพื่อที่จะได้มองเห็นภูเขาได้ชัดเจนและสวยงาม ตึกไหนที่บังภูเขาจะต้องมีการแก้ไข


ส่วนหนึ่งที่ทำให้การฟื้นฟูย่านเก่าในเมืองเกียวโตประสบผลสำเร็จนั้นเป็นเพราะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านเก่าแห่งเกียวโต (Kyomachiya Net) ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วย 4 องค์กร คือ คณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและการดูแลเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ กลุ่มช่างไม้บ้านเก่าซึ่งเป็นกลุ่มด้านเทคนิคการซ่อมปรับปรุงบ้านเก่า กลุ่มเผยแพร่การดำเนินชีวิตแบบเดิมในบ้านเก่าที่ทำหน้าที่รณรงค์เผยแพร่สร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะให้เห็นถึงความสำคัญ และกลุ่มดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นนายหน้าประสานกับคนที่อยากเข้ามาอยู่ในบ้านเก่า


 


นิยามการอนุรักษ์ของชาวเมืองเกียวโต
ฟูซาเอะ โคจิมะ (
Mrs. Fusae Kojima) เลขาธิการของเครือข่ายบ้านเก่าแห่งเกียวโต (Kyomachiya Net) และหัวหน้าสำนักงานประจำศูนย์วิจัยการปรับปรุงและซ่อมแซมที่พักอาศัยแบบดั้งเดิม ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการจะอนุรักษ์ของเก่าทั้งหมดนั้นคงเป็นไปไม่ได้ และการจะย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเมื่อร้อยปีก่อนก็คงไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ บอกต่อ และ ใช้ต่อ นั่นคือการอนุรักษ์ ก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของเราต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ เราจึงต้องบอกเรื่องเก่าๆ ต่อไปยังชนรุ่นหลัง


"สิ่งที่สำคัญกว่าการบอกต่อคือการใช้ต่อ เราต้องทบทวนแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่าการท่องเที่ยวคือการไปเหยียบย่ำพื้นที่นั้น หรือเข้าไปดูสิ่งดีๆ ในที่นั้น ซึ่งการท่องเที่ยวควรที่จะเป็นการเข้าไปทำความเข้าใจคุณค่าและวัฒนธรรมที่ดีของท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่า ฉะนั้นในความหมายนี้การท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยเรื่องการอนุรักษ์ได้"


 


เมืองหลวงแบบโตเกียวก็มีย่านอนุรักษ์
ด้านฟูมิ นากามูระ (
Ms. Fumi Nakamura) รองหัวหน้ากรรมการบริหารประจำ ศูนย์วิจัยเมืองประวัติศาสตร์ไทโท (Taitou Historical city researching assosiation) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร ได้บอกเล่าถึงการดำเนินการฟื้นฟูย่านยานะกะซึ่งเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอาคารเก่าไว้ได้ทั้งที่มีที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงอย่างโตเกียวว่าเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งคนในชุมชนเอง มหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยภายในย่านยานะกะนั้นมีโบราณสถานและเต็มไปด้วยช่างฝีมือของท้องถิ่น อีกทั้งยังมีศิลปินรุ่นใหม่อยู่ด้วย จึงทำให้ย่านแห่งนี้กลายเป็นแหล่างท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว รวมถึงแผนการพัฒนาที่มีเป้าหมายในการขยายถนน ฉะนั้นคนในชุมชนจึงได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่มยานะกะ กักโค ซึ่งประกอบไปด้วยคนในชุมชน นักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อสื่อสารให้ฝ่ายราชการที่บริหารเมืองได้รับรู้ถึงความคิดเห็นของคนในชุมชนกับการพัฒนาเมือง โดยพยายามที่จะหาทางออกร่วมกัน เช่น จะทำอย่างไรให้แมนชั่นที่สร้างใหม่เข้ากันได้กับภูมิทัศน์ของเมืองโดยรวม


 


หมายเหตุ: เรียบเรียงโดย รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net