Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 16.30 น. วานนี้ (8 มี.ค.) ที่ จ.เชียงใหม่ องค์กรประชาสังคมด้านสิทธิสตรีหลายกลุ่มใน จ.เชียงใหม่ เช่น กลุ่ม Empower We Get Together Map Foundation มูลนิธิเพื่อนหญิง และกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล โดยมีการเดินขบวนรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายทางเพศ เริ่มต้นจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชิงสะพานนวรัฐ เดินไปตาม ถ.ท่าแพ จนถึงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถ.พระปกเกล้า


เมื่อขบวนมาถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในเวลา 17.45 น. มีการกล่าวรายงานโดย คุณทัศนีย์ กุสิมา ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนหญิง มีการกล่าวเปิดงานโดย ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาเชิญตัวแทนผู้หญิงทุกกลุ่ม ทั้งผู้หญิงจากชุมชนไทย ผู้หญิงข้ามเพศ ผู้หญิงอาชีพบริการ ผู้หญิงข้ามชาติ ร่วมกันกล่าว "พันธะสัญญาพลังหญิง" ร่วมกัน



ตัวแทนสตรีจากกลุ่ม We Get ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสตรีข้ามชาติ กล่าวว่า งานแม่บ้านไม่มีกฎหมายคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่นๆ นอกจากนี้อยากให้นายจ้างมีความยุติธรรมกับลูกจ้างทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ อยากให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานแรงงานข้ามชาติ ต้องการมีสิทธิในการเดินทาง พวกเขายังบอกว่าทุกวันนี้สตรีทำงานอยู่ทุกหนทุกแห่งอยากให้มีการยอมรับสิทธิของผู้หญิง ที่สำคัญอยากให้สตรีทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน



ด้านตัวแทนสตรีจาก Empower กล่าวยืนยันสิทธิของพนักงานบริการที่เท่าเทียมกับแรงงานอื่นๆ เขายังบอกด้วยว่าแรงงานบริการเป็นผู้สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มสตรีข้ามเพศ ก็ประกาศยืนยันสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย



ตัวแทนพนักงานบริการจาก Empower กล่าวว่า นโยบายรัฐเห็นเราเป็นปัญหาสังคม แต่เรายืนยันว่าเราไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อ เราไม่ใช่ปัญหาสังคม เราเป็นหัวหน้าครอบครัว เรามีการรวมกลุ่มเพื่อดูแลตัวเอง ดูแลเพื่อนๆ พนักงานบริการ ซึ่ง Empower มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศให้ดูแลเรื่องสุขภาพได้



ต่อมาในช่วงการทอล์คโชว์ หัวข้อ "พลังหญิงสร้างได้ด้วยมือเรา" คุณญาดา ไชยกิจ ตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากลุ่มของเขาตั้งขึ้นเมื่อสองปีก่อน โดยก่อนหน้านั้นมีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ซึ่งรวมตัวกันเพราะแต่เดิมผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าทำให้เกิดปัญหาสังคม การแพร่เชื้อ HIV ก็หาว่ามาจากชายรักชาย พวกเราจึงรวมตัวต่อสู้เพื่อยืนยันว่าการแพร่เชื้อ HIV ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรืออาชีพ แต่เป็นเรื่องที่ว่ามีการป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่



คุณญาดากล่าวต่อว่า กลุ่มดังกล่าวจึงรวมตัวกันเพื่อทำงานทั้งเรื่องสิทธิและเรื่องสุขภาพ และในปี 2550 ก็ส่วนร่วมผลักดัน มาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มได้ร่วมผลักดันเรื่อง "พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551" ถือเป็นโอกาสครั้งแรกของคนข้ามเพศ ที่สังคมเรียกกระเทย หรือสาวประเภทสอง ให้คำนำหน้านาม "น.ส." ครอบคลุมกลุ่มของพวกเรา แม้ว่าสุดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมผู้หญิงข้ามเพศ แต่ก็ต้องขอบคุณเพราะกระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรกในประเทศไทย



ส่วนตัวแทนจาก Empower กล่าวว่า จากการรวมตัวกันเมื่อ 23 ปีก่อนมาจนถึงทุกวันนี้ สังคมยังมองว่าผู้มีอาชีพบริการเป็นปัญหาสังคม แต่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าอาชีพเราไม่ได้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อ การแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่เกี่ยวกับอาชีพ แต่เป็นเรื่องการป้องกัน



ตัวแทนจาก Empower ยังกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้อาชีพบริการ ถือเป็นงาน ผู้ประกอบอาชีพมีฐานะเท่ากับลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน มีสิทธิได้รับสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่นๆ แม้ทุกวันนี้การเคลื่อนไหวผลักดันในประเด็นดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ทางกลุ่มก็จะสู้ต่อไปจนกว่าพนักงานบริการจะมีสิทธิแรงงานเหมือนอาชีพอื่นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ตาม


ส่วนตัวแทนจากกลุ่ม We Get Together กล่าวว่า กลุ่มของเขาเป็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงข้ามชาติจากหลากหลายชาติพันธุ์ มีรวมกลุ่มกันในหลายพื้นที่ เธอกล่าวว่าผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่เขตแดนไหน เมืองไหน ผู้หญิงก็คือผู้หญิง พลังของผู้หญิงจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้หญิงจะเข้าใจกันและร่วมมือกันมากแค่ไหน



และเมื่อสิ้นสุดการเสวนา เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ตัวแทนจากผู้หญิงทุกกลุ่ม ทั้งผู้หญิงอาชีพบริการ ผู้หญิงข้ามชาติ และผู้หญิงข้ามเพศ นับร้อยคนได้ร่วมกันใช้เชือกลากรถบรรทุก 6 ล้อที่เตรียมไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้หญิงรวมกันย่อมเกิดพลังขับเคลื่อนสังคม โดยกิจกรรมเป็นไปด้วยความสนุกสนานและเรียกเสียงฮือฮาจากผู้หญิงที่ร่วมกิจกรรมเพราะสามารถลากรถบรรทุกไปไกลหลายสิบเมตร


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net