Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชา ธรรมดา


 


(1)


 


ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ไม่นาน รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศนโยบายโฉนดที่ดินชุมชน และมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า (ต่อมาถูกเจ้าที่ดินสังกัดพรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน เรื่องนี้เลยเงียบไป) ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนมิใช่น้อย ที่หลงใหลชื่นชมนโยบายการปฏิรูปที่ดินของฮูโก ชาเวส ประธานาธิบดีแห่งเวเนซูเอล่า


 


มหาตามะ คานธี ผู้เอ่ยเอื้อนอมตะวาจาสัจจธรรมที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ใช่หรือไม่? เราจึงควรแบ่งปันกันใช้ ช่วยกันดูแลรักษาให้ยั่งยืนในอนาคต ต้องให้มีความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ


 


ที่ดินในเมืองไทยถูกผูดขาด บางคนมีที่ดินนับหมื่นแสนไร่ บางคนมีที่ดินหลายสิบแปลง บางคนปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ไว้เพียงเก็งกำไร


 


แต่หลายคนไม่มีที่ดินสักผืนพอเพื่อสร้างผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงต้องกลายเป็น "ผู้เช่า"


หลายคนไม่มีที่ดิน สร้างบ้าน จึงต้องเป็นคนจรหม่อนหมิ่นไร้บ้านไม่มีที่ซุกหัวนอนของตนเอง จึงเป็นเพียง "คนไร้บ้าน"


 


ใช่หรือไม่ ? ที่ดินเป็นต้นทุนทางสังคม จึงควรจัดสรรให้ยุติธรรม


 


 


(2)


 


เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ตัวแทนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้เข้าประชุมหารือกับนาย ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของพวกเขา


 


แต่ปัญหาของพวกเขาก็ยังถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการดำเนินการแก้ไขเหมือนที่รับปากเอาไว้


 


ใช่หรือไม่? รัฐบาลปัจจุบันก็เหมือนเช่นหลายรัฐบาลที่ผ่านมา มักจงใจ สร้างภาพ รับปาก เมินเฉย ถ่วงเวลาฯลฯ ปัญหาของคนจนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


 


วันที่ 4 มีนาคม 2552 พวกเขาไม่อาจเชื่อถือนโยบายผ่านคำพูดอันสวยหรูของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ได้แถลงไว้ได้


 


การชุมนุมเรียกร้องสิทธิและทวงสัญญาก็ปรากฏขึ้นในที่สุด ณ ทำเนียบรัฐบาล


 


เสรีภาพมิอาจได้มาด้วยการร้องขอ ฉันใด สิทธิในที่ดินมิอาจหล่นมาจากฟากฟ้า ฉันนั้น


 


 


(3)


 


การต่อสู้ของพวกเขา เป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ เป็นพื้นฐานที่ชอบธรรม เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่รัฐรังแกยึดที่ดินทำกินมาครั้นสมัยบรรพชน เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมคุมขังจากอาญาสิทธิ์ของกฎหมายที่หมายกดมากกว่ากฎหมายที่ยุติธรรม เพื่อให้มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อสร้างหลักประกันสิทธิด้านสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์ที่เกิดมาแล้วรัฐต้องจัดให้มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยในฐานพลเมืองที่เสียภาษีให้รัฐ


 


การต่อสู้ในครั้งนี้จึงเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา


 


การต่อสู้ของพวกเขาเป็นแบบอย่างในสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องเคารพเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ได้อย่างเสรี


 


การต่อสู้ของพวกเขายังกู่ก้องให้โลกรู้ว่า นโยบายที่ดินในสังคมไทย มีความลำเอียง มีผู้คนจำนวนนับหลานสิบล้านคนไม่มีที่ดิน ไม่มีที่อยู่อาศัย


 


คนไร้ที่ดิน ชุมชน ทั้งในเมือง ป่าเขาลำเนาไพร ชนบทไกลปืนเที่ยงไม่มีอำนาจร่วม ไม่มีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน


 


มีแต่รัฐเท่านั้นผูกขาด และรัฐก็เป็นรัฐที่สร้างนโยบายให้ประโยชน์กับเจ้าที่ดิน นายทุนมากกว่าประชาชนผู้ทุกข์ยาก


 


การต่อสู้ของพวกเขาหาได้เป็นเพียงการทวงสิทธิ์ของตนเองเท่านั้น


 


แต่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินด้วยเช่นกัน


 


ชัยชนะจักสมปองต้องต่อสู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net