Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย กลุ่มเครือข่าย ผรท.


 


อ่านข้อเขียน โต้ถ้อยแถลง "ธง แจ่มศรี" : บทเสนออีกแนวทางวิเคราะห์สังคมการเมืองไทย ของหน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย แล้ว ให้รู้สึกว่าจงใจใส่ร้ายป้ายสี ธง แจ่มศรี ชนิดจับผิดเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆ อย่างวิพากษ์จุดยืนกันเลย แต่เมื่อพลิกดูประวัติของ ธง แจ่มศรี แล้วก็พบว่า ธง แจ่มศรี เป็นนักปฏิวัติอาวุโสผู้อุทิศตนเพื่อการปฏิวัติตลอดชีวิต

เป็นผู้นำคนสำคัญที่สร้างตำนานขบวนการต่อสู้ปฏิวัติบนผืนแผ่นดินที่ราบสูง ยืนหยัดมั่นคงไม่สะทกสะท้านต่อคำขู่ว่าจะยิงเป้ากลางสนามหลวงของเผด็จการ ถนอม-ประภาส เมื่อปี 2510 เป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่สามารถสมานความแตกแยกภายในพรรคได้ ออกจากป่าเป็นคนสุดท้าย แค่นี้ก็เพียงพอที่จะคาดการณ์ได้กระมังว่า นักปฏิวัติอย่าง ธง แจ่มศรี นี่หรือจะกลายเป็นสมุนรับใช้ผู้ปล้นชาติ ดังคำประณามของ หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย คำกล่าวนี้แฝงไว้ด้วยอคติอย่างชัดเจน เรามาลำดับปัญหา ความคิดเห็นดูกันว่า หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย คิดอย่างไร? ทำอย่างไร? ทำเพื่อใคร? กันสักหน่อย


 


เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความขัดแย้ง หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ 2 กลุ่มไม่ใช่ประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันภายในสังคม เพราะชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดทั้ง 2 กลุ่มล้วนแต่มีความขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งเป็นความขัดแย้งพื้นฐานของสังคมไทย ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนผูกขาดใหญ่ที่กุมอำนาจรัฐ (หมายถึงกลุ่มทุนทักษิณ) มีความรุนแรงกว่ากลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มอื่น ๆ จึงเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทย กลุ่มทุนผูกขาดทักษิณจึงเป็นเป้าหมายหลัก และเป็นคู่ความขัดแย้งหลักของสังคมไทย


 


การวิเคราะห์เช่นนี้ไม่เพียงแต่ขาดข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสมบูรณ์ แม้แต่การใช้ทฤษฎีก็ยังบกพร่องด้วย


 


1. ที่ว่าขาดข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสมบูรณ์ นั้น จะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐบาลทักษิณอย่างรุนแรง ประชาชนในชนบทมากกว่าร้อยละ 80 และผู้ยากจนในเมืองกว่าร้อยละ 50 ยังนิยมรัฐบาลทักษิณ เช่นการยอมรับของกลุ่มพันธมิตรบางคนว่า การระดมคนครั้งนี้ยากเหมือนเข็ญครกขึ้นเขา เงินที่รับมาแล้วแต่ระดมคนไม่ได้จะทำอย่างไร กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจำนวนหลายกลุ่มถูกผู้นำบางคนและกลุ่มพันธมิตรระดมไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อเหลือง แต่ที่ไปจริงๆ เป็นเพียงบางคน บางกลุ่มเท่านั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้ไปและไม่เห็นด้วย นี่แสดงว่าท่านไม่เคยลงไปรับรู้ความคิดเห็นของมวลชนเลย อาจจะรับรู้ข้อเท็จจริงจากกลุ่มเสื้อเหลืองเพียงด้านเดียวก็เป็นได้ แล้ววิเคราะห์ออกมาได้อย่างไรว่า ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลทักษิณ


 


2. การใช้ทฤษฎียังบกพร่อง จะเห็นได้ว่า การใช้ทฤษฎีไปวิเคราะห์ความขัดแย้งนั้น ก่อนอื่นจะต้องกำหนดจุดยืนของตนเองก่อนว่า เรายืนอยู่จุดไหน ใช้ข้อมูลอะไรไปวิเคราะห์ ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษประกาศอย่างเปิดเผยว่า รับใช้ชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกกดขี่ขูดรีด นั่นคือ ลักษณะชนชั้น ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอภิปรัชญา ในมุมมองของท่านได้กำหนดจุดยืนหรือไม่ หากท่านตอบว่า ได้ยืนอยู่กับประชาชนแล้ว ท่านจะชี้แจงพฤติกรรมของตนต่อมวลสมาชิกได้หรือไม่ว่า การระดมคนไปช่วยพันธมิตรนั้น ประชาชนผู้ยากจนได้อะไร ทำไมเขาจึงไม่ร่วมมือด้วย หรือจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ทุนผูกขาดปล้

นชาติ และป้องกันกลุ่มทุนอื่นๆ ไม่ให้โกงกินได้สะดวก ดังปรากฏในข้อเขียนของท่าน ก็ไหนท่านว่าต้องวิเคราะห์ปัญหารูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรมมิใช่หรือ? แต่สิ่งที่ท่านยกขึ้นมากล่าวอ้างล้วนเป็นนามธรรมทั้งสิ้น


 


การใช้ทฤษฎีที่บกพร่องอีกประการหนึ่งคือ เมื่อท่านวิเคราะห์แล้วว่า ความขัดแย้งหลัก คือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณ แล้วท่านอธิบายได้ไหมว่า ด้านหลักของความขัดแย้งด้วย ว่า คืออะไร คือฝ่ายไหนจึงจะถูกต้อง ในทางทฤษฎี ความขัดแย้งหลักนั้นจะมีบทบาทครอบงำ หรือกำหนด หรือชี้ขาดความขัดแย้งรอง ส่งผลต่อความขัดแย้งอื่น ๆ เมื่อแก้ความขัดแย้งหลักได้ ความขัดแย้งอื่น ๆ ก็จะคลี่คลาย ด้านหลักของความขัดแย้งก็เช่นเดียวกัน จะเป็นด้านที่ครอบงำ จะเป็นด้านที่กำหนดเงื่อนไขการเคลื่อนไหวทั้งปวง เมื่อใช้หลักทฤษฎีไปมองการเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวภายใต้การกำหนดเงื่อนไขจากผู้มีอำนาจที่แท้จริง ซึ่งเรียกว่า ด้านหลักของความขัดแย้ง นั่นเอง หาใช่เป็นไปเองของประชาชนหลากหลายอาชีพอย่างที่ท่านกล่าวมาก็หาไม่ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีผู้คนมองเช่นนั้น เพราะเขาไม่ได้เริ่มจากจุดยืนทางชนชั้นและใช้ทฤษฎีอย่างถูก ๆ ผิด ๆ คล้าย ๆ จะถลำลึกเข้าสู่อภิปรัชญาเสียด้วย


 


3. กลุ่มทุนทักษิณไม่ใช่นายทุนชาติ แต่เป็นนายทุนผูกขาด ข้อนี้เราไม่เถียง แต่ท่านกล่าวว่า ธง แจ่มศรี มองกลุ่มทุนทักษิณเป็นนายทุนชาติ

นายทุนเกิดใหม่ หากท่านไม่จงใจใส่ร้ายป้ายสี ธง แจ่มศรี แล้ว ท่านต้องเสแสร้งกล่าวหาเพื่อปกปิดปมด้อยของตนเองเป็นแน่ เพราะอ่านถ้อยแถลงของ ธง แจ่มศรี หลายรอบแล้วไม่มีประโยคไหนได้กล่าวว่า กลุ่มทุนทักษิณเป็นนายทุนชาติ ท่านใช้คำว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่า (อนุรักษ์นิยม) กับกลุ่มทุนใหม่ (เสรีนิยม) ก็ถูกต้องแล้วนี่ เพราะทุกวันนี้ไม่มีทุนเสรีเหมือนเมื่อกำเนิดทุนนิยมขั้นแรก ซึ่งเรียกว่าทุนเสรี หรือ นายทุนชาติ แต่เป็นยุคทุนผูกขาด เป็นยุคทุนผูกขาดข้ามชาติ เป็นยุคโลกาภิวัตน์ การแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนยุคต้นของทุนนิยมนั้นไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว มีแต่การช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มไหนมีเงื่อนไขและโอกาสดีกว่า อย่างเช่นกลุ่มทุนอนุรักษ์กับกลุ่มทุนเสรี ซึ่งกลุ่มหลังได้พัฒนาทุนและวิธีการเหนือกว่ากลุ่มแรกที่ยึดติดกับความเคยชินเก่า ๆ จึงทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนดังกล่าวปะทุขึ้นอย่างเอาเป็นเอาตาย การที่พวกท่านมองกลุ่มทุนอย่างหยุดนิ่งไม่พัฒนา จะมิเป็นการมองปัญหาอย่างโลกทัศน์อภิปรัชญาไปแล้วหรือ


 


4. ทางการเมือง การเลือกตั้งแบบทักษิณเป็นเพียงรูปแบบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบนายทุน ท่านกล่าวอ้างว่าสิ่งที่ทักษิณใช้นั้นเป็นเพียงรูปแบบ ในทางเป็นจริงเขาได้ละทิ้งเนื้อหาของระบอบนี้โดยสิ้นเชิง เพราะทักษิณใช้เงินซื้อเสียง ซื้อพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมกัน และใช้นโยบายประชานิยมมอมเมาผู้ยากไร้ นี่คือมุมมองของกลุ่ม ศึกษาค้นคว้าสังคมไทย หากจะเป็นการศึกษาค้นคว้าของพวกท่านจริงๆ ก็บอกได้ว่า ท่านค้นคว้าแต่ในห้อง ไม่ได้ค้นคว้าถึงพื้นฐาน

 เรียกได้ว่าเหินห่างมวลชน เหินห่างความเป็นจริงและลืมลักษณะชนชั้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง


 


การซื้อเสียง การซื้อพรรค เป็นรูปแบบไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบนายทุน แล้วท่านเข้าใจระบอบประชาธิปไตยแบบนายทุนอย่างไร? ทุนนิยมต้องกล่าวคู่กับกำไร ระบอบประชาธิปไตยแบบนายทุนก็ต้องซื้อแล้วหากำไร ไม่ใช่พรรคทักษิณซื้ออย่างเดียว พรรคอื่น ๆ ก็ซื้อด้วยและซื้อกันมานานแล้วด้วย ท่านไม่ทราบดอกหรือ ? เว้นแต่การเลือกตั้งครั้งที่สองของพรรคพลังประชาชน การซื้อเสียงมีน้อยมาก เพราะรัฐบาลทหารพลเอกสุรยุทธ์กุมอำนาจอยู่ พวกเขาใช้กลไกของรัฐสกัดกั้นพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น ให้เจ้าหน้าที่ทางอำเภอลงไปโน้มน้าวชาวบ้านไม่ให้เลือกพรรคพลังประชาชน หลายคนถูกชาวบ้านตอกกลับจนหน้าหงาย พวกเขาเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ อบต. ให้สกัดกั้นพรรคพลังประชาชน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ท่านคงไม่ทราบเพราะไม่ได้ลงสู่พื้นฐานมวลชน หากท่านหวังจะให้ระบอบประชาธิปไตยแบบนายทุนบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแล้วไซร้ ท่านน่าจะหลงลืมคำว่า ประชาชนกับนายทุน ไปแล้วกระมัง หรือเอาทั้งสองอย่างมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ละทิ้งลักษณะชนชั้นไปแล้วก็ได้ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพไม่เคยฝากความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เป้าหมายของเราคือ ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง อย่าง ธง แจ่มศรี เสนอไว้ในแถลงการณ์วรรคสุดท้าย


 


5. นโยบายประชานิยมมอมเมาประชาชน นี่เป็นคำสรุปของพรรคประชาธิปั

ตย์ และ กลุ่มพันธมิตร กลุ่มพวกท่านเป็นกลุ่มหลังสุดที่กล่าวคำนี้ อยากถามกลุ่มศึกษาค้นคว้าสังคมไทยจริงๆว่าท่านคิดอย่างนั้นจริงๆหรือ ? หรือคล้อยตามกลุ่มพันธมิตรโดยไม่ได้ศึกษาค้นคว้าจริง ๆ นโยบายประชานิยม ตามตัวหนังสือก็บอกความหมายอยู่แล้ว เราเห็นว่านโยบายใดประชานิยมแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องดี นโยบายใดประชาไม่นิยมน่าจะโยนทิ้งได้แล้ว ไฉนท่านจึงเห็นตรงข้ามกับประชาชน พคท. ได้กำหนดไว้ในระเบียบการของพรรคเลยว่า พรรคต้องเดินแนวทางมวลชน หลักการนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ให้สมาชิกพรรครับใช้ประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของมวลชน รวบรวมความคิดเห็นความเรียกร้องต้องการของมวลชนมากำหนดเป็นนโยบาย กล่าวเช่นนี้หาใช่ว่าทุกคนจะเดินแนวทางมวลชนได้อย่างถูกต้องก็หาไม่ มีแต่นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่มีทัศนะมวลชนถูกต้องเท่านั้นจึงจะทำได้ แต่ท่านกลับเห็นว่า การที่ประชาชนชอบนโยบายของพรรคไทยรักไทยนั้นเป็นผู้ถูกเงินซื้อ เป็นคนโง่เขลา นี่ไม่เข้าทฤษฎีว่าด้วย มวลชนล้าหลัง ของพวกขวาจัดแล้วหรือ ทำไมท่านไม่ฟังเสียงของประชาชนบ้าง เมื่อก่อนเราถือว่าประชาชนคือวีรชนที่แท้จริง แต่บัดนี้ท่านกลับมองประชาชนเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญาไปเสียแล้ว หากคิดเช่นนั้นจริง ๆ พวกท่านน่าจะตรวจสอบตัวเองเสียใหม่ ถ้าท่านพูดเช่นนี้เมื่อตอนอยู่ในป่า ท่านไม่มีข้าวกินแน่ แม้ชีวิตก็จะไม่เหลือรอดกลับมา รู้ไหม เขาเรียกคนพวกนี้ว่า คอมมิวนิสต์โบราณ


 


6. ธง แจ่มศรี ชี้นำให้ยอมรับและสนับสนุนกลุ่มทักษิณ จริงหรือ? ในถ้อยแถลง ของ ธง แจ่มศรี วรรคท้าย ๆ ได้ยกคำสอนของเลนิน

ในหนังสือเรื่อง โรคไร้เดียงสาฝ่ายฝ้าย ดังนี้ เรายังไม่มีกำลังพอจะโค่นล้มรัฐสภาชนชั้นนายทุนได้ เรายังต้องเข้าร่วมการต่อสู้บนเวทีรัฐสภาชนชั้นนายทุน จุดมุ่งหมายก็อยู่ที่ให้การศึกษามวลชน เท่านี้แหละ ที่พวกท่านกล่าวหาว่า ธง แจ่มศรี ชี้นำให้ยอมรับและสนับสนุนกลุ่มทักษิณ


 


ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรามีกำลังพอไหม? ไม่พอ แล้วจะทำอย่างไร? บุกยึดทำเนียบ บุกยึดรัฐสภา บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ใช่ไหม? หากกำลังของเราเพียงพอและเงื่อนไขสุกงอม เราไม่ยึดสิ่งเหล่านั้นให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันหรอก เราจะยึดอำนาจรัฐ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้นและมีเงื่อนไขอื่นที่จะให้เราทำได้ก็ต้องทำ ดังที่ท่านเลนินได้กล่าวไว้ คือใช้การต่อสู้ทางรัฐสภาไปให้การศึกษามวลชน นี่เป็นปัญหายุทธวิธี ไม่ใช่เป้าหมายขั้นสุดท้าย ก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน ดังนั้น ธง แจ่มศรี จึงคัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ คัดค้านการใช้อำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหารไม่ใช่การปฏิวัติเป็นเพียงการรวบอำนาจ ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แค่นี้แหละ เป็นเหตุให้ท่านยกขึ้นมาโจมตี ธง แจ่มศรี ว่า ชี้นำพรรคให้เดินแนวทางการต่อสู้ทางรัฐสภาเป็นหลัก ส่วนการต่อสู้อื่น ๆ เป็นรองหรือละทิ้ง และกล่าวหาอีกว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณ นี่เป็นคำกล่าวหาที่ไร้เดียงสาจริง ๆ ท่านมองไม่เห็นหรือไรว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร อำนาจตกไปอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาดอนุรักษ์นิยม

 ที่มีทหารหนุนอยู่ ซึ่งท่านสำคัญผิดว่า นั่นเป็นชัยชนะของประชาชน ขอถามหน่อยว่า เมื่อรัฐบาลทักษิณล้มแล้ว ประชาชนผู้ยากจนได้อะไร ตอบให้ประชาชนได้ยินชัด ๆ หน่อยได้ไหม


 


7. คำถามท้ายบทวิเคราะห์ 4 ข้อ ของกลุ่มศึกษาค้นคว้าสังคมไทย สรุปได้ดังนี้


 1. สังคมจะพัฒนาก้าวหน้าไปโดยไม่ผ่านทุนนิยมได้หรือไม่ ?


 2. สังคมไทยจะพัฒนาเป็นทุนนิยมอย่างอิสระได้หรือไม่ ?


 3. กฎวิวัฒนาการสังคมนั้น เป็นกลไกหรือไม่ ?


 4. ในยุคปัจจุบัน จะถูกต้องหรือไม่ที่จะต่อสู้ให้ได้สังคมทุนนิยมก่อนแล้วค่อยก้าวไปสู่สังคมนิยม


 


อ่านบทวิเคราะห์ของท่านมาตั้งครึ่งค่อนแล้วยังสรุปได้ไม่เต็มปากเต็มคำเลยว่า ท่านคิดอย่างไร แต่พออ่านคำถาม 4 ข้อท้ายบทวิเคราะห์นั้นแล้วก็สรุปได้ทันทีว่า คำถามเช่นนี้เกิดจากโลกทัศน์อภิปรัชญา ซึ่งตรงกันข้ามกับวัตถุนิยมวิภาษโดยสิ้นเชิง ท่านไม่เข้าใจดอกหรือว่า สรรพสิ่งนั้นพัฒนาไปโดยมีเงื่อนไข ด้วยเหตุภายนอกและเหตุภายใน มนุษย์มีการศึกษา มีการค้นพบ มีการประดิษฐ์ มีการสร้างสรรค์และมีการก้าวหน้า สรรพสิ่งจึงดำรงอยู่ได้ด้วยการเปรียบเทียบ สังคมจะปฏิเสธสิ่งที่ล้าหลังกว่าและรับเอาสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยมก็หนีไม่พ้นจากกฎเกณฑ์เหล่านี้


 


ปรมาจารย์ท่านสอนไว้ว่า การคาดคะเนนั้นไม่ใช่คาดคะเนแบบหมอดู หากจะต้องศึกษาค้นคว้าอดีตและสภาพปัจจุบันของสิ่งเหล่านั้นให้ถ่องแท้ แล้วท่านก็จะสามารถคาดคะเนสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือที่เราเรียกว่า สิ่งที่น่าจะเป็น หากท่านหันมาใส่ใจทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษสักหน่อย ก็ไม่น่าจะมีคำถามตื้น ๆ แบบกำปั้นทุบดินเช่นนี้เลย หรือท่านเห็นว่าทฤษฎีของมาร์กซ-เลนินล้าสมัยไปแล้วก็พูดให้ชัด ๆ หน่อย ไม่ต้องมาโยนหินถามทางเพื่อสร้างประชามติให้กับแนวความคิดการเมืองอันผิด ๆ ของตน


 


8. สุดท้ายท่านก็สรุป วกมาโจมตี ธง แจ่มศรี อย่างโจ่งแจ้งว่า ถ้อยแถลงของ ธง แจ่มศรี นั้นขัดกับหลักการนำรวมหมู่ของพรรค เราเห็นว่าควรจะเพิ่มคำว่า และขัดกับระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ของพรรคด้วย จึงจะครบถ้วนสมบูรณ์


 


ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า พรรคการเมืองที่จะใช้หลักการนำรวมหมู่ รับผิดชอบโดยบุคคลนั้น มีแต่พรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น ท่านสร้างหลักการเหล่านี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ประการแรก หลักการนี้เกิดขึ้นจากทัศนะพื้นฐานของพรรค นั่นคือ ทัศนะมวลชน ซึ่งเชื่อว่า มวลชนคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ และโลกทัศน์วัตถุนิยมวิภาษของมาร์กซ์-เลนิน เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหลักการสำคัญในการสร้างพรรค ป้องกันความโน้มเอียงซ้ายและขวาภายในพรรค เป็นหลักประกันความเป็นเอกภาพของพรรค แต่หลักการนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อพรรคนั้นมีจุดยืนอันเดียวกันและเป้าหมายการต่อสู้อย่างเดียวกัน หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันแล้วจะเห็นว่า ท่านยืนอยู่บนจุดยืนของกลุ่มทุนนิยมอนุรักษ์นิยม เชื่อมั่นกลุ่มพันธมิตร ฯ โจมตีกลุ่มทุนทักษิณ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำมาตยาธิปไตย ตรงกันข้ามกับ ธง แจ่มศรี ที่ยืนอยู่บนจุดยืนชนชั้นกรรมาชีพ เชื่อมั่นมวลชน ต่อสู้กับกลุ่มอำมาตยาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของประชาชน เปรียบเสมือนว่า ธง แจ่มศรี จะขึ้นเหนือ แล้วท่านจะลงใต้ แล้วจะนำหลักการนำรวมหมู่มาใช้ได้อย่างไร ก็เหมือนกับการทาบตา ตอนกิ่งหรือเสียบยอดพันธุ์ไม้เพื่อรักษาพันธุ์ที่ดีเอาไว้ไม่ให้กลายพันธุ์ เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แยกตัวออกเป็นสองพรรค เพียงแต่ว่า ธง แจ่มศรี น่าจะลาออกมากกว่ายุบกรรมการบริหาร แต่ไม่ว่าจะลาออกหรือยุบ ก็มีผลอย่างเดียวกัน คือ องค์กรนำหมดสภาพ จะต้องเลือกตั้งกันใหม่ ถามว่า กลุ่มศึกษาค้นคว้าสังคมไทยสามารถนำพรรคเลือกตั้

งองค์กรนำขึ้นมาใหม่ได้ไหม? ถ้าทำได้ ท่านก็ตัด ธง แจ่มศรี ออกไปแล้วเลือกตั้งกันใหม่ให้ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับแก่สมาชิกทั่วทั้งพรรคได้ไหม ส่วน ธง แจ่มศรี ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า ยุบเพื่อเกิดใหม่ คืนอำนาจให้สมาชิก พวกท่านทราบหรือไม่ว่าเสียงตอบรับสนับสนุน ธง แจ่มศรี เกินความคาดหมาย สถานการณ์เช่นนี้เป็นเพราะคุณธรรมที่ ธง แจ่มศรี สั่งสมมา กอปรกับความถูกต้องเหมาะสมในทิศทางการเมืองของท่าน จึงได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกทั่วทั้งพรรค


 


9. มีหลายท่านตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้เป็นกรรมการบริหารหลายคนจึงแปรเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนั้น เหตุใดภายในพรรคจึงมีความขัดแย้งและต่อสู้กันถึงขนาดนั้น ประเด็นนี้ น่าจะทำความเข้าใจกันได้ไม่ยาก


 


ประการแรก วัตถุนิยมวิภาษถือว่า การดำรงอยู่ทางสังคมกำหนดความคิดของคนเรา นับแต่ออกจากป่ามาอยู่เมือง หลายคนมีพื้นฐานทางสังคมค่อนข้างดี ชีวิตความเป็นอยู่ไม่เดือดร้อนขัดสน นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพคนใดดำรงอยู่ในสังคมดังกล่าว แล้วไม่สนใจดัดแปลงตนเองเป็นประจำ ก็จะถูกสภาพสังคมปลูกฝังลักษณะชนชั้นตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่ในสังคมนั้น ๆ นานวันเข้าลักษณะชนชั้นก็เปลี่ยนแปลง การออกจากป่ามาดำรงชีวิตอยู่ในสังคมมากกว่า 30 ปี เพียงพอที่จะเปลี่ยนลักษณะชนชั้นของคนได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มบุคคลเหล่านี้


 


ประการที่ 2 เหินห่างมวลชน การเหินห่างมวลชนทำให้เราขาดการรับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่อาจรับรู้ความเรียกร้องต้องการของมวลชนได้ จึงสำคัญผิดคิดว่า สิ่งที่ตนต้องการนั้นคือความต้องการของมวลชน คนประเภทนี้เสนอสิ่งใดออกมามักไม่ตรงกับความเรียกร้องต้องการของมวลชนและไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน


 


ประการที่ 3 การสะท้อนเข้ามาภายในพรรคของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงมีการสะท้อนการต่อสู้ภายในสังคมเข้ามาภายในพรรค ซึ่งก็เป็นไปตามกฎแห่งการรับรู้ จากวัตถุไปสู่จิต และจากจิตไปสู่วัตถุ นั่นเอง ในสังคมทุนนิยมมีการต่อสู้ทางชนชั้น ในสังคมนิยมก็มีการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้ระหว่างถูกกับผิด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนเข้ามาภายในพรรคทั้งสิ้นโดยผ่านอวัยวะสัมผัสทั้งห้า คือ หู ตา จมูก ลิ้น และ กาย การรับรู้ดังกล่าวนี้จะมีกระบวนการสะสมจากปริมาณไปสู่คุณภาพ หากปริมาณด้านลบมีมากกว่า ความโน้มเอียงที่จะแปรเปลี่ยนไปสู่ด้านนั้นก็มีมากกว่า จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่คุณภาพ หรือความรับรู้ทางเหตุผล สมาชิกพรรคควรใช้ทัศนะวัตถุนิยมวิภาษไปมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ และจะไม่หลงทิศผิดทาง


 


เมื่อภายในพรรคแยกเป็น 2 ฝ่าย เราจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะฝ่ายกลุ่มทุนผูกขาดอนุรักษ์นิยมกุมอำนาจรัฐ หนุนด้วยทหาร กรรมการบริหารบางคนสำคัญผิดคิดว่านั่นเป็นชัยชนะของประชาชน

 ละทิ้งจุดยืนทางชนชั้น สิโรราบให้กับฝ่ายชนะที่เรียกว่า 17 สต หรือ 17 A (7) ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นโดยทางความคิดมากกว่าจะเป็นความผิดพลาดทางการรับรู้ ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกคนพึงต้องสังวรณ์เอาไว้ด้วย


 






 


หมายเหตุ กอง บ.ก.


"มาตรา 17 สัตตะ" เป็นตัวบทที่บัญญัติไว้ใน "พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ปัจจุบันพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกยกเลิกไปแล้ว สำหรับมาตรา 17 สัตตะ มีเนื้อหา ดังต่อไปนี้...


 


"ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าวเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเขตอำนาจ เหนือท้องที่ที่มีการสอบสวน


 


"ถ้าผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามวรรคหนึ่ง เห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดี โดยให้ผู้ต้องหาดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และจะกำหนดเงื่อนไข ให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกินหนึ่งปีไม่ได้


 


"การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องผู้ต้องหาสำหรับการกระทำที่ต้องหานั้นอีกไม่ได้"


 


[ทั้งนี้ มาตรา 17 สัตตะ เพิ่มความโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2519]


 


 


 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


พลาดไม่ได้ ! ถ้อยแถลง "ธง แจ่มศรี" เนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฯไทยครบรอบ 66 ปี


โต้ถ้อยแถลง "ธง แจ่มศรี" : บทเสนออีกแนวทางวิเคราะห์สังคมการเมืองไทย


SIU: วันนั้น พคท. พ่ายแพ้ได้อย่างไร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net