Skip to main content
sharethis


 


บรรยากาศในห้องสัมมนาเรื่องกฎหมายพิเศษและองค์ความรู้ทางการเมืองกับวัฒนธรรมชุมชนชายแดนใต้ ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่มีการแยกที่นั่งระหว่างชาย - หญิงอย่างชัดเจนตามหลักการศาสนาอิสลาม เมื่อเร็วๆ นี้


 


 


 


เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมใหญ่คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่องกฎหมายพิเศษและองค์ความรู้ทางการเมืองกับวัฒนธรรมชุมชนชายแดนใต้ โดยมีนักศึกษา อาจารย์และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน


 


โดยในที่ประชุมในช่วงบ่าย นายมะเสาดี ไสสากา อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้นำเสนองานวิจัยเรื่องยุทศาสตร์การปกครองท้องถิ่น : การเลือกผู้นำภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้วิทยากรวิจารณ์ โดยผู้ร่วมวิจารณ์ประกอบด้วย นายแพทย์แวมาอาดี แวดาโอ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน นายมัสลัน มาหามะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และนายสุกร หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา


 


นายมะเสาดี กล่าวว่า ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2550 ในหลายประเด็น ทั้งเรื่องปัญหา ความต้องการและอำนาจในการนำของผู้นำในท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น การพัฒนากระบวนการทางสังคม จนถึงล่าสุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ซึ่งก็พบปัญหาความขัดแย้งในท้องถิ่นมีหลายประเด็นด้วยเช่นกัน โดยมักจะเกี่ยวพันกับการเมืองในระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการนำในท้องถิ่น


 


นายมะเสาดี กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยในพื้นที่ตำบลห้วยกระทิง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา พบว่าในท้องถิ่นเองได้มีการกำหนดกติกาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยมีการใช้ระบบชูรอ หรือ ระบบปรึกษาหารือกัน โดยมีการคัดเลือกบุคคลที่ดีที่สุด เพื่อให้มาลงสมัครเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง


 


จากการศึกษาวิจัยพบว่า ในกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา หรือเรียกว่าสภาชูรอ มีการกำหนดคุณสมบัติและกำหนดวิธีการหรือกระบวนการคัดเลือก โดยในการคัดเลือกนั้นพยายามมองข้ามจากตัวบุคคลไป โดยดูจากคุณสมบัติเป็นหลัก หรือดูว่าภารกิจที่ผู้นำท้องถิ่นต้องทำนั้น ผู้นำควรมีคุณสมบัติอย่างไร


 


นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบรูปแบบการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยในท้องถิ่นพบว่าอีก 2 รูปแบบหลัก คือ การลงสมัครเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ใครอยากลงสมัครก็ลงได้ และรูปแบบที่มีการเลือกตั้งแต่เหมือนไม่มีการเลือกตั้ง หมายถึงการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดโดยผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาแล้ว


 


นายมัสลัน กล่าวว่า ระบบชูรอสามารถใช้ได้เลยในการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในการเมืองระดับชาติคงยาก


 


นายแพทย์แวมาฮาดี กล่าวว่า เห็นด้วยกับท้องถิ่นที่ต้องการใช้ระบบชูรอ แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่มากนั้น ยังไม่เห็นระบบชูรอที่เข้มแข็ง แต่ระบบนี้กลับไปเกิดขึ้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่ได้เป็นชาวมุสลิมทั้งหมด ผลที่ออกมาคือมีการปกครองท้องถิ่นที่ดีมาก มีการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดไปจนตาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net