Skip to main content
sharethis


 



 



 


12 ก.พ. 2552 เวลา 10.00 น. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ภูมิภาค จำนวนกว่า 200 คน รวมตัวกันพร้อมแผ่นป้ายและเครื่องขยายเสียง ออกเดินรณรงค์พร้อมแจกใบปลิว 5 ปัญหาโทรคมนาคมจากสถานีรถไฟฟ้าอารีย์มายังสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพื่อยื่นแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอให้ กทช. เร่งดำเนินการสะสางปัญหาด้านโทรคมนาคมที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค


 


เนื้อหาภายในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงการที่ผู้บริโภคยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการในกรณีต่างๆ ที่ผู้บริโภคมีการร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายเงินล่วงหน้า หรือที่เรียกว่าบัตรเติมเงิน ซึ่งผู้ประกอบการมีการกำหนดวันหมดอายุของวงเงิน ทำให้แม้ว่ายังใช้เงินไม่หมดก็โทรออกไม่ได้ และหากเติมเงินเพิ่มล่าช้ากว่ากำหนดเวลาก็อาจมีการหักเงินที่เหลือ กรณีของการตัดคลื่นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อเป็นเงื่อนไขต่อรองให้ผู้ใช้บริการชำระเงินที่ค้างอยู่ แต่เมื่อชำระแล้ว เห็นควรต่อสัญญาณให้โดยไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บเงินอื่นใดอีก รวมถึงกรณีที่ผู้ประกอบการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล


 


ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคนำโดย นางปฐมมน กัณหา ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภค จ.สระบุรี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กทช. โดยมีรองศาตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบหนังสือและรับฟังข้อเสนอจากตัวแทนเครือข่ายฯ ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 7 ภูมิภาค ต้องการให้ กทช. ได้เร่งดำเนินการใน 5 ข้อ อันได้แก่


 


ข้อหนึ่ง ให้บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยยกเลิกบทเฉพาะกาล ข้อ 36 วรรคสุดท้าย ซึ่งระบุว่า "ให้สัญญาใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสาม ทั้งนี้ ในระหว่างระยะเวลาพิจารณาตามวรรคสองและวรรคสาม ให้สัญญาเก่ายังคงมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป" ซึ่งบทเฉพาะการดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการมักจะนำมาอ้างว่าสัญญาใหม่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กทช.  บริษัทฯจึงสามารถใช้สัญญาเก่าต่อไป


 


ข้อสอง เสนอให้ กทช. ออกคำสั่งอย่างชัดเจน ให้ผู้ประกอบการยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุของระบบบัตรเติมเงิน และยกเลิกการเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์


 


ข้อสาม เสนอให้ยกเลิกใบอนุญาตหรือมีการกำหนดมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้ใช้บริการซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมทั้งผู้ประกอบการที่ทำการละเมิดสิทธิโดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล


 


ข้อสี่ เสนอให้ กทช. เร่งดำเนินการในมาตรการคงสิทธิเลขหมาย โดยมีการควบคุมการเรียกเก็บค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรม


 


ข้อห้า สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย เรื่องผลกระทบของคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ต่อสุขภาพอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และให้ประชาชนกลุ่มที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย


 


ขณะที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมีผลการพิจารณาจากกรณีการยื่นข้อเสนอของเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาคเรื่องค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่ง กทช. ยังมีมติให้ยืนตามมติเดิมจากการประชุมครั้งที่ 48/2551 คือให้ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือผู้ให้บริการเครือข่ายดีแทค ได้คืนเงินค่าต่อคู่สายโทรศัพท์จำนวน 107 บาท ให้กับผู้ร้องเรียนและระงับการเก็บค่าต่อคู่สายสัญญาณโทรศัพท์จากผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ด้วย ส่วนกรณีของผู้ให้บริการโทรศัพท์รายอื่นๆ นอกเหนือจากดีแทคนั้น กทช. เสนอให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นผู้รวบรวมเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาจากผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นๆ นำเรื่องเสนอให้ กทช. เพื่อพิจารณา และดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในลำดับต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net