Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (15 ม.ค.) ว่า ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการศาลปกครองกลาง พร้อมองค์คณะ นั่งพิจารณาคดีดำที่ 1737/2550 เป็นครั้งแรก เพื่อฟังความเห็นตุลาการผู้แถลงคดีในคดีนายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสภาผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ซึ่งพิการขาขาดสองข้างกับพวกรวม 3 คนยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. (ขณะฟ้องเมื่อปี 2550) ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และบริษัท ขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4 เรื่อง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เกินสมควร กรณีไม่ดำเนินการจัดให้มีลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นที่วางรถวิลแชร์มี ความกว้างไม่เกิน 120 ซม. สูง 80 ซม.บริเวณทางขึ้นลง และไม่ติดสัญลักษณ์คนพิการใน และนอกตัวรถให้แก่ผู้พิการในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส 23 สถานี จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้มีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกข้างต้นทั้ง 23 สถานี


 


โดยวานนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เดินทางมาพร้อมกลุ่มพิการนั่งรถเข็นวิลล์แชร์ กว่า 10 คน ขณะที่ฝ่าย กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 ไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาแต่อย่างใด คงมีเพียงนายพิษณุ จงเพียรเลิศ ตัวแทนบริษัท รถไฟฟ้า บีทีเอส เท่านั้นที่เดินทางมาศาล ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 แถลงด้วยวาจาต่อศาลสรุปว่า ผู้ฟ้องได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อปี 2535 มิใช่เดือนร้อนในห้วงเวลา 90 วัน ที่จะมีอำนาจนำคดีมาฟ้อง และโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งประชาชนทุกคนจะต้องได้รับบริการ และยังพบว่ามีผู้พิการใช้บริการรถไฟฟ้ามากกว่าพันคน โดยผู้ฟ้องได้เคยเจรจากับผู้ฟ้องมาโดยตลอด แต่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ไม่มีความกระตือรือร้นจะดำเนินการดังกล่าวตามหลักบริหารบ้านเมืองที่ดี ที่ผ่านมามีการจัดลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้เพียง 5 สถานีหลัก ประกอบด้วย สถานีอโศก หมอชิต สยาม ช่องนนทรี และอ่อนนุช เท่านั้น


 


จากนั้นนายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นสรุปว่า แม้ข้อเท็จจริงจะพบว่ามีการยื่นคดีเกินกว่า 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ จึงเห็นว่าคดีนี้ผู้ฟ้องมีอำนาจฟ้อง และศาลมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา


 


ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 จะกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตาม พรบ.ระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2 จะต้องดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างบริการสาธารณะ และพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กำหนดให้ออกกฎกระทรวง เพื่อให้มีการจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยตรงภายในอาคารสถานที่และยานพาหนะ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ทำสัญญาโครงการระบบขนส่งมวลชนกับผู้ถูกฟ้องที่ 4 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2539 ซึ่งเป็นการทำสัญญาก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542 จะบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2542 ประกอบกับพบว่า หลังจากมีการก่อสร้างโครงการแล้วผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้จัดให้มีลิฟต์ใน 5 สถานี ตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง ทั้งที่ในสัญญาสัมปทานไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 4 ต้องดำเนินการดังกล่าวอีก ภายหลังจากที่พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ บังคับใช้ จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเห็นควรที่องค์คณะจะพิพากษายกฟ้อง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ถือการทำความเห็นภายในเสนอต่อองค์คณะ ฯ ตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งความเห็นดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันต่อการมีคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของ สำนวน โดยหลังจากนี้ องค์คณะจะประชุมเพื่อตรวจสำนวนที่จะมีคำพิพากษา และจะแจ้งวัน นัดฟังคำพิพากษาให้คู่ความต่อไป


 


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net