Skip to main content
sharethis

 



 


วานนี้ (22 ธ.ค.) สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเวที "ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ปี 2551" ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมให้กับองค์กรผู้บริโภค พร้อมนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไปกำหนดวางแผนการทำงานของ สบม.ต่อไป ทั้งนี้กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย องค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัด ศูนย์คุ้มครองสิทธิ เครือข่ายผู้พิการ กลุ่มผู้ร้องเรียน เครือข่ายเยาวชน กลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ กว่า 500 คน 


 


 


"มิติใหม่ของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม"


 


นางรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวในปาฐกถาพิเศษ "มิติใหม่ของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม" ว่า กิจการโทรคมนาคมเป็นธุรกิจในมือคนจำนวนน้อย เพราะมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีและใช้ทุนมหาศาล ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงอยู่ในฐานะผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยมีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ที่ดึงเอาผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตรวจสอบกิจการโทรคมนาคม ในส่วนนี้ถือเป็นมิติใหม่ของผู้บริโภค


 


เรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม นางรสนากล่าวว่า จากสถิติเรื่องร้องเรียนของ สบท.ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 พบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นการร้องเรียนเรื่องการคิดค่าบริการผิดพลาด 24 เปอร์เซ็นต์ร้องเรียนเรื่องคุณภาพของการเชื่อมต่อสัญญาณ และ 10 เปอร์เซ็นต์ ร้องเรียนเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยยังไม่ได้คำนึกถึงปัญหาที่ลึกซึ้ง มีขอบเขตการร้องเรียนค่อนข้างแคบ


 


ในกรณีที่การส่งเอสเอ็มเอสเพื่อการโฆษณา ดังเช่นกรณีการส่งเอสเอ็มเอสของนายกรัฐมนตรี หรือการโทรศัพท์เข้ามาขายตรงสินค้าและบริการนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีการระบุให้สามารถนำเบอร์ของผู้ใช้บริการไปทำประโยชน์ทางธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการถูกรบกวน และในบางกรณีก็ทำให้ต้องเสียเงินด้วย


 


ทั้งนี้ แม้ว่าการร้องเรียนเรื่องทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวยังไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่น่าจะมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ การค้ากำไรเกินควรเอาเปรียบผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ในกิจการโทรคมนาคม และประเด็นเรื่องการตลาดไร้ขอบเขตที่ส่งผลชี้นำวัฒนธรรมทางลบของสังคม ก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจ


 


ในภาพใหญ่สำหรับประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความซับซ้อนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะไปเร็วกว่ากฎเกณฑ์ที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรรวมตัวเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองอย่างจริงจัง


 


นางรสนา กล่าวต่อมาว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนหรือมือถือที่กันอย่างแพร่หลายมาก และอายุของผู้ใช้ก็ลดน้อยลงไปถึงขั้นเด็กอนุบาล ขณะเดียวกันมือถือเองก็ส่งเสริมวัฒนธรรม "การส่งต่อความรู้ด้วยการบอกเล่า" ไม่ชอบการเขียนของคนไทย และยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้กิจกรรมในทางธุรกิจของกิจการโทรคมนาคมในสาขานี้ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว


 


อย่างไรก็ตาม กิจการโทรคมนาคมไม่ได้มีเพื่อการส่งเสริมการทำธุรกิจเหมือนอดีต แต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริโภค ด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เช่นในกรณีของโทรศัพท์มือถือที่ทำให้คนไทยเสพติดการใช้โทรศัพท์มากขึ้น เยาวชนในวัยเรียน ติดโทรศัพท์ ใช้เวลาส่วนใหญ่หมกมุ่นไปกับการคุย การแชต สิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายมันสมองของชาติ


 


"ค่าโทรศัพท์เป็นของฟรี แต่เวลาของชีวิตไม่ใช่ของฟรี" นางรสนากล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวว่าการใช้เวลาไปกับการพูดโทรศัพท์นั้น ถือได้ว่าเป็นการผิดหลักศีล 5 ในข้อมุสาวาทา ที่รวมการพูดปด ส่อเสียด หยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อ อีกทั้งการแข่งขันทางการตลาดต่างๆ ก็เป็นการส่งเสริมให้กระทำวจีทุจริต


 


นางรสนาให้ข้อมูลต่อว่า ในต่างประเทศ โทษของการใช้โทรศัพท์ในรถเท่ากับการดื่มสุราขณะขับรถ เพราะการใช้โทรศัพท์ทำให้ ผู้ใช้ขาดสติเหมือนการดื่มสุรา นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างกรณีผู้ใช้โทรศัพท์ขณะกำลังข้ามทางรถไฟและถูกรถไฟชนเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นอันตราจากการบริโภค ดังนั้น การใช้บริการโทรคมนาคมจะมองแต่ความทันสมัยอย่างเดียวไม่ได้


 


มิติใหม่ของผู้บริโภค จำเป็นต้องทบทวนว่าการให้บริการโทรคมนาคมกำลังจะกลายเป็นสิ่งเสพติดอย่างใหม่ในสังคม ที่ในอนาคตจะต้องรณรงค์ให้มีการลดโทรศัพท์เหมือนกับการลดเหล้า ลดบุหรี่ นอกจากนี้ยังไม่รวมถึง การถ่ายคลิปโป๊ การพนัน การก่ออาชญากรรม และปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือจะส่งเสริมกิจการโทรคมนาคมให้มีการแข่งขันกันในตลาด เพื่อขยายเวลาการโทร ให้คนใช้เวลาอย่างหมดประโยชน์ และให้ผู้ประกอบการได้เงิน


 


 


"เหลียวหน้า แลหลังสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม"


 


นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวในการเสวนา"เหลียวหน้า แลหลังสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม" ว่า ปัญหาใหญ่ในการให้บริการโทรคมนาคม คือ ผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้ปัญหา หน้าที่ของผู้บริโภคไทย มีหน้าที่ชัดเจนอย่างเดียวคือ จ่ายเงิน ทั้งที่การให้บริการยังมีปัญหาอีกมาก เช่น เบอร์โทรศัพท์ได้มาแล้ว เป็นของใคร ของเรา หรือของบริษัท หรือทำไมบริษัทฯ ถึงต้องกำหนดวันใช้ หรือ บริการเสริมทำไมสมัครง่าย เลิกยาก


 


"ปัญหาโทรคมนาคม เหมือน มวย ที่ผู้บริโภคต้องชกกับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นมวยคนละรุ่น สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการก็คือ ขอให้ผู้บริโภคได้มีสิทธิใช้บริการในส่วนที่ผู้บริโภคได้จ่ายเงินไปแล้ว" นางสาวบุญยืนกล่าว


 


ด้านนายสุธรรม อยู่ในธรรม หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยมีประมาณ 69.5 ล้านหมายเลข ซึ่ง ทาง กทช.เอง ต้องการเร่งให้มีการบังคับออกกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลด้านการให้บริการโทรคมนาคม ทั้งในเรื่องของการคุมการส่งข้อความขยะบนมือถือ (SMS) การคิดค่าบริการที่เกินจริง ซึ่งมั่นใจว่า ในปีหน้าจะเห็นระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ของ กทช.ที่ชัดเจนมากขึ้น


 


ทั้งนี้ยอมรับว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายยังที่ผ่านมายังล่าช้า ปีหน้าต้องเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายและขจัดข้อพิพาทให้มากขึ้น และต้องให้ สบท.มีอิสระและมีอำนาจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายได้มากขึ้น เพราะอนาคต หน่วยงานกำกับดูแล บริการต่างๆ และการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องหลอมรวมกันตามประเภท


 



นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า เป้าหมายของกิจการโทรคมนาคมนั้นเพื่อเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร จนทำให้เป้าหมายที่เพื่อเป็นสาธารณูปโภคนั้นถูกเบี่ยงเบน เช่น เทคโนโลยี 3G เป็นเทคโนโลยีที่มาเพื่อช่วยทดแทนช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล เพราะเป็นระบบที่ไม่ต้องตั้งเสา ไม่ต้องใช้สาย แต่เป็นระบบคลื่น เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม แต่เมื่อประเทศไทยกำลังมีระบบ 3G มาใช้กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของผู้ให้บริการกลับเป็นชุมชนเมือง อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้ผู้บริโภคตามไม่ทัน และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้บริการ หรือทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าที่จำเป็น


 


ผอ.สบท.กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศมีสิ่งดีดีที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการโทรคมนาคม เช่น การเปลี่ยนเครือข่ายใช้เบอร์เดิม (การคงสิทธิเลขหมาย) การแก้ปัญหาการเข้าถึงให้กับผู้บริการ เช่น สำหรับคนหูหนวกมีระบบ Relay service ให้คนหูหนวกสามารถโทรศัพท์แบบพิมพ์ดีดส่งข้อมูลให้คนกลาง เพื่อส่งข้อมูลเสียงให้กับผู้รับอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น หรือ ระบบ การลงทะเบียนปฏิเสธการรับโทรศัพท์ขายของไม่ให้ส่งข้อความสั้นมารบกวนละเมิดสิทธิ


 


นอกจากนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย ยังมีระบบในการจัดการเรื่องร้องเรียน โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายในการ้องเรียนให้กับผู้บริโภค ตัวเลขการร้องเรียนของประเทศออสเตรเลียอยู่ที่อัตราสูงสุดคือ สัปดาห์ละ 9,000 สาย แต่ในประเทศไทยตั้งแต่สถาบันสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการมีการร้องเรียนเพียงราว 300 รายต่อปี


 


สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันเป็นระบบไตรภาคีร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้พูดคุยกันถึงแนวทางในการแก้ปัญหาโทรคมนาคมในปีหน้า เช่น เอสเอ็มเอสรบกวน การเสนอขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ


 


"ควรจะมีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในปีหน้า เป็นเรื่องๆ ไป มาคิดร่วมกันทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และ สบท.เพื่อเราจะได้แก้ปัญหาได้ตรงใจกับผู้บริโภค" นายแพทย์ประวิทย์กล่าว


 


 


เสวนากลุ่มย่อยใน 5 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม


 


ในช่วงบ่าย เป็นเวทีการเสวนากลุ่มย่อยใน 5 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริโภค ประกอบไปด้วย 1.เรื่องระบบมือถือ 3G และอินเตอร์เน็ตระบบ ADSL 2.เรื่องการถูกละเมิดสิทธิ 3.เรื่องผู้พิการกับการเข้าถึงโทรคมนาคม 4.เรื่องพฤติกรรมเยาวชนกับการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม และ 5.เรื่องผลกระทบกรณีคลื่นโทรศัพท์และเสาส่งสัญญาณ


 


นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงประเด็นผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคกรณีคลื่นโทรศัพท์และเสาส่งสัญญาณไว้ว่า เรื่องของสุขภาพของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรอผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นอนก่อนแล้วถึงจะค่อยหาทางแก้ เพราะตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาตินั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ และต้องหาวิธีป้องกันให้กับประชาชนด้วย


 


นายชาญ รูปสม ได้สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มที่ 1.เรื่องระบบมือถือ 3G และอินเตอร์เน็ตระบบ ADSL ว่า ยุค 3G ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น คือยุคของการผนวกรวมบริการทั้งเสียง ข้อมูลข่าวสาร และภาพไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้ความเร็วที่สูงขึ้น การก้าวสู่ยุคใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อสังคมเราเปรียบดังเช่น การขับรถเร็วที่มีข้อดีคือทำให้ถึงที่หมายเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของความทั่วถึง มาตรฐาน และราคาที่สูง รวมทั้งข้อท้าทายสำคัญคือการควบคุมกฎเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่าง ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ จะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและยากขึ้นตามไปด้วย


 


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลของประกาศ กทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กรณีถ้าสัญญาฉบับเดิมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับประกาศ กทช.ฉบับข้างต้น ให้ถือว่าสัญญานั้น ไม่มีผลบังคับใช้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศ กทช.เท่านั้น


 


"สิทธิของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นได้จากการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง ขณะที่กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง ก็ขอเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาธิบาล โดยเอาประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ในส่วนของ สบท.ก็ควรจะเคลื่อนความรู้ไปสู่ประชาชนมากกว่านี้ เมื่อเข้าใจเรื่องสิทธิก็จะเกิดการพิทักษ์สิทธิในหมู่ประชาชนและขยายวงกว้างต่อไป ส่วนผู้บริโภคก็ต้องคุ้มครองตัวเอง" นายอิฐบูรณ์กล่าว


 


ด้านนายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนปัญหาโทรคมนาคมมาน้อยมาก ผู้ได้รับความเดือดร้อนจึงควรร้องเรียนปัญหาเข้ามาเพื่อทราบถึงจำนวนผู้ที่มีปัญหาที่แท้จริง รวมทั้งประเภทของปัญหา และนำไปวางแผนในการแก้ไขปัญหาได้ สำหรับกรณี 107 บาท และบัตรเติมเงินหมดอายุนั้นมีการเจรจามานานมากแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า ผู้บริโภคอาจจะใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 แทน


 


ส่วนนางสาวสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงผลสรุปการเสวนากลุ่มย่อยในประเด็นเรื่อง พฤติกรรมเยาวชนกับการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมว่า ปัจจุบันจำนวนของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการโทรคมนาคม และเนื่องจากเด็กไทยในปัจจุบันอ่อนแอมาก ยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ซื้อ ไม่ได้ถูกพัฒนาจากภายใน เด็กต้องการการยอมรับแต่สังคมไทยไม่มีให้ สังคมไทยยอมรับแต่เด็กที่เรียนเก่งที่มีเพียงหยิบมือเท่านั้น ทำให้ต้องแสวงหาโลกเสมือนจริง เพราะเข้าไปแล้วได้รับการยอมรับ และเด็กไทยยังมีลักษณะของการอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องคุยโทรศัพท์ เปิดทีวีทิ้งไว้ทั้งที่ไม่ได้ดู หรือออนเอ็ม


 


สิ่งเหล่านี้เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก เพราะหมายถึงการเข้าไปเป็นเหยื่อของโทรคมนาคม เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวตนของเด็กในการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เด็กรอคอยไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องโทรคมนาคมเท่านั้น


 


นางสาวสุมณฑากล่าวอีกว่า ที่ประชุมจึงเห็นว่า ทางออกที่ดีคือ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่และสร้างกิจกรรมให้กับเด็กมากขึ้น เพื่อดึงเด็กออกมาจากโลกเสมือนจริง หรือใส่ประโยชน์ลงไปในสิ่งที่เด็กเล่น จัดให้มีการแข่งขันแบบไม่แพ้คัดออก และเรียกร้องให้ภาครัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาสร้างแทนห้ามในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก


 


ด้านนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) เปิดเผยถึง เรื่อง ผู้พิการกับการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมว่า การให้บริการเพื่อการเข้าถึงของผู้พิการต้องไม่ใช่ เรื่องของสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นเรื่องของสิทธิในการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารของทุกๆคนในประเทศนี้ สำหรับผู้พิการเสนอให้มีบริการที่เป็นสาธารณะ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึง เช่น มีระบบบอกเบอร์โทรเข้าให้กับคนตาบอด ที่จะตัดสินใจได้ว่า จะรับสายหรือไม่รับสาย การให้บริการเพื่อการเข้าถึงของผู้พิการ คือผลผลิตโดยตรงของการผลักดันในระดับนโยบาย เพื่อการปรับปรุงบริการให้คนพิการได้เข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net