Skip to main content
sharethis

15 ธ.ค. 2551 เมื่อเวลา 11.00 . คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่อง "การละเมิดสิทธิผู้ประกันตน ในการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี" ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังเดินทางยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและคัดค้านการใช้เงินกองทุนประกันสังคมผิดวัตถุประสงค์ โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับมอบ


 


นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีดำเนินไปด้วยความไม่เป็นธรรม และได้จำกัดสิทธิผู้ประกันตน ซึ่งโดยหลักๆ วันนี้ต้องการร้องเรียนถึงการเลือกตั้งดังกล่าวที่ไปตัดสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งผู้ประกันตนเหล่านั้นไม่มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มก้อนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระเบียบกระทรวงแรงงาน


 


นอกจากนี้ยังตัดสิทธิการลงคะแนนเสียงของผู้ประกันตนในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน (1-49 คน) โดยกำหนดให้เป็นการลงคะแนนโดยผู้แทนจากสถานประการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป


 


นางสาววิไลวรรณ ยังกล่าวอีกว่า คุณสมบัติของกรรมการไตรภาคีก็มีความทับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ประธานสหภาพฯ บางรายไปฝังตัวอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มีการยกเลิกสหภาพฯ นั้นไปแล้ว หรือหยุดกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพแรงงานไปแล้ว ทำให้สหภาพฯ นั้นกลับมาปั๊มตราใช้ได้ต่อ เพื่อผลประโยชน์ที่จะมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง จึงอยากให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้ามาช่วยเหลือด้วย


 


ด้านนายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า จะดำเนินการโดยเร็ว โดยจะทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงานให้ชะลอการลงนามรับรองการทำงานของกรรมการไตรภาคีไว้ก่อน และจะเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน ถึงข้อร้องเรียนดังกล่าว


 







15 ธันวาคม 2551


 


เรื่อง เรียกร้องการละเมิดสิทธิผู้ประกันตน ในการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี


เรียน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี 8 คณะ ในวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2551 แบ่งออกเป็น 10 เขตภาคนั้น เพื่อที่จะให้ได้ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละคณะตามที่กำหนดไว้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม ที่มีการเลือกตั้งในครั้งนี้มี 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการประกันสังคม รายละเอียดตามมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533, คณะกรรมการอุทธรณ์ รายละเอียดตามมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน รายละเอียดตามมาตรา31 พระราชบัญญัติทดแทน พ.ศ. 2537


ซึ่งจากการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3 คณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรม และจำกัดสิทธิผู้ประกันตน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียและถือว่าเป็นเจ้าของกองทุนเงินทดแทน ดังนี้


1.การเลือกตั้งดังกล่าวตัดสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ในการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ประกันตนเหล่านี้ไม่มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มก้อนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 แต่ต้องถือว่ามีสิทธิในฐานะผู้ประกันตนที่มีส่วนเป็นเจ้าของเงินกองทุน


2. ตัดสิทธิการลงคะแนนเสียงของผู้ประกันตนในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน (1-49 คน) โดยกำหนดให้เป็นการลงคะแนนโดยผู้แทนจากสถานประการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป


3. ตัดสิทธิการใช้สิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของลูกจ้างชั่วคราวของรัฐจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากลูกจ้างเหล่านี้ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไม่มีคณะกรรมการสวัสดิการในแต่ละหน่วยงานราชการ จึงไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง


4. ตัดสิทธิผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกจ้างองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนมากในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันเนื่องจากว่าปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนมีจำนวนมาก แต่เป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กมีลูกจ้างเพียงไม่กี่คน ไม่ถึง 50 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนได้


ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีความเห็นว่าผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนในไตรภาคี ตามข้อเสนอดังนี้


1.เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 (7) ที่ระบุว่า "ระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตน" หมายความว่า ผู้ทำงานคือ ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน แต่ละคนต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตนในระบบไตรภาคี ไม่ใช่ผู้แทนองค์กรผู้ทำงานเป็นผู้เลือก (ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม)


2. ผู้ค้ำประกันตนและนายจ้างในกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเท่ากันก็ต้องมีหุ้นส่วนในกองทุนเท่ากัน การบริหารกองทุนประกันสังคมกระทบต่อทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 9 ล้านคน จึงต้องให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนในไตรภาคี ไม่ใช่ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4แสนคนทั่วประเทศ หรือผู้แทนสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสวัสดิการเลือกกันเท่านั้น


3. การใช้สิทธิผู้ประกันตนเลือกผู้แทนของตนในคณะกรรมการไตรภาคีที่เกี่ยงข้อง ย่อมป้องกันการบล็อกโหวตแบบ 1 สหภาพแรงงาน 1 เสียง ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วได้ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำสหภาพแรงงานบางคน ซึ่งใช้วิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขนาดเล็กจำนวนมาก และชักจูงกรรมการสหภาพแรงงานไปลงคะแนนเลือกพวกพ้องของตนเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง


4. เป็นภารกิจของรัฐที่ต้องส่งเสริมคนทำงานทุกภาคส่วน ให้มีสิทธิและมีส่วนร่วมเลือกผู้แทนของตนในระบบไตรภาคี ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 (7) และไม่ควรอ้างในเรื่องของภาระงบประมาณที่เป็นเหตุไม่ให้สามรถดำเนินการได้


จึงเรียนมาเพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของผู้ค้ำประกันตนในประเด็นดังกล่าวข้างตน และเพื่อให้ท่านชี้ข้อแนะหรือข้อคิดเห็นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อประเด็นดังกล่าวให้ผู้ร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข


 


ขอแสดงความนับถือ


 


(วิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 






15 ธันวาคม 2551


 


เรื่อง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี


เรียน ปลัดกระทรวงแรงงาน


ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี 8 คณะ ในวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2551 แบ่งออกเป็น 10 เขตภาคนั้น เพื่อที่จะให้ได้ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละคณะตามที่กำหนดไว้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งในบางเขตมีสหภาพแรงงานมากและได้มีการเสนอชื่อผู้แทนองค์กรมาลงคะแนนเสียงในแต่ละเขตเป็นจำนวนมาก แต่ตามความเป็นจริงปรากฏว่ามีสหภาพแรงงานบางแห่งไม่ได้มีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานแล้ว บริษัทปิดกิจการหรือไม่ได้ดำเนินกิจกรรมสหภาพอย่างต่อเนื่อง ได้เสนอชื่อผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง นอกจากนี้บางองค์กรยังเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเกินกว่า 1 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551


ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายการทุจริตต่อการเลือกตั้งและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม อันส่งผลให้ไม่ได้ผู้แทนของฝ่ายลูกจ้างอย่างแท้จริง จึงเสนอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกรรมการไตรภาคี ดังนี้


1. ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ มีคุณสมบัติที่ขัดต่อคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเลือกตั้ง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 ในระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 หรือไม่


2. องค์กรสหภาพแรงงานที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยังดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ลงคะแนนหลายท่านเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานที่หยุดการดำเนินกิจการไปแล้ว ซึ่งไม่น่าถือว่าเป็นผู้แทนของลูกจ้างในการลงคะแนนเลือกตั้งได้


3. มีการใช้สิทธิการเลือกตั้งซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะหากมีการใช้สิทธิลงคะแนนซ้ำซ้อนจะทำให้ได้ผู้แทนซึ่งไม่ใช่ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอย่างแท้จริง อีกทั้งควรตรวจสอบการเสนอชื่อในการเข้ารับการเลือกตั้งว่าตรงตามระเบียบข้อ 6 ในระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 หรือไม่


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมและเอาผิดกับผู้ทุจริตในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง


 


ขอแสดงความนับถือ


 


(วิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย








15 ธันวาคม 2551


เรื่อง การคัดค้านการใช้เงินกองทุนประกันสังคมผิดวัตถุประสงค์


เรียน ปลัดกระทรวงแรงงาน


อ้างถึง การประชุมคณะกรรมการบริหารประกันสังคม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 51 ซึ่งท่านปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาข้อเสนอกรรมการฝ่ายลูกจ้างที่เสนอให้นำงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาจากงบประมาณบริหารร้อยละ 10 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะนำไปซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนทั้งหมด 9.8 ล้านคน


ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวได้มีการถกเถียงและมีข้อโต้แย้งอย่างหลากหลายในที่ประชุมและจริงอยู่ว่าเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนในยามที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหา ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุดและเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และการนำเงินร้อยละ 10 ของสำนักงานประกันสังคม ไปใช้ในลักษณะนี้ถือว่าขัดต่อมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีการตีความออกมาแล้วในกรณีโครงการจัดตั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ 2,800 ล้านบาท ซึ่งระบุว่างบส่วนนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม


ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เงินกองทุนประกันสังคมผิดวัตถุประสงค์ อันอาจส่งผลให้เกิดช่องทางในการทุจริต ความไม่โปร่งใส และแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมได้ต่อไป


 


ขอแสดงความนับถือ


 


(วิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net