Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์


ผู้ช่วยวิจัย สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


อดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ และแฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย พ.ศ. ๒๕๔๖


๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


 


บทนำ


 


ในที่สุดการประท้วงอันยืดเยื้อยาวนานของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้  สิ้นสุดลงภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ๓ พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยเมื่อวันอังคารที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา  ขอขอบคุณกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยอมสลายการชุมนุม และออกจากสถานที่สำคัญทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดจนทำเนียบรัฐบาล ไว้ ณ ที่นี้ ด้วย


 


บทความนี้มิได้มุ่งโต้แย้ง หรือวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง ๓ พรรค แต่พยายามนำเสนอว่าในกระบวนการของการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง ทั้ง ๓ พรรคที่ผ่านมานั้น มีความไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใส เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองให้มีความเป็นธรรม และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น


 


ความไม่เป็นธรรมในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ


 


คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง ๓ พรรคนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารของ ๒ พรรคการเมืองเนื่องจากกระทำการที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้วทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า "ให้ใบแดง" เริ่มต้นจากนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑  นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่วนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มที่ ๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนอยู่ในขณะนั้น (ต่อมาได้ลาออกจากกรรมการบริหาร                       พรรคพลังประชาชนเพราะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร) ถูกศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งเช่นเดียวกัน


 


ข้อสังเกตในเบื้องต้นก็คือ กรณีของนายสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทยนั้น อำนาจในการพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นเป็นของคณะกรรมการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด" แต่การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๒๗ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า "ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก" เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑


 


เพราะฉะนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดก็ตามถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งลงมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เช่น นายสุนทร วิลาวัลย์ และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ก็จะไม่มีสิทธิโต้แย้งมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดๆ (แม้จะมีคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่กลั่นกรองมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกชั้นหนึ่ง แต่อำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ยังคงเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง)


 


แต่ในกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่เมื่อเป็นมติที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ ๒๒ มกราคม จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในกรณีนี้ถือเป็นเด็ดขาด ตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๙ วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย...."


 


ในกรณีของนายยงยุทธ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. 2551 หลังจากมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งกว่า ๕ เดือน แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า นายยงยุทธ มีสิทธิที่จะโต้แย้งมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในศาลฎีกาได้ และศาลฎีกาอาจจะวินิจฉัยในทางที่เป็นคุณต่อนายยงยุทธ ก็เป็นได้ ขณะที่นายสุนทร และนายมณเฑียร ไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในศาลฎีกา กลับต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


สรุป ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากที่ได้อธิบายรายละเอียดทั้ง ๓ กรณีข้างต้น ก็คือ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะโต้แย้งมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมโดยไม่มีสิทธิโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ กลับมีสิทธิโต้แย้งมติดังกล่าวในศาลฎีกาได้


 


บทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติเช่นนี้จึงขัดกับหลักของความเสมอภาคของประชาชนภายใต้กฎหมายอย่างชัดเจน และไม่เป็นธรรมต่อพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่กรรมการบริหารพรรคของตนมีสิทธิในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์น้อยกว่าพรรคพลังประชาชน ถ้ายังปล่อยให้บทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้คงอยู่ต่อไป ในอนาคตจะเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการการเลือกตั้งช่วยเหลือ และกลั่นแกล้งพรรคการเมืองต่างๆ ได้ง่าย โดยตัดสินเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ตนเองไม่ชอบก่อนครบกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งนี้เพื่อปิดโอกาสมิให้ผู้สมัครคนนั้นไปต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล และนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองนั้นได้อย่างรวดเร็ว


 


ขณะเดียวกันก็จะถ่วงเวลาการตัดสินผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนหลังครบกำหนด ๓๐ วันเพื่อเปิดโอกาสให้ไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ ก็จะสามารถยืดอายุของพรรคการเมืองพรรคนั้นออกไปได้อีกหลายเดือน ซึ่งถ้าเกิดพฤติกรรมเช่นนี้จริง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญ


 


ประเด็นต่อมา นอกจากกระบวนการเริ่มต้นของการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองจะก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค และความไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ยังไม่มีความโปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบได้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้กรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาในศาลฎีกาต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชน


 


ผลที่ตามมาก็คือ สาธารณชนไม่มีโอกาสตรวจสอบแนวคิด การใช้เหตุผลในการพิจารณาสำนวนของกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาแต่ละคนว่าถูกต้อง เหมาะสม น่าเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด ช่องว่างของรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาพิจารณาการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครตามอำเภอใจ และอาจเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้


 


ประเด็นที่สาม นอกเหนือจากความไม่โปร่งใสเนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้บังคับให้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว ยังมีความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับตัวกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกด้วย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๑ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน แต่สำหรับกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ทำหน้าที่ในการคัดสรร กลั่นกรอง และตรวจสอบนักการเมืองกลับไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชนเลยแม้แต่บาทเดียว ทั้งๆ ที่อาจกล่าวได้ว่า ทั้งกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกามีอำนาจมากกว่านักการเมือง และพรรคการเมือง เพราะเป็นผู้คุม และกำหนดชะตากรรมของนักการเมือง และพรรคการเมืองทั้งหลาย


 


หลักการที่ถูกต้องก็คือ อำนาจที่สูงขึ้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับให้นักการเมืองระดับชาติทุกตำแหน่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ก็ควรบังคับให้ผู้ที่มีอำนาจคุม และกำหนดชะตากรรมของนักการเมือง และพรรคการเมืองซึ่งในที่นี้หมายถึง กรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตนต่อสาธารณชนดุจเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจ และความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกท่าน ซึ่งจะส่งผลให้มติ และคำสั่งของท่านน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสายตาของสาธารณชน


 


ยุบพรรคในครั้งแรกที่กระทำความผิดเหมาะสมหรือไม่?


 


จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิด พรรคการเมืองนั้นจะต้องถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคทุกคนจะต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา ๕ ปีโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ การลงโทษอย่างรุนแรงถึงขั้นยุบพรรคในครั้งแรกที่เกิดการกระทำความผิดในลักษณะนี้ เหมาะสมหรือไม่ จะมีทางเลือกอื่นใดที่จะลงโทษพรรคการเมืองนั้นในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง รวมทั้งประเด็นที่ว่า กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ สมควรถูกลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองไปพร้อมกับกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร


 


เบื้องต้น เราต้องตระหนักว่า พรรคการเมืองนั้นถือเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยในทุกๆ ด้าน เพราะฉะนั้น เราจึงควรช่วยกันทำให้พรรคการเมืองของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และเป็นประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองบ่อยครั้งจะทำให้การพัฒนาพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง และเป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องหยุดชะงักลงตามไปด้วย อีกทั้ง การกระทำความผิดเพียงครั้งเดียวโดยคนเพียงคนเดียวแล้วต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองนั้นทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยไม่ให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขนั้น ดูจะเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว แม้แต่ในคดีอาญา ถ้าเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก ศาลก็มักจะลดหย่อนผ่อนโทษ หรือรอการลงโทษไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้สำนึกในความผิดที่ตนเองได้ก่อขึ้น และกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมอีกครั้งหนึ่ง


           


ในกรณีของพรรคการเมืองก็เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรก รัฐธรรมนูญไม่ควรบังคับให้ต้องยุบพรรคทันทีเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของพรรคการเมืองนั้นได้เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้สมาชิกของพรรคการเมืองนั้นได้เกิดสำนึกทางการเมือง และเข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแล ตรวจสอบ พฤติกรรมของกรรมการบริหารพรรคอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเกิดการทุจริตเลือกตั้งโดยกรรมการบริหารพรรคขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ จะต้องถูกยุบพรรคอย่างแน่นอน เพราะได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สมาชิกพรรคไม่สามารถใช้วิจารณญาณที่เหมาะสมเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคได้ รวมทั้งไม่สามารถควบคุม ตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการบริหารพรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ก็ไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป


 


ส่วนประเด็นเรื่องกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ สมควรจะต้องร่วมรับผิดชอบกับความผิดนี้ด้วยหรือไม่นั้น ก็ควรยึดแนวปฏิบัติเดียวกับการยุบพรรคการเมืองตามที่ได้อธิบายไปแล้ว แต่จะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า เมื่อเราปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดียุบพรรคตั้งแต่ต้นทางให้เป็นธรรมและโปร่งใส เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายแล้ว ถ้าพรรคการเมืองต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าการกระทำความผิดนั้นเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆด้วยการประกาศยอมรับคำสั่งของศาล จากนั้นก็ดำเนินการเรียกประชุมขับกรรมการบริหารพรรคผู้กระทำการทุจริตออกจากสมาชิกพรรค แล้วดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีบุคคลผู้นั้นทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ให้ถือว่ากรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ มิได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดดังกล่าว และไม่ต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา ๕ ปี


 


แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ากรรมการบริหารคนอื่นๆ ของพรรคการเมืองนั้นแสดงพฤติกรรมปกป้องผู้กระทำความผิด และไม่ดำเนินการใดๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ให้ถือว่า กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด และต้องถูกลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี


 


อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองนั้นจะได้แสดงออกตามกระบวนการทั้งหมดแล้ว แต่ถ้ามีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยกรรมการบริหารพรรคอีกเป็นครั้งที่ ๒ ย่อมแสดงให้เห็นว่า กรรมการบริหารพรรคการเมืองพรรคนั้นไร้ความสามารถในการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง จึงไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะบริหารพรรคการเมือง และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้ จะต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา ๑๐ ปีพร้อมๆ กับการถูกยุบพรรค


 


ข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง



จากที่ได้นำเสนอรายละเอียดมาทั้งหมด จึงขอเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังต่อไปนี้


 


๑. การพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดก็ตามควรเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาทั้งหมดเพื่อก่อให้เกิดความเสมอภาค และเป็นธรรมต่อผู้สมัครทุกคน และพรรคการเมืองทุกพรรค


๒. ควรบัญญัติให้กรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้


 


๓. ควรบัญญัติให้กรรมการการเลือกตั้ง และผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตนเอง คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ ให้สาธารณชนได้รับทราบเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ระหว่างดำรงตำแหน่งทุก ๒ ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่ง


 


๔. ไม่ควรยุบพรรคการเมืองถ้าเป็นการกระทำความผิดในกรณีนี้เป็นครั้งแรก แต่ควรจะยุบถ้ามีการกระทำความผิดอีกเป็นครั้งที่ ๒


 


๕. ไม่ควรตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนอื่นๆ ในกรณีที่ประกาศยอมรับผลการตัดสินของศาล ขับไล่ผู้กระทำความผิดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้งทางแพ่ง และทางอาญา แต่ถ้ามีการกระทำความผิดโดยกรรมการบริหารพรรคอีกเป็นครั้งที่ ๒ ให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น และตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคนในขณะนั้นเป็นระยะเวลา ๑๐ ปี


 


หวังว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีงามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net