Skip to main content
sharethis

งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
www.tmc.nstda.or.th


 


"ซายพาร์ค" หนุนนวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ เริ่มตั้งแต่การผลิต "เยื่อกระดาษทดแทน" จากกล่องนมที่ใช้แล้วนำมาผลิตกระดาษใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ "เอนไซม์ผลิตกระดาษ" ช่วยกำจัดหมึกพิมพ์จากกระดาษรีไซเคิล ก่อนนำมาผลิตใหม่ และ "ระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์" ช่วยทำความสะอาดเครื่องจักรราคาแพง ลดสีผิดเพี้ยนในงานพิมพ์ ชี้นวัตกรรมทั้งหมดช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับสากล ย้ำ "ซายพาร์ค"เปิดกว้างหนุนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำนวัตกรรมไทยก้าวไกลในตลาดโลก


 



ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) 



 


 


ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park)


กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์(นิคมวิจัย)แห่งแรกของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ทำหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ในประเทศ


 


โดยล่าสุดหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park Incubator, TSP-I) ได้จัดให้ผู้ประกอบการจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีจำนวน 2 รายได้แก่ บจก.เฟล็กซ์โซ่รีเสริ์ช กรุ๊ป และบจก.เพรสรูมซัพพลาย เข้าร่วมแสดงผลงานในงานนิทรรศการ "2008 Taipei International Invention Show & Technomart" (INST 2008) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ซึ่งงานดังกล่าวถือเป็นงานระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 20 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรม


 


"การนำบริษัทเข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้เกิดจากหอการค้าไต้หวันเชิญชวนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเข้าร่วมงาน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเข้าร่วม โดยมีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นผู้แทนเข้าร่วมออกบูท พร้อมเชิญผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสองบริษัทที่มีความพร้อมที่จะออกสู่ตลาดต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ทั้ง 2 บริษัท มีผลิตภัณฑ์จาก R&D ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาในการผลิต ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรม ด้วยศักยภาพดังกล่าว จึงทำให้ทั้งสองบริษัทคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับสากลจากงานนิทรรศการดังกล่าว"


 



ตัวอย่างกระดาษสำหรับรีไซเคิล


 



เยื่อกระดาษทดแทน


 



เอนไซม์


 


นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บจก.เฟล็กโซ่รีเสิร์ช กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับในการทำงานในกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของเครือซิเมนต์ไทย จนได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการและได้เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้มีความสนใจงานนวัตกรรมในอุตสาหกรรมกระดาษ และทำการวิจัย พัฒนา "เยื่อกระดาษทดแทน" (Substituted Pulp) โดยมีเทคโนโลยีสองรูปแบบได้แก่ การใช้เทคโนโลยี Recovery Post Consumer Packaging ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีคุณสมบัติเส้นใยกระดาษที่ยาวและแข็งแรง ที่ผ่านการใช้งานแล้ว เช่น กล่องนม UHT, ถุงปูน, ถุงอาหารสัตว์ มาทำเป็นวัตถุดิบเยื่อกระดาษในการผลิตกระดาษใหม่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะมีพลาสติกหรืออะลูมิเนียม รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ฝุ่นปูน ฝุ่นจากสารอินทรีย์ต่าง ๆ ผสมอยู่ ดังนั้นหากโรงงานผลิตกระดาษต่างๆนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้เป็นเยื่อกระดาษใหม่ จึงค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลา


 


สำหรับเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การนำแร่วอลลาสโตไนท์ (wollastonite) มาใช้เป็นเยื่อกระดาษทดแทน โดยแร่ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติเกาะยึดติดกับเส้นใยกระดาษและมีความขาวสว่าง อีกทั้งมีความทึบแสงสูงเหมาะที่จะนำเยื่อกระดาษทดแทนนี้มาผลิตเป็นกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษ Duplex ที่ใช้ทำกล่องสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เช่น กล่องขนม กล่องสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองรูปแบบนี้สามารถนำมาผสมกันหรือเลือกใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของกระดาษและกระบวนการผลิต


 


จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเกิดผลงานผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษทดแทนที่สามารถลดการใช้เยื่อกระดาษจากต้นไม้ได้ประมาณ 5-30% และเยื่อกระดาษทดแทนเหล่านี้ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตกระดาษได้ประมาณ 750-4,500 บาทต่อตัน (ขึ้นอยู่กับชนิดของกระดาษและกระบวนในการผลิต) ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่บริษัทฯพัฒนาขึ้นสามารถนำเยื่อกระดาษทดแทนเหล่านี้ไปใช้ผลิตกระดาษได้หลากหลายชนิด เช่น กระดาษคราฟท์อุตสาหกรรม กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษ Duplex ฯลฯ และในการนำ "เยื่อกระดาษทดแทน" (Substituted Pulp) นี้เข้าร่วมประกวดในงาน นิทรรศการ "2008 Taipei International Invention Show & Technomart" (INST 2008) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน (INST 2008) ทำให้สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากเกณฑ์ของการเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 


กรรมการผู้จัดการ บจก.เฟล็กโซ่รีเสิร์ช กรุ๊ป กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้บริษัทฯ ยังได้นำผลิตภัณฑ์ "เอนไซม์ ใช้ในการผลิตกระดาษ" (Pulp and paper making enzyme) มาใช้กำจัดหมึกพิมพ์ กาว สิ่งเจือปน ออกจากเยื่อกระดาษรีไซเคิลต่างๆ ก่อนนำเยื่อกระดาษเหล่านี้มาผลิตใหม่ ทำให้กระบวนการผลิตกระดาษทำได้ง่าย ทดแทนการใช้เครื่องมือกลในการบดเยื่อกระดาษที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เอนไซม์ของบริษัทอื่น คือ บริษัทฯได้พัฒนาเอนไซม์ขึ้นถึง 4 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดเหมาะสมกับการใช้ในกระดาษรีไซเคิลที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานได้อย่างตรงจุดจนคว้ารางวัลเหรียญทองแดงนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้มีการจำหน่ายให้แก่โรงงานกระดาษหลายรายในประเทศไทยแล้ว


 


 



ลูกกลิ้ง Anilox


 



สารเคมีทำความสะอาดลูกกลิ้ง


 


ด้าน นายคมสัน รวิวรรณ กรรมการผู้จัดการ บจก. เพรสรูมซัพพลาย อีกหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมงานนิทรรศการ INST 2008 กล่าวว่า บริษัทฯเข้าร่วมในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมงานนิทรรศการนี้โดยนำ ระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ (Anilox Cleaner) ไปคว้ารางวัลเหรียญทองแดงนวัตกรรมที่สามารถลดของเสียในการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 


โดยที่ลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ (Anilox Roll) นั้นนับว่าเป็นหัวใจของกระบวนการผลิตงานพิมพ์ระบบเฟล็กโซ่กราฟฟิก แต่เมื่อมีการใช้งานลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ไประยะหนึ่ง หมึกพิมพ์จะอุดตันเซลล์ของ Anilox Roll ทำให้การพิมพ์เกิดสีผิดเพี้ยนและเกิดของเสียในกระบวนการผลิต ขณะที่การนำเข้าลูกกลิ้งใหม่นั้นมีราคาสูงมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ เพื่อทำให้ลูกกลิ้งดังกล่าวกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ โดยระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ของบริษัทฯจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น และยังถือเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการทำความสะอาดลูกกลิ้งหมึกพิมพ์แบบครบวงจรอีกด้วย


 


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ยังมองความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากการเข้าร่วมกับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่สนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากการวิจัย พัฒนา ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการผลักดันให้เข้าร่วมแสดงผลงานนิทรรศการในระดับสากล ดังที่ผ่านมาบริษัททั้งสองรายยังได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงาน Asian Paper Show ที่จัดขึ้นประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2008 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมกระดาษระดับนานาชาติที่ทำให้ทั้งสองบริษัทเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนสามารถก้าวกระโดดไปถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย


 


ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯมีบริษัทที่เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งบริษัทของไทยและต่างประเทศ และทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไปจนถึงขนาดใหญ่มากที่ติดอับดับฟอร์จูน 500 ด้วย


 


สำหรับผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยีนั้น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาทักษะธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ การให้คำปรึกษาทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสนับสนุนให้เข้าถึงตลาด ทั้งนี้ เพื่อติดอาวุธให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีไทยให้เติบโตและก้าวไกลในเวทีโลกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net