Skip to main content
sharethis

 http://blogazine.prachatai.com/user/suchana/post/1415


 


 


ช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่โรงเรียนต่างๆปิดภาคการเรียนการสอน เด็กๆหลายคนมีกิจกรรมต่างๆมากมายระหว่างปิดภาคเรียน แต่มีผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งได้นั่งพุดคุยจนนำไปสู่การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนในช่วงเวลาแบบนี้ให้กับลูกหลานและเด็กๆในชุมชน


 


ค่ายโหมเรารักษ์จะนะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ ณ บ่อโชนรีสอร์ท อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีน้องๆเยาวชนจากหลากหลายพื้นที่จากอำเภอจะนะ


 


จังหวัดสงขลาร่วมสี่สิบชีวิตมาเข้าค่ายร่วมกันเพื่อเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และเรียนรู้เรื่องราวและตามรอยประวัติศาสตร์เมืองจะนะ ซึ่งเป็นค่ายเป็นค่ายที่มีความหลากหลายสูงมากเพราะมีน้องเล็กๆตั้งแต่น้องป.๒ถึงพี่เรียนระดับปริญญาตรี และมีผู้ปกครองอาสาสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงค่ายและร่วมคิด ร่วมกำหนดกระบวนการจัดค่ายเอง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์พลเมืองเด็กสงขลาในการให้คำปรึกษา


 


นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ ในโครงการดับบ้านดับเมืองเรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ เล่าว่าสืบเนื่องจากการศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ได้จัดและสร้างกระบวนการเรียนรู้ศิลปะสร้างสุขให้กับเยาวชนในชุมชนทุกวันอาทิตย์ และได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อวิถีชีวิตชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยทำการฝากเงินและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสมาชิกในทุกวันเสาร์แรกของเดือน จากการแลกเปลี่ยนของสมาชิกทำให้เห็นว่าสภาพชุมชนและสังคมในปัจจุบันเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ ขาดการพึ่งพาอาศัยและดูแลซึ่งกันและกันเหมือนเช่นชุมชนในอดีต และเยาวชนในชุมชนหันเหไปพึ่งพิงเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆได้แก่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์


 


ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าทางศูนย์น่าจะมีการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนในชุมชน ในช่วงระหว่างที่โรงเรียนปิดภาคเรียน เพื่อสร้างกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ทางเลือกให้กับเยาวชน และน่าสร้างกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ได้เรียนรู้การพึ่งตนเองและการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมากกว่าการพึ่งพา ที่สำคัญควรจัดกระบวนการเรียนรู้ความเป็นมาประวัติศาสตร์ของเมืองจะนะ ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้รากฐานของชุมชนและสร้างความภาคภูมิใจในชุมชนท้องถิ่น


 


ช่วงเช้าวันที่ ๒๕ หลังจากที่แนะนำตัวและทำความรู้จักกันของชาวค่ายแล้วน้องๆเยาวชนได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านตำบลสะกอม มี "บังหมาน" นายดลรอหมาน โต๊ะกาวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ บ้านบ่อโชนผู้ใหญ่ใจดีมาเล่าเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องทะเลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้น้องๆได้ฟัง หลังจากนั้นมีการแบ่งกลุ่มน้องๆออกเป็น ๔กลุ่มเพื่อลงพื้นที่ศึกษาวิถีประมงพื้นบ้าน ได้แก่กลุ่มเรียนรู้การหาหอยเสียบและการกัดเซาะชาดหาด กลุ่มศึกษาแพปลา เพื่อเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการหาปลาและนำปลาขึ้นฝั่งปลดปลาจากอวน กลุ่มศึกษาการหากินริมชาดหาด ซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างตื่นเต้นกันมากเพราะเดินไปพบการตกเบ็ดได้ปลากระเบน ขนาดเกือบ ๕กิโล กลุ่มการทำกะปิบ้านปากบาง หลังจากนั้นช่วงบ่ายเด็กๆได้ประมวลสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยการสื่องานผ่านงานศิลปะ


 


ช่วงแดดร่มลมตกน้องๆได้ล้อมวงฟังเรื่องเล่าเมืองจะนะโดยคุณตาใจดี ครูวิสุทธิ์ สุทธิสว่าง อายุ 74 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสุทธิ์รักษ์ และ อาจารย์จรูญ หยูทอง จากสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นช่วงเวลาที่น้องๆนั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ


 


เริ่มแรกอาจารย์จรูญ บอกน้องๆชาวค่ายว่ารู้สึกหนักใจมากเมื่อต้องมาพูดเรื่องประวัติในค่ายนี้เนื่องจากความหลายหลายของชาวค่ายที่ร่วมฟังที่อายุหลากหลาย และเรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เล่าได้ยาก อาจารย์จรูญเล่าว่าจากการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองจะนะ เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับอำนาจรัฐจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นที่สืบทอด-สัมปทานอำนาจมากจากส่วนกลางโดยตลอด ตั้งแต่ยุคไพร่ส่วยดีบุก สมัยรัตนโกสินตอนต้นจนถึงมาในยุคคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาลเซียและโรงไฟฟ้าจะนะ


 


เมืองจะนะต้องส่งส่วยดีบุกให้กับเมืองหลวงและมีการจัดตั้งนายหมวด นายกองเข้าคุมไพร่ส่วยทำดีบุกมากถึง ๙ หมวด นอกจากนั้นจะนะยังมีท้องที่ที่ราบลุ่มใช้เพาะปลูกและมีลำคลอง ๒ สาย คือ คลองสะกอมและคลองนาทับ ชาวไทยมุสลิมทางเมืองมลายูจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำประมงและเพาะปลูก


 


ตั้งแต่ปลาสมัยอยุธยาจนกระทั่งปี พ..๒๔๓๙ จะนะมีฐานะเป็นเมืองขนาดเล็กขึ้นกับเมืองพัทลุงในระยะแรกและเมืองสงขลา เมืองจะนะต้องส่งส่วยดีบุก ส่วยกระดาน และเสื่ออาสนะกันแซงเตยให้เมืองหลวง จากการศึกษาประวัติศาสตร์จะนะทำให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของเมืองจะนะและชาวเมืองมีความสัมพันธ์กับกระบวนการต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองมาโดยตลอด ทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือยุค "ยุคกินเมือง"และยุคทุนนิยม-เสรีนิยมหรือ "ยุคเหมาเมือง" และล้วนเป็นการต่อสู้ที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับประชาชน


 


คุณตาวิสุทธิ์ ของเด็กๆเล่าว่าความรุ่งเรืองของเมืองจะนะในอดีตแบ่งได้ ๕ ยุค ได้แก่ ยุคดีบุก ยุคไก่ปิ้ง ยุคส้มจุก ยุคนกเขา และยุคอุตสาหกรรม


 


"จะนะก่อนนี้มีดีหลายอย่าง เขาช่วยสร้างให้เจริญเพลินเห็น


จะนะดีบุกไม่ลำเค็ญ                      ช่วยให้เป็นเมืองดังที่ตั้งใจ


เหมืองลิวงส่งให้พาไปขาย   สร้างรายได้ให้ประเทศวิเศษใหญ่


คนงานเหมืองดีบุกก็ดีใจ                 ต่างก็มีเงินใช้สบายตัว"


 


ยุคต่อมาไก่ปิ้งเมืองจะนะขึ้นชื่อมากโดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟจะนะมีการขายกันอย่างคึกคัก จนต้องมีการให้สินบนคนขับรถไฟเพื่อให้รถไฟออกจากสถานีช้าลง พอรถไฟออกจะเห็นฝูงกาฝูงใหญ่บินตามเพื่อกินเศษกระดูกไก่ที่คนบนรถไฟทิ้งลงข้างทาง แต่ไก่ปิ้งจะนะหมดความนิยมเมื่อพ่อค้าแม่ค้าหัวใสใช้เนื้อไก่น้อยเอาแป้งทอดหลอกทำให้หนาเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นหลังจากนั้นไก่ย่างจึงหมดความนิยมลง


 


ยุครุ่งเรืองอีกยุคหนึ่งคือยุคส้มจุก "ส้มจุกจะนะ"เป็นที่เลื่องลือเรื่องรสชาติ เป็นที่นิยมมีปลูกกันมากในอดีต เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวมีการขนใส่รถไฟเป็นโบกี้เพื่อไปขายยังเมืองกรุง บริเวณสถานีจะคึกคักมากเต็มไปด้วยส้มจุกใส่กระชอมเตรียมขนขึ้นรถไฟ ดังที่คุณตาวิสุทธิ์ได้สื่อสารผ่านกลอนว่า


 


"ส้มจุกจะนะนี้หนามาดัง                  ทุกคนหวังได้กินไม่ทนไหว


รสชาติช่างหอมหวานซ่านหัวใจ         ส้มเมืองใดไม่เหมือนเฉือนที่นี่


น้ำขาวคูแคแน่เต็มที่                      ส้มจุกนี้ปลูกมากท่านว่าศรี


ต่างส่งมาขายหน้าสถานี                  ตลาดนี้รวมส่งต่อ ก...


สองตู้รถไฟไป ก..                   ทุกวันรอส่งไปไม่ต้องขอ


กิ่งตอนก็ขายดีมีคนรอ                    ขายไม่พอต้องจองหายข้องใจ"


 


จากการที่ส้มจุกจะนะได้รับความนิยมมากและมีชื่อเสียงล่ำลือ ทุกภาคต้องการผลผลิตไปขายทางเกษตรอำเภอจึงเข้ามาส่งเสริมและแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งนั่นคือสาเหตุความล่มสลายของส้มจุกเมืองจะนะ เพราะหลังจากนั้นเกิดโรคระบาดส้มจุกล้มตายลงจำนวนมาก หัวใจสำคัญของส้มจุกในอดีตคือการใช้ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเท่านั้น


 


ยุคนกเขาชวา เป็นยุคที่นกเขามีชื่อเสียงและสร้างรายได้มากมายให้กับอำเภอจะนะและมาถึงยุคปัจจุบันคือยุคอุตสาหกรรมจะนะเป็นเมืองเล็กๆแต่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าจะนะ นกเขากำลังจะมีปัญหาอาจล่มสลายของนกเขาของดีเมืองจะนะอีกครั้งหนึ่งหากเกิดมลพิษที่กระทบต่อนกเขา สิ่งที่คุณตาวิสุทธิ์กังวลต่ออนาคตลูกหลานที่สุดคือกลัวว่าเมืองจะนะจะเป็นดังมาบตาพุด


จากประวัติศาสตร์ของเมืองจะนะจะเห็นว่าอดีตเมืองจะนะมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรมากมาย แต่ต้องหมดไปเนื่องจากส่วนกลางมาเอาทรัพยากรจากชุมชนและการส่งเสริมที่ผิดที่ผิดทาง


 


หลังจากที่ฟังเรื่องเล่าเมืองจะนะ น้องๆได้ลงเล่นสัมผัสน้ำทะเลแล้วหัวค่ำน้องๆแต่ละกลุ่มได้วางแผนเตรียมตัวเป็นนักสำรวจรุ่นจิ๋วที่จะไปตามรอยประวัติศาสตร์เมืองจากจะนะจากคำบอกเล่าในช่วงเย็นเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ลุ้นระทึกเพียงไรค่อยอ่านกันในตอนที่ ๒ดีกว่านะจ๊ะ


 


หมายเหตุ


คำว่า "โหมเรา" เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึง พวกเรา


คำว่า "บัง" ใช้เรียกผู้ชายที่นับถือศาสนาอิสลาม มีศักดิ์เป็นพี่


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net