Skip to main content
sharethis

แม้นวาด  กุญชร ณ อยุธยา


สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก : เรื่อง/ภาพ


 


 


- 1 -


 


3 ปีที่แล้ว ท้องน้ำขุ่นเหลืองแห่งนี้ยังดูเวิ้งว้าง แม้จะมีลำพูกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ แต่ก็ยังเห็นภาพเวิ้งน้ำกว้างไกลที่สะท้อนภาพของทะเลสาบสงขลาตอนกลางได้อย่างชัดเจน


 


มาถึงวันนี้ ปรีชา คำเจริญ  ผู้ใหญ่บ้านบ้านศรีไชย ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ค่อยๆ ล่องเรือผ่านสันดอน แหวกพืชน้ำ เรืออ้อมหลบธูปฤๅษีกอใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในบริเวณนี้ จาด กระจูด ราโพธิ์ กอผักกระเฉดขนาดใหญ่ สาหร่ายหลายชนิด เป็นพืชน้ำที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในน้ำตื้นไม่ถึงเอว ส่วนป่าพรุที่มีลำพูเป็นไม้หลักได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นหลายร้อยไร่ กระทั่งแนวพรุในทะเลสาบฝั่ง อ.สทิงพระ จ.สงขลา กับฝั่ง เกาะหมาก - อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้เติบใหญ่แผ่กระจายจนเกือบเชื่อมถึงกัน


 


"น้ำตื้นเป็นปัญหาใหญ่หลวง อีกไม่นานทะเลสาบตอนกลางจะกลายเป็นทุ่งเลี้ยงวัวควาย ใช้ทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้อีก" ผู้ใหญ่ปรีชา พูด


 


หลังจากปัญหาสัตว์น้ำลดลงจนเป็นวิกฤตยาวนานนับทศวรรษ จนในปี 2547 ผู้ใหญ่ปรีชาได้ขอให้กรมประมงนำลูกกุ้งกุลาดำมาทดลองปล่อยลงในฟาร์มทะเลบ้านศรีไชย เพื่อให้ชาวประมงสามารถจับขายประทังชีพ แต่ขณะที่รายได้กำลังเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก็ต้องมาเจอกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2548 ซึ่งหลังจากนั้นน้ำทะเลจากอ่าวไทยที่จะไหลเข้ามาทางปากน้ำทะเลสาบสงขลา ไม่เคยแผ่ความเค็มขึ้นมาถึงทะเลสาบตอนกลางได้อีกเลย 2 ปีที่ผ่านมานี้ ฟาร์มทะเลหน้าบ้านต้องปล่อยกุ้งก้ามกรามซึ่งราคาถูกกว่า เนื่องจากกุ้งกุลาดำรอดชีวิตและเติบโตได้ก็ต่อเมื่อน้ำมีความเค็มเท่านั้น


 


ผู้ใหญ่ปรีชา เล่าถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของชาวประมงว่า "ถ้าน้ำเค็มก็ยังปล่อยกุ้งกุลาดำได้ ถ้าน้ำจืดก็ปล่อยกุ้งก้ามกราม ชาวประมงขอสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาปล่อยให้เหมาะกับน้ำได้ ถ้าไม่สามารถจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต กรมประมงก็ต้องปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำไปตลอดเพื่อให้ชาวประมงอยู่รอด แต่ถ้าน้ำตื้นขึ้น 15 เซนติเมตรต่อปี มาดูหน้าแล้งน้ำในทะเลสาบจะตื้นแค่หัวเข่า อีกไม่กี่ปีทะเลแถบนี้จะกลายเป็นพรุเป็นแผ่นดินทั้งหมด พื้นที่หากินของชาวประมงลดลง แบบนี้อยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเร่งด่วน คือจะต้องหาทางขุดคลองเชื่อมน้ำในทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทยให้ได้ นักวิชาการต้องเร่งเข้ามาศึกษา ตอนนี้เครือข่ายชาวประมงทั้งลุ่มน้ำกำลังผลักดันเรื่องนี้"


 


ด้าน ยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร นักวิชาการประมง สถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง กรมประมง วิเคราะห์สถานการณ์ตื้นเขินในทะเลสาบไว้เช่นกันว่า เป็นธรรมชาติที่กระแสน้ำจืดจากเทือกเขาบรรทัดจะไหลพุ่งลงมา แล้วมาชนกับกระแสน้ำเค็มที่ไหลเข้ามาจากอ่าวไทย พื้นที่ทะเลสาบตอนกลางจึงมีอัตราการตกตะกอนสูงมาแต่อดีต ดังจะเห็นได้จากแผ่นดินงอกจนเกิดเป็นคาบสมุทรสทิงพระ แต่ในอดีตคาบสมุทรแห่งนี้มีคลองเชื่อมทะเลสาบกับอ่าวไทยถึง 34 สาย การไหลเวียนของตะกอนลงสู่ทะเลอ่าวไทยในระบบนิเวศสามน้ำจึงมีความสมดุลมาอย่างยาวนาน เขาคาดการณ์ว่าความตื้นเขินที่เกิดจากการไหลเวียนของน้ำตามธรรมชาติสูญหายไป จะทำให้การตื้นเขินอยู่ในระยะเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งชาวประมงในพื้นที่ต้องเปลี่ยนที่หากินโดยออกเรือไปหากินไกลขึ้น หรือเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ทะเลสาบที่กลายเป็นพรุให้เป็นพื้นที่ปศุสัตว์แทน


 


ส่วนแนวคิดเรื่องการขุดคลองเชื่อมทะเลสาบกับอ่าวไทย ยงยุทธ แสดงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ แต่การดำเนินการจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างชาวนาที่ปลูกข้าวในทุ่งระโนด กับชาวประมงตั้งแต่ปากพะยูนจนถึงสทิงพระ เนื่องจากชาวนาข้าวก็หวั่นว่าน้ำเค็มที่จะแผ่เข้ามาจะทำให้ขาดน้ำจืดในการปลูกข้าวตลอดทั้งปี ส่วนการที่น้ำเค็มเข้าไม่ถึงสทิงพระ สัตว์น้ำจากอ่าวไทยไม่สามารถเข้ามาวางไข่เติบโตในทะเลสาบตอนกลาง รวมถึงความตื้นเขินของทะเลสาบ ก็ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนเช่นกัน ดังนั้นแนวคิดนี้จะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย


 


อย่างไรก็ตามยงยุทธพูดอย่างมั่นใจ "การขุดคลองเชื่อมทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทยจะทำให้การไหลเวียนของน้ำจืดและน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะค่อยๆ ฟื้นฟูระบบนิเวศในทะเลสาบสงขลาให้ดีขึ้น"


 


 


- 2 -


 


ริมฝั่งทะเลสาบบริเวณชุมชนบ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ในกระชังตาข่ายขนาดใหญ่ของโครงการฟาร์มทะเลที่เพิ่งทดลองเลี้ยงปลาได้ไม่นานมีปลานิลลอยตายอยู่เป็นแพ ชาวประมงในบริเวณปากน้ำทะเลสาบสงขลายังต้องเรียนรู้เรื่องความผันผวนของน้ำจืด-กร่อย-เค็มไปตามความผิดเพี้ยนของระบบน้ำ


 


ความทุกข์ของชาวประมงตอนล่างที่พึ่งพาโพงพาง-ไซนั่งเป็นอาชีพอย่างเดียวเพราะไม่มีที่ดินทำกินเหมือนกับชาวทะเลสาบตอนบน ตอนกลาง หรือทะเลน้อย ที่นอกจากจะทำประมงแล้วชาวบ้านยังมีที่ดินทำกิน สามารถทำนาในหน้าฝน ทำตาลโตนด หรือเลี้ยงวัว ดังนั้นธรรมชาติของน้ำเค็ม-น้ำจืด-ความตื้นเขินที่ผิดปกติอย่างหนักในทะเลสาบตอนล่างย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข่าวคราวเรื่องทางการจะรื้อถอนไซนั่งหรือโพงพางเพื่อขุดลอกร่องน้ำฟื้นฟูทะเลสาบ จึงเป็นการเจรจาที่กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวประมงและเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด


 


ล่าสุดมีการหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดสงขลาและชาวประมงโพงพางอีกครั้ง เรื่องโพงพางในร่องน้ำกีดขวางการเดินเรือขนส่งสินค้า จากบริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลาถึงท่าเรือประมงใหม่ ที่เป็นอุปสรรคในการขุดลอกร่องน้ำเพื่อแก้ปัญหาร่องน้ำตื้นเขินจากการตกตะกอน โดยแผนการขุดลอกร่องน้ำสายนี้ ชาวโพงพางที่จะได้รับผลกระทบจำนวน 13 แถว 85 ช่อง (จากโพงพางในบริเวณทั้งหมดประมาณ 150 ช่อง) ได้เรียกร้องขอค่าชดเชยในการเลิกทำโพงพางเป็นจำนวนเงิน 500,000 ต่อ 1 ช่อง เหมือนการเจรจาที่ผ่านมา


 


สมัคร พิทักษ์นิติธรรม รองประธานประมงพื้นบ้าน ต.หัวเขา แสดงความคิดเห็นในภาพรวมต่อแนวทางการแก้ปัญหาทะเลสาบตื้นด้วยการขุดลอกร่องน้ำว่า ถึงชาวประมงในลุ่มน้ำเชื่อว่าการขุดลอกร่องน้ำในทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาทั่วพื้นที่ จะส่งผลกระทบเรื่องการฟุ้งของตะกอนยาวนานหลายปี การหาที่ทิ้งตะกอนจำนวนมหาศาลไม่ได้ หรือการขุดลอกไม่สามารถแก้ไขความตื้นเขินแต่เป็นการใช้งบประมาณนับพันล้านไปอย่างสูญเปล่า แต่ชาวประมงก็มิอาจเพิกเฉยต่อปัญหาความตื้นเขินของทะเลสาบได้อีกต่อไป โดยยินยอมที่จะเลิกทำโพงพางหากจะมีการขุดลอกร่องน้ำเพราะเห็นว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ของทางออกไม่กี่ทางที่เหลืออยู่


 


ซึ่งถ้ากรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีกำหนดร่องน้ำเมื่อไหร่ มีข้อมูลจากกรมประมงคาดการณ์ว่า จำนวนโพงพางในทะเลสาบสงขลาประมาณ 2,000 ช่อง ไซนั่งประมาณ 30,000 ลูก จะได้รับผลกระทบจากการขุดลอก 1 ใน 4 ของโพงพางและไซนั่งทั้งหมดในทะเลสาบสงขลา


 


ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการนี้ สมัครคิดว่ายังคาดการณ์ถึงผลกระทบต่อโพงพางต่ำไปมาก เพราะถ้ามีการขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบตามแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แนวเขตร่องน้ำที่ขุดลอกจะมีความกว้าง 150 เมตร และมีแนวกันชนข้างละ 300 - 400 เมตรจากกลางร่องน้ำ โพงพางในร่องน้ำของทะเลสาบทั้งหมดจะทำประมงต่อไปไม่ได้อีก ทั้งนี้ สมัครยืนยันข้อตกลงเดิมว่า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินงานต่างๆ จะต้องมีการจัดงบประมาณเป็นค่าชดเชยตามความตกลงระหว่างชาวประมงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชาวประมงมีทุนในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวต่อไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีการชดเชย จะไม่มีการรื้อถอนเครื่องมือประมงใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ


 


"ถามใจจริงลึกๆ ชาวประมงไม่มีใครอยากเลิกทำอาชีพที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษหรอก ถ้าเลือกได้พวกเราอยากให้มีการขุดคลองเชื่อมทะเลสาบกับอ่าวไทยที่อำเภอสทิงพระ หาพื้นที่ที่แคบที่สุด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของทะเลสาบสงขลาจากต้นเหตุ มีความยั่งยืนมากกว่า ถึงแม้ปากน้ำทะเลสาบสงขลาจะมีท่าเรือน้ำลึกที่ทำให้ปากน้ำกลายเป็นคอขวด แต่การขุดคลองเชื่อมจะทำให้น้ำในทะเลสาบไหลเวียนกลับมาเป็นทะเลน้ำกร่อยได้ มีการถ่ายเทตะกอนตามธรรมชาติ คลองเชื่อมที่ขุดจะทำหน้าที่แทนปากระวะที่ถูกปิดไปเมื่อปีห้าสิบกว่าปีที่แล้ว"


 


"นี่คือยุทศาสตร์ที่ชาวประมงในลุ่มน้ำจะผลักดันร่วมกันให้ถึงที่สุด" สมัครทิ้งท้าย


 


 


 


ภาพที่ 1. ปี 2549 วันชัย พูเรือง ชาวประมงบ้านศรีไชยกำลังยกไซในทะเลสาบสงขลาตอนกลางที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของป่าพรุและวัชพืช


 



 


ภาพที่ 2. ปัจจุบัน วันชัย พูเรือง กำลังจับกุ้งก้ามกราม ทะเลสาบตอนกลางมีการระบาดของวัชพืชอยู่ทั่วไป


 



ภาพที่ 3. วิถีชีวิตของชาวประมงในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ที่จับกุ้งก้ามกรามและปลาชนิดต่างๆ ในน้ำที่ตื้นขึ้น ท่ามกลางพืชน้ำและวัชพืชที่แพร่กระจายหนาแน่นขึ้นทุกวัน


 



ภาพที่ 4. ผู้ใหญ่ปรีชา คำเจริญ กับฝูงวัวที่เลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่ง ตามวิถีชีวิตของชาวบ้านในทะเลสาบตอนกลาง ที่มีการทำตาลโตนด ทำนา เลี้ยงสัตว์ และทำประมงสลับผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล


 



 


ภาพที่ 5. เจ้าหน้าที่ประมง จากสถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง กับชาวประมงชุมชนหัวเขา ยืนมองปลานิลในฟาร์มทะเลตายเพราะความผิดปกติของน้ำ


 


 


ภาพที่ 6. โพงพางกำลังกางดักสัตว์น้ำในเขตร่องน้ำตรงกันข้ามกับท่าเทียบเรือประมงใหม่ หากมีการขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลา โพงพางจะเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกรื้อถอนมากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net