Skip to main content
sharethis


วิทยาลัยพยาบาลทั่วประเทศจัดระดมสมองครั้งใหญ่ ทบทวนบทบาทพยาบาลรองรับการกระจายอำนาจ รุกปฏิรูประบบครบวงจร ตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน การทำงาน แรงจูงใจต่ออาชีพ สร้างกำแพงต้านภัยทางสังคม หวังฟื้นการดูแลและพึ่งตนเองในชุมชน


 


25 ต.ค. 51    สภาการพยาบาลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการพยาบาล (สวพ.) แผนการสร้างพยาบาลของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน สนับสนุนโดย สสส. ดำเนินการโดย คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันพยาบาลทั่วประเทศ จัดประชุมวิชาการ "การทบทวนบทบาทพยาบาล (ชุมชน) สู่การเป็นภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" หรือ Partnership in Community Health: Sharpening Roles of Nurses ระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดี-รังสิต กทม.


 


โดยงานดังกล่าว จะเป็นการระดมวิชาชีพและวงวิชาการพยาบาลครั้งใหญ่ ร่วมแลกเปลี่ยนกับองค์กรชุมชนต่างๆ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนเปลงของระบบสุขภาพและระบบบริการสุขภาพทั้งในระดับโครงสร้างและระบบ อาทิ การปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ บทบาทการดูแลสุขภาพซึ่งอยู่ระหว่างการโอนไปให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะครอบคลุมทุกพื้นที่ในไม่ช้า ซึ่งจะเกิดเงื่อนไขสำคัญให้ภาคประชาชนมีโอกาสเป็นผู้กำหนดนโยบาย ตลอดรูปแบบการบริการและการดูแลสุขภาพในพื้นที่ของตนเอง บริการทางการพยาบาลจึงต้องปฏิรูปตนเองโดยเปลี่ยนบทบาทจากตั้งรับปัญหาเดิมๆ ไปเป็นการตั้งรับในปัญหาใหม่ และรุกเพื่อสร้างกำแพงต้านภัยทางสังคมอันเนื่องจากการเปลี่ยนของโลกและสังคมบริโภคนิยม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคอุบัติซ้ำ หรือโรคจากวิถีชีวิตในสังคมบริโภคเกิน


 


เนื้อหาในการประชุมจะเป็นการทบทวนบทบาทพยาบาลตั้งแต่ระบบการศึกษาพยาบาล ระบบการบริการพยาบาล ระบบการสนับสนุนที่สร้างเงื่อนไขการคงอยู่ในวิชาชีพพยาบาล นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างเครื่องมือให้กับบุคลากรในวิชาชีพพยาบาลได้เรียนรู้หลักการและแนวคิดว่าด้วยการสื่อสารที่ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนอีกด้วย  


 


รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการแผนการสร้างพยาบาลของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อก่อนนี้พยาบาลหรือแพทย์ มีโอกาสลงไปทำงานชุมชนน้อย งานของพยาบาลคืออยู่ในโรงพยาบาล ส่วนงานชุมชนมักจะเป็นงานแถม หรือแม้จะมีความพยายามทำงานชุมชนอยู่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนไม่มีช่องทาง พอมีการปฏิรูประบบสุขภาพ พยาบาลจึงมีโอกาสทำงานนั้น พอได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องการพัฒนาพยาบาลของชุมชนมาสักระยะหนึ่ง ก็เห็นว่ามีความรู้หรือข้อมูลบางอย่างที่บอกได้ว่า พยาบาลทำได้จริง จึงเอามาปรับครั้งใหญ่ รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวถึงที่มาของการประชุมครั้งนี้


 


ในส่วนประเด็นของของการทบทวนเพื่ปรับบทบาทพยาบาลนั้น ผ.อ.แผนการพยาบาลของชุมชนกล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การปรับที่หลักสูตรการเรียนการสอนพยาบาลเพียงอย่างเดียว เพราะลำพังการเรียนการสอนในห้องเรียนอาจจะไม่ตรงกับปัญหาในชุมชน


 


"เนื่องจากเป็นอาจารย์ด้วย เวลาทำงานก็มีความขัดแย้งกันระหว่างของจริงกับทฤษฎีที่สอน เรียนหนังสือจนจบปริญญาเอกก็ยังเห็นปัญหาว่าของจริงกับทฤษฎีไม่ตรงกัน ของจริงมันพัฒนาไม่ได้ เพราะทฤษฎีหยิบของที่อื่นมา ซึ่งต้องยอมรับว่าวิชาชีพพยาบาลนั้นนักวิจัยมักจะอยู่ในสถาบันการศึกษา เราจึงเริ่มที่สถาบันการศึกษาก่อน แต่โครงการพยาบาลของชุมชนไม่ได้เริ่มที่สถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการวิจัยเชิงระบบ เพื่อหาคำตอบว่าระบบที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร


 


"ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เราไปทำงานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เขาบอกว่า ถ้าอยากให้ระบบพยาบาลเกิดขึ้นในชุมชนเพื่อเป็นหน่วยบริการเบื้องต้นได้จริงๆ ขอให้คนบ้านเขาได้เป็นพยาบาลก็แล้วกัน เราก็เปิด พอเริ่มเปิดก็เป็นเครือข่าย และสถาบันการศึกษาก็ทำเรื่องนี้โดยเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลชุมชนก็มี อบต.เป็นเครือข่ายในพื้นที่ สถาบันการศึกษาเลยกลายเป็นตัวกลางให้คนนั้นคนนี้มาคุยกันได้  เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นประเด็นว่า ผลิตคนออกมาแล้วเขาจะไปทำงานอย่างไร มันต้องมีระบบที่วางไว้ให้เขาเห็นเลยว่า ระบบจะเป็นอย่างนี้ ในอนาคต เขาจะทำงานได้หรือไม่ อย่างไร มีค่าตอบแทนอย่างไร จะมีความก้าวหน้าอย่างไรในชุมชน" รศ.ดร.ขนิษฐา ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพในการประชุมครั้งสำคัญนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net