Skip to main content
sharethis


"บ้านเรายังไม่พร้อมต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง เราคงต้องปล่อยให้กลไกของระบบประชาธิปไตยพัฒนาค่อยเป็นค่อยไป ผมรอได้ แต่ไม่เอาทหาร ถ้าปี 2549 ไม่มีปฏิวัติผมรอให้ทักษิณลาออกหรือชุมนุมต่อ เลือกกลับมา เรามาไล่ต่อ เราตรวจสอบต่อและใช้กลไกรัฐธรรมนูญ"


 


ศราวุฒิ ปทุมราช นักสิทธิมนุษยชน


 


 



"พันธมิตรไม่ใช่พันธมิตรประชาชนและไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นองค์กรที่มีหน้าตาเหมือนฟาสซิสต์ขึ้นทุกวัน"


 


ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 



"ป่วยการพูดถ้าไม่สามารถหยุดพันธมิตรฯได้ หมายความว่า ทั้งหมดต้องเลิกสนับสนุนประเด็นที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีเหตุผลของพันธมิตร"


 


รศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 



"ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การยุบสภา ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมิใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร แต่การยุบสภานั้นเป็นวิธีการแก้วิกฤตการณ์ของระบบรัฐสภา ถ้ารัฐบาลและสภาผู้แทนไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ การยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าได้"


 


ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


000


 


เมื่อวันที่ 12 ต.ค. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง ""ตุลา" 51 กับทางออกสังคมไทย" ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางผู้สนใจเข้าฟังราว 50 คน


 


นายศราวุฒิ ปทุมราช นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หลัง 14 ตุลาคม 2516 สังคมไทยเริ่มมีพัฒนาการของประชาธิปไตยพอสมควรโดยเริ่มจากมีรัฐธรรมนูญ แต่ความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและการปกครองในระบอบประชธิปไตยยังไม่มากนัก เพราะสังคมไทยมีพัฒนาการมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย เป็นไพร่ที่ต้องมีนายคุ้มหัวมาตลอดในขณะที่หลังมีการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมบูรณาญิทธิราชถึง 14 ตุลาคม 2516  การรัฐประหารยึดอำนาจก็มีมาตลอด หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และมาจนถึง 19 กันยายน 2549 ก็มีพัฒนาการแบบนี้ ซึ่งพัฒนาการแบบนี้มีปัญหาในระบอบประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบันก็มีความพยายามให้ทหารออกมารัฐประหาร


 


นอกจากนี้ ยังมีปัญหาประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองและยังไม่มีทางออก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นที่มีการครอบงำของอิทธิพลท้องถิ่นจนไม่รู้สึกตนเองว่ามีอำนาจอธิปไตยจึงเป็นบริบทที่ต้องมีการปรับแก้ไขด้วย


 


นายศราวุฒิ ยังได้กล่าวถึงภาวะผู้นำในหมู่ภาคประชาชนด้วย ซึ่งได้ให้คนที่มีลักษณะอำนาจนิยมมาใช้อำนาจ ในสมัย 6 ตุลาคม 2519 สล้าง บุนนาค เป็นคนไปดักจับดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่สนามบินดอนเมืองและใช้ความรุนแรงด้วย ขณะเดียวกันก็ตำหนิฝ่ายพันธมิตรฯด้วน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไม่มีภาวะผู้นำภาคประชาชนเลย เพราะการเป็นทหารมาก่อนจึงนำยุทธวิธีทหารมาใช้กับภาคประชาชน เช่น การล้อม การจัดตั้งหน่วยการ์ด หรือการค้นนักข่าว เป็นการใช้อำนาจมาดำเนินการทำให้เกิดความหวาดระแวงแพร่ไปในสังคมไทยและเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย


 


ด้านทางออก นายศราวุฒิ พูดถึงการฟัง การเรียนรู้ที่จะฟัง และการฟังอย่างเข้าใจไม่ใช่ฟังโดยการตีความเพราะถ้าไม่ฟังกัน ทางออกก็เป็นไปไม่ได้ จากนั้นจึงได้ยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐซึ่งได้ไปเข้าร่วมประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ใน พ.ศ. 2536 และได้เข้าไปเป็นองค์ปาฐกให้ฝ่ายเอ็นจีโอ แต่เอ็นจีโอโดยมีหัวหอกเป็นกลุ่มลาตินอเมริกาบอยคอตเพราะรับไม่ได้เนื่องจากอเมริกาได้เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในอเมริกาใต้มานานและปฏิเสธสัญลักษณ์ทุกอย่างของอเมริกา


 


เมื่อประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ขึ้นไปยืนมีการโห่ร้องและไล่ออกไป เขายืนเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงโดยไม่พูดอะไร จนมีการบอกกันให้เงียบ คาร์เตอร์พูดประโยคแรกว่า "สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือ เมื่อคนหนึ่งพูด คนหนึ่งต้องฟัง"


 


นายศราวุฒิ กล่าวว่า ประโยคนี้เป็นประโยคที่สำคัญ เพราะการฟังเป็นการรับสารของผู้สื่อสาร แต่ปัญหาในตอนนี้คือเหตุผลของการฟังถูกเบียดบังด้วยอคติและอารมณ์เพราะเราจะปิดกั้นตัวเองตลอดเวลาว่าคนที่พูดนั้นมีจุดยืนอยู่ในฝ่ายใด  


 


นายศราวุฒิ กล่าวว่า ถ้าจะมีการยอมรับผิด ฝ่ายรับผิดชอบมีทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายรัฐ ในฐานะผู้มีอำนาจมีสิทธิเด็ดขาดในการรักษาความสงบบ้านเมือง แม้อีกฝ่ายจะใช้ความรุนแรงก็ตามรัฐจะต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงและเรียนรู้ว่าการเดินขบวนเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เป็นทางออกสุดท้ายในการให้ผู้มีอำนาจมาฟังเพื่อดำเนินการแก้ไข เพราะเมื่อไม่มีการดำเนินการตามหลักปกติก็สามารถชุมนุมในที่สาธารณะได้ เช่นเดียวกับที่การชุมนุมปิดถนนที่บ้านกรูด- บ่อนอก จังหวัดประจวบฯเพื่อให้ผู้มีอำนาจมาฟังเหตุผลในการคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็ก หลักการทั่วไปคือรัฐต้องเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการชุมนุม ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ขึ้นและอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ในต่างประเทศการชุมนุมเป็นเรื่องปกติ มีธรรมเนียมการขออนุญาตชัดเจน และผู้ชุมนุมต้องแสดงตัวชัดเจน


 


นายศราวุฒิ ยังกล่าวถึงฝ่ายภาคประชาชนว่า ทางฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมกันที่เมืองมองธานี ถ้ามีการเคลื่อนไหวความรุนแรงก็จะเกิดขึ้น การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองต้องระวัง ส่วนพันธมิตรฯเองก็เชื่อว่ามีมวลชนจัดตั้งพอสมควร ดังนั้นเสียงที่เงียบอยู่แม้เป็นกลุ่มเล็กๆคงต้องออกมาแสดงความเห็นมากขึ้น


 


ทั้งนี้ ถ้าไม่มีใครรับเป็นคนกลางในการเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คิดว่ารัฐบาลต้องยุบสภา แต่เชื่อว่าแม้เลือกตั้งใหม่รัฐบาลชุดนี้คงกลับมา แล้วพันธมิตรฯจะไม่ยอมอีกเพราะมองว่าเป็นซากเดนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เราจะไม่ยอมรับกติกาใดเลยหรือ สังคมไทยจะยอมให้บางกลุ่มบางฝ่ายมาเรียกร้องเกินขอบเขตแล้วไม่ยอมรับเกณฑ์อะไรของสังคมประชาธิปไตยหรือ


 


"บ้านเรายังไม่พร้อมต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง เราคงต้องปล่อยให้กลไกของระบบประชาธิปไตยพัฒนาค่อยเป็นค่อยไป ผมรอได้ แต่ไม่เอาทหาร ถ้าปี 2549 ไม่มีปฏิวัติผมรอให้ทักษิณลาออกหรือชุมนุมต่อ เลือกกลับมา เรามาไล่ต่อ เราตรวจสอบต่อและใช้กลไกรัฐธรรมนูญ"


 


 


000


 


ต่อมา รศ.ใจ  อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาหลักในสังคมไทยคือเรื่อง  2 มาตรฐานและความล้มเหลวของสถาบันสาธารณะโดยมีต้นเหตุมาจากสองซีกของชนชั้นปกครองไม่ได้มาจากประชาชนกับรัฐ และในส่วนตัวเองไม่เป็นกลางแต่ไม่เข้าข้างพันธมิตรฯไม่เข้าข้างนปช. แต่เข้าข้างระบอบประชาธิปไตย การขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของคนจน


 


รศ.ใจ ยกตัวอย่าง 2 มาตรฐานว่า สันติวิธี อหิงสาที่ถือไม้กระบอง ถือปืนยิงใส่ตำรวจเรารับได้  แกนนำที่ถูกหมายจับพอประกันตัวออกมาสามารถเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและขึ้นเวทีปราศรัยต่อได้  ซึ่งตามปกติถ้าใครถูกกล่าวหาว่ามีความผิดผิด มีหมายจับออกมาแล้วไปทำอีกต้องติดคุกเลย แต่ตอนนี้ไม่ต้อง ต่างจากประสบการณ์สหภาพแรงงานบางคนที่ไม่ได้แม้แต่ประกันตัวเมื่อถูกหมาย ส่วนรัฐคือฝ่ายรุนแรงจริง กระสุนยางทำให้คนเจ็บตายได้ แก๊สน้ำตายิงบนขาคนก็ขาดได้ ตำรวจถือปืนเล็งก็ไม่ถูกต้องแต่เขามีข้อแก้ตัวของเขา อย่างไรก็ตามมันมี 2 มาตรฐาน ตอนนี้ความเห็นจากสังคมในสื่อจะมองว่าทางหนึ่งคือสันติวิธี  อีกทางคือความรุนแรง หรืออย่างการมีคนกล่าวว่าทักษิณขาดจรรยาบรรณซึ่งก็ขาดจริง แต่สำหรับจรรยาบรรณของหมอที่ต้องดูแลคนไข้โดยไม่เลือกปฏิบัตินั้นหมอไม่ต้องมีแล้วหรือไม่


 


อีกกรณีที่ รศ.ใจ นำภาพมาแสดงคือ ภาพรถถังในการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยตั้งประเด็นว่าเป็นความรุนแรงที่สันติวิธีและได้รับการยอมรับ หรือเรื่องกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกตัดสินว่าเป็นของกัมพูชา นายสนธิ ลิ้มทองกุลก็ไม่ยอมรับศาลโลก แต่กลับจะเอาตำรวจไทยไปขึ้นศาลโลกก็เป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน นอกจากนี้การปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะไม่มีใครที่ปลุกระดมจากการคลั่งชาติชี้แจง รศ.ใจยังระบุด้วยว่าต้องการฟังคำชี้แจงเรื่องนี้จาก นางสาวรสนา โตสิตระกูล ซึ่งเขาได้เลือกเข้าไปเป็น ส.ว.ด้วยเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งนี้ การคลั่งชาติทำให้คนตาบอด หลายคนหมดปัญญา หลายคนสมองไหลออกมาจากหูด้วยความคลั่งชาติ


 


ประเด็น 2 มาตรฐานต่อไปของรศ.ใจ คือ ความรุนแรงที่ไม่ต้องแคร์ โดยได้ยกตัวอย่างกรณีตากใบ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้  ความรุนแรครั้งนั้นไม่ต้องแคร์เพราะสังคมไทยมองว่าเป็นอิสลามหรือไม่ใช่คนไทย ซึ่งเหตุการณ์ที่ตากใบนี้ พ.ต.ท.ทักษิณควรจะติดคุก แต่คนที่ออกมาเรียกร้องตอนนั้นกลับเป็นคนกลุ่มน้อยและไม่เห็นมี ส.ว.มายื่นหนังสือให้จับพ.ต.ท.ทักษิณในกรณีดังกล่าว  ในขณะที่เหตุการณ์วันที่  7 ตุลาคม 2551 มีคนตาย 2 คน มีการเรียกร้องแสดงว่าการตายครั้งนี้มีค่ากว่าการตายที่ตากใบซึ่งตายไปโดยไม่ต้องสนใจ หรือแม้แต่การซ้อมนักโทษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ควรขึ้นศาลด้วยเพราะปล่อยให้เกิดขึ้นแสดงว่าเห็นด้วยการการซ้อมผู้ต้องหา หรือแม้แต่การยิงเข้าไปในมัสยิดกรือเซะโดยการสั่งของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ก็คงเป็นการสั่งยิงเข้าไปด้วยสันติวิธี หรือแม้แต่กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็เป็นความรุนแรงที่ไม่ต้องแคร์


 


ประเด็นต่อมาคือ ความรุนแรงที่ไม่ต้องเอาผิดใคร เช่น ความรุนแรงของเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 ไม่ต้องพูดเรื่องใครรับผิดชอบไม่เหมือนกรณี  7 ตุลาคม 2551 ที่ตำรวจยิงแก๊สนำตา แต่ไม่พูดถึง 6 ตุลาเพราะมันไม่รุนแรงหรือ  หรือกรณี 14 ตุลาคม 2516 พล.อ.ถนอม กิตติขจรก็กลับมาอยู่ได้ปกติ  พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็กลับมาได้ปกติ เพราะนายอานันท์ ปันยารชุน บอกไม่เป็นไรให้อยู่ต่อได้ หรือกรณีที่ทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เข้าไปเตะคนที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ทำได้โดยไม่ต้องเอาผิดใครเพราะไม่รุนแรงเหมือนกรณี 7 ตุลาคม 2551 ใช่หรือไม่


 


"คุณสนธิ บอกว่าประชาชนไทยไม่เข้าใจประชาธิปไตย ผมว่าสนธิไม่เข้าใจประชาธิปไตยมากกว่า ทำรัฐประหารเพื่อปกป้องประชาธิปไตยได้มีที่ไหน อย่างนั้นพรุ่งนี้ผมไปปล้นธนาครเพื่อปกป้องธนาคารดีหรือไม่ 70 - 30 การเมืองใหม่ โธ่เอ๋ย สมัยถนอมก็มีอย่างนี้ สมัยนายพลซูฮาร์โต้ก็มีระเบียบใหม่ซึ่งเป้นคำที่พิภพใช้ ซึ่งในอินโดนีเซียระเบียบใหม่มันคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ทำละครการเลือกตั้งให้ดูดี นี่คือสิ่งที่พันธมิตรฯต้องการ"


 


รศ.ใจ กล่าวต่อไปว่า คนจนเข้าใจประชาธิปไตยได้ดี จากการศึกษาอย่างลึกซึ้งว่าคนชนบทใช้มาตรฐานอะไรในการเลือกตั้งของนักวิชาการต่างประเทศ ชื่อแอนดรูว์ วอร์กเกอร์ ซึ่งในบทความ "รัฐธรรมนูญชนบท" บอกว่า คนจนคิดเองเป็นโดยใช้ทั้งแนวความคิดอุปถัมป์บ้างและทันสมัยบ้างในการคิด


 


เรื่องที่เชื่อมโยงทุกอย่างที่ฝ่ายต้านรัฐบาลเห็นด้วยกันคือ มีจุดเชื่อมจุดเดียว คือรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพลังประชาชนไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากเสียงส่วนใหญ่ของคนจน และคนจนโง่ คนจนไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนเสียงจึงต้องลดพื้นที่ประชาธิปไตย จะต้องแต่งตั้ง ส.ว. แต่งตั้ง ส.ส. ซึ่งถ้าพิจารณาการล้อมรัฐสภาขแงประชาชนสมัย สนช. และบุกเข้าไปเป็นสัญลักษณ์นั้น จะเห็นว่ามีความแตกต่าง เพราะรัฐบาล สนช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกำลังจะผ่านกฎหมายหลายฉบับที่ลดพื้นที่ประชาธิปไตย เช่น กฎหมายความมั่นคง และผ่านไปโดยไม่มีการพูดอะไรมาก ใช้เวลา 5-10 นาทีก็ผ่าน สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือภาคประชาชนที่ไปล้อม สนช. ตอนนั้นไม่มีปืนและไม้กระบอง ไม่ใช้ความรุนแรง


 


"รัฐบาลที่มาแถลงนโยบายในวันที่ 7 ตุลาคม มาจากการเลือกตั้ง ผมไม่ได้เลือก แต่หลักพื้นฐานของประชาธิปไตยคือคุณต้องยอมรับรัฐบาลที่คุณไม่ชอบถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศชอบ และคุณต้องรณรงค์ให้คนเปลี่ยนใจไม่ใช่ไปบอกว่าไม่มีสิทธิที่จะเลือกรัฐบาลนี้มา" รศ.ใจ กล่าว และว่า


 


ทุกสถาบันสาธารณะยังล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ บอกแก้ได้ด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งมันไม่มีทางปกป้องระบอบประชาธิปไตยได้ ส่วนรัฐบาลก็คิดว่าไม่มีศักยภาพในการปกป้องประชาธิปไตยเพราะไม่มีประวัติในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ฝ่ายค้าน ศาล ทหาร ตำรวจ วุฒิสภาก็ไม่สามารถทำได้


 


รศ.ใจ ยังตั้งคำถามว่าสถาบันจารีตสนับสนุนพันธมิตรจริงหรือไม่ น่าจะออกมาให้ชัดเจน และที่แย่ที่สุดคือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆมี 2 มาตรฐาน สอนวิธีการสร้างประชาธิปไตยในห้องเรียนแต่กลับปรบมือให้การทำรัฐประหาร


 


ทั้งนี้ พันธมิตรไม่ใช่พันธมิตรประชาชนและไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นองค์กรที่มีหน้าตาเหมือนฟาสซิสต์ขึ้นทุกวัน เพราฟาสซิสต์ไม่ว่าจะเป็นพรรคนาซีในเยอรมัน พรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี ฐานสำคัญคือชนชั้นกลาง ใช้ชาตินิยมสุดขั้วแบบนิยายที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนปัจจุบันซึ่งเขาพระวิหารเป็นตัวอย่างได้ ไม่สนเหตุผล ด่าผู้ที่ไม่เห้นด้วยหมด


 


ลักษณะฟาสซิสต์เกลียดคนจน พันธมิตรฯเกลียดคนจนเพราะคนจนโง่ และอ้างว่าไม่ชอบนายทุนใหญ่เพื่อเอาใจชนชั้นกลาง คิดว่าเราเห็นคุณสมบัติทุกข้อที่ตรงกับขบวนการฟาสซิสต์ และทฤษฎีที่ใช้คือเคออส เพื่อสร้างความปั่นป่วนซึ่งนายพิภพ ธงชัย พูดออกมา ต้องการสร้างความปั่นป่วน ต้องการการปะทะ ต้องการให้ทหารหรือศาลมาทำรัฐประหาร ดังนั้นไม่มีทางประนีประนอมได้เพราะเขาไม่อยากประนีประนอม


 


"เราต้องกลับมา ที่ ก. ไก่ ข.ไข่ เรื่องของการสร้างประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมาจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มที่รณรงค์เพื่อประชาธิปไตยเพื่อสิทธิเสรีภาพคนรักเพศเดียวกัน คนที่ขายบริการเพศ ประชาธิปไตยมาจากการรณรค์เหล่านี้ มาจากการที่มีพรรคการเมืองทางเลือกของคนจน ของกรรมาชีพ ของเกษตรกร"


 


ทั้งนี้ ทางออกในการปกป้องประชาธิปไตย คือ ภาคประชาชน  องค์กรเอ็นจีโอ กป.อพช. สหภาพแรงงาน ต้องจัดตั้งขั้วอิสระไม่เข้าข้างฝ่ายใด ควรรณรงค์เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและเพื่อรัฐสวัสดิการ


 


 


000


 


รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณี  7 ตุลา เรากำลังอยู่ในภาวะของความจริงด้านเดียวในขณะที่ความผิดเกิดจากทั้ง 2 ด้าน และคิดว่าตำรวจถูกโจมตีมากเกินความจริง ส่วนพันธมิตรฯถูกพูดถึงความผิดน้อยกว่าความเป็นจริง


 


รศ.ดร.สุธาชัย ระบุว่า ปรากฏการณ์พันธมิตรฯเป็นเฉพาะหน้าของปัจจุบัน ซึ่งเป็นความขัดแย้งของ 2 กลุ่มทางการเมือง คือกลุ่มอมาตยาธิปไตย กับกลุ่มทุนหรือ พ.ต.ท.ทักษิณ การต่อสู้ที่ดำรงอยู่ก่อให้เกิดลักษณะพิเศษในสังคมไทย ฝ่ายหนึ่งคุมรัฐบาลแต่ไม่ได้อำนาจรัฐ อีกฝ่ายคุมอำนาจรัฐแต่ไม่ใช่รัฐบาล


 


ฝ่ายอมาตยาธิปไตยแม้ไม่ได้กุมรัฐบาลแต่กุมกลไกในรัฐต่างๆไว้ เป็นพลังแบบเก่า อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยมที่เชื่อในคุณค่าแบบเก่า ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและโลกาภิวัตน์ ซึ่งพันธมิตรฯเป็นกลไกสุดท้ายในการเคลื่อนไหว และมองว่าพลังฝ่ายอมาตยาธิปไตยยังใหญ่ น่ากลัว และคุกคามประชาธิปไตยอย่างมาก แต่ไม่ได้คุมรัฐบาลเนื่องจากตัวแทนแพ้การเลือกตั้งให้ฝ่ายทักษิณ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่เพราะก่อนนี้เมื่อก่อรัฐประหารแล้ว สลายพรรคการเมืองและฝ่ายตรงข้ามทำได้ง่าย  


 


แต่ครั้งนี้หลังรัฐประหารแม้จะพยายามทำลายทั้งทำให้เกิดความแตกแยกภายใน การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อใดที่กระบวนการยุติธรรมลงโทษคนไม่ได้ทำความผิด เมื่อนั้นกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา กรณีดังกล่าวเห็นว่าคนส่วนมากที่ต้องถูกลงโทษด้วยไม่ได้มีปัญหาที่เห็นชัด


 


เมื่อฟื้นมาใหม่ในนามพรรคพลังประชาชน การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 มีความพยายามไม่ให้ชนะ คิดว่าเป็นเพราะชนชั้นนำประเมินประชาชนชั้นล่างผิด ในการรณรงค์เลือกตั้งสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ใช้เรื่องเอาคนดีเข้าสภา พูดเรื่องคนดี แต่ประชาชนระดับล่างก้าวข้ามไปแล้วจึงเลือกที่พรรคการเมืองไม่ใช่เลือกที่คน ซึ่งหมายความว่าการซื้อเสียงมีอิทธิพลลดลงในการตัดสินว่าใครจะได้เป็น ส.ส.


 


ทั้งนี้ ในภาคใต้แม้จะกำเงินแค่ไหนแต่ถ้าไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ ในขณะที่การเลือกตั้งในกรุงเทพฯขึ้นกับกระแส ซึ่งการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะเลือกพรรคการเมืองที่เป็นแบบทักษิณจึงทำให้คนโนเนมแต่ลงเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชนชนะ แต่ ส.ส. ที่เคยผูกขาดกลับแพ้การเลือกตั้ง มันจึงบอกว่าการมองคนชั้นล่างโง่นั้นคิดผิด และมีแนวโน้มที่ดี


 


นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ได้สร้างมิติใหม่ทางการเมืองหลายอย่าง เช่น การตั้งข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะเดิมการตั้งข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ เช่น 14 ตุลา ข้อเรียกร้องคือให้ปล่อย 13 กบฎ และขอรัฐธรรมนูญ หรือสมัชชาคนจนเรียกร้องให้เปลี่ยนมติครม. ซึ่งเป็นการยื่นข้อเรียกร้องไปให้รัฐบาลตัดสินใจ บางครั้งข้อเรียกร้องก็ต่อรองได้ เมื่อประนีประนอมจึงสลายการชุมนุม แต่ทั้งหมดนี้ใช้ไม่ได้กับพันธมิตรฯ


 


นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯยังเปลี่ยนไปได้ เช่น เริ่มที่เรื่องรัฐธรรมนูญ ไล่จักรภพเมื่อลาออกก็ไล่สมัคร สมัครลาออกก็เรียกร้องการเมืองใหม่ การตั้งข้อเรียกร้องเลื่อนไหลทำให้อีกฝ่ายนึกไม่ออก สมมติรับเรื่องการเมืองใหม่  พิภพ ธงไชย เองบอกว่ายังต้องหารือก่อน ดังนั้นการเมืองใหม่ก็ไม่มีจินตภาพที่ชัดเจน สมมติว่าดีจริงก็ยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แกนนำแต่ละคนก็พูดไม่ตรงกัน


 


แต่สิ่งที่ไม่แปลกใหม่และล้าหลัง คือ การอ้างอิงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาใช้ในการคลื่อนไหว ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่วิทยุยานเกราะ ดาวสยาม ลูกเสือชาวบ้าน ใส่ร้ายผู้คิดไม่เหมือนว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดี


 


"ถ้าเชื่อก็แสดงว่าคนอย่างสมัคร สุนทรเวช ไม่ภักดีและจะเอาระบอบสาธารณะรัฐ ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่บ้าก็เมา สรุปแล้วใครคิดไม่ตรงจึงไม่ภักดี เขาเท่านั้นจึงภักดีโดยแท้ เป็นแนวสุดท้ายที่ปกป้องสถาบัน"


 


รศ.ดร.สุธาชัย ยังกล่าวอีกว่าพันธมิตรฯเป็นตัวนำในการสร้างความเกลียดชังและแปลกแยกในบ้านเมือง โดยบอกให้สื่อรัฐต้องเป็นกลาง แต่เอเอสทีวีกลับออกอากาศด้านเดียวได้  24 ชั่วโมงโดยไม่มีการตั้งคำถามเลยในสื่อกระแสหลัก และเรียกร้องให้ทหารรัฐประหารอย่างเปิดเผยผ่านทางวิทยุทุกวัน แต่สื่อกระแสหลักและนักวิชาการกลับไม่แตะต้องเลยราวพันธมิตรฯแตะต้องไม่ได้ ในขณะที่ นปช. ถูกตั้งคำถามว่าพาคนไปตาย แต่เมื่อพันธมิตรฯพามวลชนไปปิดรัฐสภาซึ่งเป็นยุทธวิธีที่สุ่มเสี่ยงไปสู่ความรุนแรงนั้นเป็นการพาคนไปตายหรือไม่ และทำไมตำรวจจึงเป็นข้างเดียวที่ใช้ความรุนแรง


 


"ปัญหาเรื่องใหญ่ในสังคมคือระบอบประชาธิปไตยกำลังอยู่ในภาวะอันตราย ถ้าเขาชนะจะเป็นการทดลองระบบการเมืองที่ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนเคยใช้มาก่อน"


 


 


000


 


ด้าน รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาจจะพูดต่างจากคนอื่นไปบ้าง แต่อยู่บนพื้นฐานว่าจะช่วยอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก โดยเรียบเรียงเป็นบทความดังนี้


 






ประเทศไทยยังมีหนทางป้องกันแก้ไข


ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งไปกว่าเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ หรือไม่


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่เริ่มต้นจากการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา จนเกิดเหตุการณ์ลุกลามไปสู่ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต ๒ คน และบาดเจ็บ ๔๔๓ คน โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัสถึงขนาดขาขาดแขนขาดจำนวนหลายคน และยังอยู่ในห้องไอซียูอีก ๕ คน ทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บจำนวนนับสิบคนนั้น เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นในต้นปี ๒๕๔๙


 


คำถามคือว่า ประเทศไทยจะต้องประสบกับเหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งกว่าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ หรือไม่ และเรายังมีหนทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามรุนแรงมากไปกว่านี้ได้หรือไม่ 


 


เหตุการณ์ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ


การสลายการชุมนุมส่วนหนึ่งเพื่อเปิดทางเข้าออกรัฐสภาในตอนเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ จนเป็น ชนวน นำไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับผิดชอบในวิธีการที่ใช้ แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อ การตัดสินใจ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงมือคือ รัฐบาล


 


ถึงแม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ รัฐบาลมีหน้าที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน ๑๕ วันหลังจากเข้ารับหน้าที่ และถึงแม้ในวันนั้นจะมีผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาเอาไว้ จนสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปประชุมได้ แต่รัฐบาลยังมีเวลาถึงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ และรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดว่าการแถลงนโยบายต้องกระทำที่รัฐสภาเท่านั้น


 


ในตอนเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ นายกรัฐมนตรีจึงมีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้คือ


หนึ่ง เลื่อนการแถลงนโยบายออกไป หรือ


สอง เปลี่ยนสถานที่ในการแถลงนโยบาย ผู้ชุมนุมคือประชาชน จะผิดถูกอย่างไร มีการใช้สิทธิเกินขอบเขตหรือไม่ เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง และต้องว่ากันไปตามกฎหมาย แต่รัฐบาลจะต้องหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุดที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน


 


การที่รัฐบาลตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเปิดทางเข้าออกรัฐสภา ทั้งๆ ที่มีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญเมื่อมีการใช้แก๊สน้ำตาจนเกิดความรุนแรงเป็นข่าวทางโทรทัศน์ทุกๆ สถานีแล้ว ถึงแม้ว่ายังมีข้อถกเถียงว่าการบาดเจ็บถึงขนาดขาขาดแขนขาดเกิดมาจากอะไร แต่รัฐบาลกลับไม่สั่งการใดๆ ที่จะยุติความรุนแรง กลับปล่อยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอีกหลายระลอก จนความสูญเสียลุกลามไปมากขึ้น ตัวเลขผู้บาดเจ็บจากหลักสิบในตอนเช้า จึงกลายเป็นหลักร้อยในตอนบ่าย และหลายร้อยในตอนเย็น นายกรัฐมนตรี จึงต้อง รับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อาจโยนความรับผิดชอบไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอ้างแต่ว่าตำรวจทำตามหน้าที่ดังที่ยืนยันตลอดมาได้


 


การป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงยิ่งไปกว่านี้ในอนาคตอันใกล้


เมื่อมองย้อนหลังกลับไปในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เราจะพบว่าเหตุการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกครั้ง เหตุการณ์ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ นั้นรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ และจะมีเหตุการณ์รุนแรงยิ่งกว่านี้ในครั้งต่อไป จนถึงขนาดอาจเกิดจลาจลและนองเลือด ถ้าหากทุกฝ่ายไม่สรุปบทเรียนและหาทางป้องกัน ขณะนี้ประเทศไทยยังพอที่จะป้องกันแก้ไขได้ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันดังนี้


 


๑. รัฐบาลต้องไม่สลายการชุมนุม หรือ สั่งการ หรือ ปล่อยให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้วิธีการรุนแรง กับผู้ชุมนุมอีก เพราะจะเป็น ชนวน ที่นำไปสู่ความรุนแรง เหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เริ่มจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตอนเช้าตรู่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ชนวนเริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองตีผู้ชุมนุม รัฐบาลจึงต้อง สรุปบทเรียน และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด เพราะเมื่อเริ่มเกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายออกไป จะเกิดความโกรธแค้น และทำให้มีการใช้ความรุนแรงทั้งสองฝ่ายมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้บุคคลที่มักจะเรียกกันว่า "มือที่สาม" เข้ามาทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นไปอีกดังเช่นที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งในอดีต 


 


๒. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ใช้ความรุนแรงอีก โดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองอย่างเคร่งครัด การใช้แก๊สน้ำตาอย่างพร่ำเพรื่อโดยอ้างว่าเป็นวิธีการสากลนั้น ทำให้สถานการณ์ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ลุกลามจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเองไม่อาจควบคุมได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหยุดใช้แก๊สน้ำตาโดยสิ้นเชิง และหยุดแก้ตัว โดยต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น สำหรับข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ให้เป็นไปตามการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กำลังจะมีการตั้งขึ้น 


 


๓. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปแล้ว ทำให้มีความยากลำบากในการทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารมีบทบาทสำคัญในตอนเช้าตรู่วันที่ ๒ กันยายน และในตอนเย็นวันที่ ๗ ตุลาคม ในการทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลายออกไป ดังนั้น ถ้าจำเป็นควรให้เจ้าหน้าที่ทหารช่วยทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะมีการปะทะกันของผู้ชุมนุมสองฝ่ายอีกในอนาคต แต่ต้องอยู่ ภายใต้เงื่อนไข คือ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมาย โดยการสั่งการจากรัฐบาล หรือการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้อง ไม่มีอาวุธ ดังเช่นในวันที่ ๒ กันยายน และ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา


 


๔. ผู้ชุมนุม ทุกฝ่าย ต้องเคารพกติกา ของการใช้สิทธิในการชุมนุมตาม รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๓ นั่นคือ ต้องชุมนุม "โดยสงบและปราศจากอาวุธ" การชุมนุมหน้าสถานที่ราชการสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำถึงขนาดปิดทางมิให้มีการเข้าออก ต้องเคารพสิทธิของกันและกัน และการรักษากติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคือ เห็นต่างกันได้แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง แกนนำในการชุมนุม ทั้งสองฝ่าย ต้องควบคุมผู้ชุมนุมทุกคนไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมต้องช่วยกันดูแลและป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งอาจเป็นผู้เข้ามาทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น แกนนำในการชุมนุมต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ออกมาเผชิญหน้ากัน และคำนึงถึงการสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตของผู้มาร่วมชุมนุม เพื่อมิให้เหตุการณ์ดังเช่นวันที่ ๒ กันยายน และ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เกิดขึ้นมาอีก


 


ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง


สิ่งที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งแตกแยกเป็นสองฝ่ายในสังคมไทย ที่กำลังร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ ในขณะนี้ คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจริงหรือไม่ ขณะนี้คดีความต่างๆ ที่ฟ้องร้อง พ.ต.ท. ทักษิณ กำลังทยอยขึ้นไปสู่การพิจารณา และจะมีการตัดสินคดีแรกคือคดีที่ดินรัชดาในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ และสำหรับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขณะนี้ก็ได้มอบตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ดังนั้น ใครผิดใครถูกอย่างไร เป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการกำลังทำหน้าที่ตัดสิน ในขณะนี้ทุกฝ่ายต้องเคารพศาล และช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมา


 


สำหรับประเด็นเรื่องทางออกจากวิกฤตการณ์และการคลี่คลายแก้ไขปัญหาการเมือง ประเทศไทยจะมีหนทางใดบ้าง สำหรับข้อเสนอเรื่อง รัฐบาลแห่งชาติ นั้น ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จะมิได้ห้ามการที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะเป็นรัฐบาลโดยไม่มีฝ่ายค้าน แต่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น จะเป็นคนนอกมิได้ ถ้านายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยอมลาออก และพรรคพลังประชาชนยอมให้นายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. ที่มาจากพรรคการเมืองอื่น โดยให้รัฐบาลนี้มีหน้าที่สำคัญคือปฏิรูปการเมือง แล้วให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ข้อเสนอนี้ อาจจะ เป็นทางออกได้ แต่ปัญหาคือพรรคพลังประชาชนจะไม่ยอม


 


ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การยุบสภา ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมิใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร แต่การยุบสภานั้นเป็นวิธีการแก้วิกฤตการณ์ของระบบรัฐสภา ถ้ารัฐบาลและสภาผู้แทนไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ การยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าได้ เพราะจะทำให้สถานการณ์ที่กำลังเขม็งเกลียวไปสู่เหตุการณ์นองเลือดคลายตัวออกระยะหนึ่ง จะเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ทำให้ทุกฝ่ายได้หยุดตั้งสติ และสังคมไทยจะมีเวลา ๔๕ วันถึงสองเดือนในการแก้ปัญหา ทั้งมีเวลาให้กับกระบวนการยุติธรรมในการทำหน้าที่


 


สำหรับทางออกของการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยในระยะยาวคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็น กติกาสูงสุด ที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องนี้ต้องใช้เวลา และยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่ควรตั้งเงื่อนไขว่าจะปฏิรูปการเมืองก่อนแล้วจึงยุบสภา เพราะจากเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมไปมากจนยากที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีกนานนัก ดังนั้น หนทางดีที่สุดคือ ยุบสภาและให้เรื่องการเมืองใหม่ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ๓ เป็นนโยบายของพรรคการเมืองในการหาเสียง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน


           


เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปอาจจะรุนแรงยิ่งกว่าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ในขณะนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้นได้ แต่สังคมไทยทั้งสังคมต้องพร้อมใจกันปฏิเสธความรุนแรง โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทั้งไม่เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร เหตุการณ์นองเลือดและการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยที่มีเหตุการณ์นองเลือด ๓ ครั้ง และมีรัฐประหาร ๑๒ ครั้ง คงจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไปแล้ว.


 


 


 


000


 


จากนั้นเป็นการเสวนารอบสอง รศ.ใจ กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่ทางออกหรือการมีนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากเป็นตัวแทนคนส่วนน้อยไม่ใช่ประชาธิปไตย ส่วนการยุบสภาที่ถูกมองว่าเป็นทางออก ทักษิณก็เคยยุบสภาแต่ถูกมองว่าทำไม่ถูก เป็น 2 มาตรฐานอีกเรื่องหนึ่งและความขัดแย้งที่เกิดก็ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญแต่มาจากการที่คนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยมีข้ออ้างว่าเสียงส่วนใหญ่นั้นประชาชนโง่


 


นอกจากนี้ โพลล์ปัจจุบันพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯเท่านั้นที่สนับสนุนพันธมิตรฯ ส่วนต่างจังหวัดยิ่งน้อย แต่อาจมีเจ้าแม่ เจ้าพ่อหนุนหลังเสียงจึงดังมาก สื่อต้องมองว่าให้เวลาพันธมิตรฯแค่ไหน รัฐแค่ไหน คนส่วนน้อยแค่ไหน มีความลำเอียงแค่ไหน


 


เมื่อสื่อมวลชนถามไปยังเวทีโดยเฉพาะ ดร.ปริญญาว่า การไม่ตั้งคำถามอย่างแข็งขันกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯจะมีผลต่อสังคมแค่ไหน รศ.ใจ ตอบคำถามว่า ดร.ปริญญา มีสิทธิเต็มที่ในการวิจารณ์รัฐเต็มที่ และมีสิทธิเต็มที่ในการไม่วิจารณ์พันธมิตรฯ แต่นักวิชาการแบบนี้ที่พูดให้นายกฯลาออก ให้มีการเมืองใหม่มันก็เหมือนข้อเสนอพันธมิตรฯซึ่งเท่ากับสนับสนุนความรุนแรงต่อไป หน้าที่ของคนในสังคมจะต้องบอกว่าคนรับผิดชอบต้องมีทั้งรัฐบาล ตำรวจ พันธมิตรฯ และคนเบื้องหลังพันธมิตรฯ เพราะพันธมิตรฯไม่ฟังคนอย่าง รศ.ใจ  คนอย่าง รศ.ดร.สุธาชัย แต่อาจจะฟังคนอย่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และอย่าไปหวังกับ ส.ส.ร. ถ้ายังไม่ขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม


 


ส่วน รศ.ดร. สุธาชัย กล่าวในรอบที่สองว่า ในกรณีนี้ปัญหามีอยู่ข้างเดียวเกิดจากพันธมิตรฯ จะหยุดทันทีถ้ายุติการชุมนุม ป่วยการพูดถ้าไม่สามารถหยุดพันธมิตรฯได้ หมายความว่า ทั้งหมดต้องเลิกสนับสนุนประเด็นที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีเหตุผลของพันธมิตร คืนสังคมไทยสู่สภาพปกติ คืนถนน คืนการจราจร คืนทำเนียบรัฐบาลให้ประชาชนไทย ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปบริหาร การยึดทำเนียบไม่ได้ชอบธรรมอะไรเลย ต้องสู้กับพันธมิตรฯแต่ไม่ใช่เอาไม้ไปตีแบบ นปช. แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ชอบธรรม เหตุการณ์ 7 ตุลาคม รัฐและตำรวจไม่ใช่ต้นเหตุ ตำรวจอย่างมากก็ผิดในทางวิธีการแต่พันธมิตรฯผิดในทางยุทธศาสตร์


 


ด้าน ดร.ปริญญา ตอบในประเด็นที่สื่อมวลชนถามว่า ทำไมไม่วิจารณ์พันธมิตรฯและมุ่งเน้นวิจารณ์รัฐนั้นเป็นเพราะรัฐเป็นผู้คุมกลไกของรัฐ แต่ไม่เคยเห็นด้วยที่พันธมิตรฯไปยึดทำเนียบรัฐบาล และเสนอเพื่อเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือด สิทธิและเสรีภาพมีขอบเขตเสมอ พยายามแยกแกนนำกับประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมและพูดภายใต้ความกดดันและข้อจำกัด เรื่องการควบคุมรัฐต้องใช้มาตรการที่เหมาะ


 


นอกจากนี้ การเน้นไปที่รัฐเพื่อไม่ให้ว่าตำรวจมากเพราะรัฐบาลมีทางเลือกอื่นๆจึงเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล นอกจากนี้ในการชุมนุมของพันธมิตรฯมีข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เรื่องการมั่วสุมชุมนุม การประทุษร้ายในบ้านเมืองซึ่งต้องไปว่ากันในชั้นศาล สิ่งที่ทำให้การชุมนุมแตกต่างจากมั่วสุมไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง คือถ้าชุมนุมสงบปราศจากอาวุธ มาตรา 215 ทำอะไรไม่ได้ ทางออกของการชุมนุมคือต้องเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net