Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบและยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ทางด้านเครือข่ายสังคมไทยพร้อมใจปฏิเสธความรุนแรงเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังยับยั้งความรุนแรงไม่ให้ลุกลามบานปลาย


 


 


12 .. 51 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบและยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง โดยมีเนื้อหาดังนี้


 


 






 


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เรื่อง ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบและยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง


 


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยประณามการใช้ความรุนแรงโดยภาครัฐต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบและปราศจากอาวุธในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และพร้อมทั้งเรียกร้องรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


 


1. รัฐบาลควรที่จะได้ทบทวนตรวจสอบความชอบธรรมของตนเอง เนื่องจากได้กระทำการขัดต่อเจตนารมณ์ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการสุ่มเสี่ยงการเสียอธิปไตยของไทยในกรณีเขาพระวิหาร ขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2551 และดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม และวิถีชุมชน เช่น โครงการเขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามนัยมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2551


 


2. รัฐบาลไม่ฟังเสียงประท้วงคัดค้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 ทำให้ผู้ประท้วงคัดค้านสงสัย และเคลือบแคลงเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่าเป็นความพยายามดำเนินการที่จะให้พวกพ้องได้พ้นผิดและมลทิน หาใช่เป็นการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของการปกครองโดยระบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด


 


3. การที่รัฐบาลไม่หันมามองความชอบธรรมของตนเองและไม่สนใจเสียงประท้วงคัดค้านของประชาชน เป็นผลจากการที่ระบบรัฐสภาล้มเหลว ไม่สามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลการบริหารราชการโดยรัฐบาลได้ เพราะการอาศัยเผด็จการเสียงข้างมาก อันเป็นผลจากการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงหัวใจของการปกครองโดระบบประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินโดยภาครัฐ และภาคประชาชน


 


4. รัฐบาลมิได้ดำเนินการใดอย่างแข็งขันเพื่อเอาผิดกับผู้ใช้ความรุนแรง ทำให้ความรุนแรงทวีขึ้น โดยทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบัดนี้


 


5. รัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงตลอด วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 471 คน โดยในจำนวนนี้ 8 ราย ได้ทุพลภาพสูญเสียอวัยวะ แขน ขา และนิ้ว


 


ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เข้าทำการตรวจสอบ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้บาดเจ็บตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพื่อหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ผู้เกี่ยวข้อง และเกี่ยวกับการตัดสินใจ และวิธีการดำเนินการที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง โดยละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ ที่ปราศจากอาวุธ ท่ามกลางสถานการณ์การที่รัฐบาลไม่สนใจเสียงประท้วงคัดค้านของประชาชน เจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตลอดจนการไม่ดำเนินการเพื่อยุติและหลีกเลี่ยงความรุนแรง โดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการให้รับโทษตามกฎหมายแต่อย่างใด


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอย้ำประณามการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายและขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อการที่ให้ความรุนแรงมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันประณามและต่อต้านการใช้ความรุนแรงไม่ว่าโดยภาครัฐหรือกลุ่มบุคคลใดในสังคม และมีส่วนร่วมในการแก้ไขคลี่คลายเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดช่อง โอกาสให้ได้มีการปฏิรูปและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยได้เข้าสู่วิถีทางของระบบการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง


 


ท้ายที่สุดนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2551 ซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้มีความเห็นต่างกันและเกิดการใช้กำลังประทุษร้าย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์การรุนแรงและสูญเสีย ดังเช่นเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบ และป้องกันมิให้มีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยภาครัฐ บุคคล หรือกลุ่มใดในสังคม


 


ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใดต้องเข้มงวดในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของตนเอง และต้องมีมาตรการป้องกันและหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ


 


 


 


ทางด้านอาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมดังกล่าวของตำรวจด้วยอาวุธที่เกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต  และขอให้รัฐบาลและรัฐสภาแสดงความรับผิดชอบต่อการแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายนอกรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา


 


 






 


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


วันที่ 10 ตุลาคม พ.. 2551


           


สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลได้ปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551  อาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ขอแสดงความเสียใจต่อผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิต และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และมีความเห็นดังต่อไปนี้


 


1.       ขอประณามการสลายการชุมนุมดังกล่าวของตำรวจด้วยอาวุธที่เกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต  และขอให้รัฐบาลและรัฐสภาแสดงความรับผิดชอบต่อการแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายนอกรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา


2.       ความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายศรีเมือง เจริญศิริ) ในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแถลงการณ์ของ 30 อธิการบดี ว่า "อย่าลืมว่าอาจารย์เป็นข้าราชการประจำ รับเงินเดือนของรัฐบาล มีหน้าที่สอนหนังสือ" นั้น ถือเป็นความเข้าใจผิดที่ไร้เดียงสา เนื่องจากทั้ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารและตำรวจ ล้วนแต่รับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม 


3.       การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การทำร้ายประชาชน เป็นทั้งสิทธิของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่ของข้าราชการที่ดี ที่พึงกระทำเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์


4.       ขอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการกลาง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อหาสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิต และหาผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่งปราบปรามที่เกินกว่าเหตุมาลงโทษ


 


ปราณี  ทินกร                                           ดวงมณี   เลาวกุล


ชยันต์  ตันติวัสดาการ                                นันทวุฒิ  พิพัฒน์เสรีธรรม


ปัทมาวดี  ซูซูกิ                                        อักษรศรี  พานิชสาส์น


สมบูรณ์  ศิริประชัย                                   ศุพฤฒิ  ถาวรยุติการต์


อาชนัน  เกาะไพบูลย์                                 วศิน  ศิวสฤษดิ์


สุวินัย  ภรณวลัย                                       สมศักดิ์  แต้มบุญเลิศชัย


เอื้อมพร  พิชัยสนิธ                                   อารยะ  ปรีชาเมตตา


เฉลิมพงษ์  คงเจริญ                                  ณพล  สุกใส


ดาราวรรณ  รักษ์สันติกุล                            นราชล  ส่งสมบูรณ์


ชมพู่  ธงชัย


 


 


 


เมื่อวันที่ 10.. 51 - ที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา สี่แยกคอกวัว เครือข่ายสังคมไทยพร้อมใจปฏิเสธความรุนแรง  นำโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ออกมาแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี  ตลอดจนเชิญชวนสื่อมวลชนทุกแขนงและประชาชนทั่วไปร่วมรณรงค์ข้อความ"ใช้สติแก้ปัญหา ใช้ปัญญาลดอคติ" สู่สาธารณะชนโดยผ่านอักษรวิ่งทางโทรทัศน์, แบนเนอร์หน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์ หรือสปอตสั้นในรายการวิทยุ หรือส่งข้อความต่อให้คนรู้จักผ่าน sms และ email เพื่อแสดงเจตนารมณ์และพลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และ ร่วมกันลงนาม "ต้องการสันติ" โทรแจ้ง ๑. ชื่อ-สกุล ๒.ที่ติดต่อ (โทร/แฟกซ์/อีเมล์) ผ่าน call center 082-331-3413 ถึง 9 หรือ 082-331-3458 ถึง 60 หรือช่วยกันรวบรวมรายชื่ออีเมล์ไปที่ thaipeaceaction@gmail.com เพื่อการแสดงพลังสันติของสังคมร่วมกัน ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทางสันติวิธีได้ที่ www.thaipeaceaction.com


 


 






 


แถลงการณ์


"ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายขอสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง"


 


จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามมาสู่ความรุนแรงและการใช้กำลังในคืนวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา จนถึงกับมีผู้เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนหลายร้อยคนที่ผ่านมา การเฝ้าระวังและช่วยกันป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปสู่ความรุนแรงมากไปกว่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทยทุกกลุ่มควรร่วมมือกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปได้ด้วยความสงบสันติ


 


เครือข่าย "สังคมไทยพร้อมใจปฏิเสธความรุนแรง" ซึ่งประกอบไปด้วย เครือข่ายเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเรียน นิสิตนักศึกษา จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง แสดงพลังออกมาให้ปรากฏเป็นพลังที่จะยับยั้งความรุนแรงไม่ให้ลุกลามบานปลายไปสู่การจราจลและการนองเลือดอีกโดย


๑.        การส่งข้อความ "ใช้สติแก้ปัญหา ใช้ปัญญาลดอคติ" ไปให้กว้างขวางที่สุด ขอเชิญชวนสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรณรงค์ข้อความดังกล่าวสู่สาธารณะชนโดยผ่านอักษรวิ่งทางโทรทัศน์, แบนเนอร์หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ หรือสปอตสั้นในรายการวิทยุ ส่วนประชาชนที่ปรารถนาสันติสามารถร่วมรณรงค์ได้ด้วยการส่งข้อความต่อให้คนรู้จักผ่าน sms, email หรือทำป้ายติดในที่ต่างๆ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และพลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี 


๒.       ร่วมกันลงนาม "ต้องการสันติ"  โทรแจ้ง ๑. ชื่อ-สกุล ๒.ที่ติดต่อ (โทร/แฟกซ์/อีเมล์) ผ่าน call center  082-331-3413 ถึง 9 หรือ 082-331-3458 ถึง 60 หรือช่วยกันรวบรวมรายชื่ออีเมล์ไปที่ thaipeaceaction@gmail.com เพื่อการแสดงพลังสันติของสังคมร่วมกัน


 


ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทางสันติวิธีได้ที่ www.thaipeaceaction.com


 


 


12 ตุลาคม 2551


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net