Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สิกร สิกรรัตน์


 


 


ผู้เขียนต้องการเขียนบทความนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว และบทความของคุณประสิทธิ์ในประชาไทแห่งนี้ที่ว่าด้วย "วาทกรรมที่น่าเบื่อ" 1> ก็กระตุ้นให้เร่งเขียน มิได้เพื่อจับผิดแต่อย่างใด แต่เพราะที่คิดๆ ไว้มีข้อที่สอดคล้องเห็นด้วยก็มาก และที่ไม่เห็นด้วยก็พอสมควร


 


ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณประสิทธิ์ที่ว่าการใช้วาทกรรมต่างๆ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นั้นเป็นเรื่องที่น่าเอือมระอาอย่างยิ่ง  แต่ผู้เขียนคิดว่า "ปรากฏการณ์พันธมิตรฯ" นั้นเรียกร้องให้เราต้องทำความเข้าใจพ้นไปจากความรู้สึกคลื่นเหียนของเรา เพราะ พธม. ได้ขโมยฉาก (scene stealing) หรือปล้นช่วงชิง (hijack) วาทกรรมและรูปแบบการแสดงออกของขบวนการทางสังคมจากหลายสถานที่และหลายยุคสมัย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองและเพื่อเรียกร้องความสนใจและเห็นใจจากคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายได้อย่างทรงพลัง ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม


 


ต้องขอออกตัวก่อนว่า บทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการชี้หาอุดมการณ์ หรือแก่นกลาง หรือความเป็นชนชั้นของ พธม. เพราะมีผู้ตีความและถกเถียงไว้มากแล้ว แต่ผู้เขียนสนใจส่วนที่เป็น "เปลือก" ของ พธม. ซึ่งดูจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก และส่วนใหญ่ปัดทิ้งไปในทำนองว่า น่าเบื่อหรือน่ารำคาญเสียมากกว่า (อย่างคุณประสิทธิ์)  ทว่า "เปลือก" นี้เองที่ทำให้ พธม. ดำรงอยู่ได้อย่างฮึกเหิมจนทุกวันนี้


 


ในเบื้องต้น ผู้เขียนคิดว่า การ "กรอกหู" มวลชนของตนและสาธารณะด้วยศัพท์แสงต่างๆ มิได้นำมาสู่การเป็น "ถ้อยคำที่พูดติดปากจนน่าเบื่อ" อย่างที่คุณประสิทธิ์เชื่อ  แต่การตอกย้ำซ้ำๆ และเผยแพร่นั้นเป็นความจำเป็นของกระบวนการทำให้นามธรรมกลายเป็นรูปธรรม กล่าวคือจากมโนทัศน์หรือทฤษฎีอันเลื่อนลอย หรือแลดูแปลกๆ ในช่วงแรกหลังจากนำเข้าจากต่างประเทศ กลายมาเป็น "ความเป็นจริง" ที่ยากจะปฏิเสธ  การหยิบยกเลือกใช้มโนทัศน์ต่างๆ จากต่างสถานที่และกาลเวลาเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วในสังคม ทั้งชนชั้นผู้ปกครอง รัฐ ตลอดจนนักวิชาการ ขบวนการทางสังคม ศิลปิน และคนทั่วไป  กระนั้นก็ตาม หากไม่มีการซ้ำ ถ้อยคำเหล่านั้นก็จะกลายเป็นกระแสที่จางหายไปอย่างรวดเร็ว (fad) หรือหากมีการซ้ำแต่ไม่แพร่หลายก็จะกลายเป็นศัพท์ที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม (jargon)  ทว่าหากรองรับด้วยการปฏิบัติซ้ำๆ และแพร่หลายจนกระทั่งกลายเป็นแบบแผน สถาบัน ตลอดจนวัฒนธรรมหรือประเพณี ก็อาจกลายเป็น "ความจริง" ขึ้นมาได้ 


 


ขอเน้นว่า ต้องมีทั้งลักษณะ 1. การซ้ำ 2. ความแพร่หลาย ซึ่งก็คือการใช้ร่วมกันในสังคม


 


วาทกรรมต่างๆ ที่ พธม. เลือกมาใช้นั้นมีทั้งที่ดำรงอยู่อยู่แล้วในสังคมและที่ตัวเองกำลังผลิตขึ้นมา  และมีทั้งที่เน้นย้ำเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในทางรูปธรรมและที่มีไว้เพื่อปลุกกระแสหรือปกป้องตนเองโดยเฉพาะ โดยไม่คิดจริงจังไปกับอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในวาทกรรมนั้นๆ ที่ตนเลือกมาใช้  ยกตัวอย่างเช่น หน้ากากสีดำแบบ "ซาปาติสตา" เป็นโฉมหน้าหนึ่งที่ พธม. แอบอ้างสวมใส่ แต่หากเราเชื่อตามคุณภควดี ผู้ที่ได้ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนและยืนยันแล้วว่า "ยังไงๆ ก็ไม่ใช่" 2>  เราก็อาจจะกล่าวได้ว่า "ซาปาติสตา" เป็นวาทกรรมของ พธม. ประเภทหลัง


 


แต่ไม่ว่าแก่นหรือกระพี้ ความซ้ำซากอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียงที่จะทำให้ถ้อยคำเป็นความจริงขึ้นมาได้ แต่ต้องถูกใช้อย่างแพร่หลาย มีการใช้ความหมายร่วมกันในสังคมด้วย  ลำพัง พธม. จะตอกย้ำเพียงฝ่ายเดียวนั้นคงไม่พอ แต่วาทกรรมใดๆ ของ พธม. จะทรงพลังได้นั้นเป็นเพราะมีบริบทแวดล้อมรองรับแล้วเสมอ


 


ในแง่นี้ เราจึงไม่อาจเหมารวมวาทกรรมทุกประเภทของ พธม. ว่าเป็น "วาทกรรมที่น่าเบื่อ" เพราะใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนติดปากอย่างที่คุณประสิทธิ์กล่าวไปเสียหมด  ไม่ใช่เพราะผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความรู้สึกของคุณประสิทธิ์ แต่เพราะเหตุผลว่าทำไมถึงน่าเบื่อ ซึ่งก็คือว่าบางวาทกรรมกำลังถูกใช้ในฐานะเป็นความเป็นจริงทางสังคม ในบริบทที่เอื้ออำนวยโดยกลุ่มสังคมที่ไม่ใช่ พธม.  กลุ่มเหล่านี้อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของ พธม. ไปเสียหมด แต่ถูกดึงดูดให้เห็นใจหรือกระทั่งมีส่วนร่วมไปกับ พธม. เพราะตัวเองร่วมใช้ความหมายนั้นอยู่ในชีวิต การงาน ความทรงจำ หรือกระทั่งในตัวตนของตนเอง   วาทกรรมเหล่านี้ได้แก่


 


อหิงสา


สันติวิธี


อารยะขัดขืน 3>


สิทธิมนุษยชน


ภาคประชาชน


ประชาธิปไตย


วาทกรรมประชาชนเป็นเหยื่อของรัฐ (14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ)


ลูกจีนกู้ชาติ


ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ (ทุนนิยมสามานย์)


ชาติ ศาสน์ กษัตริย์


ฯลฯ


 


แน่นอนว่าหากพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์หรือที่มาของวาทกรรมเหล่านี้จริงๆ ก็คงเป็นความไร้สาระน่าขันที่จะเห็น "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" มาสังฆกรรมอยู่ร่วมกับ "วาทกรรมประชาชนเป็นเหยื่อของรัฐ" โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ชี้ว่าเป็นความกำมะลอและตื้นเขินของ พธม. นั้นไม่เพียงพอ เพราะไม่ว่าจะ "ตัดแปะ" ลูกผีลูกคนอย่างไร พธม. ก็เลือกบางฉากบางส่วนของวาทกรรมเหล่านี้มาใช้ในเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสมและสื่อสารกับคนหลากหลายกลุ่มอย่างได้ผลชะงัด 4>


 


เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาถือเป็นความจงใจตอกย้ำวาทกรรมเดือนตุลา ซึ่งทำให้คนจำนวนมากเชื่อมโยงกลุ่ม พธม. เข้ากับเหตุการณ์ในความทรงจำเกือบจะโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่กลุ่ม พธม. กับกลุ่มนักศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519 อาจจะไม่มีความเกี่ยวพันอะไรโดยตรง (ในระยะห่างของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมหลายทศวรรษ)  นี่คือบทภาพยนตร์ฉากใหญ่ที่มีนักประวัติศาสตร์ "ภาคประชาชน" หลายคนช่วยตัดต่อ โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม


 


ในลักษณะเดียวกัน อ. ชัยวัฒน์อาจจะไม่ขัดขืน พธม. เพราะแนวคิด "อารยะขัดขืน"  อ. สุลักษณ์เห็นชอบกับ พธม. ในเรื่องมาตรา 7 (ในรัฐธรรมนูญ 40)  บุคลากรของจุฬาฯ อาจจะออกมาต่อต้านรัฐไม่เอาความรุนแรง  นักสิทธิมนุษยชนอาจมีใจโน้มเอียงเข้าข้าง พธม. เพราะความเป็นภาคประชาชนและสิทธิมนุษยชน  เอ็นจีโอ "สายร้อน" อาจจะชอบใจที่ได้เห็นขบวนการต้านรัฐอย่างเด็ดขาด  อ. ปริญญา และคนเดือนตุลา อาจจะเสียงอ่อยลงเมื่อ พธม. กลายเป็นเหยื่อของรัฐอีกครั้ง เป็นต้น


 


ในแง่นี้เราจะเห็นได้ว่า วาทกรรมเหล่านี้เป็นวาทกรรมซึ่งแวดล้อมด้วยบริบทที่ถึงจุดอิ่มตัวระดับหนึ่งแล้วในสังคม และ พธม. สามารถดึงมาใช้และตอกย้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไป "สะกิดต่อม" อันอ่อนไหวของคนเหล่านั้นได้ตรงจุดพอดี 5>  แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะพบว่าวาทกรรมที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "แกนกลาง" 6> ของ พธม. เองอย่าง "การเมืองใหม่" หรือ "ประชาภิวัฒน์" นั้นยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นและไม่แพร่หลาย ไม่ว่า พธม. จะตอกย้ำอย่างไร 


 


และเช่นนั้นเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่


 


1. เราจะต้องไม่สับสนระหว่างวาทกรรมของสังคมที่ พธม. ดึงมาใช้และตอกย้ำเพื่อความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของตน กับวาทกรรมที่ พธม. พยายามยัดเยียดให้สังคม  อย่าเหมารับเป็นแพคเกจอย่างเด็ดขาด 


 


2. พึงตรวจสอบว่าวาทกรรมของสังคมนั้น พธม. นำมาใช้ในลักษณะที่คนในสังคมทั่วไปสามารถร่วมใช้ได้ด้วยหรือไม่ (เช่น "การไม่ใช้ความรุนแรง" แบบ พธม. ในวันที่ 7 ตุลาคมนั้นผู้อื่นร่วมใช้ในภายหลังได้หรือไม่)  มิฉะนั้น มรดกของความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของวาทกรรมต่างๆ ที่ได้มาด้วยกาลเวลาและประวัติศาสตร์ก็จะปลาสนาการไปโดยขบวนการตัดแปะที่ชื่อ พธม.


 



 


 


............................... 


เชิงอรรถ


1> http://www.prachatai.com/05web/th/home/14010 อนึ่ง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคุณประสิทธิ์อีกหลายประเด็น แต่อาจจะออกนอกเรื่องไปมาก เช่นประเด็นเกี่ยวกับลัทธิอนาธิปไตยที่คุณประสิทธิ์ดูจะเป็นกังวลมากนั้น  ผู้เขียนยืนยันว่า พธม. จะไม่นำไปสู่อนาธิปไตยอย่างแน่นอน เพราะ พธม. เรียกร้องระเบียบใหม่ตลอดเวลา  ลัทธิอนาธิปไตยนั้นมีปรัชญาที่สลับซับซ้อนไปกว่าการก่อความวุ่นวายเท่านั้นอีกมาก


 


2> http://www.prachatai.com/05web/th/home/13459


 


 


3> ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีคนชี้แนะเรื่องคำว่า "อารยะ" ใน "อารยะขัดขืน" ไว้แล้วมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่เข้าใจก็คือ อ. ชัยวัฒน์ ต้องการปรับเปลี่ยนให้คำดังกล่าวฟังดูเชิงบวกมากกว่าคำว่า "ดื้อแพ่งต่อกฏหมาย กระนั้นก็ตาม คำว่า  civil ใน civil disobedience นั้นน่าจะหมายถึง สิ่งที่เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง มากกว่าที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรม แม้ว่ารากศัพท์คำดังกล่าวจะถูกใช้ในช่วงหลังยุคกลางในยุโรปในลักษณะที่บ่งนัยถึงทั้ง 2 ความหมาย (โดยเฉพาะคำว่า societas civillis ที่ถูกใช้ในช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่เพื่อเน้นย้ำว่าแตกต่างจากสังคมยุคกลางอันป่าเถื่อน) แต่เมื่อมาถึงยุคที่ธอโรใช้ (ศตวรรษที่ 19) ผู้เขียนคิดว่า civil หมายถึงพลเมือง แยกออกมาจาก civilized หรืออารยชนอย่างค่อนข้างชัดเจนแล้ว  และเช่นนั้น หากจะแปลอาจจะใช้คำว่า "พลเมืองขัดขืน" ก็ไม่ฟังดูลบ หรือเหิมเกริมอย่าง"อารยะขัดขืน" ที่ พธม. ใช้ (ในเชิงดูหมิ่นผู้อื่นว่าเป็นอนารยะ) แต่อย่างใด


 


4> ต้องย้ำว่าไม่ใช่ทุกคน  คนที่เบื่อหน่ายอย่างคุณประสิทธิ์และผู้เขียนก็มาก แต่บทความนี้ต้องการมุ่งเน้นไปที่คนที่มีใจโอนอ่อนไปทาง พธม. เป็นสำคัญ


 


5> ฉะนั้น ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับศิโรตม์ (ในบทความของประชาไทอีกเช่นกัน) ที่ว่า "สิ่งที่พันธมิตรทำจึงอยู่บนฐานคิดอีกแบบหนึ่ง นั่นคือเขาพูดกับลูกค้าเขา พูดกับคนที่เชื่อเขาอยู่แล้วแน่ๆ เป็นพวกเดียวกันตลอดชาติว่าพันธมิตรกำลังจะได้ชัยชนะ เพราะฉะนั้น โลกทางการเมืองของพันธมิตรอาจไม่ใช่โลกที่มีคนไทยส่วนใหญ่อยู่ร่วมด้วย แต่เป็นโลกของคนที่ดู ASTV กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่ชื่นชอบแกนนำ 5-6 ที่อยู่บนเวที แล้วก็ต้องมีกิจกรรมที่ทำให้โลกแบบนี้มันเดินไปข้างหน้าได้ตลอดเวลา


ดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=13371&Key=HilightNews


 


6>ความจริงแล้วคำว่า "แกนกลาง" นั้นก็ยังน่ากังขา เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปจริงๆ "การเมืองใหม่" หรือ "ประชาภิวัฒน์" นั้นก็ยังคงเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าประสงค์อื่นอีก เช่นตามทรรศนะของ อ.สมศักดิ์ ก็อาจจะได้แก่ "สามารถทำให้ xxx "ปลอดภัย" จาก "อำนาจเลือกตั้ง"" เป็นต้น (http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=11817)


 

 


 


 


หมายเหตุ :  ได้มีการแก้ไขชื่อบทความ จากเดิม "พธม. ขบวนการตัดแปะ กับ "ต่อม" อันอ่อนไหวของสังคม"  เมื่อ 12 ต.ค.51 เวลา 22.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net