Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปิยบุตร แสงกนกกุล


 


หมายเหตุ


1. ขณะที่ลงมือเขียน เว็บไซต์ศาลปกครองยังไม่ได้เผยแพร่คำสั่งศาลปกครองฉบับเต็ม ผู้เขียนจึงขอใช้การคัดย่อของหนังสือพิมพ์มติชน เพื่อประกอบการตั้งข้อสังเกตในเบื้องต้นก่อน หากคำสั่งศาลปกครองฉบับเต็มได้เผยแพร่แล้ว จะหาโอกาสพิจารณาโดยละเอียดต่อไป


 


 


2. ถ้อยคำที่อยู่ภายในอัญประกาศ และเป็นอักษรตัวหนานั้น เป็นถ้อยคำตามที่ปรากฏในคำสั่งศาลปกครอง


 


000


 


จากคำสั่งศาลปกครองกลางกรณีการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม ปรากฏความเห็นหลากหลายในสังคม ทางพันธมิตรฯต่างไชโยโห่ร้อง และยืนยันว่าศาลปกครองคุ้มครองพันธมิตรฯ ฝ่ายกลุ่มคนไม่เอาพันธมิตรก็คิดไปเช่นกันว่าศาลปกครองคุ้มครองพันธมิตรฯ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตในเบื้องต้น ดังนี้


 


1. ศาลปกครองยืนยันว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เพราะเป็นการกระทำทางปกครอง ไม่ใช่การกระทำตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยพิจารณาว่า "ขณะที่ฝูงชนเคลื่อนตัวไปยังหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนเพื่อสลายการชุมนุมและไม่ให้ฝูงชนเข้าใกล้กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยในการกระทำดังกล่าวตลอดทั้งวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้มีการจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินการใดๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


 


ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้มีเจตนาใช้อำนาจของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด" ดังนั้น "การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมิใช่เป็นการกระทำทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เป็นการกระทำทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 9  วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542"


 


2. ศาลปกครองยืนยันว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯในวันที่ 7 ตุลาคม หน้ารัฐสภา ไม่ถือเป็น การชุมนุมตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 เพราะ "ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้ การกระทำดังกล่าวของผู้เข้าชุมนุมจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าที่จะเข้าไปในรัฐสภา หรือออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น การชุมนุมหน้ารัฐสภาดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550"  และ "การปิดกั้นห้ามมิให้มีการเข้าออกรัฐสภาในวันดังกล่าวเป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้... ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ"


 


3. ศาลปกครองยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อการชุมนุมดังกล่าว "มิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" เจ้าหน้าที่ตำรวจจึง "มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้"


 


4. ศาลปกครองเห็นว่า การสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 "มีประชาชนเสียชีวิตหนึ่งรายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนและมาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" จะเห็นได้ว่าศาลปกครองยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะขั้นตอนนี้เป็นเพียงการพิจารณาว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือไม่เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นตอนพิจารณาในเนื้อหาของคดี


 


5. ศาลปกครองเห็นว่า ในขณะนี้ "ยังมีการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่ และการชุมนุมนั้นอาจมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ " ซึ่งทำให้ "เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องดำเนินการสลายการชุมนุมอีก" และแม้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลปกครองยืนยันว่า การสลายการชุมนุม "ต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน"


 


6. เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ อย่างเร่งด่วนที่สุด กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 อย่างที่องค์กรเอกชนทั้งหลายเข้าใจกัน แต่เป็นการวางกรอบ เงื่อนไข ของการชุมนุมสาธารณะ และวิธีการสลายการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น (ขณะนี้ผู้เขียนกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะตามระบบกฎหมายฝรั่งเศส คาดว่าจะเผยแพร่ภายในสัปดาห์หน้า)


 


7. ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ เพื่อประกันการใช้เสรีภาพการชุมนุมของพันธมิตรฯ พร้อมๆกับประกันการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งเพื่อสร้างความโปร่งใสให้แก่สาธารณชน ผู้เขียนเสนอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาการสลายการชุมนุมสาธารณะ ควรแถลงต่อสาธารณะชนถึงแนวทางปฏิบัติในการสลายการชุมนุม โดยอ้างอิงอาศัยอำนาจตามคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสลายการชุมนุมที่ "มิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" และแจกแจงโดยละเอียดว่า ต่อไปนี้ มาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการอย่างไร นำมาใช้เมื่อไร เริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนักอย่างไร (อาทิเช่น เจรจา --- เตือน --- แจ้งผู้ชุมนุมล่วงหน้าว่าจะมีการสลายการชุมนุม --- ใช้โล่ กระบอง ผลักดันผู้ชุมนุม --- ใช้รถฉีดน้ำ --- ใช้แก๊สน้ำตา --- ฯลฯ เป็นต้น) ทั้งนี้อาจอ้างอิงมาตรการสลายการชุมนุมของหลายประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสากลประกอบไปด้วยก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net