Skip to main content
sharethis

การเสวนา บทบาทนักศึกษาในวิกฤตการณ์การเมือง ช่วงที่ 2 วิทยากรประกอบด้วย อ. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.พวงทอง ภวคพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ่านย้อนหลังที่นี่)


 


000


 


 


ไชยันต์ ไชยพร: เป็นเรื่องที่ดีที่เราได้มาคุยกัน ให้นักศึกษามาพูดจากันได้ อยากฝากผู้ใหญ่ด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้คุยกันในห้องก่อน เพราะถ้าลงไปบนถนนแล้ว คุยกันไม่รู้เรื่อง กลุ่มต่างๆ อาจจะยังไม่เคยคุยกัน ตอนนี้น่าจะมานั่งเจรจากันก่อน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พันธมิตรฯ หรือกลุ่มอื่นๆ


 


ถามเรื่องวิธีการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 สามารถชุมนุมโดยสันติ ไม่มีอาวุธ แต่การชุมนุมที่ยืดเยื้อ การจัดระเบียนเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งหากมีกฎหมาย การชุมนุมยาวนานแค่ไหน ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ และเขาจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย ประเทศที่มีกฎหมาย ก็จะไม่สามารถครอบครองพื้นที่ในถนนได้นาน และเมื่อไม่มีกฎหมายประชาชนก็คงต้องพยายามเข้าใจว่า ขณะนี้ ถ้าเขาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ก็ต้องพยายามอดทนอดกลั้นเพราะ ถ้าเรามีปัญหาต้องออกไปส่งเสียงให้สาธารณะรู้ ก็อาจจะต้องสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน


 


และเมื่อเกิดความเดือดร้อนกับประชาชนอันเกิดจากการเคลื่อนไหวของพันํธมิตรฯ ประชาชนก็ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไม ถ้าส่งเสียงให้รับบาล และรัฐบาลไม่ฟัง ไม่สนใจเราก็ต้องชวนให้ประชาชนได้รับรู้ ถ้าเขาเข้าใจก็อาจจะมีความอดกลั้น หรือไม่เห็นว่าประเด็นนี้น่าออกมาชุมนุมยืดเยื้อ เขาก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลอย่างที่มีการทำไปแล้ว


 


ส่วนเรื่องอารยะขัดขืน มันคือการทำผิดกฎหมายซึ่งไม่ง่าย แต่เมื่อทำแล้วก็ต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่ออธิบายให้ศาลและสาธารณะได้รู้ว่าเหตุผลใด เราจึงทำอารยะขัดขืน เพราะถ้าไม่เข้าสู่กระบวนการและพูดแต่กับคนที่เห็นด้วยกับเรา ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเข้สาสู่กระบวนการแล้วศาลตัดสินให้รับโทษ เราก็ต้องรับโทษ


 


อารยะขัดขืนมองได้อย่างเดียวคือการไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องผิด แต่เราต้องไม่ใช้วิธีการป่าเถื่อน อารยะนอกจากหมายถึงว่าไม่ใช้วิธีการป่าเถื่อน แต่หมายถึงอารยะธรรม หมายถึงการอยู่ร่วมกันในเมือง เพราะเรารู้วิธีที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยไม่เอาฆ้อน เอาหินไปตบตีคนอื่น เราเชื่อว่าเราพูดคุยกันได้ ก็ไปพูดกันในศาลเสีย เป็นต้น


 


 


ประจักษ์ ก้องกีรติ: ประเด็นนี้เห็นด้วยแน่นอน อาจารย์ไชยันต์เป็นตัวอย่างที่ดี ของอารยะขัดขืน จากกรณีฉีกบัตรเลือกตั้ง แล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันคดีนี้ก็ยังไม่จบ ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามีคนไปให้กำลังใจอาจารย์บ้างเลย


 


ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผมคงจะพูดถึงบทเรียนจากเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 เพราะผมศึกษาเรื่องนี้มาเป็นหลัก ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุวิกฤตจนนักศึกษามามีบทบาท ทุกคนใช้กรอบ 14 ตุลา ว่าบทบาทนักศึกษาควรเป็นอย่างไร ทุกคนใช้กรอบอ้างอิงนั้นมาทำความเข้าใจการเมืองปัจจุบันแล้วออกมาเคลื่อนไหว ใครไม่เคลื่อนไหวก็ถูกมองเป็นพวกสายลมแสงแดดไร้สาระ


 


ชื่อหนังสือของผม "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" มาจากบทกวีของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่บางครั้งความเคลื่อนไหวไม่ต้องปรากฏก็ได้ หรือค่อยๆ ปรากฏก็ได้อย่างเข้าใจเท่าทัน กรอบ 14 ตุลา มันอาจใช้ไม่ได้ ประเด็น 14 ตุลา คือการสู้กับรัฐบาลทรราช ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีฉันทามติประชาชน เป็นประเด็นการเคลื่อนไหวหลัก แต่ตอนนี้เคลื่อนไหวกลับเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร


 


ผมคิดว่านักศึกษาที่ตรงนี้ถ้าเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา คงออกไปต่อสู้ร่วมกันทุกคน แต่ตอนนี้มีความเห็นแตกต่าง บางคนออกมา บางคนไม่ออก บางคนไปร่วมพันธมิตรฯ บางคนไปร่วมนปช. บางคนเฉยๆดูทีวี เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมันซับซ้อนแล้ว และจะใช้กรอบรัฐบาลทรราชสู้กับนักศึกษาประชาชนไม่ได้ พราะเรามีรัฐบาลเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ กรอบเดียวที่ต้องใช้คือจะสู้รัฐบาลมาจากเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วมีความฉ้อฉลใช้อำนาจไม่ชอบธรรมได้อย่างไร อยากจะเตือนว่าอาจจะต้องทิ้งกรอบความเข้าใจเรื่องนักศึกษากับ 14 ตุลา ทิ้งไป


 


ในแง่หนึ่งรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยรัฐสภานั้นก็เผชิญสิ่งที่ยากกว่ารัฐบาลทหาร เพราะเมื่อมีการชุมนุมก็ไม่สามารถปราบได้ แต่เมื่อการชุมนุมไปรุกล้ำเสรีภาพคนอื่นไปแล้วรัฐบาลจะเผชิญหน้าอย่างไรจึงเป็นประเด็นสำคัญ


 


ต่อประเด็นของนักศึกษาเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน เพราะได้เรียนรู้เรื่องการเสียสละต่อส่วนร่วม แต่ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป แต่ต้องถูกกำกับด้วยวิธีการและป้าหมายที่รัดกุมและรอบคอบ จุดเด่นของ 14 ตุลา อยู่ที่การใช้ความคิดสติปัญญา และให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามกับกระแสหลัก


 


ทำเนียบยังเป็นที่เวทีสาธารณะหรือไม่และอาจารย์ไชยันต์บอกว่า อารยะชัดขืนเมื่อกระทำแล้วต้องยอมรับ เพื่อให้ใช้เวทีในกระบวนการยุติธรรม ในการเผยแพร่ความคิดให้สาธารณะ ถ้าไม่ยอมรับเข้าสู่กระบวนการยังถือว่าเป็นอารยะขัดขืนไหม


 


 


ไชยันต์: ก่อนอื่นผมไม่เคยเรียกว่าการกระทำของผมเป็นอารยะขัดขืน...แต่คนเขาชอบเขาก็เรียกอารยะขัดขืน คนไม่ชอบก็เรียกอนารยะขัดขืน แต่ถ้าหนีไปเลย หายไปไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการ หายไปเลยก็ไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่ผมพยายามเรียกร้องให้แกนนำพันธมิตรฯ มอบตัว ชัดเจน ผมพูดออกสื่อไปแล้ว


 


เขายอมฟังอาจารย์ไหม


ไชยันต์: ผมจะไปรู้ได้ยังไง ผมไม่ใช่พ่อเขา แต่ผมพูดในฐานะที่ผมรักพันธมิตรฯ อย่าไปกลัวเลย ที่บอกว่าจะถูกฆ่าทิ้งระหว่างทาง เพราะถ้าจะถูกฆ่าทิ้งก็ให้ฆ่าก็เป็นความชัดเจนของระบอบระยำ ทีนี้มีคนบอกว่าเห็นใจแกนนำพันธมิตรฯ นั้น ผมก็เคยคิดว่าถ้าคานธีอารยะขัดขืนฮิตเลอร์จะเกิดอะไรขึ้น เพราะคานธีขัดขืนรัฐบาลอังกฤษ


 


ผมคิดว่า ถ้าคานธีอยู่ในเยอรมัน คานธีก็ยังคงทำสิ่งเดิม แต่อาจจะเป็นที่รู้จักช้าหน่อย เช่น ต้องรอคนไปขุดศพเจอ ต้องให้มีนักสารคดีไปขุดค้น


 


 


เราจะไปจากการเมือง 2 ขั้วได้ไหม


ประจักษ์: ก็เป็นโอกาสดี และผมอยากฝากนักศึกษาทุกกลุ่มเลย ถ้าเราอาศัยวิกฤตการเมืองขณะนี้ เพื่อลบข้อครหาที่ว่าการไปร่วมเคลื่อนไหวตอนนี้เป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น เป็นจังหวะที่ นักศึกษา ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าห่วงใยบ้านเมืองอย่างแท้จริง เพื่อไปพ้นจากการเมืองสองขั้วจะต้องผลักดันประเด็นคิดต่อ เช่นการปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปการศึกษา พันธมิตรฯ จะแพ้หรือชนะไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาของขบวนการ นักศึกษา อาจจะต้องคุยกันมากขึ้น ระดมสมองมากขึ้น คุยข้ามเครือข่ายมากขึ้น อย่าไปติดกับดัก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของนักการเมืองหรือ พันธมิตรฯ ผู้นำของนักศึกษาควรเป็นผู้นำของนักการเมืองด้วยซ้ำ อย่าไปน้ำเน่าตามนักการเมือง สร้างการเมืองที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับ 70: 30 หรือการเลือกตั้งอย่างในปัจจุบัน ก็ตาม


 


 


ไชยันต์: การเมืองสองขั้วก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าเห็นว่าขั้วหนึ่งถูกต้องเราก็ควรรีบสนับสนุน แต่ถ้าคนสองคนต่อสู้ขัดแย้งกันไม่ได้หมายความว่าเขาทำร้ายกัน ถ้าเราเห็นว่าฝ่ายไหนถูกก็รีบเข้าไปสนับสนุน.เพื่อให้เป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้าเราเห็นกลุ่มสองกลุ่มไม่ถูก เราก็ต้องรีบสร้าง กลุ่มที่ 3 เพื่อส่งเสียง เพราะประชาชนอาจจะมีอีกจำนวนไม่น้อยที่คิดอย่างเรา


 


ผมยังเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ เรื่องไม่แก้รัฐธรรมนูญนั้นมีเสียงสะท้อนว่าพันธมิตรฯ จะผูกขาดการยื่นข้อเสนอใช่ไหม ผมคิดว่าคนอื่นก็เสนอได้ แต่ถ้าเขาเสนอเราก็อาจจะต่อต้านได้ เช่นถ้ามีใครจะแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้เพื่อประโยชน์ของทักษิณ หรือนักการเมือง 111 คน เพื่อแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เราก็ต้องต้าน


 


แต่กรณีการเคลื่อนพลไป NBT ผมก็ไม่รู้ว่าเขาทำไปเพื่ออะไร ส่วนเรื่องการยึดทำเนียบก็ผิดกฎหมายแต่ผิดแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


 


การแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีหลายกลุ่มการเมือง เห็นด้วย แต่ว่ากลุ่มเหล่านี้ ถ้าโดยเปรียบเทียบจะไม่ค่อยมีเสียงดังเท่าไหร่ ในขณะที่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ สร้างความไม่สบายใจ และไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่มีพลังขึ้นมาเป็นพลังที่สามสี่ห้า เช่น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน. และนี่เป็นปัญหาว่า การเห็นด้วยกัยพันธมิตรฯ บางส่วน ก็ถูกเหมาว่าเห็นด้วยกับ พันธมิตรฯ ทั้งหมด ขณะเดียวกันอาจารย์ประจักษ์ก็เคยกล่าวว่าพันธมิตรฯ น่าจะแพ้ไปแล้วถ้าไม่มีเอ็นจีโอ หรือนักวิชาการอุ้มชู


 


 


ประจักษ์: ผมตอบกว้างๆ ว่า ทั้งหมดนี้การที่เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ พันธมิตรฯ หรือมีจุดยืนอย่างไรต่อการเมืองปัจจุบัน มันขึ้นอยู่กับการเมืองที่ต่างกัน ต่อปัญหาที่ว่า ระบบของพันธมิตรฯ เป็นตัวแทนของอะไร ผมก็สารภาพตามตรงว่าผมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากอ.ไชยันต์ เมื่อประเมินจากประสบการณ์ทั้งจากในอดีตของไทยและต่างประเทศ ก็จะพบว่ามีข้อน่ากังวลหลายประการเกี่ยวกับพันธมิตรฯ และจะสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเมือง


 


จริงๆ อาจารย์ธีรยุทธ (บุญมี)ได้ฟันธงไว้อย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ได้สวนทางของประชาธิปไตยแล้ว และรุกคืบไปข้างหน้าโดยไม่ฟังเสียงของปะชาชนกลุ่มอื่น


 


ผมคิดว่าไม่มีกลุ่มองค์กรไหนสามารถเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั้งหมด และเมื่อไม่สามารถแทนได้ก็ต้องตระหนักว่า เป็นแค่ความคิดหนึ่งและต้องพร้อมให้กลุ่มอื่นมาถกเถียงเจรจาด้วย การเมืองใหม่ ถ้าจะทำจริงก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญเหมือนกันนะ หลายๆ กลุ่มก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และผ่านการลงประชามติอย่างง่อนแง่น และมีคนสิบสี่ล้านคนโหวตไม่รับ เราเอาคนเหล่านั้นไปไว้ที่ไหน


 


โดยเนื้อหาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญก็มีปัญหา เช่น วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวและมีปัญหา แล้วมันนำการเมืองไทยไปสู่ระบอบมุ้งทางการเมือง ที่เรารังเกียจ นี่เป็นผลพวงของรธน. 2550 เอง ถ้าเราจะออกจากทางตันของการเมืองเก่า การเมืองน้ำเน่า ต้องแก้รธน. 50 ด้วย คนที่เชียร์พันธมิตรฯ ต้องแก้รธน. ด้วย


 


ผมประเมินว่า พันธมิตรฯ เป็นแค่กลุ่มองค์กรหนึ่ง ไม่ใช่ตัวแทนของทั้งหมดพันธมิตรฯ และนักวิชาการและสื่อมวลชนต่างๆ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า การเมืองใหม่ไม่สามารถโผล่มาได้ในสัปดาห์สองสัปดาห์


 


กระทั่งคุณฯสนธิ เองก็ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ ว่า ไม่รู้ว่าการเมืองแบบเจ็ดสิบสามสิบจะเป็นอย่างไร แกนนำเขาเองยังไม่รู้เลยว่าหน้าตาที่ออกมาเป็นยังไงกันแน่ ผมคิดว่านี่อันตรายนะครับ ไม่ยอมเจรจา ไม่ยอมหาทางออกให้สังคมและตัวเอง แต่บังคับให้ยอมรับโดยไม่เปิดโอกาสให้เป็นการศึกษา ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ผมคิดว่าเราสามารถระดมความเห็นกันได้โดยการจัดเวทีสาธารณะไปตามหาวิทยาลัย หรือต่างจังหวัด


 


ถ้าจะมีประโยชน์อะไรต่อการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ควรถกเถียงอย่างจริงจังเรื่องการปฏิรูปการเมือง ถ้าดึงดัน ผมคิดว่าเราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการเมืองครั้งนี้ และประชาชนจะต้องมีที่ไม่พอใจ


 


 


ไชยันต์: ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ประจักษ์ทุกอย่าง การเสนอเรื่องการเมืองใหม่ เกือบทุกคนรู้สึกว่าน่าจะต้องคุยกัน มันน่าสงสัยอย่างยิ่งที่วันที่ 26 ส.ค. (เหตุการณ์บุกทำเนียบ) เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ น่าจะช่วยกันส่งเสียง ขอให้แกนนำพันธมิตรฯ รวมตัวกันเสีย แล้วกลุ่มที่เรียกว่าสันติประชาธรรมเพื่อประชาธิปไตย ควรทำการอย่างกว้างขวางและใจเย็นๆ แต่เห็นด้วยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรรีบ อย่าแก้ตอนนี้ อยากฝากว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำผิดหนีคดี มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำได้ อย่าไปบอกว่า ให้คุณทักษิณกลับมาก่อน...แล้วเราจะมอบตัวบ้าง...นั่นมันเด็กๆ เล่นกันนะ


 


ขณะนี้ กระแสความรู้สึกกระแสความรู้สึกที่จับได้ คือความอึดอัดของกลุ่มนักวิชาการหรือเอ็นจีโอที่พันธมิตรฯ ไม่มีท่าทางท่าจะถอยหลัง แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่กล้าวิจารณ์พันธมิตรฯ โดยตรงเพราะกลัวเตะหมูเข้าปากหมา เพราะจะไปเข้าทางนักการเมือง เพราะนักการเมืองแม้จะถอยด้านยุทธวิธี แต่ก็ไม่เห็นความพยายามปรับตัวกับระบบประชาธิปไตย เช่น เรื่องการฉ้อฉล ประเด็นคือวิจารณ์พันธมิตรฯ แล้ว แต่ไม่สามารถเสนอข้อเสนออื่นเพื่อการเมืองที่มีคุณภาพได้ อะไรจะเป็นข้อสรุป


 


 


ประจักษ์: คำถามนี้อาจจะต้องคุยกันยาว ในเรื่องการปฏิรูปการเมือง หรือเพื่อหลุดพ้นจากการเมืองในปัจจุบัน ในส่วนที่ผ่านมา ผมค่อนข้างจะวิพากษ์วิจารณ์กับวิธีที่แตกหักและการเผชิญหน้า รวมทั้งข้อเสนอการเมืองใหม่ ทำให้การเมืองถอยหลังกลับไป ทั้งที่เราผ่านมาแล้ว ระบอบรัฐสภามีข้อผิดพลาดแน่นอน แต่ก็มีความบกพร้องน้อยที่สุด แต่เพื่อให้มันยั่งยืนและมีประสิทธิภาพได้ แต่ละประเทศต้องออกแบบ แต่ต้องยืนอยู่บนหลักที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลายคนลืมแล้วว่าการเลือกตั้งทำหน้าที่อะไร ถ้าทุกคนไม่เชื่อ เช่น เชื่อว่าคนมีการศึกษามากกว่า ควรรับฟังกว่าคนทั่วไป นี่เป็นเรื่องอันตรายมาก เช่นให้นักวิชาการมีเสียงมากกว่าภารโรง หรือจะกลับไปแบบยุโรป เช่น คนมีทรัพย์สินมากกว่าโหวตได้มากกว่า


 


ในขณะที่การเลือกตั้งก็ทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า อธิปไตยเป็นของประชาชน อย่าไปดูถูกเขา ถ้าเราเชื่อคนที่เข้าร่วม พันธมิตรฯ ว่าไม่ได้ถูกหลอก เราก็ต้องเคารพคนที่เลือก ทรท. พปช. ที่พูดอยู่คือต้องยึดอยู่กับหลักการประชาธิปไตย เราก็จะยังก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าเราถอยหลังเราจะถอยกลับไปไกลเลย


 


ผมไม่ได้บอกว่า ระบอบปัจจุบันดี ไม่มีปัญหา นักวิชาการก็ไม่ใช่คนที่รู้ดีไปทั้งหมดที่จะมาบอกว่า หน้าตาการปฏิรูปการเมืองควรเป็นอย่างไร และไม่ควรปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองไปอยู่ในมือนักกฎหมายมหาชนบางคน อย่าให้การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องเทคนิคที่มีเฉพาะนักการเมืองและนักวิชาการเท่านั้น เราควรเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องกดดันด้วยว่าวาระในการปฏิรูปการเมืองต้องไม่มาจากฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ทำอย่างไรให้วาระการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่เป็นของสังคมจริงๆ ไม่ใช่วาระของนักการเมืองหรือวาระของ พันธมิตรฯ


 


 


ไชยันต์: เห็นด้วยกับอาจารย์ประจักษ์ คงต้องเคารพพี่น้องที่เลือกพรรคไทยรักไทยหรือพรรคพลังประชาชน เช่นกันจะผูกขาดขบวนการนิสิตนักศึกษาว่าเหมือนเราไม่ได้ ไปดูถูกนักศึกษาที่ร่วมพันธมิตรฯเพราะถูกหลอกก็ไม่ได้ เขาอาจมีข้อมูลมีข่าวสารตรงนั้น ตอนนี้เราเข้าสู่การเมืองใหม่แล้วตุลาการภิวัตน์สามารถไปหาความชอบหรือไม่ชอบธรรมในตัวผู้นำได้ และได้ประคับประคองไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือนองเลือดถึงขั้นรัฐบาลดูแลสถานการณ์ไม่ได้จนทหารต้องออกมา ทหารเองก็ยืนยันไม่ออกมา ถ้าผ่านไปได้มันคือการเมืองใหม่ ถ้าพ้นจากการนองเลือด รัฐประหารได้ อะไรคือปัจจัย 


 


การเมืองใหม่ ไม่ได้มองว่า 70 คือการแต่งตั้ง พันธมิตรฯ คงไม่โง่ แต่เขาอาจมองว่า 70 เป็นการเลือกตั้ง แต่อาจมาจากลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มคนอาชีพ ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่ชัดขึ้น การเมืองใหม่จะเกิดได้ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง แต่ทำได้อย่างไร พูดไปแล้วอย่าขำ ทำให้เราข้ามถนนทางม้าลายแล้วให้รถจอดให้ได้ก่อน


 


 


ประชาไทย้อนหลัง


ดีเบต 4 กลุ่ม "นักศึกษา": บทบาทนักศึกษาในสถานการณ์วิกฤตการเมือง, ประชาไท 14/9/2551

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net